ปัญหารังแคจัดเป็นปัญหาที่ทำให้หลายคนสูญเสียความมั่นใจได้มากเลยทีเดียว แต่หากคุณทราบถึงสาเหตุของการเกิดรังแค และวิธีรักษาป้องกันอย่างตรงจุด ปัญหานี้ก็จะไม่มากวนใจคุณอีกต่อไป ซึ่งเราก็ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรังแคมาฝากกันแล้ว ไปดูกันเลยว่ารังแคเกิดจากอะไร และจะมีวิธีรักษาได้อย่างไรบ้าง
รังแค คืออะไร?
รังแค (Dandruff) คือ การที่ผิวหนังเกิดการผลัดเซลล์ผิวที่เร็วหรือมากกว่าปกติ โดยปกติแล้ว ผิวหนังจะมีการสร้างและผลัดเซลล์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการผลัดเอาเซลล์ที่ตายแล้วบริเวณเซลล์ผิวหนังชั้นขี้ไคลหรือชั้นที่อยู่นอกสุดออกไป โดยจะหลุดลอกออกมาเป็นสะเก็ดหรือแผ่นสีขาว สีเหลือง มีลักษณะแห้งๆ ชิ้นเล็กๆ ซึ่งในกรณีนี้จะหลุดออกมาในปริมาณที่มากกว่าปกติ สะเก็ดเหล่านี้สามารถที่จะหลุดออกจากหนังศรีษะได้เอง หรืออาจจะหลุดออกในตอนที่หวีผมก็ได้ การเกิดรังแคสามารถเกิดได้ทั่วทั้งบริเวณศีรษะ ไม่ใช่แค่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง
สาเหตุของการเกิดรังแค
รังแค สามารถเกิดขึ้นด้วยกันได้หลายสาเหตุ ซึ่งก็มีดังนี้
- เกิดจากเชื้อรา ที่เรียกว่า เชื้อยีสต์ (Malassezia )หรือ (Pityrosporum) ซึ่งปกติแล้ว เชื้อราเหล่านี้จะอาศัยอยู่ที่บริเวณหนังศีรษะของเราอยู่แล้ว โดยอาศัยการกินน้ำมันที่สร้างมาจากต่อมรากผมและต่อมไขมันเป็นอาหาร ถ้าเชื้อราเหล่านี้อยู่ในระดับที่ปกติไม่มีมากจนเกินไปจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แต่หากเมื่อใดที่เชื้อราเหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วผิดปกติ จะทำให้เกิดการสร้างและผลัดเซลล์ผิวที่เร็วกว่าปกติด้วยเช่นเดียวกัน
- ความไม่สมดุลทางฮอร์โมน เมื่อร่างกายมีระดับฮอร์โมนแบบไม่คงที่ จะมีผลต่อการทำงานของต่อมภายในร่างกาย ร่วมทั้งต่อมไขมัน โดยจะทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติตามมา
- ต่อมไขมันใต้หนังศีรษะผลิตน้ำมันมากเกินไป ส่งผลให้มีการกระตุ้นเชื้อรา จนมีการเจริญเติบโตที่เร็วกว่าปกติ
- การมีผิวและหนังศีรษะที่แห้ง ก็จะก่อให้เกิดการผลัดผิวเร็ว จนตกสะเก็ดหลุดลอกออกมาเป็นแผ่นๆ ได้
- ไม่ค่อยสระผม เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแค เพราะเมื่อไม่สระผมจะทำให้เกิดการสะสมของน้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้วบนหนังศีรษะเพิ่มขึ้น จนนำมาซึ่งการสะสมของรังแคเพิ่มตามด้วย
- สภาพอากาศ โดยเกิดจากสภาพอากาศหนาวเย็นหรืออากาศร้อนแห้ง โดยส่วนมากคนมักจะเป็นรังแคช่วงฤดูหนาว
- การใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เช่น มูส สเปรย์ เจล เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจจะมีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองกับหนังศีรษะได้
- ขาดสารอาหารบางประเภท เช่น ขาดวิตามินบี ซิงก์ (สังกะสี) หรือไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเช่น โอเมก้า 3
- ความเครียด ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดรังแคได้ เนื่องจากความเครียดจะส่งผลทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวนจนขาดความสมดุล
- ดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ก็มีส่วนทำให้เกิดรังแคได้เช่นกัน
รังแค มีอาการอย่างไร?
- มีสะเก็ดสีเหลืองหรือขาว มีลักษณะมันวาวเป็นแผ่นแบนหรือแผ่นบางๆ หลุดออกมาจากหนังศีรษะ มักพบเห็นที่บริเวณหนังศีรษะ เส้นผม และไหล่
- หนังศีรษะมันและแดง เป็นสะเก็ด มีอาการคันที่บริเวณหนังศีรษะร่วมด้วย
วิธีรักษาและป้องกันปัญหารังแค
สำหรับผู้ที่มีปัญหารังแคกวนใจ ไม่ว่ารักษาด้วยวิธีใดก็ไม่หาย ลองทำตามข้อแนะนำดังนี้ รับรองจะช่วยให้อาการรังแคงดีขึ้นแน่นอน
1.ใช้แชมพูยาขจัดรังแค
ควรสระผมทุกวันเพื่อกำจัดน้ำมันส่วนเกิน โดยควรเลือกใช้แชมพูขจัดรังแคสูตรอ่อนโยนหรือแชมพูที่มีส่วนผสมของยา เช่น ซิงค์ไพริไทออน (zinc pyrithione), คีโทโคนาโซล (ketoconazole), ซีลีเนี่ยมซัลไฟด์ (selenium sulfide) และไพรอคโทน โอลามีน (Piroctone Olamine) เป็นต้น ซึ่งทั้ง 4 ยี่ห้อนี้ เป็นยาที่มาในรูปแบบของแชมพูที่จะช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียบนหนังศีรษะ แต่ในส่วนของผลลัพธ์ที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แต่ละคน ว่าใครจะเหมาะกับตัวยาชนิดไหนมากกว่า เพราะปฏิกิริยาการตอบสนองกับยาของแต่ละไม่เท่ากัน ผลที่ออกมาจึงอาจจะไม่เหมือนกัน
2.หลังสระผมควรเช็ดผมให้แห้งทุกครั้ง
โดยใช้ผ้าขนหนูที่สะอาดค่อยๆ ซับเบาๆ ที่ผมให้แห้ง หรือปล่อยให้แห้งเองตามธรรมชาติก็ได้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความอับชื้นที่อาจจะเป็นต้นเหตุการเกิดของเชื้อรา ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการขยี้ผมแรงๆ
3.หวีผมเบาๆ และใช้หวีที่มีซี่ห่างกัน
โดยให้เริ่มหวีจากบริเวณรากผมไปตามความยาวของเส้นผม เพื่อเป็นการกระจายน้ำมันจากหนังศีรษะไปหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นให้ทั่วเส้นผม ไม่ควรใช้หวีที่มีความแข็งและมีซี่ถี่เกินไป เพราะอาจจะเกิดการดึงเส้นผมที่แรง จนทำให้เกิดการขาดร่วงของเส้นผมมากขึ้น
4.หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ
เช่น การทำสี การยืด การดัดผม หรือการใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ อย่างเช่น สเปย์ฉีดผมหรือมูส เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อหนังศีรษะและเส้นผม โดยจะทำให้เกิดสารเคมีสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองแก่หนังศีรษะได้ และยังเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดรังแคเพิ่มขึ้นอีกด้วย
5.หมั่นรักษาความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้กับผมหรือศีรษะ
โดยควรหมั่นทำความสะอาดหมอน หรือปลอกหมอน หรือหมวกกันน๊อกเป็นประจำ หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยลดการสะสมของเชื้อรา
6.กำจัดรังแคด้วยสูตรจากธรรมชาติ
นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างดังที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว ยังมีวิธีรักษารังแคในแบบธรรมชาติเช่นกัน เพียงใช้ตัวช่วยรอบตัวอย่างเช่นวัตถุดิบจากธรรมชาติเหล่านี้
- น้ำมันมะกอก น้ำมันมะกอกไม่ได้มีดีแค่บำรุงผมให้ชุ่มชื้นและสวยสุขภาพดีแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังช่วยขจัดรังแคได้ดีอีกด้วย เพียงนำน้ำมันมะกอกมาชโลมลงบนศีรษะก่อนนอน นวดให้น้ำมันซึมซาบลงสู่หนังศีรษะอีกสักเล็กน้อย จากนั้นหมักทิ้งไว้ตลอดทั้งคืน ตื่นเช้ามาจึงสระผมตามปกติ การหมักผมด้วยน้ำมันมะกอกจะช่วยบำรุงหนังศีรษะให้มีความชุ่มชื้นและจะช่วยรักษาปัญหารังแคได้เป็นอย่างดี
- ว่านหางจระเข้ รู้หรือไม่ว่าว่านหางจระเข้ในส่วนที่เป็นเนื้อวุ้น มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการอักเสบของต่อมไขมันบนหนังศีรษะ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแคขึ้นได้ และยังช่วยบำรุงสุขภาพเส้นผมให้แข็งแรงอีกด้วย วิธีใช้ ให้นำเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้หรือใช้เจลมาชโลมจนทั่วศีรษะอยู่เป็นประจำ เพียงแค่นี้ปัญหาหนังศีรษะแห้งก็จะลดลงซึ่งจะช่วยลดปัญหารังแคลงพร้อมกันด้วยนั่นเอง
- น้ำมะนาวและน้ำมันมะพร้าว ให้นำส่วนผสมทั้ง 2 อย่างนี้มาผสมลงในน้ำอุ่น คนให้เข้ากัน แล้วนำไปชโลมลงบนศีรษะจนทั่ว นวดคลึงไปพร้อมๆ กัน หมักทิ้งไว้ประมาณ 20-30 นาที แล้วสระผมออกด้วยแชมพูตามปกติ น้ำมะนาวจะช่วยกำจัดเชื้อราที่ทำให้เกิดรังแค ส่วนน้ำมันมะพร้าวจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่หนังศีรษะได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้ปัญหารังแคลดลง
แม้ว่าปัญหารังแค จะเป็นปัญหากวนใจและทำลายความมั่นใจของใครหลายคนก็ตาม แต่หากเราได้ทำการศึกษาข้อมูลของที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ก็จะเข้าใจว่ารังแคเกิดจากอะไร และมีวิธีรักษาป้องกันอย่างไรบ้าง ซึ่งหากคุณปฏิบัติตามคำแนะนำจากเรา ไม่เพียงแค่รังแคจะลดลงแต่เพียงเท่านั้น แต่หากยังได้ผลลัพธ์กับการมีสุขภาพผมสวยมาเป็นของแถมอีกด้วย