กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด
เขียนโดย
กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

กระดูกพรุน ภัยเงียบใกล้ตัว

เข้าใจสาเหตุ อันตราย การตรวจ และการป้องกันกระดูกพรุน
เผยแพร่ครั้งแรก 10 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 9 ธ.ค. 2022 ตรวจสอบความถูกต้อง 13 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
กระดูกพรุน ภัยเงียบใกล้ตัว

กระดูกพรุนเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แม้กระดูกพรุนจะไม่สามารถเป็นสาเหตุของการพิการหรือเสียชีวิตได้โดยตรง แต่กระดูกพรุนสามารถส่งเสริมให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงจนถึงขั้นพิการ และเป็นเหตุของการเสียชีวิตได้ เช่น ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน ความเสี่ยงที่จะหกล้มก็มากขึ้น และเมื่อหกล้ม จะส่งผลให้กระดูกแตกหรือหักได้ง่ายกว่าปกติ กระดูกส่วนที่พบว่าแตกหรือหักบ่อยๆ ได้แก่ คอของกระดูกสะโพก (Neck of femur) มีรายงานหลายฉบับยืนยันว่า ผู้บาดเจ็บด้วยสาเหตุนี้ประมาณ 80% ไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และมากกว่า 20% ของผู้ป่วยเหล่านั้นจะเสียชีวิตภายในหนึ่งปี

นอกจากนี้ กระดูกพรุนยังเพิ่มความเสี่ยงของกระดูกสันหลังทรุด (Compression fracture) และเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการพิการของข้อมือในลักษณะติดแข็ง (Silver fork deformity) ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

กระดูกพรุนคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร?

กระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่ความหนาแน่นของกระดูกลดลง เนื่องจากแคลเซียมที่สะสมในกระดูกมีปริมาณลดลง ส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกน้อยลงและแตกหักได้ง่าย ภาวะกระดูกพรุนสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อาจพบภาวะนี้ได้ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมากกว่าผู้ชายในอายุเท่ากัน สำหรับผู้มีภาวะกระดูกพรุน อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลให้เกิดการแตกหักของกระดูกที่รุนแรง หรือถึงขั้นพิการถาวรได้

อาการของกระดูกพรุน

ภาวะกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายมาก เพราะไม่มีอาการแสดงอย่างชัดเจนให้สังเกตได้ มักจะตรวจพบเมื่อเกิดอุบัติเหตุหกล้มและกระดูกหักแล้ว ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีก ในปัจจุบันมีการศึกษาหลายฉบับชี้ว่า เมื่ออายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มวลกระดูกจะลดลง 1-3% ทุกๆ ปี

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามความสามารถในการป้องกัน คือปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ กับปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนี้

1.  ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้ ได้แก่

  • เพศ ผู้หญิงมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในวัยหลังหมดประจำเดือน เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเพศส่งผลให้การควบคุมสมดุลของแคลเซียมทำได้ยากลำบาก ร่างกายดึงเอาแคลเซียมจากกระดูกมาใช้มากจนความหนาแน่นของกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว
  • กรรมพันธุ์ มีรายงานหลายฉบับยืนยันว่า ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีภาวะกระดูกพรุน มีโอกาสมีภาวะกระดูกพรุนสูงกว่าผู้ที่ครอบครัวไม่มีประวัติภาวะกระดูกพรุน
  • โรคประจำตัวและยาประจำตัวบางชนิด เช่น ผู้ที่ใช้ยาสเตรียรอยด์อย่างต่อเนื่องมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนสูงขึ้น เนื่องจากปกติแล้วร่างกายจะมีกระบวนการสร้างและสลายกระดูกในอัตราที่สมดุล โดยอัตราการสลายจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราการสร้างเมื่ออายุมากขึ้น แต่ยาสเตียรอยด์นั้นมีผลรบกวนกระบวนการดังกล่าว ทำให้กระบวนการสร้างและสลายกระดูกเสียสมดุลไป

    นอกจากนี้ ในเพศหญิงที่มีโรคประจำตัวที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอารังไข่ออกไปก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เพราะรังไข่เป็นอวัยที่ผลิตฮอร์โมนเพศของผู้หญิง ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการรักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย เมื่อไม่มีฮอร์โมนเพศ สมดุลของปริมาณแคลเซียมก็จะเสียไป รวมถึงผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์ ก็มีความเสี่ยงเนื่องจากต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์นั้นทำงานสัมพันธ์กันและมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับกับการรักษาสมดุลแคลเซียมเช่นกัน

2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ ได้แก่

  • บุหรี่และแอลกอฮอลล์ ทั้งบุหรี่และแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายงานผลที่ชัดเจนในผู้ที่ดื่มแอลลกอฮอล์มากกว่า 3 แก้วต่อวัน และสูบบุหรี่หนึ่งซองขึ้นไป
  • น้ำหนักตัว เมื่อเปรียบเทียบผู้มีน้ำหนักตัวน้อยเกินไปกับผู้ที่มีน้ำหนักปกติหรือมากกว่าปกติ จะพบว่าแรงที่ทำต่อกระดูกของผู้มีน้ำหนักตัวน้อย จะมีน้อยกว่า จึงมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนมากกว่า
  • อาหารและเครื่องดื่ม ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ครบห้าหมู่ ร่างกายขาดแคลเซียม และวิตามินดี จะมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนมากกว่า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาหลายฉบับที่ชี้ให้เห็นว่า กาแฟ น้ำอัดลม ซึ่งมีคาเฟอีนนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน ส่วนอาหารที่มีโซเดียมทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกจากกร่างกายมากกว่าปกติ เป็นผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน

การตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน

การวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุดในปัจจุบันเพื่อตรวจหาภาวะกระดูกพรุน คือ การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Mineral Density (BMD)) ซึ่งเป็นเครื่องมือการตรวจด้วยรังสีชนิดหนึ่ง บริเวณที่นิยมทำการตรวจได้แก่ กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง การตรวจใช้เวลาไม่นาน เพียง 10-15 นาที เท่านั้น ขั้นตรวจการตรวจไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนตรวจ

ผู้ควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกโดยทั่วไปคือ ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป ค่าที่ได้จากการตรวจวัดมวลกระดูกจะเป็นค่าที่เทียบกับมวลกระดูกมาตรฐาน ค่าปกติคือมากกว่า -1 SD ขึ้นไป ค่าตั้งแต่ -1 ถึง -2.5 SD จะถือว่ามีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) ส่วนผู้ที่ตรวจได้ค่าที่ความหนาแน่นของกระดูกน้อยกว่า -2.5 SD ลงมาถือว่ามีภาวะกระดูกพรุน

วิธีป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุน

เพื่อป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุน คุณควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกตั้งแต่เด็กและตลอดช่วงอายุขัย แหล่งแคลเซียมที่ดีคือนมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากนม นอกจากนี้ ปลาเล็กที่สามารถกินได้ทั้งก้างก็มีแคลเซียมอยู่มาก
  • หมั่นรับแสงแดด วิตามินดีสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้ด้วยร่างกายมนุษย์เอง โดยใช้แสงแดดเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในกระบวนการสร้างวิตามินดีในร่างกาย วิตามินดีและแคลเซียมทำงานสัมพันธ์กัน หากร่างกายได้รับแคลเซียมหรือวิตามินดีเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถนำแคลเซียมไปสะสมไว้ที่กระดูกได้
  • ออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก (Weight bearing) เช่น การวิ่ง หรือกีฬาที่ต้องมีการกระโดดเยอะๆ
  • งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ดังที่ได้อธิบายผลของการสูบบุหรี่และคาเฟอีนต่อการเสริมสร้างกระดูกไปแล้วเบื้องต้น
  • ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอทุกปีเมื่ออายุมากขึ้น เพื่อให้วางแผนการเสริมสร้างแคลเซียมและรับโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับระยะและความรุนแรงของภาวะกระดูกพรุน หรือเพื่อหาทางป้องกันกระดูกพรุนเหมาะสม ทันท่วงที

อ่านเพิ่มเติม: ตรวจกระดูก สิ่งสำคัญสำหรับวัยสูงอายุ รู้ขั้นตอนและวัตถุประสงค์การตรวจกระดูกอย่างละเอียด 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนแล้ว

เนื่องจากภาวะกระดูกพรุนในผู้ป่วยแต่ละรายมีสาเหตุและความรุนแรงแตกต่างกัน ในที่นี้จึงขอให้คำแนะนำคร่าวๆ ดังนี้

  • ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาที่เหมาะสม เช่น การเสริมแคลเซียม การรับประทานยา หรือในผู้ป่วยบางรายอาจจะได้รับการพิจารณารักษาด้วยการให้ฮอร์โมนบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกร่วมด้วย
  • ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อให้ออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมให้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยชะลอการลงลดลงของมวลกระดูก นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนแล้วยังมีข้อห้ามและข้อควรระวังในการออกกำลังกายมาก ดังนั้นจึงควรรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
  • ปรึกษานักโภชนการเรื่องอาหารและสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกอย่างเพียงพอ
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกรับน้ำหนักมากซึ่งเสี่ยงต่อการแตกหัก

บทบาทของกายภาพบำบัดต่อผู้ป่วยภาวะกระดูกพรุน

ในปัจจุบันนักกายภาพบำบัดเข้ามามีบทอย่างสำคัญอย่างมากในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุน เช่น ให้คำแนะนำวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม โดยนักกายภาพบำบัดมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ออกกำลังกายในน้ำ (Hydrotherapy) เนื่องจากแรงลอยตัวของน้ำจะช่วยให้กระดูกรับน้ำหนักและแรงกระแทกน้อยลง ในผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุนอย่างรุนแรง ในขณะเดียวกัน น้ำก็ยังมีแรงต้านที่สามารถนำมาใช้เป็นแรงต้านในการออกกำลังกายเพื่อเสริมเสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออยู่

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยและอุปกรณ์พยุงข้อต่อต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้

ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นจะเห็นได้ชัดเจนว่า ภาวะกระดูกพรุนสามารถเกิดขึ้นได้แก่ทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น ความน่ากลัวของภาวะกระดูกพรุนคือไม่มีอาการแสดงให้ทราบ กว่าจะตรวจพบอาจเกิดปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลให้เกิดความพิการถาวร

อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันภาวะกระดูกพรุนสามารถทำได้ง่ายๆ ตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยการหมั่นสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรง ทั้งจากการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย รวมถึงการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เมื่อถึงวัยที่มวลกระดูกเริ่มลดลง อัตราการลดลงนั้นจะได้เป็นไปอย่างช้าๆ สำหรับผู้สงสัยหรือมีภาวะกระดูกพรุนแล้ว การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ไขอย่างทันท่วงที จะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

รีวิว ตรวจมวลกระดูก ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2 | HDmall


43 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Secondary Osteoporosis. International Osteoporosis Foundation (https://www.iofbonehealth.org/secondary-osteoporosis)
Osteoporosis Overview. NIH Osteoporosis and Related Bone Diseases National Resource Center (https://www.niams.nih.gov/Health_Info/Bone/Osteoporosis/overview.asp)
Osteoporosis Fast Facts. National Osteoporosis Foundation (https://cdn.nof.org/wp-content/uploads/2015/12/Osteoporosis-Fast-Facts.pdf)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ตรวจกระดูก สิ่งสำคัญสำหรับวัยสูงอายุ
ตรวจกระดูก สิ่งสำคัญสำหรับวัยสูงอายุ

กระดูกเป็นโครงพยุงร่างกายและแหล่งสะสมแคลเซียมสำคัญ หากละเลยอาจมีเข้าสู่ภาวะกระดูกพรุนโดยไม่ทันตั้งตัว เสี่ยงพิการถาวรได้!

อ่านเพิ่ม