กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

โรคหิด (Scabies)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 พ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที

โรคหิดคืออะไร

โรคหิด (Scabies) เกิดจากไรชนิดหนึ่งที่เป็นปรสิตและมีชีวิตอยู่บนผิวหนังของคน สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือแม้แต่การสัมผัสผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคหิดก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อต่อกันได้ โดยจะทำให้มีอาการผิดปกติบนผิวหนัง คือ มีอาการคัน มีผื่นขึ้น และรู้สึกระคายเคือง แต่โรคหิดไม่ใช่โรคอันตรายและรักษาให้หายได้

ทำความรู้จักตัวหิด

โรคหิดมีสาเหตุมาจาก "ตัวหิด" (Sarcoptes scabiei) ซึ่งวงจรชีวิตของตัวหิดมีลักษณะดังต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • หิดตัวเมียจะใช้ปากและขาหน้าฝังตัวเข้าไปในผิวหนังชั้นนอกและวางไข่ภายใน ส่วนหิดตัวผู้จะเดินไปมาระหว่างจุดฝังตัวของตัวเมียที่วางไข่แล้ว เพื่อมองหาคู่ 
  • หลังจากจับคู่และผสมพันธุ์แล้ว หิดตัวผู้จะตายลงและหิดตัวเมียจะเริ่มเจาะผิวหนังของเราให้เป็นโพรงเพื่อวางไข่อีกครั้ง ซึ่งหิดจะวางไข่ประมาณ 2-3 ใบต่อวัน
  • การวางไข่จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 3-4 วัน ก่อนที่ตัวอ่อนจะฟักออกมา และเติบโตจนกลายเป็นหิดตัวเต็มวัยภายใน 10-15 วัน
  • เมื่อหิดโตเต็มวัยแล้ว หิดตัวผู้จะยังคงอยู่บนพื้นผิวหนัง ส่วนหิดตัวเมียจะฝังตัวลงไปในผิวหนังบริเวณอื่นเพื่อวางไข่ และเริ่มวงจรชีวิตใหม่อีกครั้ง 

ผู้ที่เป็นโรคหิดจะมีตัวหิดอยู่ที่ผิวหนังประมาณ 10-15 ตัวในช่วงเวลาเดียวกัน ตัวหิดจะมีขนาดเล็กมากและไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผู้ที่เป็นโรคหิดจะรู้ว่ากำลังเป็นโรคนี้ได้จากอาการระคายเคืองและคัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา วงจรชีวิตของหิดจะเวียนว่ายต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุดบนผิวหนัง และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

หิดชอบพื้นที่อบอุ่นอย่างเช่น บริเวณข้อพับ ระหว่างนิ้ว ใต้เล็บ รอบร่องนมหรือบั้นท้าย และยังสามารถซ่อนตัวอยู่ใต้สายนาฬิกาข้อมือ กำไล หรือแม้แต่แหวนที่นิ้วได้อีกด้วย ส่วนอาการคันรุนแรงที่มาจากโรคหิดนั้นอาจเกิดมาจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายที่มีต่อน้ำลาย ไข่ และของเสียจากตัวหิด

โรคหิดแพร่กระจายได้อย่างไร

โรคหิดจะใช้เวลานานประมาณ 8 สัปดาห์ จึงจะก่อให้เกิดอาการของการติดเชื้อแรกเริ่ม ซึ่งจะเรียกช่วงเวลาดังกล่าวจะเรียกว่า "ระยะฟักไข่" โดยสามารถแพร่กระจายและติดต่อได้จาก

  • มีการสัมผัสกันระหว่างผิวหนังเป็นเวลานาน 
  • การมีเพศสัมพันธ์ 
  • การใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และเตียงนอนร่วมกับผู้มีหิดเป็นเวลานาน

โรคหิดมักแพร่กระจายมากในพื้นที่ที่การบริการทางสาธารณสุขไม่ทั่วถึง และมักพบได้บ่อยในพื้นที่เขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน เช่น ประเทศแอฟริกา ภูมิภาคแถบอเมริกากลางและใต้ เกาะแถบทะเลแคริบเบียน ประเทศอินเดีย ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการระบาดของโรคหิดยังสามารถเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เช่น โรงเรียน ศูนย์ดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ สถานพยาบาล และเรือนจำ เป็นต้น

โดยปกติแล้ว โรคหิดจะไม่สามารถติดต่อได้หากเป็นการสัมผัสกันเพียงระยะเวลาชั่วครู่ เช่น จับมือ หรือกอดระยะเวลาสั้นๆ  และคุณจะไม่สามารถติดโรคหิดจากการใช้ห้องน้ำร่วมกันกับผู้อื่นด้วย โดยสรุปคือ เราจะติดโรคหิดได้ ก็ต่อเมื่อมีการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิดและเป็นระยะเวลานานพอ

อาการของโรคหิด

อาการที่พบเห็นได้มากของโรคหิด จะได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • อาการคันอย่างรุนแรง และจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงกลางคืน หรือเมื่อผิวหนังอุ่นขึ้น
  • มีผื่นขึ้นบริเวณที่มีหิดฝังตัวอยู่ โดยมักจะเป็นจุดสีแดงเล็กๆ หากเกาที่ผื่นบริเวณนี้ ก็อาจทำให้เกิดสะเก็ดและรู้สึกปวดขึ้นมา มักส่งผลไปทั่วร่างกายยกเว้นที่ศีรษะ ส่วนตำแหน่งที่มักได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พื้นที่ใต้วงแขน รอบเอว ข้างในข้อศอก บั้นท้ายส่วนล่าง ขาส่วนล่าง ฝ่าเท้า เข่า สะบักไหล่ อวัยวะเพศของผู้หญิง ขาหนีบ รอบข้อเท้า ส่วนผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจมีผื่นขึ้นที่ศีรษะและคอได้
  • รอยโพรงที่อาจเกิดขึ้นที่จุดใดของร่างกายก็ได้  โดยจะมีความยาวสั้นๆ เพียง 1 เซนติเมตรหรือน้อยกว่านั้น มีลักษณะเป็นรอยขดไปมาเป็นเส้นสีเงินบนผิวหนัง โดยมีจุดดำที่ปลายข้างหนึ่งซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยการใช้แว่นขยาย สำหรับผู้ใหญ่ รอยโพรงมักปรากฎออกมาตามรอยพับระหว่างนิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้าและด้านข้างของเท้า อาจปรากฎรอบหัวนมด้วยในผู้ป่วยหญิง ส่วนผู้ป่วยชายก็อาจพบรอยโพรงได้รอบๆ อวัยวะเพศ

อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพราะเป็นระยะเวลาที่ร่างกายเริ่มตอบสนองต่อของเสียจากหิด แต่หากคุณเคยเป็นโรคหิดมาก่อน อาการจะเริ่มภายใน 1-2 วันเมื่อได้รับเชื้ออีกครั้ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันร่างกายของคุณได้จดจำการตอบสนองที่ควรมีต่อการติดเชื้อโรคหิดแล้วนั่นเอง 

จะตรวจโรคหิดได้ที่ไหน

คุณสามารถเข้ารับการตรวจหิดและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ที่โรงพยาบาล และคลินิกชุมชนที่รับตรวจ 

การวินิจฉัยโรคหิด

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคหิดได้จากการสังเกตลักษณะผิวหนังที่มีอาการ และจากการสังเกตหารอยโพรงของหิด แต่เพราะตัวหิดสามารถแพร่กระจายได้ง่ายมาก การวินิจฉัยจึงควรต้องดำเนินการกับสมาชิกในครัวเรือนเดียวกันด้วย เพื่อตรวจสอบว่ามีอาการเดียวกันหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์จะจำแนกภาวะผิวหนังอื่นๆ ที่อาจเป็นต้นเหตุของอาการที่คล้ายกัน เช่น โรคผิวหนังอักเสบ หรือโรคพุพอง ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรง

นอกจากนี้ รอยฝังของตัวหิดยังสามารถพบเจอได้จากการทดสอบด้วยหมึก ซึ่งจะมีการขยี้หมึกรอบๆ ผิวหนังที่คันก่อนจะเช็ดออกด้วยแอลกอฮอล์ ถ้ามีรอยฝังของตัวหิดอยู่ หมึกบางส่วนจะหลงเหลืออยู่บนผิวหนังซึ่งจะทำให้แพทย์มองเห็นโพรงได้ชัดเจนขึ้น

และเพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัย แพทย์อาจเก็บตัวอย่างผิวหนังด้วยการขูดผิวหนังบริเวณที่มีอาการเบาๆ และตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาร่องรอยของตัวหิด เช่น ของเสียและไข่ เป็นต้น

การรักษาโรคหิด

แม้โรคหิดจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่คุณควรไปพบแพทย์ทันทีที่คาดว่าตนเองเป็นโรคหิด เพราะโรคนี้จะไม่หายเองหากไม่ทำการรักษา โดยการรักษาโรคหิดมีหลายวิธี คือ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

   1. การใช้ครีมเพอร์เมทริน (Permethrin) 

   2. การใช้โลชั่นมาลาทิออน (Malathion) 

ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ มีส่วนประกอบเป็นยาฆ่าแมลงที่สามารถกำจัดหิดได้ดี โดยแพทย์มักจะใช้ครีมเพอร์เมทรินในปริมาณ 5% สำหรับการรักษาครั้งแรกก่อน หากครีมเพอร์เมทรินรักษาไม่ได้ผล จะเปลี่ยนไปใช้โลชั่นมาลาทิออนในปริมาณ 0.5% แทน ส่วนการกำจัดหิดด้วยสบู่ น้ำร้อน หรือการขัดผิวหนังนั้นไม่ได้เป็นการช่วยกำจัดหิดออกแม้แต่น้อย

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้อใหม่ สมาชิกในครัวเรือนทุกคนและผู้ที่สัมผัสตัวผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาพร้อมกันด้วยแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม และให้พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกาย เช่น การกอด การจับมือ จนกว่าทุกคนจะหายจากโรคหิดโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจต้องทายาซ้ำอีกครั้งหลังการรักษาครั้งแรก เพื่อทำลายตัวอ่อนที่ยังหลงเหลืออยู่ฟักตัว

   3. การใช้ยาอื่นๆ เช่น ไอเวอร์เม็กติน (Ivermectin) ยาทาเบนซิลเบนโซเอท (Benzyl benzoate) ยาทาโครทามิตัน (Crotamiton) ยาทาที่มีซัลเฟอร์ (Sulfur) เป็นส่วนประกอบ

และคุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

  • ทาครีมหรือโลชั่นบนผิวหนังทั่วร่างกาย แต่เว้นเฉพาะส่วนศีรษไว้ะ โดยก่อนทาต้องทำให้ผิวหนังเย็นและแห้งก่อน และห้ามทาหลังการอาบน้ำร้อน เพราะหากทาครีมขณะที่ร่างกายที่ร้อนเกินไปจะทำให้ยาดูดซับเข้าผิวหนังเร็ว และครีมจะไม่เกาะอยู่บนผิวหนังบริเวณที่หิดฝังตัวอยู่
  • อ่านคำแนะนำการใช้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์ครีม หรือโลชั่นให้ละเอียด เพราะสินค้าบางประเภทต้องใช้ทาทั่วร่างกายรวมถึงหนังศีรษะและใบหน้าด้วย หรือบางชนิดอาจต้องใช้เฉพาะบริเวณคอลงไปเท่านั้น
  • อย่าลืมใช้ครีมหรือโลชั่นกับบริเวณที่เอื้อมถึงยาก เช่น แผ่นหลัง ง่ามนิ้วมือและเท้า ใต้เล็บ และบนอวัยวะเพศ
  • ใช้ก้านสำลี หรือแปรงสีฟันเก่าทาครีมหรือโลชั่นใต้เล็บมือและเล็บเท้า และใส่อุปกรณ์ที่ใช้ทาลงถุงปิดมิดชิดก่อนทิ้งด้วย
  • เมื่อทาโลชั่นแล้ว ควรปล่อยผิวหนังส่วนที่ทาไว้ 8-24 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาในครีมหรือโลชั่นได้สัมผัสกับผิวหนังนานที่สุด แต่หากผู้ป่วยอาบน้ำ ก็ให้ทาใหม่อีกครั้ง
  • ทาครีมหรือโลชั่นกับผิวหนังซ้ำทันทีที่ถูกล้างออกก่อนเวลาที่ฉลากระบุไว้
  • ติดต่อแพทย์ทันทีที่อาการคันไม่ดีขึ้นหลังการรักษา 2 สัปดาห์ หรือเมื่อคุณสังเกตเห็นรอยฝังหรือโพรงใหม่บนผิวหนัง

การรักษาโรคหิดมักใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกว่าอาการคันทั่วไปจะหายโดยสมบูรณ์ และต้องใช้เวลานานกว่านั้นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการบวมที่อวัยวะเพศ และแพทย์ผู้ดูแลจะแนะนำให้ทำการรักษาซ้ำหลังจากนั้น หรืออาจเปลี่ยนไปใช้โลชั่นตัวใหม่แทน

การควบคุมการติดเชื้อ

ในวันแรกที่ใช้ครีมหรือโลชั่น คุณควรซักผ้าปูเตียง เสื้อผ้าที่ใส่นอน และผ้าเช็ดตัวในอุณหภูมิที่สูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ถ้าคุณไม่สามารถทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่มเหล่านั้นได้ ให้ใส่ผ้าเหล่านั้นในถุง แล้วเก็บเอาไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 72 ชั่วโมงเพื่อให้ตัวหิดตายทั้งหมดเสียก่อน

ถ้าคุณถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคหิด ให้พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่นจนกว่าคุณจะทาครีมหรือโลชั่นแล้ว และพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสมาชิกในครัวเรือนเดียวกันไปก่อน จนกว่าคุณจะดำเนินการรักษาครบหรือหายดี คุณอาจต้องหยุดงานหรือหากโรคเกิดในเด็ก ก็อาจต้องให้หยุดเรียนไปก่อนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น จนกว่าการรักษาครั้งแรกเสร็จสมบูรณ์

การรักษาอาการคัน

แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ครีมสเตียรอยด์ (Steroids) ชนิดอ่อนเพื่อบรรเทาอาการคัน หรือผู้ป่วยสามารถใช้ครีมหรือเจลลดคันจากร้านขายยาทั่วไปได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ รวมถึงยาต้านฮิสทามีน (Antihistamine) ที่จะช่วยควบคุมอาการคันและช่วยให้นอนหลับได้สนิทในตอนกลางคืน ซึ่งยาต้านฮิสทามีนประเภทนี้จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอนด้วย คุณไม่ควรขับรถหรือใช้งานเครื่องจักรหนักใดๆ ระหว่างที่ใช้ยานี้

คุณอาจมีอาการคันต่อเนื่องนาน 2-3 วันหลังรักษาครบกำหนดแล้ว เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังคงตอบสนองต่อซากหิดที่ตายกับของเสียที่ตกค้างอยู่ แต่หากมีอาการคันนานต่อเนื่องนานกว่า 6 สัปดาห์หลังสิ้นสุดการรักษาตามที่กำหนดแล้ว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหิด

1. การติดเชื้อทุติยภูมิ

การติดเชื้อทุติยภูมิ (Secondary infection) หมายถึง การติดเชื้อเพิ่มอีกสายพันธุ์ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อบางอย่างอยู่แล้ว เพราะอาการคันที่ผิวหนังซ้ำๆ ที่เกิดจากโรคหิดสามารถทำลายผิวหนังชั้นนอกได้ และทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆ ที่ผิวหนังสูงขึ้น เช่น โรคพุพอง หรือทำให้ภาวะผิวหนังผิดปกติที่เป็นอยู่ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ เลวร้ายลงได้อีก 

หากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนนี้ แพทย์อาจให้ใช้ยาปฏิชีวนะในการควบคุมการติดเชื้อ โดยภาวะผิดปกติของผิวหนังอื่นๆ ก็จะทุเลาลงไปด้วยหลังการรักษาการติดเชื้อโรคหิดเสร็จสมบูรณ์

2. โรคหิดนอร์เวย์

โรคหิดนอร์เวย์ (Norwegian scabies) เป็นการติดเชื้อหิดที่รุนแรงมาก ซึ่งเกิดจากการมีหิดหลายพันตัวอยู่บนผิวหนัง โรคหิดทั่วไปจะพัฒนากลายเป็นโรคหิดนอร์เวย์ได้หลังเกิดปฏิกิริยาบนผิวหนัง ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลไปทั่วร่างกายรวมไปถึงศีรษะ หนังศีรษะ คอ และเล็บ แต่จะแตกต่างจากโรคหิดทั่วไปตรงที่ผื่นที่เกิดขึ้นจะไม่มีอาการคันร่วมด้วย

ลักษณะของผู้ป่วยโรคหิดนอร์เวย์

จำนวนตัวหิดที่มหาศาลจะทำให้ผู้ป่วยเกิดสะเก็ดนูนหนาขึ้นบนผิวหนัง โดยมักคล้ายกับโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นภาวะผิวหนังที่มีสะเก็ดปื้นสีแดงแตกปกคลุมร่างกาย จนกลายเป็นสะเก็ดสีเงิน 

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคหิดนอร์เวย์

ภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ได้แก่ 

  • ผู้ที่อายุน้อยมาก 
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีความผิดปกติที่สมอง หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) 
  • ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม 
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ 
  • ผู้สูงอายุ 
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะซึ่งส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยโรคระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง (Human Immunodeficiency Virus: HIV) หรือโรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome: AIDS
  • ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์รักษาภาวะสุขภาพที่เป็นอยู่ 
  • ผู้ที่กำลังรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด

ดังนั้น ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันสุขภาพดีอยู่แล้ว เมื่อป่วยเป็นโรคหิด ก็จะมีมีหิดอยู่บนร่างกายเพียง 5-15 ตัวเท่านั้น เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เข้าไปขัดขวางวงจรการเพิ่มจำนวนของตัวหิดแล้ว แต่หากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ จำนวนของตัวหิดจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ภาวะโรคหิดนอร์เวย์ยังติดต่อได้ง่ายมาก แม้การสัมผัสกันเพียงระยะสั้นๆ หรือแม้แต่การใช้ผ้าปูเตียงหรือเสื้อผ้าร่วมกันก็อาจทำให้ติดเชื้อได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีอยู่แล้ว การสัมผัสผู้ป่วยโรคหิดนอร์เวย์จะทำให้คุณติดเชื้อโรคหิดทั่วไปเท่านั้น และโรคหิดนอร์เวย์ก็สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ครีมฆ่าแมลง หรือยาที่ชื่อว่า "ไอเวอร์เมคทิน" (Ivermectin) ซึ่งเป็นยาเม็ดแบบกลืน มีฤทธิ์กำจัดตัวหิดด้วยการหยุดระบบประสาทของปรสิต

วิธีกำจัดและป้องกันโรคหิด

ระหว่างทำการรักษาหิด ให้คุณปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้ 

  • ทำความสะอาดที่นอน ผ้าเช็ดตัว รวมถึงเสื้อผ้าทุกตัวที่ผู้ป่วยและผู้อยู่ใกล้ชิดสวมใส่ โดยให้แช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียสนานอย่างน้อย 20 นาทีเพื่อกำจัดตัวหิด แล้วนำไปตากแดดทุกวันเพื่อฆ่าเชื้ออีกครั้ง 
  • นำสิ่งของที่ไม่สามารถซักล้างได้ใส่ถุงปิดสนิทอย่างน้อย 3-5 วัน เพื่อให้ตัวหิดและไข่ตายหมด เนื่องหิดจะอยู่ภายนอกตัวคนได้ไม่เกิน 3 วัน
  • ดูดฝุ่นทำความสะอาดพรมและเฟอร์นิเจอร์ และให้ทิ้งถุงเก็บฝุ่นหลังดูดทำความสะอาดเสร็จแล้ว  
  • บอกคู่รักของคุณ คนในครอบครัว หรือคนที่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับคุณว่าคุณเป็นโรคหิด เพราะพวกเขาควรจะต้องทำการรักษาโรคไปพร้อมกับคุณ เพื่อป้องกันการเกิดติดเชื้อซ้ำไปมาระหว่างกัน หรือจะได้หาทางป้องกันการติดเชื้อโรคหิดจากคุณได้ทันเวลา
  • งดการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัสร่างกายอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะรักษาโรคหายสมบูรณ์แล้ว และการใส่ถุงยางอนามัย ก็ไม่สามารถป้องกันโรคหิดได้ด้วย

ผู้ป่วยโรคหิดอาจมีอาการคันหลังรักษาโรคแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าอาการคันยังคงเป็นอยู่นานกว่านั้น หรือมีอาการผื่น มีรอยคดเคี้ยวที่ผิวหนังขึ้นใหม่ ผู้ป่วยจะต้องทำการรักษาซ้ำอีกครั้ง

ต้องย้ำอีกครั้งว่าโรคหิดเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ และไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรงแต่อย่างใด เพียงแต่เชื้อของโรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับผู้ป่วย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การเว้นระยะห่าง ไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคหิดจึงเป็นวิธีป้องกันที่ปลอดภัยที่สุด นอกจากนี้ หากคุณมีอาการคัน ระคายเคืองและสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคหิด ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและทำการรักษาให้ทันเวลา ก่อนที่เชื้อจะแพร่ไปติดผู้อื่นเสียก่อน


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Lori Smith, BSN, MSN, CRNP, What does scabies look like? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/16961.php), December 7, 2017

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
ถ้าตังครรภ์ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม มีผลกระอย่างไรบ้าง
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
หลังผ่าคลอด 6 เดือนแล้ว ทำไมเวลามีเพศสัมพันธ์ถึงรู้สึกเจ็บคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ผู้หญิงควรจะฉีดยาเผื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือไม่หากสมควรจะฉีดควรจะฉีดเมื่อใดคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
อายุ43 มีเพศสัมพันธ์แล้วไม่ถึง3เดือน จึงไปฉีดวัคซีนกันมะเร็งปากมดลูก จะป้องกันได้มากแค่ไหนคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
โรคมะเร็งปากมดลูกมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้างค่ะเกิดขึ้นในช่วงอายุเท่าไรค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
มีลูกยากมีวิธีแก้ไหม
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)