กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ทำไมถึงคันที่ผิวหนังตอนกลางคืน

เผยแพร่ครั้งแรก 21 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ทำไมถึงคันที่ผิวหนังตอนกลางคืน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการคันช่วงกลางคืน เป็นปัญหาผิวหนังระคายเคืองที่เกิดขึ้นได้จากกระบวนการทางธรรมชาติในร่างกาย เช่น การควบคุมอุณหภูมิ สมดุลของน้ำในร่างกาย
  • อาการคันในช่วงกลางคืนสามารถเกิดขึ้นได้จากการหลั่งสาร และฮอร์โมนของร่างกายในช่วงกลางคืนจนเกิดการอักเสบ ทำให้ผิวหนังเสียน้ำได้
  • โรคบางโรคก็สามารถทำให้เกิดอาการคันได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน ตัวเรื้อน โรคตับ โรคไต ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคซึมเศร้า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมถึงการตั้งครรภ์
  • วิธีรักษาอาการคันตามผิวหนังหลักๆ มักเป็นรักษาด้วยยา เช่น ยาแก้แพ้ ยาต้านเศร้า ครีมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์
  • คุณสามารถรักษาอาการคันด้วยตนเองได้ด้วย เช่น ประคบเย็น ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในบ้าน ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้น แต่หากอาการยังไม่หายดี ให้คุณลองปรึกษาแพทย์ว่า ผิวหนังมีความผิดปกติอย่างไร (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัยได้ที่นี่)

อาการคันช่วงกลางคืนเป็นอีกอาการที่ใครหลายคนกำลังเผชิญอยู่ และอาจรุนแรงได้ถึงขั้นรบกวนการนอนหลับด้วย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดาอาการนี้มีตั้งแต่สาเหตุทางธรรมชาติ และปัญหาทางสุขภาพที่รุนแรง

สาเหตุทางธรรมชาติ

กระบวนการตามธรรมชาติจากข้างในร่างกายคนมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันในตอนกลางคืนได้ 

เพราะวงจรการตื่นและการหลับของร่างกายนั้น จะส่งผลต่อการทำงานของผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอุณหภูมิ สมดุลของสารน้ำ ซึ่งการทำงานเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงกลางคืน เช่น 

อุณหภูมิในร่างกาย และเลือดที่ไหลไปยังผิวหนังนั้นจะเพิ่มมากขึ้นในตอนเย็น ทำให้ผิวหนังอุ่นขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้คุณคันได้ นอกจากนี้ ร่างกายของคนเราจะมีการหลั่งสารต่างๆ ตามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งในตอนกลางคืน ร่างกายจะหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokine) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ ร่างกายจะผลิตสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ลดการอักเสบลดลง อีกทั้งผิวหนังของร่างกายมักจะสูญเสียสารน้ำในช่วงกลางคืน

ความจริงแล้วอาการคันตามผิวหนังสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน แต่เพราะช่วงกลางวันเราทุกคนมักมีกิจกรรมที่ต้องทำจนไม่ได้สนใจอาการคันที่เกิดขึ้น เมื่ออยู่ในช่วงเวลาว่างอย่างเวลากลางคืน จึงจะรู้สึกถึงอาการคัน และคิดว่าอาการคันเกิดขึ้นแค่ในช่วงกลางคืน

สาเหตุจากโรค

นอกเหนือจากวงจรการตื่นและหลับของร่างกายแล้ว มีหลายโรคที่อาจทำให้อาการคันนั้นรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน เช่น

  • โรคผิวหนังเช่นโรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน และลมพิษ
  • แมลงต่างๆ เช่น หิด ตัวเรื้อน พยาธิเข็มหมุด
  • โรคตับ หรือโรคไต
  • ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก
  • ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • ปัจจัยทางจิต เช่น ความเครียด อาการซึมเศร้า และโรคจิตเภท
  • โรคขาสั่นไม่หยุดตอนกลางคืน
  • โรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคงูสวัส โรคเบาหวาน
  • ปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสิ่งต่างๆ เช่นสารเคมี ยา อาหาร หรือเครื่องสำอาง
  • การตั้งครรภ์

การรักษา

การรักษาอาการคันในช่วงกลางคืนหลักๆ จะรักษาโดยการใช้ยา

1. การรักษาโดยการใช้ยา

หากอาการคันนั้นเกิดจากโรค เช่น ความผิดปกติของระบบประสาท หรือโรคขาสั่นไม่หยุดตอนกลางคืน คุณควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อเนื่อง 

แต่หากต้องการรักษาเฉพาะอาการคันด้วยตนเอง ก็สามารถใช้ยาต่อไปนี้ได้ ยาบางตัวจะลดอาการคัน ในขณะที่ยาบางตัวจะช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น รวมถึงมียาเพียงบางตัวที่มีฤทธิ์ทั้ง 2 แบบ 

โดยยาที่สามารถรักษาอาการคันตอนกลางคืนได้ มีดังนี้

  • ยาแก้แพ้กลุ่มเก่า เช่น Chlorpheniramine, Diphenhydramine, Hydroxyzine และ Promethazine จะช่วยบรรเทาอาการคัน และทำให้หลับ
  • ยาแก้แพ้กลุ่มใหม่ เช่น Fexofenadine หรือ Cetirizine นั้นสามารถช่วยได้เช่นกัน และสามารถรับประทานในตอนกลางคืน หรือระหว่างวันก็ได้
  • ครีมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เพื่อลดอาการคัน
  • ยาต้านเศร้า เช่น Mirtazapine และ Doxepin ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคัน และทำให้ง่วง

2. วิธีการรักษาที่บ้าน และการเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต

หากความเครียด คือ สิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการคัน ลองใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ ออกกำลังกาย หรือคุณอาจเข้ารับการบำบัดกับนักบำบัดเพื่อช่วยลดความคิด และพฤติกรรมอันตรายต่างๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการเครียด

หรือคุณอาจจะลองใช้วิธีเหล่านี้ในการรักษาอาการที่บ้าน เช่น 

  • ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นที่ปราศจากแอลกอฮอล์ที่ผิวหนังในระหว่างวัน และก่อนนอน
  • ประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการคัน
  • แช่น้ำที่ผสมข้าวโอ๊ต หรือเบกกิ้งโซดา
  • เปิดเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

หากคุณมีอาการคันในตอนกลางคืน ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่อไปนี้

  • อย่าใส่ชุดนอนที่เนื้อผ้าทำให้คัน โดยควรใส่ชุดนอนที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติที่นุ่ม เช่น ผ้าคอตตอน ผ้าไหม
  • ปรับอุณหภูมิในห้องในเย็นสบาย การปรับให้อุ่นเกินไปนั้นอาจจะทำให้คุณคันได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว และทำให้มีเลือดไปเลี้ยงผิวหนัง จยทำให้ผิวหนังอุ่นขึ้น
  • อย่าใช้เครื่องสำอาง ครีมที่มีน้ำหอม สบู่ที่มีกลิ่น หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีสารเคมีซึ่งอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง
  • อย่าเกาผิว เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ผิวหนังนั้นเกิดการระคายเคืองมากขึ้น แต่ถ้าหากคุณคิดว่าตนเองน่าจะเผลอเกาแน่ๆ ให้ตัดเล็บให้สั้น

อย่ามองข้ามอาการคันตามผิวหนัง และรีบหาทางรักษาโดยเร็วที่สุด คุณจะได้ไม่เกิดอาการระคายเคือง รู้สึกสบายตัว และนอนหลับได้สบายมากขึ้น 

นอกจากนี้ คุณยังควรไปพบแพทย์ หากตนเองมีอาการคันที่ไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ คันมากจนนอนไม่หลับ หรือมีคุณมีอาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด มีไข้ อ่อนเพลีย หรือมีผื่น

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน, โรคภูมิแพ้ (http://www.rcot.org/2016/People/Detail/13), 16.04.2009.
พญ.อรจุฑา ชัยวนนท์, ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์, อาการคัน (Pruritus)(https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1082), 21/8/2560.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ความง่วงนอนคืออะไรและอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดได้บ่อย?
ความง่วงนอนคืออะไรและอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดได้บ่อย?

การรู้สึกว่าง่วงนอนอาจแสดงถึงความผิดปกติของการนอนหลับได้

อ่านเพิ่ม
พลังงานที่ใช้ในการทำกิจกรรม
พลังงานที่ใช้ในการทำกิจกรรม

คำนวณพลังงานที่ใช้ในแต่ละกิจกรรมง่ายๆ ทำให้สามารถเพิ่มการขยับร่างกายได้มากขึ้น

อ่านเพิ่ม
ผิวระหว่างนิ้วเท้าลอก เกิดจากอะไร?
ผิวระหว่างนิ้วเท้าลอก เกิดจากอะไร?

ผิวระหว่างนิ้วเท้าลอกเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่ม