กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ตาปลา เกิดจากอะไร รักษาได้ไหมนะ?

ตาปลา เกิดจากอะไร มีอาการเป็นอย่างไร รักษาได้ไหม แล้วจะป้องกันอย่างไรดี บทความนี้มีคำตอบ
เผยแพร่ครั้งแรก 22 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 23 ธ.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 27 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ตาปลา เกิดจากอะไร รักษาได้ไหมนะ?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ตาปลา มักพบตามเท้า นิ้วเท้า ฝ่าเท้า เกิดจากเนื้อเยื่อผิวหนังที่หนาขึ้น แต่ไม่มีอันตรายต่อเท้า
  • สาเหตุของตาปลา คือ สวมรองเท้าแน่นจนเกินไป การสวมรองเท้าโดยไม่ใส่ถุงเท้า เมื่อเกิดการเสียดสีมาก ๆ ทำให้เกิดตาปลาขึ้น
  • ตาปลาสามารถรักษาได้โดย ทายากำจัดตาปลา หรือ การผ่าตัดผิวหนังที่มีตาปลา
  • เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดตาปลา ควรสวมรองเท้าที่พอดี ลดการเสียดสีของเท้า
  • หากไม่แน่ใจว่าสิ่งที่คุณเป็นอยู่ ใช่ตาปลาหรือไม่? ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้ที่นี่

ตาปลา (Corns) คือ ตุ่มนูนเล็กๆ มักพบที่เท้าและมือโดยเฉพาะบนนิ้ว ง่ามนิ้ว และฝ่าเท้า ฝ่ามือ ตาปลาเกิดจากเนื้อเยื่อผิวหนังชั้นบนบริเวณนั้นมีการหนาตัวขึ้น พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แม้จะไม่มีอันตรายรุนแรงใดๆ แต่ตุ่มตาปลาเหล่านี้อาจทำให้ระคายเคืองเวลาสัมผัส หรือสวมใส่รองเท้า อีกทั้งยังทำให้มือและเท้าดูไม่เรียบเนียน ไม่สวยงาม จนหมดความมั่นใจไม่อยากให้ใครเห็น

ตาปลาเกิดจากอะไร?

สาเหตุหลักของการเกิดตาปลา มักมาจากการเสียดสีซ้ำไปซ้ำมาของผิวหนังบริเวณนั้น โดยทั่วไปก็เกิดจากพฤติกรรมของเราเองนั่นเอง เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ชอบสวมใส่รองเท้าที่หลวม หรือคับแน่นเกินไป จนพื้นผิวรองเท้าเสียดสีกับผิวหนังมากกว่าปกติ
  • ชอบสวมรองเท้าส้นสูงที่มีการบีบรัดหน้าเท้ามากๆ
  • สวมรองเท้าหุ้มส้นโดยไม่ใส่ถุงเท้า
  • เดินลงน้ำหนักไม่เหมาะสม
  • เดินโดยไม่สวมรองเท้า
  • ใช้มือทำงานมากๆ เช่น เขียนหนังสือมาก หรือยกของหนักบ่อยๆ
  • เล่นกีฬาที่มีการเสียดสีบริเวณมือหรือเท้า เช่น ยิมนาสติก เตะฟุตบอล
  • มีผิวแห้ง เนื่องจากมีไขมันใต้ชั้นผิวหนังน้อย
  • เกิดจากความผิดปกติทางสรีระ เช่น มีนิ้วมือ นิ้วเท้าผิดรูป (ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (bunion) หรือนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ (hammertoe)) ทำให้เกิดการเสียดสีมากกว่าปกติ

อาการและลักษณะของตาปลา

  • เป็นตุ่มหนานูน หยาบ และแข็งกว่าปกติ หรือเป็นตุ่มที่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง
  • เมื่อกดแล้วรู้สึกเจ็บ เนื่องจากผิวหนังชั้นเคราตินลอกออกและสะสมกันจนไปกดทับผิวหนังชั้นในที่มีเส้นประสาทอยู่
  • ผิวบริเวณตุ่มจะแห้งและลอกเป็นขุย มีสีเหลือง และความวาวคล้ายขี้ผึ้ง
  • บางครั้งอาจพบตาปลาชนิดอ่อนซึ่งผิวบริเวณตุ่มจะนิ่มและชุ่มชื้น และมีการลอกตัวอยู่เสมอ

ตาปลาอันตรายหรือไม่

ตาปลาไม่ใช่โรคและไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ก็ทำให้เกิดความยากลำบากในชีวิตประจำวันได้ เช่น ตาปลาที่เท้าทำให้เจ็บเวลาเดิน เคลื่อนไหวไม่สะดวก ตาปลาที่มือก็ทำให้เจ็บปวดเวลาทำงาน หรือหยิบจับสิ่งของ 

ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน อาจเกิดการติดเชื้อและอักเสบที่แผลตาปลาได้ หากปล่อยไว้นานและไม่รีบรักษา

การรักษาตาปลา

การรักษาตาปลาโดยทั่วไป สามารถทำได้โดย

  • ตัดแต่งผิวหนังบริเวณตาปลา หากตาปลามีขนาดใหญ่ แพทย์จะใช้มีดตัดผิวหนังส่วนเกินออก เพื่อไม่ให้ตาปลานูนหนาและสร้างความเจ็บปวด แต่วิธีนี้ไม่ควรทำด้วยตัวเอง เพราะอาจเกิดบาดแผลมีเลือดออกและติดเชื้อได้
  • กำจัดตาปลาด้วยตนเอง หากตาปลามีขนาดเล็ก เราอาจรักษาด้วยตัวเองได้ โดยแช่มือ หรือเท้าในน้ำร้อน จนตุ่มตาปลานุ่มลง ใช้หิน หรือตะไบขัดเบาๆ เพื่อเอาผิวที่หนานูนออก จากนั้นจึงเช็ดมือหรือเท้าให้แห้ง และทาโลชั่นป้องกันผิวแห้งแตก วิธีนี้ควรทำเป็นประจำจนกว่าตาปลาจะหายไป แต่ข้อควรระวังคือ ไม่ควรขัดผิวแรงเกินไปเพราะจะทำให้เกิดแผลได้
  • ใช้ยารักษาตาปลา โดยทั่วไปจะเป็นยาทา หรือแผ่นแปะที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (salicylic) ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา
  • ใช้สมุนไพรธรรมชาติ เช่น หั่นมะนาวเป็นซีกๆ แล้วนำมาถูที่ตาปลาจากนั้นปล่อยทิ้งไว้ หากทำเป็นประจำประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ จะทำให้ผิวบริเวณตาปลานิ่มลงได้ แต่วิธีนี้ก็อาจไม่ได้ผลดีมากนัก
  • การผ่าตัด เป็นวิธีที่ใช้ไม่บ่อยนัก ส่วนมากจะใช้รักษาผู้ที่มีตำแหน่งของกระดูกนิ้วมือนิ้วเท้าผิดปกติ

การป้องกันไม่ให้เกิดตาปลา

  • สวมใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดีและนุ่มเท้า โดยเฉพาะถ้าต้องเดินมากๆ และหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่บีบรัด เช่น รองเท้าส้นสูง
  • หลีกเลี่ยงการเดินโดยไม่สวมรองเท้าและหากสวมรองเท้าหุ้มส้นก็ควรสวมถุงเท้าด้วย
  • หากทำงานที่ต้องใช้มือมาก เช่น งานก่อสร้าง แบกหาม ควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันการเสียดสี
  • ใช้ครีม หรือโลชั่นทาบำรุงผิวบริเวณมือและเท้าให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  • ตัดเล็บเท้าให้สั้น เพราะหากเล็บเท้ายาวเกินไปจะไปเบียดรองเท้าจนทำให้นิ้วเท้าต้องเสียดสีกับรองเท้าจะทำให้เกิดตาปลาได้

2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)