กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Osteoporosis (กระดูกพรุน)

เผยแพร่ครั้งแรก 13 ธ.ค. 2016 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
  • โรคกระดูกพรุน เป็นโรคทางกระดูกที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะที่สะโพก กระดูกสันหลัง ข้อมือ
  • กระดูกพรุนเกิดจากกระดูกสลายเร็วเกินไป หรือสร้างช้าเกินไป
  • ตามปกติกระดูกจะแข็งแรงที่สุดตอนคนเราอายุ 30 ปี จากนั้นกระดูกจะค่อยๆ เสื่อม
  • การป้องกันโรคกระดูกพรุน ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี ออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก
  • สิ่งที่ทำให้กระดูกพรุนมากขึ้น ได้แก่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน กินอาหารโซเดียมสูง สูบบุหรี่

โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่ทำให้กระดูกมีความพรุนและแตกง่าย เนื่องจากการที่มีมวลกระดูกน้อยลงและมีการสูญเสียเนื้อเยื่อกระดูก โดยจากข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health: NIH) ได้รายงานว่า โรคกระดูกพรุนเป็นโรคทางกระดูกที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นโรคที่มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดกระดูกหัก โดยเฉพาะที่สะโพก กระดูกสันหลัง หรือข้อมือ

ความชุกของโรคกระดูกพรุน

เมื่อปี 2010 ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ประมาณเกือบ 54 ล้านคนที่เป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกบาง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

จากบทความใน Journal of Bone and Mineral Research ปี 2014 ได้มีการแบ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน จำนวน 10.2 ล้านคน และผู้ที่เป็นโรคกระดูกบางมีสูงถึง 43.4 ล้านคน ซึ่งเป็นก็กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนต่อมาในภายหลัง

ทั้งนี้ โรคนี้มักพบในกลุ่มประชากรเชื้อสายฮิสปานิก (Hispanic) โดยเฉพาะเพศหญิง ซึ่งมีผู้ป่วยรวม ๆ ประมาณ 7.7 ล้านคน

สาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุน

อ้างอิงจากข้อมูลของ NIH ระบุว่า กระดูกของคนเรามีการเปลี่ยนเเปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยจะมีการสลายและสร้างขึ้นใหม่ตลอดชีวิต และจะมีการสร้างกระดูกชุดใหม่ทั้งร่างกายประมาณทุก ๆ 10 ปี

ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น จะมีการสร้างกระดูกเร็วกว่าการสลาย จึงทำให้มีการเจริญเติบโตที่ดีในช่วงวัยนี้ จากนั้นความหนาแน่นของกระดูกจะมีมากที่สุดและแข็งแรงที่สุดเมื่ออายุประมาณ 30 ปี และหลังจากนั้นจะเริ่มมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างทีละน้อย

โรคกระดูกพรุนจึงเกิดขึ้นได้จากการที่ร่างกายของเราเกิดความไม่สมดุล ระหว่างการสร้างและการสลายกระดูก ซึ่งอาจเกิดจากการสลายที่เร็วเกินไป หรือการสร้างที่ช้าเกินไปนั่นเอง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนโดยปัจจัยบางอย่างเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การมีประวัติครอบครัวเรื่องกระดูกหัก เป็นผู้หญิงโดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน มีอายุมากกว่า 50 ปี มีกระดูกที่เล็กหรือบาง มีเชื้อสายคอเคเซียนหรือเอเชีย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สำหรับปัจจัยอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานแอลกอฮอล์มากเกินไป การเป็นโรค Anorexia การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี ต่ำ ไม่ออกกำลังกาย มีการใช้ยาเช่นกลุ่ม Glucocorticoid และยากันชักเป็นเวลานาน มีระดับฮอร์โมน Estrogen ต่ำ (จากการหมดประจำเดือนหรือขาดประจำเดือน) ในผู้หญิง หรือฮอร์โมน Testosterone ต่ำในผู้ชาย

ปัจจัยเร่งกระดูกพรุนที่ต้องระวัง

นอกจากปริมาณแคลเซียมในอาหารแล้ว การสูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แคลเซียมในร่างกายเสียสมดุลมีสารอาหารหลายอย่างจากอาหารที่เราเลือกกินที่อาจไปรบกวนการดูดซึมแคลเซียมหรือเพิ่มการขับแคลเซียมจากร่างกาย เช่น โปรตีน สารออกซาเลต สารไฟเทต โซเดียม คาเฟอีน และแอลกอฮอล์

แต่ละปัจจัยมีรายละเอียดดังนี้

โปรตีนสัตว์

ทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก โดยการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ

โปรตีนจากสัตว์มีองค์ประกอบของกรดแอมิโนที่มีซัลเฟอร์หรือกำมะถันเป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะกรดแอมิโนประเภทซีสทีนและเมทไธโอนีน

ซัลเฟอร์จะถูกเปลี่ยนเป็นสารซัลเฟต ทำให้เลือดมีฤทธิ์เป็นกรด เพื่อรักษาสมดุลในเลือด แคลเซียมจะถูกสลายจากกระดูกเข้าไปในกระแสเลือด และถูกไตกรองออกทางปัสสาวะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อาหารประเภทเนื้อสัตว์และไข่มีสารซัลเฟอร์มากกว่าที่พบในโปรตีนพืช 2-3 เท่า ฉะนั้นการบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไปอาจทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมามากขึ้น

นักระบาดวิทยาพบว่า ประเทศที่บริโภคอาหารโปรตีนสูงมีอัตราการเกิดกระดูกสะโพกแตกหักสูง เมื่องดอาหารโปรตีนจากสัตว์ปรากฏว่าการสูญเสียแคลเซียมของร่างกายลดลงกว่าครึ่ง และในบรรดาอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง ถั่วเหลืองทำให้เกิดการสูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะน้อยที่สุด

ดอกเตอร์โรเบิร์ต เมสซินา (Dr.Robert Messina) ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยถั่วเหลือง อธิบายไว้ว่า ถั่วเหลืองให้ประโยชน์แก่กระดูกในแง่ที่ว่าเป็นโปรตีนพืช ทำให้การขับแคลเซียมทางปัสสาวะน้อยกว่าโปรตีนสัตว์ ถ้าเรากินถั่วเหลือง 15 กรัมแทนเนื้อสัตว์ 15 กรัม จะลดการสูญเสียแคลเซียมที่ถูกขับออกจากร่างกายได้ 15 มิลลิกรัม ในแต่ละวันปริมาณเนื้อสัตว์ที่ควรกินประมาณ 150 กรัม ถ้าเรากินถั่วเหลืองแทนก็เท่ากับว่าเราต้องการแคลเซียมจากอาหารลดลงวันละ 150 มิลลิกรัม

โซเดียมหรืออาหารที่มีเกลือมาก

โซเดียมเป็นองค์ประกอบของเกลือ มีส่วนช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหารแต่ยิ่งเพิ่มมากก็ยิ่งทำให้ร่างกายเสียแคลเซียมมากขึ้น  โดยถูกขับออกทางไต เรามักจะคุ้นกันว่าอาหารเค็มเพิ่มความดันโลหิต แต่ขณะเดียวกันผลต่อแคลเซียมก็มีความสำคัญเท่าๆ กัน

ผู้ที่กินอาหารรสอ่อนเค็มหรือไม่เค็ม โดยลดปริมาณโซเดียมวันละ 1-2 กรัม จากเกลือและซอสต่างๆ ซีอิ๊ว น้ำปลา หรือของหมักดอง สามารถลดความต้องการแคลเซียมได้ถึงวันละ 60 มิลลิกรัม

ฉะนั้นการกินอาหารนอกบ้าน อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารจีน เป็นสิ่งที่จะต้องระวัง แม้กระทั่งส้มตำที่เป็นอาหารที่ดี แต่หากเติมรสเค็มมากก็จะได้เกลือมาก คุณๆ ที่เป็นแม่บ้านควรเพลามือในการปรุงรสบ้างอย่าให้รสเค็มนำหน้า

สารออกซาเลตและไฟเทต

อาหารที่มีสารออกซาเลตและไฟเทตสูงจะลดการดูดซึมของแคลเซียม เช่น ผักโขม บีตกรีน (Beet Green) แม้จะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ไม่ใช่แหล่งอาหารที่ดีของแคลเซียม

ถั่วบางชนิด เช่น ถั่วลาย หรือถั่วปินโต หรือ ถั่วเปรู (Pinto Bean) ถั่วเนวีหรือถั่วทหารเรือ (Navy Bean) มีใยอาหารและสารไฟเทตสูง แต่เราสามารถลดสารไฟเทตได้จากการปรุงอาหาร โดยแช่ถั่วเหล่านี้ในน้ำเป็นเวลาหลายชั่วโมง แล้วรินน้ำที่แช่ทิ้งไปก่อนที่จะนำไปปรุงอาหาร

รำข้าวสาลี 100% เป็นอาหารที่มีไฟเทตและใยอาหารสูงและเป็นอาหารชนิดเดียวที่ลดการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารที่กินร่วมด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น หากกินซีเรียลชนิดที่ทำจากรำข้าวสาลีผสมนม แคลเซียมในนมจะถูกดูดซึมได้น้อย หากใครที่เสริมแคลเซียมก็ควรกินห่างจากอาหารนี้ 2 ชั่วโมงขึ้นไป

กาเฟอีน

เร่งการสูญเสียเนื้อกระดูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มียีนเร่งกระดูกพรุนอยู่แล้ว กาเฟอีนเป็นสารที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางและมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและแคลเซียมออกจากร่างกาย

แหล่งของกาเฟอีนในอาหารมาจากเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง ชาก็มีกาเฟอีน แต่ในปริมาณที่น้อยกว่า ฉะนั้นการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้จึงต้องจำกัดปริมาณ

ถึงแม้ว่าผลจากกาแฟจะน้อย แต่การดื่มกาแฟวันละ 2 ถ้วยขึ้นไปก็มีผลต่อการลดแคลเซียมในกระดูกได้ นักวิจัยแนะนำคอกาแฟว่า ควรเติมนม หรือนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียมในกาแฟซักประมาณ 2 ช้อนโต๊ะต่อถ้วย เพื่อชดเชยแคลเซียมที่เสียไปบางส่วน

คำแนะนำเกี่ยวกับ วิธีลดกาเฟอีน สมัยก่อนปริมาณมาตรฐานของถ้วยกาแฟคือ 6 ออนซ์ หรือ 180 มิลลิลิตร แต่สมัยนี้คนดื่มกาแฟถ้วยใหญ่ขึ้น 2-3 เท่า ทำให้ได้กาเฟอีนมากขึ้น หากเป็นถ้วยขนาด 12 ออนซ์ หรือ 360 มิลลิลิตร ปริมาณกาเฟอีนจะเท่ากับ 200 มิลลิกรัม ปริมาณกาเฟอีนที่ดื่มแล้วอาจไม่เสียสุขภาพคือไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม

ฉะนั้นจึงควรจำกัดปริมาณการดื่ม และอ่านฉลากเพื่อดูปริมาณกาเฟอีนที่จะได้รับในแต่ละวัน

น้ำอัดลมน้ำดำเมื่อเปรียบเทียบกับกาเฟอีนในปริมาณ 30 มิลลิลิตร จะพบว่ามีปริมาณกาเฟอีนเพียง ¼ ของกาแฟ แต่คนมักจะดื่มกันวันละหลายครั้ง ทำให้ได้กาเฟอีนมากขึ้น เครื่องดื่มน้ำอัดลมบางชนิดที่ไม่มีสีดำก็อาจมีกาเฟอีนได้ รวมทั้งน้ำอัดลมไดเอต แม้จะไม่มีน้ำตาลแต่ก็มีกาเฟอีนได้ ยกเว้นเครื่องดื่มที่ระบุว่า “ปลอดกาเฟอีน”

นอกจากนี้ หากฉลากอาหารมีคำว่ากัวรานา (Guarana) และเมต (Mate) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่มชูกำลัง หมายความว่า เครื่องดื่มนั้นมีกาเฟอีนอยู่ด้วย

ชามีกาเฟอีน 1/3-1/2 ของที่มีอยู่ในกาแฟ

ช็อกโกแลตมีกาเฟอีนไม่น้อย จึงไม่ควรบริโภคในปริมาณมาก ช็อกโกแลตชิปชนิดกึ่งหวานปริมาณ 6 ออนซ์ (180 กรัม) มีกาเฟอีนเท่ากับที่มีในกาแฟ 1 ถ้วยมาตรฐาน

ปริมาณกาเฟอีนในเครื่องดื่มต่างๆ

เครื่องดื่ม

ปริมาณกาเฟอีน (มิลลิกรัม)

เครื่องดื่มชูกำลัง 250 มล.

กาแฟ 180 มล.

กาแฟไร้กาเฟอีน 180 มล.

กาแฟพร้อมดื่ม 180 มล.

เมาน์เทนดิว 360 มล.

โคล่า 360 มล.

ชา 180 มล.

ชาสมุนไพร 180 มล.

สไปรท์ 360 มล.

255

105

0-2

55

55

30-45

35

0

0

ที่มา: USDA National Nutrient Database for Standard Reference-Release 18, www.ars.usda.gov

แอลกอฮอล์

เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระดูกอ่อนแอ โดยลดความสามารถของร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมลง งานวิจัยมากมายยืนยันว่าการดื่มแอลกอฮอล์มากไปจะเพิ่มความเสี่ยงกระดูกพรุนและอุบัติเหตุไม่เพียงแค่นั้น ยังเพิ่มการอักเสบภายในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่การสูญเสียเนื้อกระดูกและโรคอื่นๆได้

ฉะนั้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ ก็เท่ากับว่าคุณกำลังเพิ่มความเปราะบางให้กระดูก ปริมาณดื่มที่เหมาะสมไม่ควรเกินวันละ 2 ดริ๊งค์ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ ไวน์ หรือเหล้า

บุหรี่

เป็นสาเหตุสำคัญในการเพิ่มการสูญเสียแคลเซียม เพราะบุหรี่รบกวนการดูดซึมของแคลเซียม และในผู้หญิงบุหรี่จะเป็นตัวเร่งการหมดประจำเดือนและเร่งการสูญเสียกระดูก การวิจัยในคนที่เป็นฝาแฝดพบว่า คนที่สูบบุหรี่ในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงกระดูกแตกหักถึง 44% เมื่อเทียบกับฝาแฝดคนที่ไม่สูบบุหรี่

การออกกำลังกายชนิดลงน้ำหนักตัว

การออกกำลังกายชนิดลงน้ำหนักตัวจะช่วยเพิ่มเนื้อกระดูก ผู้ใหญ่ควรออกกำลังกายขนาดปานกลางอย่างน้อยวันละ 30 นาที เด็ก 60 นาที เกือบทุกวัน การเดินเป็นการออกกำลังกายชนิดลงน้ำหนักตัวที่ง่ายที่สุด วิธีอื่นๆ ได้แก่

เต้นรำ จ๊อกกิ้ง กระโดดเชือก วิดน้ำ บาสเกตบอล วิ่ง คาราเต้ ปีนเขา ขึ้นบันได เทนนิส เทควันโด ยกน้ำหนัก วอลเลย์บอล เบสบอล ฮอกกี้ ฟุตบอล ซอฟต์บอล

การรักษาโรคกระดูกพรุน

ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนมักไม่อาการแสดงใด ๆ แต่หากเป็นโรคกระดูกพรุน จะทำให้เกิดความเสี่ยงของกระดูกหักเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษา วารสาร Journal of Bone and Mineral Research ในปี 2006 ได้ระบุว่า มีผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนประมาณ 2 ล้านคนต่อปีในสหรัฐอเมริกา

และถึงแม้ว่าจะไม่มีการรักษาโรคนี้ให้หายขาด แต่มีการรักษาหลายวิธีที่จะช่วยชะลออัตราการสลายของกระดูกจากโรค และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก

การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตในโรคกระดูกพรุน

การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย ถือเป็นการรักษาหลักของโรคกระดูกพรุน เนื่องจากแคลเซียมและวิตามินดี เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูกโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน การรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุทั้ง 2 ชนิดในปริมาณที่สูงจึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (นม ชีส และโยเกิร์ต) เป็นแหล่งของแคลเซียมที่ดีที่สุด นอกจากนี้ ผักใบเขียวและอาหารอื่นๆ ก็มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบเช่นกัน รวมไปถึงอาหารหลายชนิด เช่น ธัญพืช ขนมปังและน้ำผลไม้อาจมีการเติมแคลเซียมเข้าไปในอาหารด้วย

วิตามินดี มักไม่พบในอาหารทั่วไป แต่สามารถพบได้ในปลาที่มีไขมัน เช่นปลา Mackerel ปลาแซลมอน และปลาทูน่า แต่อย่างไรก็ตามคนส่วนมากมักได้รับวิตามินเพียงพอจากการรับประทานเสริมและการถูกแสงแดด

การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (Weight-bearing) และการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสามารถช่วยสร้างและทำให้ความหนาแน่นของกระดูกคงที่ได้

ตัวอย่างการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักที่ให้ผลดีมากเช่น การเต้นรำ การวิ่ง และกระโดดเชือก แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายชนิดนี้เมื่อคุณมีกระดูกหักแล้วหรือมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน จึงอาจเลือกใช้การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักที่เบาลงมาเช่นการเดินเร็ว (เดินบนสายพานหรือพื้นถนน) ออกกำลังกายกับเครื่องหรือการเดินขึ้นขั้นบันได

นอกจากนี้ยังควรเลือกออกกำลังกายที่เน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่นการยกน้ำหนัก หรือการใช้ยาง Elastic

การย่อสควอต (Squats) โดยไม่เพิ่มน้ำหนักเป็นก็เป็นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของต้นขาที่ดีอย่างหนึ่ง และมีความเหมาะสมเพราะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกสะโพกหักได้

นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนอาหารและการออกกำลังกายแล้ว คุณควรหลีกเลี่ยงหรือเลิกสูบบุหรี่ และจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน

ยาในกลุ่มไบฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) เป็นยาที่ใช้มากที่สุดในการรักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งจะออกฤทธิ์ช่วยชะลอการสลายกระดูกโดยการทำลายเซลล์ที่ทำให้เกิดการสลายของกระดูก

ยาในกลุ่มนี้ประกอบด้วย

  • Fosamax (Alendronate)
  • Actonel (Risedronate)
  • Boniva (Ibandronate)
  • Reclast (Zoledronic acid)

ยาแต่ละตัวสามารถใช้ได้ในหญิงหมดประจำเดือนและผู้ชาย ยกเว้นยา Boniva

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานยา มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง เช่น อาการทางระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ แสบร้อนที่หน้าอก ปวดท้อง), ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกและปวดข้อได้ และยากลุ่มนี้ในรูปแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำอาจทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดได้

ผลข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อย คือการสลายของกระดูกขากรรไกร

ยากลุ่มอื่นที่อาจใช้รักษาโรคกระดูกพรุน ประกอบด้วย

  • Fortical and Miacalcin (Calcitonin-salmon)
  • Prolia (Denosumab)
  • Forteo (Teriparatide parathyroid hormone)
  • Evista (Raloxifene)

ยา Fortical, Miacalcin และ Evista สามารถใช้ได้ในหญิงวัยหมดประจำเดือนเท่านั้น ในขณะที่ Prolia และ Forte สามารถใช้ได้ในผู้ชายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูงได้

การใช้ฮอร์โมนทดแทนในการรักษาโรคกระดูกพรุน

การใช้ฮอร์โมน Estrogen ทดแทนอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้หญิง แต่การรักษานี้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะจะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ มะเร็งเต้านม และการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำเพิ่มขึ้น (อ้างอิงจากข้อมูลในวารสาร American Family Physician ปี 2009)

นักวิจัยเสนอว่าการรักษาโดยใช้ฮอร์โมน Estrogen ทดแทนนั้นสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักที่สะโพกและกระดูกสันหลังได้เล็กน้อย แต่ประโยชน์ที่ได้รับเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก็ไม่มีความคุ้มค่ามากนัก

องค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration – FDA) แนะนำให้ใช้การรักษาดังกล่าวในปริมาณที่ต่ำที่สุดและในเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระดูกพรุน

กระดูกหักถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดของโรคกระดูกพรุน

รายงานในวารสาร Journal of Bone and Mineral Research ปี 2006 ได้กล่าวว่า มีผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักจากการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า 2 ล้านคน และคิดเป็นผู้ชายประมาณ 30% โดยตำแหน่งที่มักเกิดการหัก คือที่กระดูกสันหลัง รองลงมาคือที่ข้อมือ สะโพก และอุ้งเชิงกราน ซึ่งการหักของกระดูกเหล่านี้มักเกิดตามหลังการหกล้มเล็กน้อย หรืออุบัติเหตุ แต่กระดูกสันหลังที่หักนั้น อาจเกิดได้ถ้ากระดูกสันหลังพรุนมากจนถึงจุดที่สามารถหักได้เอง ซึ่งหากมีการหักของกระดูกสันหลัง อาจมีอาการคือปวดหลัง หลังค่อม หรืออาจไม่มีอาการก็ได้

นอกจากจะทำให้เกิดการปวดและหลังค่อมแล้วนั้น โรคกระดูกพรุนและกระดูกหักยังทำให้คุณสามารถเคลื่อนไหวได้ช้าลง และมีผลกระทบต่อสภาวะจิตใจได้ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล

การป้องกันโรคกระดูกพรุน

สำหรับการป้องกันโรคกระดูกพรุน ก็มีวิธีที่ควรปฏิบัติ ดังนี้

  • เลิกสูบบุหรี่และเลิกดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป
  • ออกกำลังกาย ด้วยการเดิน เดินขึ้นลงบันได ยกน้ำหนัก หรือเล่นกีฬาต่าง ๆ
  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่มีแคลเซียมและวิตามินดี เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมและอาหารที่มีการเสริมแคลเซียม หรือรับประทานวิตามินดี เสริม

ทั้งนี้ หากคุณเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ควรระมัดระวังและป้องกันไม่ให้เกิดการล้ม (ซึ่งจะทำให้กระดูกหัก) โดยปฏิบัติ ดังนี้

  • เปิดไฟในบ้านให้สว่าง และไม่มีกองของวางเกะกะภายในบ้าน
  • เพิ่มพรม ราวจับ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการลื่นล้ม
  • ใช้ไม้เท้า หรือ Walker เพื่อช่วยเดิน และใส่รองเท้ากันลื่นเมื่อออกนอกบ้าน
  • ตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอ และใส่แว่นตา หรือ Contact lenses ตามความจำเป็น
  • ระมัดระวังเรื่องผลข้างเคียงของยา เช่นความเสี่ยงในการมึนงง หรือทำให้ง่วง
  • ออกกำลังกายกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง

23 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Osteoporosis Causes, Symptoms, Treatment & Diet. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/osteoporosis/article.htm)
Osteoporosis. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/osteoporosis/)
Osteoporosis Center: Symptoms, Treatments, Causes, Prevention, and Diet and Exercise Recommendations (https://www.webmd.com/osteoporosis/default.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
อายุเท่าไรคะ มีโอกาสเป็นโรคกระดูกเสื่อม
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ปวดเข่ามากค่ะเวลาเดินข้อเข่าไม่งอตึงตลอดทำให้เดินแล้วเสียวตรงเข่าิอยากทราบบว่าเป็นไร
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้น ทำอย่างไรจะรักษาได้หายขาดค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
เป็นโรคกระดูกหน้าเเข้งอักเสบเข้าเตรียมทหารได้มั้ย เเล้วถ้าผ่าจะเข้าเตรียมทหารได้มั้ยครับ ผมจะสอบเตรียมทหารปีหน้าครับ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
หมอคะ คือหนูเป็นโรคกระดูกสันหลังคดแล้วที่นี้มันมีอาการ ปวดตรงบริเวณซี่โครงด้านซ้ายที่มันนูนอ่ะค่ะ ปวดเหมือนแน่นๆซี่โครงอ่ะค่ะเหมือนมีแก็สในซี่โครงเลยอ่ะค่ะ เป็นบ่อยค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)