กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ฝี สาเหตุ อาการ วิธีรักษาป้องกันและการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรค

ฝี โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง รักษาและป้องได้
เผยแพร่ครั้งแรก 9 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 4 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ฝี สาเหตุ อาการ วิธีรักษาป้องกันและการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรค

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ฝี เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจนมีเนื้อเยื่อติดเชื้อ และทำให้ต่อมไขมัน หรือรูขุมขนบนผิวหนังบวมขึ้นมา มีหนองอยู่ข้างในจนเกิดการอักเสบ
  • โรคฝีเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะมีกลุ่มผู้ป่วยบางโรคที่เสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่า เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยที่ต้องรับยาสเตียรอยด์เป็นประจำ
  • โรคฝีสามารถลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดได้ จนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งถือเป็นอาการร้ายแรง และผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดแผลมาก
  • การรักษาโรคฝีสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ไปสัมผัสกับฝี อย่าให้ของเหลวในฝีแตกออก เพราะเชื้อจะเข้าสู่เส้นเลือดที่อยู่ใกล้กับฝีได้ หรืออาจรักษากับแพทย์ผิวหนัง โดยการให้ยาปฏิชีวนะ หรือเป็นการผ่าตัดเพื่อระบายหนองออก ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
  • วิธีป้องกันตนเองจากโรคฝีทำได้ไม่ยาก เพียงแค่รักษาสุขภาพ และภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ คุณก็ห่างไกลจากโรคฝีได้แล้ว (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัยได้ที่นี่)

ฝี หรือโรคฝี เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จนก่อให้เกิดความเจ็บปวดทรมานบริเวณที่เป็น นอกจากนี้ ฝียังสามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยจะมีลักษณะคล้ายกับสิว แต่อาการเจ็บปวดจะรุนแรงกว่า และไม่สามารถปล่อยให้หายเองได้แบบสิว ดังนั้นเรามาดูกันว่า ฝีนั้นเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไรบ้าง

ความหมายของฝี

ฝี (Abscess) คือ ส่วนของเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อ ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวและเนื้อเยื่อที่ตาย ส่วนเชื้อที่ทำให้เกิดฝีคือ เชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) และเชื้ออื่นๆ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย โดยหลังจากที่เนื้อเยื่อเกิดการติดเชื้อแล้ว เชื้อแบคทีเรียจะทำให้ต่อมไขมันหรือรูขุมขนบนผิวหนังบวมขึ้น และมีหนองข้างในจนเกิดการอักเสบ 

ฝีสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน แต่ส่วนมากแล้ว เราจะพบฝีบนผิวหนังภายนอกได้มากกว่า ซึ่งมักจะมีขนาดเล็ก และสามารถรักษาได้ง่าย แต่สำหรับฝีที่เกิดกับอวัยวะภายในนั้น ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างถูกต้องเท่านั้น 

ฝีจัดเป็นโรคที่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์ (Steroid) เป็นประจำ จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้ตรวจพบฝีได้มากกว่ากลุ่มบุคคลอื่นๆ

กลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดฝี 

สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดฝีได้ง่าย มักเป็นกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ซึ่งได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome: AIDS
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด
  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ผู้ที่ได้รับแผลไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก
  • ผู้ที่ร่างกายได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง
  • ผู้ที่ผ่านการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน

ตำแหน่งสามารถเกิดฝีได้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ฝีสามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย และมีหลายอวัยวะที่เกิดฝีได้โดยที่คุณอาจไม่เคยทราบมาก่อน เช่น

  • ฝีจากโพรงหนองที่ฟัน เป็นฝีซึ่งเกิดจากถุงหนองบริเวณเนื้อใต้ฟัน หรือบริเวณเหงือก และกระดูกกรามใต้ฟัน
  • ฝีทอนซิล เป็นฝีที่เกิดบริเวณต่อมทอนซิลในช่องปาก และผนังด้านในลำคอ
  • ฝีต่อมบาร์โธลิน เป็นฝีที่เกิดในต่อมบาร์โธลิน (Bartholin gland) บริเวณผิวหนังที่แคมอวัยวะเพศหญิง
  • ฝีที่ก้น จะเกิดบริเวณผิวหนังที่มีรอยแยกหรือร่องก้น
  • ฝีบริเวณทวารหนัก เป็นฝีที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ตรงและทวารหนัก
  • ฝีไขสันหลัง เกิดบริเวณโดยรอบไขสันหลัง (Spinal cord) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อรูปทรงกระบอกที่ทำงานร่วมกับระบบประสาทส่วนกลาง
  • ฝีในสมอง เป็นฝีที่เกิดภายในเนื้อสมองใต้กะโหลกศีรษะ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและปลอดภัย

สาเหตุของการเกิดฝี

สาเหตุของการเกิดฝีที่พบเจอได้บ่อยที่สุดคือ 

  • การอุดตันของต่อมน้ำมัน หรือต่อมเหงื่อใต้ผิวหนัง 
  • การอักเสบของรูขุมขน 
  • เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว 

จากสาเหตุดังกล่าว จึงทำให้เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอื่นๆ เข้าไปสะสมภายในต่อม ทำให้เกิดการต่อต้านกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยฝีจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามอาการอักเสบในบริเวณนั้นๆ และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย ซึ่งมักจะเกิดกับฝีที่อวัยวะภายในมากกว่า เช่น เป็นไส้ติ่งอักเสบและแตกภายในช่องท้องจนเกิดอันตราย 

นอกจากนี้ภาวะแทรกซ้อนจากฝี ยังเกิดได้จากการได้รับบาดเจ็บภายนอก หรือภายหลังการผ่าตัดช่องท้องด้วย

อาการของฝี

อาการโดยทั่วไปของฝีคือ เกิดตุ่มหนองซึ่งจะมีลักษณะเป็นก้อนสีแดง และผู้ป่วยจะรู้สึกปวดบริเวณก้อนดังกล่าว อีกทั้งเมื่อสัมผัสโดนก็จะรู้สึกร้อน กดแล้วเจ็บ 

เมื่อฝีเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง ผู้ป่วยจะสามารถคลำพบหัวฝีเจอได้ จากนั้นไม่นานฝีก็จะแตกเอง ซึ่งผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะไม่เช่นนั้น เชื้อโรคจากฝีก็จะแพร่กระจายไปสู่กระแสเลือด จนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ 

การวินิจฉัยฝี

การวินิจฉัยฝีสามารถทำได้ผ่านการตรวจสอบจากภายนอกของรอยโรค หรืออาจเป็นการสอบถามอาการว่าเจ็บปวดมากน้อยเพียงใด และสังเกตอาการบวมแดง ร้อนของเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง รวมถึงวัดขนาดของตุ่มว่ามีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตรหรือครึ่งนิ้วหรือไม่ และมีอาการไข้ในระหว่างการติดเชื้อร่วมด้วยหรือเปล่า

หากคุณพบว่าตนเองมีตุ่มคล้ายกับฝี หรือมีอาการที่ใกล้เคียงจากที่กล่าวมา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการต่อไป ซึ่งขั้นตอนการวินิจฉัยจะเริ่มจากสอบถามประวัติสุขภาพ ลักษณะอาการที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกายในบริเวณที่เกิดฝีอย่างละเอียดด้วยวิธีต่อไปนี้  

  • ตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan (Computerised Tomography) 
  • การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI Scan (Magnetic Resonance Imaging) แต่มักจะตรวจในกรณีที่ฝีเกิดบริเวณอวัยวะภายใน

วิธีรักษาฝี

ฝีเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ โดยเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการวินิจฉัยฝีกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว การรักษาก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของเม็ดฝีและความรุนแรงของอาการ ได้แก่ 

  • หากพบว่าฝีมีขนาดเล็กและมีอาการปวดไม่มาก ผู้ป่วยสามารถรักษาอาการฝีได้ด้วยการดูแลตนเอง เช่น ไม่สัมผัสกับฝีโดยตรง ไม่เจาะหรือบีบให้ของเหลวในฝีไหลออกมาอย่างเด็ดขาด เพราะเชื้อจากฝีจะส่งผลโดยตรงกับเส้นเลือดที่อยู่ใกล้เคียงกับฝี 
  • หากพบว่าฝีมีขนาดใหญ่ร่วมกับมีอาการปวดอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผิวหนัง ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อบริเวณฝี หรือใช้วิธีผ่าตัดเพื่อระบายหนองในฝีออกมาให้หมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญที่สุด

วิธีป้องกันฝี

หัวใจสำคัญในการป้องกันฝีที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพทั้งภายในและภายนอกให้แข็งแรง รวมถึงมีการสร้างภูมิต้านทานที่ดีให้กับร่างกาย ซึ่งได้แก่

  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายรับสารอาหารที่ครบถ้วน 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 
  • หมั่นดูแลรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของร่างกายอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีและไม่ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย 

หากคุณหมั่นดูแลสุขภาพทั้งตัวคุณเอง และคนในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ โอกาสในการเกิดฝีก็ย่อมลดน้อยลง และที่สำคัญ หากคุณตรวจพบว่าตนเองเป็นฝี ก็ยิ่งไม่ควรปล่อยปละละเลยจนทำให้อาการของฝีลุกลาม นอกจากนี้ คุณยังไม่ควรบีบ แกะ แคะ หรือเกาฝีอย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อาการของฝีเกิดการติดเชื้อลุกลามหนักขึ้นได้

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Cynthia Cobb, APRN, What Causes Skin Abscess, 19 December 2017

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาหารต้านเชื้อราแคนดิดา (Candida Diet)
อาหารต้านเชื้อราแคนดิดา (Candida Diet)

หากจำนวนเชื้อราแคนดิดาในร่างกายมีมากเกินไป อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อ่านเพิ่ม
อาหารและเมนูสำหรับกรดไหลย้อน (Heartburn)
อาหารและเมนูสำหรับกรดไหลย้อน (Heartburn)

แค่ปรับอาหารและพฤติกรรมการรับประทานให้เหมาัะสม ก็สามารถรักษาอาการกรดไหลย้อนได้

อ่านเพิ่ม