กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

เผยแพร่ครั้งแรก 31 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคสะเก็ดเงิน เป็นภาวะผิวหนังที่ทำให้เกิดปื้น หรือผื่นหนาหยาบสีแดง มีสะเก็ดเงินปกคลุมอยู่ แบ่งออกได้หลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีลักษณะรอยโรคต่างกันไป
  • นอกจากปื้น หรือผื่นหนา อาการของโรคสะเก็ดเงินยังมักทำให้เกิดอาการคัน ปวด มีตุ่มหนอง ติดเชื้อ เล็บหลุด ผิวหนังแตกลาย รวมถึงมีเลือดออกได้
  • ปัจจัยทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงินยังไม่สามารถพบได้แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยอื่นๆ เช่น พันธุกรรม การบาดเจ็บที่ผิวหนัง การสูบบุหรี่ ความเครียด
  • การรักษาโรคสะเก็ดเงินสามารถรักษาโดยใช้ยาทา ยาฉีด การใช้รังสีรักษา แต่การรักษาควรอยู่ภายใต้การดูแลแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการรักษาแบบนั้นๆ ได้ หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยานั้นๆ
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพทุกวัย

โรคสะเก็ดเงิน เป็นภาวะผิวหนังที่ทำให้เกิดปื้นหรือผื่นหนาหยาบสีแดง และมีสะเก็ดสีเงินปกคลุมอยู่ ซึ่งมักจะเกิดบนข้อศอก ข้อเข่า หนังศีรษะ และแผ่นหลังส่วนล่าง แต่ความเป็นจริงแล้วปื้นนี้สามารถเกิดขึ้น ณ ตำแหน่งใดของร่างกายก็ได้

โรคสะเก็ดเงินสามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่พบได้มากในผู้ใหญ่อายุประมาณ 35 ปี และสามารถเกิดกับผู้ชาย และผู้หญิงเท่าๆ กัน ส่วนความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปตามกรณี รวมถึงประเภทของโรคสะเก็ดเงิน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ประเภทของโรคสะเก็ดเงิน

ประเภทของโรคสะเก็ดเงินสามารถแบ่งได้หลักๆ ต่อไปนี้

  1. โรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนา เป็นโรคสะเก็ดเงินที่พบได้บ่อยที่สุด อาการ คือ เกิดแผลสีแดง และแห้งบนผิวหนังโดยมีสะเก็ดเงินปกคลุมอยู่ข้างบน
    ปกติแล้วปื้นของโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาจะเกิดขึ้นบนข้อเข่า ข้อศอก หนังศีรษะ และแผ่นหลังส่วนล่าง แต่ก็สามารถเกิดขึ้นบนส่วนใดของร่างกายก็ได้
    นอกจากนี้ ยังสามารถก่อให้เกิดอาการคัน ปวด อาจทำให้ผิวหนังรอบข้อต่อแตกลาย มีเลือดออกได้ด้วย
  2. โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ เป็นโรคสะเก็ดเงินที่เกิดขึ้นบนหนังศีรษะบางส่วน หรือทั้งหมด ซึ่งจะมีปื้นสีแดงบนผิวหนังที่ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเงินหนา ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการคันรุนแรง แต่บางคนอาจไม่มีอาการใดๆ เลย หากรุนแรงอาจทำให้เกิดผมร่วงได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
  3. โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ เกือบครึ่งของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะมีอาการเกิดขึ้นที่เล็บด้วย โดยโรคสะเก็ดเงินจะทำให้เล็บเป็นหลุมเป็นบ่อขนาดเล็กๆ สีของเล็บเปลี่ยน หรืองอกผิดปกติ เล็บอาจจะคลอนและหลุดออกจากฐานเล็บได้ สำหรับกรณีรุนแรงอาจทำให้เล็บหลุดออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้
  4. โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นเล็ก เป็นโรคสะเก็ดเงินที่มีผื่นปวดรูปหยดน้ำขนาดเล็ก (น้อยกว่า 1 เซนติเมตร) มักเกิดขึ้นที่หน้าอก แขน ขา และหนังศีรษะ ซึ่งจะหายไปเองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
    แต่ผู้ป่วยบางรายอาจกลายไปเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาได้ด้วย โรคสะเก็ดเงินประเภทนี้สามารถเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อในลำคอ และจะพบได้มากในเด็กและวัยรุ่น
  5. โรคสะเก็ดเงินตามรอยพับ เป็นโรคสะเก็ดเงินที่เกิดขึ้นตามข้อพับหรือรอยย่นบนผิวหนัง เช่น ขาหนีบ รักแร้ ระหว่างบั้นท้าย และใต้หน้าอก โดยจะทำให้เกิดปื้นขนาดใหญ่ เรียบ และแดง ผู้ป่วยจะมีอาการทรุดลงจากผิวหนังที่แตก และจะรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวอย่างมากเมื่อมีเหงื่อ
  6. โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง เป็นภาวะสะเก็ดเงินที่พบได้ไม่บ่อย ผู้ป่วยจะมีตุ่มหนองเกิดขึ้นบนผิวหนัง ส่งผลต่อตำแหน่งต่างๆ บนร่างกาย
  7. โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนองที่ส่งผลต่อระบบร่างกาย (Von Zumbusch psoriasis) จะทำให้เกิดตุ่มหนองบนผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
    หนองที่ออกมาจากโรคสะเก็ดเงินชิ้นนี้จะประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ไม่มีร่องรอยของการติดเชื้อใดๆ และตุ่มหนองสามารถปรากฏออกมาใหม่ได้ทุกไม่กี่วัน หรือทุกสัปดาห์
  8. โรคสะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า ก่อให้เกิดตุ่มหนองขึ้นบนฝ่ามือ และฝ่าเท้า ตุ่มหนองมักจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นวงกลมสีน้ำตาล จุดสะเก็ด ก่อนจะค่อยๆ หลุดออก และมีตุ่มหนองใหม่เกิดขึ้นมาใหม่ได้ทุกไม่กี่วัน หรือทุกสัปดาห์
  9. ภาวะตุ่มหนองตามขอบนิ้ว เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดตุ่มหนองบนนิ้วมือ และนิ้วเท้า ซึ่งใช้เวลาไม่นานกว่าจะระเบิดออก ทิ้งให้บริเวณที่เป็นมีสีแดงสด และมีหนองขับออกมาเล็กน้อย หรือกลายเป็นสะเก็ดซึ่งอาจทำให้เล็บผิดรูปจนเจ็บปวด
  10. โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว เป็นภาวะสะเก็ดเงินที่หายาก ส่งผลให้ผิวหนังทุกส่วนของร่างกายมีอาการคัน หรือแสบร้อนรุนแรง
    ภาวะนี้ทำให้ร่างกายสูญเสียโปรตีน และของเหลวเร็วขึ้นจนทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ภาวะขาดน้ำ หัวใจล้มเหลว และเกิดภาวะร่างกายเย็นเกินได้

อาการของโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินมักจะก่อให้เกิดปื้นบนผิวหนังที่แห้ง แดง และมีสะเก็ดสีเงินปกคลุมตามร่างกาย บางรายอาจมีอาการคันหรือปวดร่วมด้วย ซึ่งส่วนมากโรคสะเก็ดเงินจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนกว่าจะทุเลาและหายไป

อย่างไรก็ตาม โรคสะเก็ดเงินมีอยู่หลายประเภท โดยผู้ป่วยส่วนมากจะเป็นโรคสะเก็ดเงินประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่ก็มีกรณีที่เป็นพร้อมกัน 2 ประเภทอยู่เช่นกัน อีกทั้งโรคสะเก็ดเงินประเภทหนึ่งก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นอีกประเภท หรือมีความรุนแรงมากขึ้นได้

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ผิวหนังถูกผลิตออกมาทดแทนเซลล์เก่าเร็วเกินไป โดยปกติร่างกายคนเราจะผลิตเซลล์ผิวหนังใหม่ที่ผิวหนังชั้นที่ลึกที่สุด ซึ่งจะค่อยๆ ดันมาขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงผิวหนังชั้นนอกสุด 

เมื่อผิวหนังตาย และหลุดออก ผิวหนังใหม่ที่อยู่ชั้นถัดไปจะเข้ามาแทนที่ ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์อยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยโรคนี้จะมีกระบวนการทางผิวหนังทุก 3-7 วัน ทำให้เซลล์ที่ยังเติบโตไม่เต็มที่สะสมอยู่บนผิวหนังชั้นนอกอย่างรวดเร็วจนผิวหนังเกิดปื้นแดงหนา 

นักวิจัยยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ผิวหนังผลิตเซลล์ใหม่จนเกิดโรคสะเก็ดเงิน แต่คาดว่าเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นความผิดปกติของหนึ่งในเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า ทีเซลล์ (T-cell) 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เซลล์นี้มักจะเดินทางไปทั่วร่างกายเพื่อตรวจหาและกำจัดเชื้อโรคแปลกปลอมอย่างแบคทีเรีย 

แต่ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินนั้นทีเซลล์กลับเข้าโจมตีเซลล์ผิวหนังสุขภาพดีแทน จนทำให้ผิวหนังชั้นลึกสุดผลิตผิวหนังใหม่ออกมาเร็วกว่าปกติ ซึ่งจะยิ่งเร่งให้ร่างกายผลิตทีเซลล์ออกมาต่อสู้เพิ่มขึ้นตาม

นอกจากนี้ ปัจจัยต่อไปนี้ ก็อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงินขึ้นได้เช่นกัน เช่น พันธุกรรม การบาดเจ็บที่ผิวหนัง การใช้บางชนิด เช่น ยาลิเทียม ยาต้านเชื้อมาลาเรีย การติดเชื้อในลำคอ ความผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกาย การสูบบุหรี่ บริโภคแอลกอฮอล์ ความเครียด

การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินได้จากการสังเกตลักษณะที่เกิดขึ้นบนผิวหนังของผู้ป่วย และอาจมีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากผิวหนังไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาประเภทของโรคสะเก็ดเงิน และแน่ใจว่าไม่ได้เป็นภาวะผิวหนังอื่น เช่น ภาวะต่อมไขมันอักเสบ โรคไลเคนพลานัส 

ผู้ป่วยอาจถูกส่งไปพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังหากแพทย์ไม่มั่นใจผลการวินิจฉัย หรือภาวะของคุณมีความรุนแรงเกินไป 

แต่หากแพทย์สันนิษฐาน ว่าคุณเป็นภาวะสะเก็ดเงินข้ออักเสบที่ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน คุณจะถูกส่งไปพบแพทย์ด้านข้อต่อ และรับการตรวจเลือดเพื่อหาร่องรอยของภาวะอื่นๆ เช่น โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ รวมถึงกับการเอกซเรย์ข้อต่อบริเวณที่มีอาการ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

การรักษาโรคสะเก็ดเงินจะขึ้นอยู่กับประเภท และความรุนแรงของอาการบริเวณผิวหนังที่มีอาการ โดยแพทย์อาจจะเริ่มการรักษาแบบอ่อนสุดก่อน เช่น การทาครีมภายนอก ก่อนเปลี่ยนไปใช้การรักษาที่แรงขึ้นตามความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม การหาวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดเป็นเรื่องยาก ส่วนมากแพทย์จะดำเนินการรักษาหลายวิธีผสมผสานกัน และจะมีการติดตามอาการของคุณไปตลอดการรักษา โดยการรักษาโรคสะเก็ดเงินแบ่งออกเป็นประเภทหลักๆ 3 ประเภท คือ 

1. การรักษาโรคสะเก็ดเงินภายนอก

การรักษาโรคสะเก็ดเงินภายนอกมักเป็นการรักษาขั้นตอนแรกสุดสำหรับโรคสะเก็ดเงินที่มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนถึงปานกลาง โดยเป็นการใช้ครีมกับขี้ผึ้งทาบนผิวหนังที่มีอาการ ผู้ป่วยบางคนสามารถควบคุมอาการได้ด้วยการรักษาวิธีนี้ แต่กว่าจะเห็นผลชัดเจนก็อาจใช้เวลานานถึง 6 สัปดาห์ 

หากคุณเป็นโรคสะเก็ดเงินบนหนังศีรษะ การรักษาที่ใช้จะเป็นการผสานกันของการใช้แชมพูกับขี้ผึ้ง

  • สารเพิ่มความชุ่มชื้น จะช่วยลดอัตราการสูญเสียน้ำและปกป้องผิวหนังด้วยการเคลือบแผ่นฟิล์มที่ผิวหนังไว้ หากเป็นโรคสะเก็ดเงินแบบไม่รุนแรง แพทย์มักให้การรักษาด้วยสารเพิ่มความชุ่มชื้นเป็นวิธีแร เพื่อช่วยลดอาการคัน และสะเก็ดลง อีกทั้งช่วยให้ยาใช้ภายนอกบางตัวทำงานดีขึ้น
  • ครีม หรือขี้ผึ้งสเตียรอยด์ (คอร์ติโคสเตียรอยด์ภายนอก) เป็นยาที่นิยมใช้รักษาภาวะสะเก็ดเงินแบบอ่อนไปจนถึงปานกลางกันมากที่สุด เพื่อช่วยลดการอักเสบ ชะลอกระบวนการผลิตเซลล์ผิวหนัง และลดอาการคัน
  • สารแทนวิตามินดี มักใช้ไปพร้อมกันหรือแทนครีมสเตียรอยด์สำหรับโรคสะเก็ดเงินที่ไม่รุนแรงมากที่เกิดขึ้นบนส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขนขา หรือหนังศีรษะ สารประเภทนี้จะช่วยชะลอกระบวนการผลิตเซลล์ผิวหนัง ทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบอีกด้วย 
  • ตัวยับยั้งคาล์ซินิวริน เช่น Tacrolimus  (ทาโครลิมัส) กับ Pimecrolimus (พิเมโครลิมัส)ซึ่งเป็นขี้ผึ้งหรือครีมที่ใช้ลดกิจกรรมของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และช่วยลดการอักเสบลง สามารถใช้กับโรคสะเก็ดเงินบนพื้นที่อ่อนไหวได้ เช่น หนังศีรษะ อวัยวะเพศ และรอยพับตามร่างกาย
  • น้ำมันดิน เป็นวิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงินที่เก่าแก่ที่สุด แต่ก็มีประสิทธิผลอย่างมาก ผลของน้ำมันดินจะช่วยลดสะเก็ด ลดการอักเสบ และอาการคันสามารถใช้สารตัวนี้กับแขนขา ลำตัว หรือหนังศีรษะได้ มักใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ภายนอก
  • ไดทรานอล เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมากว่า 50 ปีแล้ว โดยยามีฤทธิ์กดกระบวนการผลิตเซลล์ผิวหนังได้ดีมาก และยังมีผลข้างเคียงน้อย แต่หากใช้ในความเข้มข้นสูงจะทำให้ผิวหนังไหม้ได้

2. การบำบัดด้วยแสง

เป็นการใช้แสงทั้งตามธรรมชาติ และแสงเทียมช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน การบำบัดด้วยแสงเทียมมักดำเนินการตามโรงพยาบาล และศูนย์เฉพาะทางต่างๆ และมักอยู่ภายใต้การกำกับโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง และการรักษาเหล่านี้ไม่เหมือนกับการใช้เตียงอบผิว 

หากคุณเป็นโรคสะเก็ดเงินรุนแรงที่ไม่ตอบสนองกับการรักษา แพทย์อาจเลือกใช้การรักษานี้ 

  • การบำบัดด้วยแสง UVB การบำบัดด้วยแสงอัลตราไวโอเลต B (UVB) เป็นการใช้คลื่นแสงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยแสงดังกล่าวจะช่วยชะลอกระบวนการผลิตเซลล์ผิวหนัง และเป็นกระบวนการรักษาโรคสะเก็ดเงินที่มีประสิทธิภาพมาก
  • รังสีอัลตราไวโอเลต การรักษานี้จะเริ่มจากการรับยาเม็ดที่ประกอบด้วยสารโซราเลนที่สามารถใช้กับผิวหนังได้ ซึ่งสารตัวนี้จะทำให้ผิวหนังอ่อนไหวต่อแสงมากขึ้น จากนั้นจะฉายแสงอัลตราไวโอเล็ต A (UVA) ไปที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นแสงที่สามารถผ่านทะลุผิวหนังได้ลึกกว่าแสง UVB

3. การรักษาในรูปแบบทั้งระบบ

หากภาวะสะเก็ดเงินมีความรุนแรง หรือการรักษาอื่นไม่ได้ผล แพทย์อาจจัดการรักษาในรูปแบบทั้งระบบกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการรักษากับทั้งร่างกาย

การรักษาเหล่านี้อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคสะเก็ดเงินอย่างมาก แต่ก็มีผลข้างเคียงรุนแรงมากเช่นเดียวกัน โดยกระบวนการรักษาแบบทั้งระบบทั้งหมดมีทั้งประโยชน์ และความเสี่ยง 

ดังนั้นก่อนเริ่มการรักษารูปแบบนี้แพทย์จะแจ้งตัวเลือกการรักษา และความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ผู้ป่วยพิจารณาทุกครั้ง การรักษาแบบทั้งระบบมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

3.1 การรักษาที่ไม่ใช่ชีวภาพ

  • ยาเมโทเทรเซต สามารถใช้ควบคุมโรคสะเก็ดเงินได้ด้วยการชะลอการผลิตเซลล์ผิวหนัง และกดการอักเสบ ซึ่งมักจะใช้ยา 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ยานี้ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ และอาจส่งผลต่อกระบวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง
    การใช้ยาระยะยาวจะสร้างความเสียหายกับตับ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคตับไม่ควรใช้ยานี้ และไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างใช้ยา รวมถึงหญิงมีครรภ์ด้วย
  • ไซโคลสโพริน เป็นยากดภูมิคุ้มกันที่ในตอนแรกใช้เพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย แต่ก็มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยเช่นกัน และมักถูกกำหนดให้ใช้เป็นรายวัน แต่ยานี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไต และภาวะความดันโลหิตสูง 
  • อะซิทรีทิน เป็นสารเรทินอยด์ทางปากที่ช่วยลดกระบวนการผลิตเซลล์ผิวหนัง ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบทั้งร่างกายที่ไม่ใช่ชีวภาพ และมักใช้ยาเป็นรายวัน
    ยาอะซิทรีทินมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น ริมฝีปากแห้ง และแตก ช่องจมูกแห้ง อีกในกรณีที่พบได้น้อย คือ อาจเกิดตับอักเสบขึ้นได้ และจัดเป็นยาที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ ผู้หญิงที่ใช้ยานี้ควรคุมกำเนิด และไม่ควรตั้งครรภ์ในขณะที่ต้องใช้ยา 

3.2 การรักษาทางชีวภาพ

การรักษาทางชีวภาพจะช่วยลดการอักเสบด้วยการเข้าจู่โจมเซลล์ที่ทำงานมากเกินไปในระบบภูมิคุ้มกัน การรักษาเหล่านี้มักใช้ในกรณีที่คุณเป็นโรคสะเก็ดเงินรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น หรือคุณไม่สามารถรับการรักษาอื่นได้

  • อีทาเนอร์เซพ เป็นยาฉีด 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ และทำได้ด้วยตนเอง แต่หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยยานี้ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ แพทย์จะแนะนำให้ยุติการรักษาทันที
    ผลข้างเคียงของยานี้ คือ ขึ้นผื่นบริเวณที่ฉีดยา และส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันทั้งหมดทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อร้ายแรงอื่นๆ 
  • อะดาลิมูมาบ เป็นยาฉีดที่ต้องฉีด 1 ครั้งทุก 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ และทำได้ด้วยตนเอง หากภาวะสะเก็ดเงินไม่ดีขึ้นหลังดำเนินการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นเวลา 16 สัปดาห์ แพทย์จะยุติการรักษาทันที
    ผลข้างเคียงของยาอะดาลิมูมาบมีทั้งปวดศีรษะ เกิดผื่นบนบริเวณที่ฉีดยา คลื่นไส้  รวมทั้งการติดเชื้อรุนแรง
  • อินฟลิซิมาบ เป็นยาหยดเข้าเส้นเลือดที่ต้องให้ที่โรงพยาบาล คุณจะได้รับการฉีดยาเข้าเส้นเลือด 3 ครั้งในช่วง 6 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็น 1 ครั้งทุก 8 สัปดาห์ หากอาการสะเก็ดเงินไม่ดีขึ้นหลังจากดำเนินการรักษา 10 สัปดาห์ แพทย์จะยุติการรักษาทันที
    ผลข้างเคียงหลักของยาอินฟลิซิมาบ คือ ปวดศีรษะ และยายังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันทั่วร่างกาย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงร้ายแรง รวมไปถึงการติดเชื้อรุนแรง
  • อัสทีคินูมาบ ยาอัสทีคินูมาบเป็นยาฉีดในช่วงต้นของการรักษา และฉีดอีกครั้ง 4 สัปดาห์หลังจากนั้น หลังจากนั้นจะฉีดยาประเภทนี้ทุก 12 สัปดาห์ หากภาวะสะเก็ดเงินไม่ดีขึ้นหลังดำเนินการรักษาเป็นเวลา 16 สัปดาห์ แพทย์จะยุติการรักษา
    ผลข้างเคียงของยาอัสทีคินูมาบ คือ การติดเชื้อในคอ และผื่นบริเวณที่ฉีดยา ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันทั่วร่างกาย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงรุนแรง รวมไปถึงการติดเชื้อรุนแรง 

ส่วนมากแพทย์จะดำเนินการรักษาเหล่านี้ผสมกันไป และจะติดตามอาการของผู้ป่วยไปตลอดการรักษา จึงควรไปพบแพทย์ตามนัดหมายตามนัด หากรู้สึกว่าการรักษาที่ทำอยู่ไม่ได้ผล หรือประสบกับผลข้างเคียงจากการรักษาที่รุนแรงเกินรับไหว ควรปรึกษาแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงเวลานัด

นอกจากการรักษาด้วยยา ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินก็ควรดูแลตนเองทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตให้แข็งแรงด้วย ทั้งรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากรู้สึกซึมเศร้า วิตกกังวล ให้ลองพูดคุยกับคนรอบข้าง หรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลสภาพจิตใจ

เพียงเท่านี้คุณก็สามารถอยู่ร่วมกับโรคสะเก็ดเงินได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตมากเกินไป

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพทุกวัย จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


15 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
What Is Psoriasis? Symptoms, Causes, Diagnosis, Treatment, and Prevention. Everyday Health. (Available via: https://www.everydayhealth.com/psoriasis/guide/)
Psoriasis - Symptoms and Treatment. Patient. (Available via: https://patient.info/skin-conditions/psoriasis-leaflet)
Psoriasis: Practice Essentials, Background, Pathophysiology. Medscape. (Available via: https://emedicine.medscape.com/article/1943419-overview)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
โรคสะเก็ดเงินที่เล็บรักษาไม่หายจริงหรอค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
โรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรให้หายขาด
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
เป็นโรคสะเก็ดเงินค่ะ ทำยังไงจึงหาย
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
โรคสะเก็ดเงินทำให้โครงหน้าเปลี่ยนใช่ไหมคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ
โรคเรื้อนกวางเป็นโรคติดต่อมั้ยค่ะแล้วควรรักษายังไงค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)