โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticular disease) และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (diverticulitis) คือภาวะระบบย่อยอาหารที่ส่งผลต่อลำไส้ใหญ่ (colon)
ในกรณีของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticular disease) จะเกิดถุงหรือกระเปาะขนาดเล็ก (diverticula) ขึ้นบนผนังเยื่อบุลำไส้ ส่วนโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (diverticulitis) คือภาวะที่ถุงเหล่านั้นเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อขึ้น
อาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่มีดังนี้: ปวดท้องน้อย รู้สึกท้องอืด
กระนั้น ผู้ป่วยภาวะนี้ส่วนมากจะไม่มีอาการใด ๆ (เรียกภาวะไม่มีอาการจากโรคนี้ว่า diverticulosis)
อาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบจะมีความรุนแรงมากกว่า ดังนี้: มีอาการปวดท้องรุนแรง โดยเฉพาะทางด้านซ้าย มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ท้องร่วงหรือมีการเคลื่อนตัวของลำไส้ใหญ่บ่อยครั้ง
ภาวะ Diverticulosis โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
Diverticula
“Diverticula” คือคำศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้อธิบายถึงถุงหรืออาการบวมขนาดเล็กที่เกิดขึ้นข้างลำไส้ใหญ่
Diverticula เป็นภาวะที่พบบ่อยและเกี่ยวข้องกับอายุที่เพิ่มขึ้น สาเหตุการเกิดภาวะนี้คาดกันว่าเป็นเพราะลำไส้ใหญ่จะอ่อนแอลงตามอายุ และแรงกดจากอุจจาระแข็ง ๆ ที่เคลื่อนตัวผ่านลำไส้ทำให้ลำไส้มีถุงนี้เบ่งออกมา
คาดกันว่ามีผู้ที่มีภาวะ Diverticula ตอนอายุ 40 ปีประมาณ 5% และอย่างน้อยผู้คน 50% จะมีภาวะนี้เมื่อมีอายุถึง 80 ปี
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticular disease)
ผู้คน 1 ใน 4 ที่มีภาวะ Diverticula จะเริ่มมีอาการต่าง ๆ อย่างปวดท้องขึ้นมา
หากมีอาการจากภาวะ Diverticula จะเรียกโรคนี้ว่าโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticular disease)
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulitis)
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (diverticulitis) คือภาวะติดเชื้อที่เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียเข้าไปติดอยู่ภายในถุง Diverticula จนทำให้เกิดอาการรุนแรงต่าง ๆ ตามมา
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่นฝีเกิดขึ้นข้างลำไส้ เป็นต้น
การรักษาโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
อาหารกากใยสูงสามารถบรรเทาอาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ได้ และคุณก็สามารถใช้ยาพาราเซตตามอลบรรเทาอาการปวดลงได้ แต่สำหรับยาแก้ปวดประเภทอื่น ๆ เช่นแอสไพรินหรืออิบูโพรเฟนนั้นจะไม่แนะนำให้คุณใช้เป็นระยะเวลานาน ๆ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ และควรปรึกษาแพทย์หากว่าคุณใช้ยาพาราเซตตามอลไม่ได้ผล
สำหรับโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดไม่รุนแรงสามารถรักษาได้เองที่บ้านด้วยยาปฏิชีวนะที่จัดจ่ายโดยแพทย์ แต่กรณีที่เป็นรุนแรงจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อน
การผ่าตัดกำจัดส่วนของลำไส้ที่เกิดภาวะจะดำเนินการกับผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคร้ายแรง แต่ก็นับว่าเกิดเช่นนี้ได้ยากมาก
ใครได้รับผลกระทบจากโรคนี้บ้าง?
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่เป็นภาวะระบบย่อยอาหารที่พบได้มากที่สุดอย่างหนึ่ง ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างมีความเสี่ยงต่อโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบเท่า ๆ กัน แต่ภาวะนี้ก็มักจะเกิดขึ้นกับผู้ชายอายุน้อยมากกว่าผู้หญิง (ต่ำกว่า 50 ปี)
โดยทั่วไปแล้ว อาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบจะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสียมากกว่า
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่มักถูกเรียกว่าเป็น “โรคตะวันตก” เพราะคนในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาเหนือจะมีอัตราพบโรคนี้สูงที่สุด และหาได้ยากตามประเทศแถบเอเชียและแอฟริกา
คาดกันว่าสาเหตุการเกิดโรคเป็นเพราะปัจจัยด้านพันธุกรรมและอาหารรวมกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าชาวตะวันตกจะทานกากใยอาหารน้อยกว่าคนเอเชียนั่นเอง
ผู้ที่มีอายุ 50-70 ปีที่ทานกากใยอาหารสูง (25g ต่อวัน) จะมีโอกาสเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อนของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบต่ำกว่า 40% เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่มีช่วงอายุเดียวกันแต่ทานกากใยอาหารน้อย
อาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
อาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบมีทั้งอาการปวดท้อง ท้องอืด และกิจลักษณะการเคลื่อนตัวของลำไส้ที่เปลี่ยนไปจากเดิม
Diverticulosis
หากมีการพบ diverticula ระหว่างการตรวจส่องกล้องหรือการสแกน CT ด้วยเหตุผลอื่น (colonoscopy) แต่คุณไม่เคยประสบกับอาการปวดท้องหรือท้องร่วงซ้ำซาก จะมีโอกาส 70-80% ที่คุณจะไม่มีอาการที่กล่าวมาเลย
ภาวะ diverticula เป็นภาวะที่พบได้บ่อยกับผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป และเป็นภาวะที่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งแต่อย่างใด คาดกันว่าการทานอาหารกากใยสูงจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการต่าง ๆ ขึ้นมา
อาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่
อาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่คืออาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ในท้องน้อย มักจะเป็นตำแหน่งล่างซ้ายมือ
ความเจ็บปวดมักจะรุนแรงขึ้นขณะหรือหลังจากรับประทานอาหาร ซึ่งจะบรรเทาลงได้ด้วยการถ่ายหนักและผายลม
อาการระยะยาวของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่มีดังนี้: กิจจะลักษณะการเคลื่อนตัวของลำไส้เปลี่ยนแปลงไป เช่นมีอาการท้องผูกหรือท้องร่วง หรือมีท้องผูกหลายครั้งซึ่งตามด้วยท้องร่วงต่อ หรือมีการถ่ายหนักตอนเช้ามีลักษณะเหมือนขี้กระต่าย (เป็นเม็ด ๆ ) ท้องอืด
อาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นคือมีเลือดสีม่วงคล้ำออกจากทวารหนัก ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากมีอาการปวดท้องคล้ายกับปวดจากท้องร่วง และมักเป็นอาการที่ต้องนำไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที กระนั้นก็ยังนับว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ไม่ทำให้น้ำหนักลด ดังนั้นหากคุณเริ่มมีน้ำหนักตัวลดลง พยายามตรวจสอบว่ามีเลือดปนอุจจาระของคุณหรือมีการเคลื่อนตัวของลำไส้เปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือไม่ หากมีให้รีบเข้าพบแพทย์ในทันที
อาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
อาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบจะมีอาการเหมือนกับโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ แต่ความเจ็บปวดที่เกิดจากโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบจะเกิดขึ้นรุนแรงและต่อเนื่องกว่า และมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่คุณประสบกับอาการอื่น ๆ ของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ และมักจะเกิดขึ้นยาวนานหนึ่งหรือสองวัน
อาการอื่น ๆ ของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบมีดังนี้: มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและไม่สบายเนื้อสบายตัว รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียน
ความเจ็บปวดมักเกิดขึ้นใต้สะดือ ก่อนจะลามไปยังด้านซ้ายมือของหน้าท้อง
สำหรับชาวเอเชีย อาการปวดอาจเคลื่อนไปยังทางขวามือของหน้าท้อง เพราะว่าชาวเอเชียตะวันออกมักจะมี diverticula เกิดขึ้นบนตำแหน่งของลำไส้ที่ต่างจากชาวตะวันตกด้วยเหตุผลด้านพันธุกรรม
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
ควรติดต่อแพทย์ทันทีที่คุณคาดว่าคุณมีอาการจากโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
หากคุณมีอาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ และเคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้มาก่อน คุณไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เนื่องจากอาการจากโรคนี้สามารถรักษาได้เองที่บ้าน
หากคุณยังไม่เคยถูกวินิจฉัยมาก่อน ควรเข้าพบแพทย์เพื่อดำเนินการวินิจฉัยภาวะอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น แผลในกระเพาะอาหาร (stomach ulcer) โรคตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis) cystitis' target='_blank'>โรคถุงน้ำดีอักเสบ (cholecystitis) มะเร็งลำไส้ กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome - IBS)
สาเหตุของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่เกิดจากการอักเสบของถุงขนาดเล็กภายในลำไส้ใหญ่ที่เรียกว่า diverticula และหากถุงนี้เกิดติดเชื้อ จะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
สาเหตุการเกิด diverticula ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับการไม่ได้รับกากใยอาหารเพียงพอ
กากใยอาหารทำให้อุจจาระของคุณอ่อนและมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้ลำไส้ใหญ่สร้างแรงดันน้อยลงในการผลักของเสียออกจากร่างกาย
แรงกดที่มีมากเกินกับการที่อุจจาระมีขนาดเล็กเกินจะทำให้เกิดจุดอ่อนแอบนเยื่อบุภายนอกของกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้ชั้นภายใน (mucosa) ต้องบีบตัวผ่านจุดอ่อนแอเหล่านั้นจนสร้าง diverticula ขึ้นมา
แม้จะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่สามารถยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างกากใยอาหารกับ diverticula ได้ แต่โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบต่างก็พบได้มากในประเทศแถบตะวันตกที่ซึ่งคนส่วนมากไม่นิยมทานกากใยอาหารกัน
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่
ยังไม่มีหลักฐานว่าเหตุใดผู้ที่มีภาวะ diverticula 1 ใน 4 ถุงเริ่มมีอาการของโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบขึ้นมา ซึ่งหากจะกล่าวง่าย ๆ ว่าโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่เป็นโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบที่มีระดับความรุนแรงต่ำก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด อีกทั้งอาการของโรคนี้ก็คล้ายกับกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome - IBS) อย่างมากอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เหมือนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่มีดังนี้: การสูบบุหรี่ การที่มีน้ำหนักร่างกายมาก หรือภาวะอ้วน (obese) ประวัติท้องผูก การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs - NSAID) การที่มีญาติใกล้เคียงเป็นโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะหากญาติเหล่านั้นเป็นโรคนี้ก่อนอายุ 50 ปี
กระนั้นสาเหตุการเกิดโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ขึ้นก็ยังคงนับว่าไม่ชัดเจนอยู่ดี
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบเกิดจากการติดเชื้อของถุง diverticula หนึ่งถุงขึ้นไป
คาดกันว่าการติดเชื้อเริ่มจากการที่มีเศษอุจจาระแข็ง ๆ หรืออาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์เข้าไปติดอยู่ในถุงนั้น ๆ จนทำให้แบคทีเรียเพิ่มจำนวนขึ้นในถุงและลุกลามออกไปจนกระตุ้นให้เกิดอาการของภาวะติดเชื้อต่อคนไข้
การวินิจฉัยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่ทำการวินิจฉัยได้ยากจากการสังเกตอาการเพียงอย่างเดียว เนื่องจากว่ามีภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกัน เช่นกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน เป็นต้น
ขั้นตอนแรกแพทย์จะแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อกำจัดความเป็นไปได้ที่จะเป็นภาวะอื่น ๆ อย่างโรคแพ้กลูเตน (coeliac disease) หรือมะเร็งลำไส้
ในบางกรณีคุณอาจได้รับการรักษาโรค IBS กับโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่พร้อมกันก็ได้
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่
เพื่อให้แพทย์มั่นใจว่าคุณไม่ได้เป็นภาวะร้ายแรงอื่น ๆ แพทย์จะส่งคุณไปรับการสอดกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ที่ซึ่งเป็นการสอดท่อยาวที่ยืดหยุ่นเข้าไปทางทวารหนักและนำขึ้นไปยังลำไส้ใหญ่ ซึ่งก่อนจะเริ่มกระบวนการ คุณจะได้รับยาระบายเพื่อกำจัดของเสียออกจากลำไส้ให้หมด
การส่องกล้องมักจะไม่สร้างความเจ็บปวดนอกจากความไม่สบายตัวเล็กน้อย คุณอาจได้รับยาแก้ปวดหรือยาระงับประสาทก่อนกระบวนการเพื่อช่วยให้คุณผ่อนคลายมากขึ้นตามความจำเป็น
CT pneumocolon หรือการตรวจลำไส้ เทคนิคมองหาภาวะ diverticula อีกอย่างคือการสแกนคอมพิวเตอร์ (computerized tomography - CT scan) โดย CT จะเป็นการใช้รังสีเอกซเรย์กับคอมพิวเตอร์สร้างภาพภายในร่างกายออกมา
เช่นเดียวกับการสอดกล้องส่องลำไส้ใหญ่ คุณจะได้รับยาระบายเพื่อกำจัดของเสียในลำไส้ก่อนเข้ารับการสแกน
ต่างจากการสแกน CT ตามปรกติ การสแกนลำไส้ใหญ่จะเป็นการสอดท่อที่มีปั๊มลมเข้าไปในทวารหนัก โดยการถ่ายภาพจะดำเนินการด้วยการให้คุณนอนคว่ำและสลับไปนอนหงาย
คุณอาจต้องได้รับการฉีดสารทึบรังสี (contrast dye) ก่อนการสแกน แต่ในบางกรณีก็อาจจะไม่จำเป็นก็ได้
การวินิจฉัยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
หากคุณมีประวัติสุขภาพเป็นโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่มาก่อน แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบได้จากการสอบถามอาการและการตรวจร่างกายของคุณ อาจมีการตรวจเลือดขึ้นเพื่อสังเกตจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะสูงขึ้นเมื่อร่างกายติดเชื้อ หากคุณมีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะทำการรักษาอาการต่าง ๆ ที่บ้าน และคุณควรจะฟื้นตัวดีภายใน 4 วัน
การทดสอบเพิ่มเติมจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่มาก่อน
หากคุณรู้สึกไม่สู้ดี แพทย์จะจัดการตรวจเลือดและสืบหาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ และเพื่อมองหาภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่นนิ่วถุงน้ำดี (gallstones) หรือไส้เลื่อน (hernia) เป็นต้น
อาจมีการสแกนอัลตราซาวด์หรือ CT สแกนตามความจำเป็น
การสแกน CT จะใช้กับกรณีที่อาการของคุณมีความรุนแรงเป็นพิเศษ เพื่อมองหาว่าคุณมีภาวะแทรกซ้อนอย่างเกิดการฉีกขาดหรือมีฝีหรือไม่
การรักษาโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
ตัวเลือกที่ใช้รักษาโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่กับโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการของคุณ
การรักษาโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่
โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ส่วนมากจะสามารถรักษาได้เองที่บ้าน โดยมักเป็นการใช้ยาแก้ปวดทั่วไปอย่างพาราเซตตามอลบรรเทาอาการ
ยาแก้ปวดประเภทต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) อย่างแอสไพรินและอิบูโพรเฟนเป็นยาที่ไม่แนะนำเนื่องจากอาจทำให้ปวดท้อง และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกภายในขึ้น
การทานอาหารกากใยสูงเป็นขั้นตอนรักษาแรกเริ่ม ผู้ป่วยบางคนที่ทำเช่นนี้อาจสังเกตว่าอาการต่าง ๆ ดีขึ้นหลังจากผ่านไปไม่กี่วัน แต่ก็อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะรู้สึกฟื้นตัวจากโรคโดยสมบูรณ์
หากคุณมีอาการท้องผูก คุณสามารถใช้ยาระบายชนิดที่ทำให้อุจจาระเกาะตัวมากขึ้น (bulk-forming laxative) ซึ่งจะทำให้เกิดลมและท้องอืด อีกทั้งการดื่มน้ำมาก ๆ ก็สามารถช่วยป้องกันการอุดตันภายในระบบย่อยอาหารได้อีกด้วย
ภาวะเลือดออกจากทวารหนักต่อเนื่องหรืออย่างหนักจะเกิดกับผู้ป่วยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ประมาณ 1 จาก 20 คน และเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหากหลอดเลือดภายในลำไส้ใหญ่เกิดอ่อนแอลงจากการมี diverticula ภาวะเลือดออกนี้มักจะไม่เจ็บปวด แต่หากคนไข้เสียเลือดมากก็จะกลายเป็นเรื่องร้ายแรงที่ต้องเข้ารับการถ่ายเลือดรักษาทันที
สัญญาณที่บ่งชี้ว่าคุณประสบกับภาวะเลือดออกอย่างหนัก (นอกจากปริมาณของเลือด) มีดังนี้: รู้สึกวิงเวียน สับสน ผิวซีด หายใจลำบาก
หากคุณคาดว่าตนเอง (หรือผู้ที่อยู่ในความดูแลของคุณ) ประสบกับภาวะเลือดออกอย่างหนัก ให้ไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
การรักษาโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
การรักษาที่บ้าน
โรคถุงผนังลำไส้อักเสบชนิดไม่รุนแรงสามารถรักษาได้เองที่บ้าน โดยแพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะมาให้คุณใช้ร่วมกับยาพาราเซตตามอล โดยสิ่งสำคัญคือการทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามกำหนดแม้จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
ยาปฏิชีวนะบางประเภทที่ใช้รักษาโรคถุงผนังลำไส้อักเสบอาจมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยบางราย เช่นอาเจียน และท้องร่วง
แพทย์อาจแนะนำให้คุณทานอาหารเหลวไปจนกว่าอาการจะดีขึ้น เพราะว่าการให้ลำไส้ย่อยอาหารแข็งจะทำให้อาการต่าง ๆ ทรุดลง โดยคุณสามารถค่อย ๆ เพิ่มอาหารแข็งเข้าไปได้ภายในช่วงเวลา 2 ถึง 3 วันถัดมา
ระหว่างช่วงพักฟื้น 3 ถึง 4 วัน คุณควรทานอาหารที่มีกากใยอาหารต่ำ ทั้งนี้เพื่อลดปริมาณอุจจาระในลำไส้ใหญ่และเพื่อลดอาการอักเสบลง
การรักษาที่โรงพยาบาล
หากคุณมีอาการจากโรคถุงผนังลำไส้อักเสบรุนแรง คุณจำต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะหากว่า: อาการเจ็บปวดของคุณไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยาพาราเซตตามอล อาการเจ็บปวดของคุณมีมากจนไม่อาจดื่มน้ำได้ คุณไม่สามารถทานยาปฏิชีวนะเข้าปากได้ คุณมีสุขภาพโดยรวมอ่อนแอ คุณมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แพทย์คาดการณ์ว่าคุณมีภาวะแทรกซ้อนจากโรค อาการของคุณไม่ดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษาไปแล้ว 2 วัน (ที่บ้าน)
หากคุณพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล คุณจะได้รับยาปฏิชีวนะแบบฉีด และได้รับน้ำเข้าเส้นเลือดผ่านตัวหยดยา (ท่อที่เชื่อมเข้าสู่เส้นเลือด) โดยผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
การผ่าตัด
ในอดีต การผ่าตัดจะมีเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคถุงผนังลำไส้อักเสบที่ประสบกับอาการสองครั้ง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
แต่การผ่าตัดไม่ได้เป็นวิธีการรักษาอีกแล้วเนื่องจากการศึกษาพบว่ากรณีส่วนมากผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่ร้ายแรงจนมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับหลังการผ่าตัด (คาดกันว่าเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด 1 จาก 100 คน)
อย่างไรก็ตามก็มีข้อยกเว้นอยู่ เช่น: หากคุณมีประวัติสุขภาพเคยเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ หากคุณมีอาการของโรคถุงผนังลำไส้ตั้งแต่อายุน้อย (คาดว่ายิ่งคุณอยู่ร่วมกับโรคถุงผนังลำไส้นานเท่าไร จะยิ่งมีโอกาสต่อภาวะแทรกซ้อนร้างแรงมากขึ้น) หากคุณมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีความอ่อนไหวต่อการติดเชื้อมาก
หากแพทย์นำการผ่าตัดมาพิจารณา ทั้งทีมรักษาจะทำการปรึกษาหารือเรื่องประโยชน์และความเสี่ยงกันก่อน
ในกรณีหายาก โรคถุงผนังลำไส้อักเสบที่เกิดอาการรุนแรงจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งก็คือการเกิดรูฉีกบนลำไส้ใหญ่ที่เกิดจากโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ กระนั้นก็นับว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อย แต่หากเกิดขึ้นจะทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง
การผ่าตัดลำไส้ใหญ่
การผ่าตัดรักษาโรคถุงผนังลำไส้อักเสบด้วยการนำส่วนของลำไส้ใหญ่ที่เป็นโรคออก (Colectomy) มีอยู่สองหัตถการดังนี้:
การผ่าตัดลำไส้ใหญ่แบบเปิด (open colectomy): ที่ซึ่งศัลยแพทย์จะทำการกรีดเข้าช่องท้องของคุณขนาดใหญ่ และนำส่วนของลำไส้ใหญ่ออกมา
การผ่าตัดลำไส้ใหญ่แบบรูกุญแจ (laparoscopic colectomy): ที่ซึ่งศัลยแพทย์ทำการเจาะรูขนาดเล็กบนหน้าท้องของคุณ ก่อนใช้เครื่องมือผ่าตัดพิเศษที่นำทางได้ด้วยกล้องนำลำไส้ใหญ่ออก
การผ่าตัดลำไส้ใหญ่แบบเปิดและการผ่าตัดลำไส้ใหญ่แบบรูกุญแจมีประสิทธิผลเทียบเท่ากัน และมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่คล้ายกัน แต่ผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดลำไส้ใหญ่แบบรูกุญแจมักจะฟื้นตัวเร็วกว่าและมีความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดน้อยกว่า
การผ่าตัดฉุกเฉินที่ดำเนินการกับลำไส้ที่ฉีกขาดมักจะดำเนินการด้วยการผ่าตัดแบบเปิด และอาจต้องทำการสร้างสโตม่า (stoma) ขึ้นมา
การผ่าตัดสโตม่า
ในบางกรณี ศัลยแพทย์อาจตัดสินใจปล่อยให้ลำไส้ใหญ่ของคุณฟื้นตัวเองด้วยการผ่าแยกเส้นทางของเสีย
ในกรณีเช่นนี้ การผ่าตัดสโตม่า (stoma surgery) จะนำมาพิจารณาเพื่อเปิดช่องทางเดินของเสียออกจากร่างกายใหม่โดยที่ไม่ใช้ลำไส้ใหญ่ทั้งส่วน โดยจะมีการติดถุงเข้าที่ผิวหนังของคุณเพื่อให้อุจจาระไหลเก็บในถุงนั้น
การผ่าตัดสโตม่าเป็นหัตถการที่ศัลยแพทย์สร้างรูขึ้นบนช่องท้อง ซึ่งช่องดังกล่าวจะเรียกว่าสโตม่า (stoma) และมีหัตถการสองวิธีที่สามารถดำเนินการได้:
ไอลีออสโตมี (ileostomy): เป็นการสร้างสโตม่าขึ้นมาบนด้านขวามือของหน้าท้อง ลำไส้เล็กของคุณจะถูกแยกออกจากลำไส้ใหญ่ และเชื่อมออกมาข้างนอกเป็นสโตม่า ซึ่งแพทย์จะทำการผนึกลำไส้ใหญ่ไว้ คุณจำต้องติดตั้งถุงกับสโตม่าเพื่อทำการเก็บกักของเสียที่ออกมา (อุจจาระ)
โคลอสโตมี (colostomy): เป็นการสร้างสโตม่าออกมานอกช่องที่ท้องน้อย และส่วนของลำไส้ใหญ่จะถูกนำออกมาก่อนติดเข้ากับสโตม่า เช่นเดียวกับวิธีไอลีออสโตมี คุณจำต้องติดถุงไว้รองรับของเสียเช่นกัน
กรณีส่วนมาก สโตม่าจะเป็นเพียงการทำชั่วคราว และจะถูกปลดออกเมื่อลำไส้ใหญ่ของคุณฟื้นตัวกลับมาจากการผ่าตัดแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่คุณประสบก่อนเข้ารับการผ่าตัด หากเป็นหัตถกรรมเร่งด่วน คุณจำต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าอวัยวะจะฟื้นตัว
หากต้องทำการตัดลำไส้ใหญ่ออกขนาดใหญ่เนื่องจากการลุกลามของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ หรืคุณมีภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยงสูง คุณอาจจำต้องเข้ารับการผ่าตัดไอลีออสโตมี หรือโคลอสโตมีแบบถาวรแทน
ผลลัพธ์จากการผ่าตัด
โดยทั่วไป การผ่าตัดชนิดที่ไม่เร่งด่วนมักจะประสบความสำเร็จ แต่ก็อาจไม่สามารถรักษาให้หายโดยสมบูรณ์ได้ทุกกรณี คาดกันว่าจะผู้ป่วยในจำนวนนี้ 1 จาก 12 คนที่มีอาการของโรคถุงผนังลำไส้และโรคถุงผนังลำไส้อักเสบกลับมา
สำหรับกรณีผ่าตัดเร่งด่วนหรือฉุกเฉินนั้น อัตราความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยขณะที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคถุงผนังลำไส้อักเสบเกิดขึ้นกับผู้ป่วยภาวะนี้ 1 ใน 5 คน โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี
ตัวอย่างภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวพันกับโรคถุงผนังลำไส้อักเสบมีดังต่อไปนี้
ภาวะเลือดออก
ผู้ป่วยโรคถุงผนังลำไส้หรือโรคถุงผนังลำไส้อักเสบประมาณ 15% จะประสบกับภาวะเลือดออก ซึ่งผู้ป่วยมากกว่า 70-80% จะไม่มีความเจ็บปวดและใช้เวลาไม่นานหายไปเอง
อย่างไรก็ตามหากภาวะเลือดออกไม่หาย ผู้ป่วยต้องเข้ารับการถ่ายเลือด (blood transfusion) แบบฉุกเฉิน โดยอาจต้องรีบรักษาอย่างเร่งด่วนหากมีอาการเลือดออกมาก และหากรุนแรงมากขึ้น คุณต้องเข้าพักตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น
ปัญหาการขับถ่าย
โรคถุงผนังลำไส้อักเสบสามารถทำให้ส่วนของลำไส้ที่สัมผัสกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบขึ้นได้ ซึ่งนั่นจะเกิดปัญหากับระบบปัสสาวะขึ้นมา อย่างเช่น: ความเจ็บปวดขณะปัสสาวะ (dysuria) รู้สึกอยากปัสสาวะบ่อยกว่าปรกติ กรณีหายากอาจมีอากาศเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
ฝี
ภาวะแทรกซ้อนของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบคือเกิดฝีภายนอกลำไส้ใหญ่ โดยฝีคือตุ่มหรือก้อนเนื้อเยื่อที่เต็มไปหนอง ฝีบนลำไส้สามารถรักษาได้ด้วยเทคนิคที่เรียกว่าการระบายฝีผ่านผิวหนัง (percutaneous abscess drainage - PAD)
ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาด้วยรังสี (radiologist) จะใช้การสแกนอัลตราซาวด์ หรือ CT เพื่อชี้ตำแหน่งของฝีก่อนจะแทงเข็มขนาดเล็กที่เชื่อมกับท่อที่ลากผ่านผิวหนังหน้าท้องเข้าไปในฝี ท่อดังกล่าวจะดูดหนองออกจากฝี ซึ่งกระบวนการ PAD จะต้องดำเนินการโดยการใช้ยาชาเฉพาะที่กับคนไข้เสียก่อน
ขึ้นอยู่กับขนาดของฝี กระบวนการอาจจำต้องดำเนินการหลายครั้งก่อนที่จะสามารถดูดหนองออกทั้งหมด ซึ่งหากฝีมีขนาดน้อยกว่า 4cm แพทย์จะสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
ฝีฟิสทูลา
ฝีฟิสทูลา (Fistula) คือภาวะแทรกซ้อนทั่วไปของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ โดยฟิสทูลาคืออุโมงค์ที่ผิดปรกติที่เชื่อมอวัยวะร่างกายสองส่วนเข้าด้วยกัน เช่นลำไส้กับผนังช่องท้องหรือกระเพาะปัสสาวะ
หากเนื้อเยื่อติดเชื้อสัมผัสเข้าด้วยกัน จะทำให้เนื้อเยื่อทั้งสองติดเข้าหากัน และหลังจากการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อ ฟิสทูลาจะสามารถก่อตัวขึ้นมาได้ ซึ่งจะนับเป็นภาวะอันตรายเพราะจะทำให้เชื้อแบคทีเรียภายในลำไส้ใหญ่เข้าไปสู่อวัยวะอื่นของร่างกายจนทำให้เกิดการติดเชื้อต่าง ๆ เช่นการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ (cystitis)
ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
กรณีหายาก การติดเชื้อที่ถุงในลำไส้ใหญ่ก็สามารถฉีกออกจนทำให้การติดเชื้อแพร่กระจายไปตามเยื่อบุช่องท้อง การติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้องจะเรียกว่าภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)
ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบเป็นภาวะอันตรายถึงชีวิต และจำต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างเร่งด่วน การผ่าตัดดำเนินการเพื่อดูดหนองออก และจำเป็นต้องดำเนินการด้วยการผ่าตัดคอโลสโตมี (colostomy)
ภาวะลำไส้อุดตัน
หากการติดเชื้อได้ทำลายลำไส้ใหญ่ของคุณจนเป็นแผลร้ายแรง ลำไส้จะเกิดการอุดตันบางส่วนหรือทั้งหมดได้ ซึ่งการอุดตันแบบทั้งหมดของลำไส้ใหญ่เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์เพราะว่าเนื้อเยื่อของลำไส้ใหญ่จะเริ่มผุพังและแตกออกจนกลายเป็นภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบในที่สุด
การอุดตันบางส่วนของลำไส้ใหญ่ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน แต่ก็ควรต้องเข้ารับการรักษาอยู่ดี หากปล่อยทิ้งไว้ ภาวะนี้จะส่งผลต่อความสามารถในการย่อยอาหารและทำให้คุณมีความเจ็บปวดรุนแรง
การอุดตันที่ลำไส้ใหญ่จากโรคถุงผนังลำไส้เป็นภาวะหายากมาก ซึ่งภาวะสุขภาพอื่น ๆ อย่างมะเร็งยังจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า จึงเป็นสาเหตุที่คุณต้องให้แพทย์ตรวจสอบอาการของคุณ
ในบางกรณี การอุดตันของลำไส้สามารถกำจัดออกได้ด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตามหากการอุดตันนั้นส่งผลเป็นวงกว้าง อาจต้องดำเนินการคอโลสโตมีชนิดถาวรหรือชั่วคราวขึ้นตามความจำเป็น
การป้องกันโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่และโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
การทานอาหารกากใยสูงจะช่วยป้องกันการเกิดโรคถุงผนังลำไส้อักเสบและโรคถุงผนังลำไส้ และยังสามารถบรรเทาอาการต่าง ๆ จากโรคทั้งสองได้
อาหารของคุณควรเป็นอาหารที่มีสารอาหารสมดุล และมีสัดส่วนของผลไม้และผักอย่างน้อย 5 ส่วนต่อวันรวมไปถึงธัญพืชรวม ผู้ใหญ่ควรทานอาหารกากใยสูง 18g ถึง 30g ต่อวันขึ้นอยู่กับความสูงและน้ำหนัก แพทย์จะสามารถกำหนดเป้าหมายน้ำหนักกับส่วนสูงของคนไข้แต่ละคนได้
หากคุณเริ่มประสบกับโรคถุงผนังลำไส้ แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณไม่ทานถั่ว ข้าวโพด และเมล็ดพืชเพื่อเลี่ยงการฉีกขาดของถุงในลำไส้ที่อาจทำให้เกิดโรคถุงผนังลำไส้อักเสบขึ้นมา บางคนสังเกตว่าพวกเขามีอาการขึ้นเมื่อทานอาหารเหล่านั้น อีกทั้งแพทย์ยังคงแนะนำให้คุณทาน Probiotics แม้จะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าอาหารประเภทนี้ได้ผลจริงหรือไม่
แหล่งของกากใยอาหาร
แหล่งของกากใยอาหารมีดังนี้: ผลไม้ ผัก ถั่ว ธัญญาหาร: แต่ควรอ่านปริมาณสารอาหารของซีเรียลแต่ละยี่ห้อเสียก่อน อาหารจำพวกแป้ง: เช่นขนมปัง ข้าว และเส้นพาสต้า
เมื่อคุณทานกากใยอาหารครบตามกำหนดแล้ว ควรพยายามทานกากใยให้มากเท่านั้นไปตลอดชีวิตเท่าที่คุณจะทำได้
ผลไม้สด
แหล่งของกากใยอาหารที่ดีคือผลไม้สด ซึ่งมีตัวอย่างผลไม้ดังนี้: อะโวคาโด: ผลอะโวคาโดขนาดกลางจะมีกากใยอาหาร 4.9g ลูกแพร์ (พร้อมเปลือก): ผลแพร์ขนาดกลางจะมีกากใยอาหาร 3.7g ส้ม: ส้มขนาดกลางจะมีกากใยอาหาร 2.7g แอปเปิ้ล: แอปเปิ้ลขนาดกลางจะมีกากใยอาหาร 2g ราสเบอร์รี่: ราสเบอร์รี่ 2 กำมือจะมีกากใยอาหาร 2g กล้วย: กล้วยขนาดกลางจะมีกากใยอาหาร 1.7g น้ำมะเขือเทศ: หนึ่งแก้วเล็ก (200ml) จะมีกากใยอาหาร 1.2g
ผลไม้ตากแห้ง
แหล่งของกากใยจากผลไม้ตากแห้งที่ดีมีดังนี้: ลูกพรุน: 3 เม็ดจะมีกากใยอาหาร 4.6g แอปริคอท: 3 ลูกจะมีกากใยอาหาร 4.6g
ผัก
แหล่งของกากใยจากผักมีดังนี้:
ถั่วอบ: ครึ่งกระป๋อง (200g) จะมีกากใยอาหาร 7.4g
ถั่วแดงต้ม: 3 ช้อนชาจะมีกากใยอาหาร 5.4g
ถั่วต้ม: 3 ช้อนชาจะมีกากใยอาหาร 3.6g
ถั่วฝรั่งเศสต้ม: 4 ช้อนชาจะมีกากใยอาหาร 3.3g
กะหล่ำดาวต้ม: 8 ลูกจะมีกากใยอาหาร 3.6g
มันฝรั่ง: ขนาดกลางจะมีกากใยอาหาร 2.4g
spring greens: 4 ช้อนชาจะมีกากใยอาหาร 2.1g
แครอทต้ม/ฝาน: 3 ช้อนชาจะมีกากใยอาหาร 2g
ถั่ว
แหล่งของกากใยอาหารจากถั่วมีดังนี้: อัลมอนด์: 20 เม็ดจะมีกากใยอาหาร 2.4g ถั่วลิสง: 1 ช้อนชาจะมีกากใยอาหาร 1.6g ถั่วรวม: 1 ช้อนชาจะมีกากใยอาหาร 1.5g ถั่วบราซิล: 10 เม็ดจะมีกากใยอาหาร 1.4g
ธัญญาหารเช้า/ ซีเรียล
แหล่งของกากใยอาหารจากซีเรียลมีดังนี้:
All-Bran): 1 ชามขนาดกลางจะมีกากใยอาหาร 9.8g
Shredded Wheat: 2 ชิ้นจะมีกากใยอาหาร 4.3g
Bran Flakes: 1 ชามขนาดกลางจะมีกากใยอาหาร 3.9g
Weetabix: 2 ชิ้นจะมีกากใยอาหาร 3.6g
muesli (ที่ไม่เติมน้ำตาล): 1 ชามขนาดกลางจะมีกากใยอาหาร 3.4g
ข้าวต้มนม: 1 ชามขนาดกลางจะมีกากใยอาหาร 2.3g
อาหารจำพวกแป้ง
แหล่งของกากใยอาหารจากอาหารจำพวกแป้งมีดังนี้:
ขนมปังกรอบ: 4 ชิ้นจะมีกากใยอาหาร 4.2g
ขนมปังธัญพืชรวม: 1 ชิ้น (75g)
จะมีกากใยอาหาร 3.9g
พาสต้า: 1 ชามขนาดกลาง (200g) จะมีกากใยอาหาร 3.8g
naan bread: 1 ชิ้นจะมีกากใยอาหาร 3.2g
ขนมปังสีน้ำตาล: 2 แผ่นจะมีกากใยอาหาร 2.5g
อาหารเสริมไฟเบอร์: มักอยู่ในรูปของยาผงผสมกับน้ำที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา บ้างก็ใส่สารเพิ่มความหวานด้วย โดยการทานอาหารเสริมประเภทนี้หนึ่งช้อนชาจะมีกากใยอาหาร 2.5g ซึ่งหากคุณต้องการใช้ในระยะยาว ควรแจ้งให้แพทย์เป็นผู้จัดจ่ายให้จะดีที่สุด