กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

เชื้อราที่ผิวหนังเกิดจากอะไร

รู้จักจุลินทรีย์ที่นำพาโรคต่างๆ มากมายมาสู่ตัวเรา และวิธีป้องกันให้ห่างไกลจากเชื้อรา
เผยแพร่ครั้งแรก 26 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 19 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เชื้อราที่ผิวหนังเกิดจากอะไร

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคเชื้อราที่ผิวหนัง เชื้อราได้เข้าไปลุกลาม และเติบโตอยู่ข้างในเซลล์ผิวหนัง โดยเฉพาะเซลล์ผิวหนังที่ตายไปแล้วซึ่งเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อรา สามารถเกิดได้ทุกส่วนบนร่างกายของเรา
  • อาการเบื้องต้นของโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ได้แก่ มีขุยของเศษผิวหนัง อาจมีน้ำเหลืองซึมหากผิวหนังอักเสบมาก มีผื่นนูนแดงขึ้นเป็นวง หรืออาจนูนแดงร่วมกับมีอาการคัน ผิวหลุดลอกจนเห็นผิวหนังชั้นใน เล็บขาวซีด
  • วิธีรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังสามารถรักษาได้โดยการทายา และรับประทานยาแก้เชื้อรา แต่ส่วนมากแค่ทายาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง อาการก็จะดีขึ้น และหายได้ในที่สุด
  • หลักสำคัญของการป้องกันโรคเชื้อราที่ผิวหนัง คือ รักษาความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน
  • คุณต้องอยู่ให้ห่างจากผู้ป่วยที่กำลังติดเชื้อรา ควรมีเพศสัมพันธ์โดยป้องกันทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ตนเองติดเชื้อราไปด้วย ต้องควบคุมโรคประจำตัวของตนเองให้ดี หมั่นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อีกทั้งควรตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำด้วย (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัยได้ที่นี่)

อาการคันตามผิวหนังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากโรคภูมิแพ้ จากโรคผิวหนังอักเสบ จากผื่นลมพิษ รวมถึงจากโรคเชื้อราที่ผิวหนังด้วย

โรคเชื้อราที่ผิวหนังมักเกิดในร่มผ้า บริเวณที่มีการอับชื้น บริเวณง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า แบ่งออกเป็น 

  1. โรคเชื้อราที่ผิวหนังชั้นตื้น หรือชั้นขี้ไคลบนผิวหนัง เป็นชนิดของโรคเชื้อราที่ผิวหนังซึ่งพบได้บ่อยที่สุด
  2. โรคเชื้อราที่ผิวหนังชั้นลึกลงมา หรือหมายถึงชั้นหนังแท้ และส่วนที่ติดในชั้นไขมัน 

โรคเชื้อราที่ผิวหนังแต่ละชนิดจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป โดยเชื้อราที่พบได้บ่อย คือ โรคกลาก  โรคเกลื้อน และยีสต์ในกลุ่มแคนดิดา ดังนั้นหากคุณมีอาการคันตามผิวหนังแล้วสงสัยว่า จะเป็นเชื้อราหรือไม่นั้น มีวิธีสังเกต และจัดการสาเหตุดังนี้

ความหมายของเชื้อรา

เชื้อรา เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งพืช สัตว์ แบคทีเรียโปรโตซัว เชื้อไวรัส หรือเชื้อปรสิต ปกติเชื้อราจะอยู่ปะปนในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เช่น อาหาร น้ำ  อากาศ ดิน ต้นไม้ หรือ แม้กระทั่งในร่างกายของคน และสัตว์ 

เชื้อราจะไม่สามารถสังเคราะห์แสงเหมือนพืช หรือสร้างอาหารเองได้ แต่ต้องอาศัยการกินอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่น โดยการดูดซึมสารอาหารจากการย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิต แล้วพร้อมจะแพร่จำนวนได้อย่างมากมาย นอกจากนี้ เชื้อราบางชนิดสามารถแบ่งตัววัดความยาวได้มากถึง 1 กิโลเมตรต่อวันด้วย  

เชื้อรามักเป็นเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วย และสร้างความรำคาญให้ร่างกายของคนเราได้ทุกที่ เช่น

เชื้อราสามารถอาศัยได้ในทุกส่วนของร่างกายของร่างกายมนุษย์ ทั้งภายใน และภายนอก โดยสามารถแพร่กระจายบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัดในสภาวะที่เหมาะสม ดังนั้นเชื้อราจึงเป็นจุลินทรีย์ที่อันตรายต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดโรคตามมามากมายได้ หากร่างกายสะสมแหล่งอาหารของเชื้อราเป็นจำนวนมาก 

ดังนั้นการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง  การดูแลความสะอาดของร่างกาย และการดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราให้สะอาด ปราศจากเชื้อราจึงเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อรานั่นเอง

สาเหตุการติดเชื้อราจากผิวหนัง

การติดเชื้อราจากผิวหนังเกิดจาก การที่เชื้อราในสิ่งแวดล้อมลุกลามเข้าไปในเซลล์ผิวหนัง โดยเฉพาะเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว มักจะเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อรา เช่น เล็บ หนังกำพร้า หนังศีรษะ ผม หรือผิวหนังในที่อับชื้น  

การติดเชื้อส่วนมากจะเกิดจากการสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าที่มีเชื้อรา การสัมผัสเชื้อราจากสิ่งแวดล้อม

อาการของการติดเชื้อราจากผิวหนัง

เชื้อราที่ผิวหนัง สามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า ลำคอ ลำตัว ขาหนีบ รักแร้ เท้า เล็บ ซอกนิ้ว โดยอาการที่พบบ่อยมีดังนี้ 

  1. ผิวหนังอักเสบ  มีขุยของเศษผิว ถ้ามีการอักเสบมากๆ จะมีน้ำเหลืองซึมรอบขอบแผล
  2. เป็นผื่นนูนแดง เป็นวง หรือมีขอบนูนแดง พร้อมกับผิวมีขุยชัดเจน ผื่นจะค่อยๆ ลามออกช้าๆ และมีอาการคันร่วมด้วย
  3. หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จะมีอาการอักเสบรุนแรงขึ้น บวมแดง และมีอาการเจ็บปวด ผิวหนังหลุดลอกจนเห็นผิวชั้นหนังชั้นในแดงๆ
  4. เล็บขาวซีด หรือเหลืองเป็นบางส่วน ในกรณีที่เป็นเชื้อราที่เล็บ รวมถึงมีการแยกของแผ่นเล็บจากเนื้อเล็บ และหากเกิดการติดเชื้อขึ้น เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยก็จะเกิดการอักเสบบวมแดง มีหนองต่อไป

การรักษา 

โรคที่เกิดจากเชื้อรานั้นไม่สามารถหายได้เอง แต่ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกวิธี หากยังไม่ทราบว่า เชื้อที่ทำให้เกิดโรคคือเชื้อราชนิดใด แพทย์อาจขูดขุยที่ผิวหนังไปตรวจหาเชื้อโดยการดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือเพาะเชื้อในอุปกรณ์เพาะเชื้อ 

การรักษาเชื้อราที่ผิวหนัง สามารถทำได้ 2 วิธี คือ ใช้ยาทา และใช้ยารับประทานแก้เชื้อรา ในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง และลุกลามทั่วร่างกาย อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายหลักของยารักษาเชื้อรา คือ เพื่อบรรเทาอาการคัน และอาการอักเสบร่วมกับยาฆ่าเชื้อรา  

การรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังส่วนมากสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาทาเพียงอย่างเดียว ยกเว้นการติดเชื้อราที่ศีรษะ เส้นผม และที่เล็บ ต้องกินยาฆ่าเชื้อราร่วมด้วยจึงจะหายขาด

แต่หลักการสำคัญที่สุดในการใช้ยารักษาเชื้อรา คือ ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคก่อนเพื่อจัดยารักษาให้ถูกกับชนิดการติดเชื้อ เพราะถ้าหากเราไปซื้อยาใช้เอง และไม่ตรงกับสาเหตุการติดเชื้ออาจทำให้เชื้อดื้อยา และทำให้โรคติดเชื้อราที่ผิวหนังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่รักษาไม่หาย

วิธีป้องกันเชื้อรา

การป้องกันเชื้อราที่ผิวหนังทำได้ง่าย ดังนี้

  1. รักษาความสะอาดของร่างกาย และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตัดเล็บให้สั้น ทำความสะอาดซอกเล็บและผิวหนังที่เสี่ยงต่อการอับชื้น รวมทั้งจุดซ่อนเร้นต่างๆ ให้แห้งไม่อับชื้น
  2. รักษาความสะอาดของสิ่งของเครื่องใช้ประจำตัว เช่น หวี หมวก ชุดชั้นใน เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า ให้สะอาด ผึ่งแดดให้แห้งหลังทำความสะอาด ไม่ควรใช้สิ่งของปะปนกับคนอื่น
  3. ดูแลความสะอาดของใช้ในบ้าน ทั้งเครื่องนอน ที่พักอาศัย ห้องน้ำ อุปกรณ์ในครัวเรือน ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่อยู่ในที่อับชื้น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของที่สกปรก พื้นดินที่สกปรก
  4. จำกัดบริเวณสัตว์เลี้ยง หลีกเลี่ยงอย่าให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปในทุกบริเวณของบ้านได้ โดยบริเวณที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ห้องนอน ห้องน้ำ บริเวณที่มีความชื้น หรือมีไรฝุ่นมาก เพราะสัตว์เลี้ยงมักมีเชื้อราอยู่ตามผิว และขน
  5. ไม่คลุกคลีกับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับเชื้อรา
  6. เมื่อมีเพศสัมพันธ์ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการคิดเื
  7. ควบคุมอาการของโรคประจำตัวให้ดี สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวานต้องพยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ ตัดเล็บให้สั้น รักษาความสะอาดของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และหากพบอาการผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์ทันที
  8. รับประทานผัก และผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินที่ช่วยบำรุงร่างกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ เช่น ผักผลไม้ที่ให้วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ไลโคปีน 
  9. ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้องครบถ้วน และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง 

ถ้าคุณสามารถปฏิบัติตามหลักการข้างต้นได้ รับรองปัญหาเชื้อราที่ผิวหนังจะไม่มารบกวนจิตใจ และสร้างความรำคาญให้อย่างแน่นอน

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Stephanie S. Gardner, MD, Fungal Infections of the Skin, (https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/fungal-infections-skin#4)
Denise M. Aaron, MD, Dartmouth-Hitchcock Medical Center, Overview of Fungal Skin Infections (https://www.msdmanuals.com/home/skin-disorders/fungal-skin-infections/overview-of-fungal-skin-infections)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ผิวระหว่างนิ้วเท้าลอก เกิดจากอะไร?
ผิวระหว่างนิ้วเท้าลอก เกิดจากอะไร?

ผิวระหว่างนิ้วเท้าลอกเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่ม