ประโยชน์ของชะเอม ไอเดียการกินและการใช้ชะเอมเพื่อสุขภาพ

เผยแพร่ครั้งแรก 8 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประโยชน์ของชะเอม ไอเดียการกินและการใช้ชะเอมเพื่อสุขภาพ

ในแต่ละวันเราต่างก็ล้วนได้รับสารพิษต่างๆ มากมายจากสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ซึ่งปะปนไปด้วยสารพิษและก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ จนทำให้สุขภาพย่ำแย่และนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อีกทั้งยังทำให้แก่เร็วขึ้น แต่การรู้จักใช้พืชสมุนไพรในการดูแลตัวเอง ย่อมช่วยดูแลสุขภาพและบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยได้ดีเช่นกัน อย่างสมุนไพรชะเอมที่หลายคนอาจคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เราไปติดตามกันดีกว่าว่าชะเอมมีดีอย่างไร และมีข้อควรระวังในการใช้อย่างไรบ้าง

รู้จักชะเอม

ชะเอม (liquorice) เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ความนิยมในการนำมาใช้จะมีความแตกต่างกันไป โดยในประเทศไทยก็ถือว่าเป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้ แต่ในต่างประเทศชะเอมถือเป็นสมุนไพรที่เหมาะสำหรับการทำขนม เพราะชะเอมมีสารให้ความหวานที่มีรสหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 50 เท่า ดังนั้นจึงทำให้ประเทศทางแถบยุโรปนิยมนำไปทำขนมกันเป็นอย่างมาก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ลักษณะของชะเอม

ชะเอมถือเป็นพืชตระกูลถั่วที่ปลูกแล้วมีอายุอยู่ได้หลายปี แต่ชะเอมที่คนส่วนใหญ่รู้จักนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ชะเอมไทย ชะเอมไทยจะได้รับความนิยมในการปลูกอยู่ในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่มักพบได้ตามป่าดงดิบและป่าโปร่ง โดยเนื้อไม้จะมีสีเหลืองและมีรสชาติหวาน ในส่วนของใบชะเอมไทยจะมีขนาดเล็กและเรียงตัวกันเหมือนขนนกสองชั้น โดยดอกของมันจะมีลักษณะเป็นพู่ และออกผลเป็นฝัก
  2. ชะเอมเทศ ชะเอมเทศมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน โดยตามลำต้นแล้วจะสูงไม่เกิน 2 เมตร แต่จะมีรูปแบบเป็นไม้พุ่ม ใบจะเรียงตัวกันเหมือนราวขนนก แต่จะแตกต่างจากใบของชะเอมไทย เนื่องจากใบจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีการเรียงตัวที่ห่างกว่า อีกทั้งดอกของชะเอมเทศนั้นก็จะเป็นสีม่วง

คุณค่าทางโภชนาการของชะเอม

ชะเอมในปริมาณ 70 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

โซเดียม 105.0 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 57.0 กรัม น้ำตาล 28.0 กรัม โปรตีน 2.0 กรัม วิตามินบี 1,2,3,5 นอกจากนี้ ก็ยังมีสารอาหารชนิดอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินอี ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม ซีลีเนียม ซิลิคอน ซิงค์ และเบต้าแคโรทีน เป็นต้น

สารสกัดสำคัญจากชะเอม

เนื่องจากปัจจุบันได้มียาหลากหลายรูปแบบที่นำเอาสารสกัดจากชะเอมมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตยาดังกล่าว ซึ่งก็มีขนาดและความเข้มข้นที่แตกต่างกันไป โดยสามารถจำแนกสารสกัดสำคัญที่ได้จากชะเอมเป็น 2 ชนิดคือ Enoxolone และ Glycyrrhizin  

  1. Enoxolone เป็นสารสกัดสำคัญที่จะช่วยในเรื่องของระบบทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร เพราะเป็นสารที่จะช่วยลดการหลั่งกรดออกจากกระเพาะ และยังทำให้เกิดการหลั่งน้ำย่อยจากตับอ่อนออกมาทดแทน นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติช่วยในการกำจัดเสมหะได้อีกด้วย
  2. Glycyrrhizin อีกหนึ่งสารสกัดที่ช่วยต่อต้านการอักเสบภายในร่างกาย ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับยาสเตียรอยด์ และในปัจจุบันก็มีการวิจัยออกมา โดยระบุว่าเป็นสารสกัดที่สามารถต้านเชื้อไวรัสได้อย่างมากมาย

ประโยชน์ของชะเอม

แม้ว่าหลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตากับชะเอมในด้านพืชพรรณ หากแต่ในส่วนยาที่นำเอาสารสกัดจากชะเอมมาใช้ก็นับว่ามีมากมายเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เราจะแจกแจงให้ทราบว่าประโยชน์ของชะเอมเพื่อสุขภาพนั้นมีอะไรอีกบ้าง

  1. รักษาแผลร้อนใน การใช้ชะเอมเพื่อรักษาแผลร้อนในเพิ่งจะได้รับความนิยมได้ไม่นาน โดยชะเอมมีคุณสมบัติที่สามารถช่วยกระตุ้นเนื้อเยื่อภายในช่องปากและเหงือกให้สามารถซ่อมแซมตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญยังสามารถลดอาการปวดและอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากการเป็นแผลร้อนในได้อีกด้วย
  2. ป้องกันโรคเกี่ยวกับตับ ผลการวิจัยออกมาระบุว่าชะเอมมีส่วนประกอบของสาร Glycyrrhizin ซึ่งจะช่วยให้การทำงานของตับกลับมาเป็นปกติหรือเรียกได้ว่าเป็นการสร้างสมดุลให้ตับ และยังช่วยลดความเป็นพิษภายในตับได้ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดไขมันพอกตับได้ด้วยนั่นเอง
  3. โรคไขข้ออักเสบ ชะเอมมีคุณสมบัติสำคัญที่จะช่วยรักษาอาการอักเสบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการรักษาโรคไขข้ออักเสบก็สามารถช่วยได้เช่นกัน เพราะมีการวิจัยว่าจะช่วยลดระดับไซโตไคน์ และช่วยลดอาการปวดบวม
  4. ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ชะเอมสามารถช่วยซ่อมแซมกลไกด้านระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย จึงสามารถช่วยป้องกันไวรัสและแบคทีเรียต่างๆ ที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นเซลล์ในส่วนนี้ให้ได้รับการฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาแข็งแรงได้ดีอีกครั้ง
  5. ช่วยรักษาโรค HIV ไปนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสามารถของชะเอม โดยภายในรากชะเอมจะมีส่วนประกอบของสาร Glycyrrhizin ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องของการทำงานภายในตับแล้ว ยังเป็นสารสำคัญที่จะช่วยทำให้การแพร่กระจายของไวรัสถูกยับยั้ง และช่วยในเรื่องของการป้องกันไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดขาวถูกทำลายจากไวรัส HIV
  6. ช่วยล้างสารพิษ ชะเอมเป็นสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการล้างสารพิษ โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่และหลอดเลือด
  7. ช่วยดูแลผิว เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ได้รับความนิยมสำหรับชะเอม เพราะสามารถที่จะรักษาโรคผิวหนังต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นโรคกลาก โรคสะเก็ดเงิน เพราะจะช่วยลดอาการบวมและอาการคันที่เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญยังสามารถช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ จึงทำให้สีผิวมีความสม่ำเสมอ
  8. ดูแลสุขภาพฟัน ชะเอมถือว่ามีสารสกัดที่จะช่วยป้องกันและรักษาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก อย่างเช่น โรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ
  9. ดูแลสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ชะเอมอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งถือเป็นสารที่จะช่วยป้องกันความเครียดที่เกิดขึ้นภายในร่างกายไม่ให้ส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดหัวใจ ต่อต้านความเสื่อมสภาพของเซลล์ต่างๆ ช่วยควบคุมดูแลระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล ช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้ามาอุดตันภายในหลอดเลือดและทางเดินเลือด อันเป็นตัวการทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
  10. ลดภาวะซึมเศร้า จากการวิจัยได้บอกไว้ว่าชะเอมมีสารอาหารสำคัญหลายชนิด เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม ฟลาโวนอยด์ เบต้าแคโรทีน ซึ่งจะช่วยลดฮอร์โมนที่จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในวัยหมดประจำเดือน รวมถึงผู้ที่เป็นภาวะซึมเศร้าในเพศหญิง

ไอเดียการกินและการใช้ชะเอมเพื่อสุขภาพ

ชะเอม เป็นสมุนไพรที่เราอาจได้ยินกันมาตลอด แต่เราอาจจะยังไม่ค่อยได้เห็นสูตรอาหารหรือขนมที่ทำมาจากชะเอมสักเท่าไร ดังนั้น เราจึงนำไอเดียการกินชะเอมที่มาพร้อมเมนูของว่างน่าทานมาฝากดังนี้

  1. ชะเอมเคลือบช็อคโกแลต เราสามารถที่จะเอาชะเอมมาเคลือบช็อกโกแลตได้ให้เป็นรูปแบบแท่ง ซึ่งส่วนประกอบหลักก็ล้วนมาจากธรรมชาติ และไม่จำเป็นที่จะต้องใช้น้ำตาล แต่ก็สามารถกินเป็นของหวานเพื่อสุขภาพได้
  2. ลูกชะเอมต้มจิ้มน้ำพริก เราสามารถนำลูกชะเอมมาต้ม เพื่อที่จะจิ้มกินกับน้ำพริก ซึ่งก็จะเหมือนกับการกินผักคู่เมนูน้ำพริกแบบทั่วไป
  3. น้ำชะเอม การดื่มน้ำชะเอม มีคุณสมบัติช่วยป้องกันสารก่อมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยใช้ชะเอม 1/4  ถ้วย น้ำเปล่า 4 ถ้วย เกลือป่น 1/2 ช้อนชา และมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ หลังจากนั้นต้ม 15 นาที แล้วกรองน้ำเอาไปต้มพอเดือด เพียงแค่นี้ก็จะสามารถทำน้ำชะเอมได้แล้ว ซึ่งสามารถที่จะกินได้ทั้งแบบเย็นและแบบร้อน
  4. ชารากชะเอม สำหรับรากชะเอมนั้นจะช่วยให้ทางเดินหายใจนั้นโล่งขึ้น และสามารถลดอาการระคายคอ ลดเสมหะ โดยนำรากชะเอมแห้ง 4 กรัม โสม 3 กรัม ขิงแห้ง 5 กรัม ห่อด้วยผ้าขาวบาง ต้มจนเดือด แล้วจึงนำน้ำมาดื่มเป็นน้ำชา
  5. พอกผิว บำรุงผิว ชะเอมสามารถที่จะนำมาบดผง แล้วนำมาขัดหรือพอกผิวได้ซึ่งก็จะช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้นขึ้น และช่วยขับพิษที่อยู่ในผิวได้อีกด้วย

ข้อควรระวัง

แม้ว่าชะเอมจะเป็นสมุนไพรที่เลื่องชื่อและได้รับความนิยมในการนำมาใช้ก็ตาม หากก็ยังมีข้อควรระวังในการนำชะเอมมาใช้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลเหล่านี้

  1. คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นม ถือเป็นระยะที่ไม่ควรที่ใช้ชะเอมอย่างเด็ดขาด เพราะชะเอมอาจก่อให้เกิดการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้จะดีที่สุด
  2.  โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่แนะนำให้บริโภคชะเอมเช่นกัน เพราะชะเอมจะส่งผลทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำเอาไว้มากขึ้น ซึ่งในชะเอมจะมีสารบางชนิดที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเต้นของหัวใจให้เกิดความผิดปกติ และอาจทำให้เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันได้
  3. โรค Hypertonia ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ถือว่าเป็นโรคที่เกิดจากปัญหากล้ามเนื้อเส้นประสาท จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคชะเอม เพราะจะทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดลดลง ซึ่งส่งผลทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้

ชะเอม เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ด้วยกันหลายด้าน ได้รับการนำสารสกัดมาเป็นส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบันอย่างมากมาย หลายคนย่อมได้ยินคุ้นหู แต่อย่างไรก็ตาม มีดีก็ย่อมมีโทษ คิดจะนำชะเอมมาใช้ก็ต้องศึกษาข้อควรระวังในการใช้ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพตามมา

 


14 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Licorice Root: Benefits, Side Effects, Dosage, and Interactions. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/the-benefits-of-licorice-root-89727)
Benefits of licorice root: Uses, side effects, and more. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/323761)
Licorice Root. National Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH). (https://nccih.nih.gov/health/licoriceroot)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)