โรคแผลในกระเพาะอาหาร

เผยแพร่ครั้งแรก 26 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที
โรคแผลในกระเพาะอาหาร

โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Stomach ulcers หรือ gastric ulcers) คือแผลเปิดที่เกิดขึ้นบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร และยังสามารถเกิดขึ้นตามส่วนของลำไส้ที่อยู่ใกล้กับกระเพาะได้อีกด้วย (duodenal ulcers)

ทั้งแผลในกระเพาะอาหารและบนขั้วลำไส้ (duodenal) อาจเรียกได้ว่าแผลเปปติก (peptic ulcers) แต่ ณ เอกสารชุดนี้จะใช้คำว่าแผลในกระเพาะอาหาร (“stomach ulcer”) เพื่อกล่าวถึงแผลโดยรวมเนื่องจากแผลทั้งสองตำแหน่งมีค่าเทียบเท่ากัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สัญญาณและอาการของโรคแผลในกระเพาะอาหาร

โรคแผลในกระเพาะอาหารส่วนมากจะมีอาการแสบร้อนหรือปวดรบกวนตลอดเวลา (gnawing pain) ณ ส่วนกลางของท้อง อย่างไรก็ตามแผลในกระเพาะบางกรณีก็อาจไม่ทำให้เจ็บปวด และบางคนยังอาจประสบกับอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นอาหารไม่ย่อย (indigestion) แสบร้อนกลางอก (heartburn) และคลื่นไส้ เป็นต้น

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

คุณควรไปพบแพทย์หากว่าคุณคาดว่าตนเองมีโรคแผลในกระเพาะอาหาร และควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนหากว่าคุณประสบกับอาการดังต่อไปนี้: อาเจียนเป็นเลือด: เลือดอาจจะมีสีแดงสด หรือน้ำตาลเข้มมาก หรือมีลักษณะเป็นผงหยาบ ๆ คล้ายผงกาแฟบดก็ได้ อุจจาระมีสีดำ เหนียว หรือหน้าตาคล้ายก้อนถ่าน ปวดท้องรุนแรงเฉียบพลัน และค่อย ๆ แย่ลงเรื่อย ๆ

สัญญาณเหล่านี้อาจบ่งชี้ถึงภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ เช่นภาวะเลือดออกภายใน เป็นต้น

อะไรเป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร?

โรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดขึ้นเมื่อชั้นปกคลุมผนังเยื่อบุกระเพาะอาหารจากกรดถูกทำลายลงจนทำให้เกิดความเสียหายกับเยื่อบุ ซึ่งมักจะเป็นผลมาจาก: การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori) การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs -NSAID) เช่นอิบูโพรเฟน หรือแอสไพริน โดยเฉพาะหากใช้ยาประเภทนี้เป็นเวลานาน

คาดกันว่าความเครียดหรืออาหารบางประเภทก็ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารขึ้นเช่นกัน แต่ยังคงมีหลักฐานยืนยันข้อสันนิษฐานนี้น้อยมาก

ใครสามารถประสบกับโรคแผลในกระเพาะอาหารได้บ้าง?

ยังไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร แต่ก็คาดกันว่าเป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างบ่อย งานวิจัยบางชิ้นได้พบว่ามนุษย์ประมาณ 1 ใน 10 อาจจะประสบกับโรคแผลในกระเพาะอาหารสักช่วงใดช่วงหนึ่งในชีวิต

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โรคแผลในกระเพาะอาหารสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยรวมไปถึงเด็กเล็ก แต่มักจะพบได้กับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และมักเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

สามารถทำการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างไร?

เมื่อได้รับการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารส่วนมากจะหายไปภายในหนึ่งหรือสองเดือน การรักษาที่แพทย์แนะนำจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของแผล

ผู้ป่วยส่วนมากจะได้รับยาที่เรียกว่า proton pump inhibitor (PPI) เพื่อลดปริมาณกรดที่กระเพาะอาหารผลิตออกมา และช่วยให้แผลสมานตัวเองตามธรรมชาติ

หากแผลเกิดมาจากการติดเชื้อ H. pylori จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดแบคทีเรีย ซึ่งควรจะช่วยป้องกันการเกิดแผลซ้ำได้

หากแผลเกิดมาจากการใช้ยา NSAID มักจะรักษาได้ด้วยการจ่ายยา PPI และจะขึ้นอยู่กับวิจารณญานของแพทย์ว่าคุณควรใช้ NSAID ต่อหรือไม่ หรือควรใช้ยาทดแทนอื่น ๆ อย่างพาราเซตตามอลแทน

โรคแผลในกระเพาะอาหารอาจจะกลับมาภายหลังการรักษาได้ กระนั้นโอกาสกลับมาของโรคก็นับว่าน้อยมากหากสามารถทำการรักษาโดยการอิงจากสาเหตุที่แท้จริงของแผล

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหาร

อาการทั่วไปจากโรคแผลในกระเพาะอาหารคืออาการแสบร้อนหรือปวดรบกวนตลอดเวลาภายในช่องท้อง

อย่างไรก็ตามโรคนี้ก็อาจไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดก็ได้ และอาจจะสังเกตได้เพียงภาวะแทรกซ้อนจากโรค อย่างมีเลือดออกจากแผล เป็นต้น

ปวดท้อง

ความเจ็บปวดจากโรคแผลในกระเพาะอาหารมักจะออกมาจากศูนย์กลางของท้องขึ้นไปยังคอ ลงไปยังสะดือ หรือแล่นไปยังแผ่นหลัง อาการนี้อาจเกิดขึ้นนานไม่กี่นาทีจนถึงไม่กี่ชั่วโมง อาการมักจะเริ่มขึ้นภายหลังรับประทานอาหารไม่กี่ชั่วโมง และสามารถเกิดขึ้นกลางดึกจนทำให้คุณสะดุ้งตื่นขึ้นมาได้

การใช้ยาลดกรด (antacids) สามารถบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว แต่อาการก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ หากไม่ทำการรักษาแผลที่มี

อาการอื่น ๆ

อาการอื่น ๆ จากโรคแผลในกระเพาะอาหารที่พบได้ไม่บ่อยมีดังนี้: อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด

ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการเรอหรือท้องอืดหลังการรับประทานอาหารไขมันสูงได้ด้วย

สาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร

โรคแผลในกระเพาะอาหารมักเกิดมาจากแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori) หรือจากการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ต้นเหตุเหล่านี้จะไปทำลายเกราะป้องกันกรดของกระเพาะอาหาร ทำให้เยื่อบุกระเพาะเกิดความเสียหายและเกิดแผลขึ้นมาในที่สุด

แบคทีเรีย H. pylori

การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารที่พบบ่อยที่สุด โดยแบคทีเรียตัวนี้จะสร้างความระคายเคืองกับผนังเยื่อบุกระเพาะและทำให้อวัยวะมีความอ่อนไหวต่อความเสียหายจากกรดมากขึ้น แต่ยังไม่มีใครทราบว่าเหตุใดบางคนจึงมีความอ่อนไหวจากการติดเชื้อ H. pylori มากกว่าผู้อื่น

NSAID

NSAID เป็นกลุ่มยาที่ใช้บรรเทาความเจ็บปวด ไข้สูง และการอักเสบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยตัวอย่างยากลุ่ม NSAID มีดังนี้: อิบูโพรเฟน (ibuprofen) แอสไพริน (aspirin) นาโพรเซน (naproxen) ไดโคลฟีแนก (diclofenac)

ผู้ป่วยที่ได้รับยา NSAID หลายคนจะไม่ประสบกับผลข้างเคียงจากยา แต่ก็จะมีความเสี่ยงที่ยาทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ อยู่ดี เช่นแผลในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะหากใช้ยาขนาดสูง ๆ เป็นเวลานาน

คุณอาจถูกแนะนำให้หยุดยา NSAID หากว่าคุณกำลังมีหรือเคยมีแผลในกระเพาะอาหาร โดยยาแก้ปวดที่สามารถใช้แทน NSAID คือยาพาราเซตตามอล (Paracetamol) ที่นับกันว่าเป็นยาที่ปลอดภัยกว่า

ปัจจัยการใช้ชีวิต

คาดกันว่าโรคแผลในกระเพาะอาหารอาจเกิดมาจากปัจจัยการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่นการทานอาหารรสเผ็ด ความเครียด และแอลกอฮอล์

ยังมีหลักฐานที่ยืนยันการมีส่วนก่อโรคของกรณีนี้อยู่น้อยมาก แต่ปัจจัยเหล่านี้ก็อาจทำให้อาการของแผลในกระเพาะทรุดลงได้จริง

คาดกันว่าการสูบบุหรี่ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารขึ้น และยังทำให้การรักษาต่าง ๆ มีประสิทธิผลน้อยลงอีกด้วย

การวินิจฉัยโรคแผลในกระเพาะอาหาร

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคแผลในกระเพาะอาหารได้จากการสังเกตอาการของคุณ พวกเขาอาจสอบถามเกี่ยวกับการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) และอาจส่งคุณไปทดสอบการติดเชื้อ Helicobacter pylori (H. pylori) เพิ่มเติม

คุณอาจถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหาร (gastroscopy)

การทดสอบหาการติดเชื้อ H.pylori

หากแพทย์คาดว่าอาการของคุณเกิดจากการติดเชื้อ H.pylori พวกเขาอาจแนะนำให้คุณเข้ารับการทดสอบดังนี้:

การทดสอบระดับยูเรียด้วยการหายใจ (urea breath test): คุณจะได้รับเครื่องดื่มชนิดพิเศษที่มีสารเคมีที่จะถูกทำลายเมื่อต้องกับเชื้อ H. pylori จากนั้นแพทย์จะตรวจสอบจากลมหายใจของคุณว่ามีการติดเชื้อ H.pylori หรือไม่

การทดสอบแอนติเจนในอุจจาระ (stool antigen test): จะมีการเก็บตัวอย่างอุจจาระปริมาณเล็กน้อยเพื่อนำไปทดสอบหาเชื้อแบคทีเรีย

การตรวจเลือด (blood test): ตัวอย่างเลือดจะถูกทดสอบหาแอนติบอดีที่มีต่อเชื้อ H. pylori (แอนติบอดีคือโปรตีนที่ร่างกายผลิตออกมาช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ) วิธีการทดสอบนี้มักนำมาใช้แทนการตรวจอุจจาระหาแอนติเจน

หากผลการทดสอบหาเชื้อ H. pylori ของคุณเป็นผลบวก คุณจำต้องเข้ารับการรักษากำจัดการติดเชื้อทันที ซึ่งจะช่วยรักษาและป้องกันแผลภายในกระเพาะได้

การทดสอบส่องกล้องกระเพาะอาหาร

ในบางกรณีคุณอาจต้องเข้ารับการทดสอบส่องกล้องกระเพาะอาหาร (gastroscopy) เพื่อตรวจสอบภายในกระเพาะอาหารโดยตรง และดูว่าคุณมีแผลภายในหรือไม่

กระบวนการนี้ดำเนินการตามโรงพยาบาล และจะมีการใช้ท่อยาวเรียวที่ยืดหยุ่น (endoscope) และมีกล้องติดอยู่ที่ปลายสอดเข้าไปในกระเพาะอาหารกับส่วนแรกของลำไส้เล็ก (duodenum)

คุณอาจจะได้รับการฉีดยาระงับประสาทชนิดอ่อนก่อนกระบวนการและได้รับการฉีดสเปรย์ยาชาเฉพาะที่ที่ลำคอเพื่อให้แพทย์สอดกล้อง endoscope ลงไป

ภาพที่กล้องเก็บมาจะสามารถช่วยให้แพทย์ยืนยันการมีอยู่ของแผลหรือภาวะอื่น ๆ ได้ โดยระหว่างการส่องกล้องอาจมีการเก็บตัวอย่างออกจากกระเพาะหรือ duodenum ของคุณเพื่อไปทดสอบการติดเชื้อ H. pylori ก็ได้

การส่องกล้องกระเพาะอาหารมักดำเนินการกับผู้ป่วยนอก ซึ่งหมายความว่าคุณไม่ได้ต้องพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาล

การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร

หากคุณเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร การรักษาคุณจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของแผล และเมื่อได้รับการรักษาแล้ว แผลส่วนมากจะหายภายในหนึ่งหรือสองเดือน

หากแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori) หรือเกิดจากการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ร่วมด้วย แพทย์จะรักษาด้วยการจ่ายยาปฏิชีวนะและยาที่เรียกว่า proton pump inhibitor (PPI)

หากแผลของคุณเกิดจาก NSAID แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยา PPI เพียงอย่างเดียว โดยแพทย์จะทำการตรวจสอบการใช้ยา NSAID ของคุณและแนะนำให้คุณใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นแทน

การใช้ยาอื่น ๆ อย่าง H2-receptor antagonists มักจะนำมาใช้แทน PI และบางครั้งคุณอาจต้องได้รับยาเพิ่มเติมที่เรียกว่ายาลดกรด (antacids) เพื่อช่วยบรรเทาอาการของคุณในระยะสั้น ๆ

คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารซ้ำ ๆ หลังการรักษา 4 ถึง 6 สัปดาห์เพื่อตรวจสอบว่าแผลภายในหายแล้วหรือไม่

ยังไม่มีหลักการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตใด ๆ ที่ควรดำเนินการเป็นพิเศษระหว่างการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร แต่กระนั้นคุณก็ควรเลี่ยงความเครียด แอลกอฮอล์ อาหารรสเผ็ด และการสูบบุหรี่ไปก่อนจนกว่าแผลจะหาย

ยาปฏิชีวนะ

หากคุณประสบกับการติดเชื้อ H. pylori คุณจะได้รับยาปฏิชีวนะมาใช้เป็นสองหรือสามคอร์ส ซึ่งต้องทานสองครั้งต่อวัน เป็นเวลาต่อเนื่องนานประมาณหนึ่งสัปดาห์

ยาปฏิชีวนะที่ใช้มักจะเป็น amoxicillin, clarithromycin และ metronidazole

ผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะเหล่านี้มักจะไม่รุนแรง ดังนี้: คลื่นไส้ ท้องร่วง มีกลิ่นเหล็กในปาก

คุณจำต้องเข้ารับการทดสอบซ้ำอย่างน้อยสี่สัปดาห์หลังใช้ยาปฏิชีวนะครบเพื่อดูว่ามีแบคทีเรีย H.pylori  หลงเหลือในกระเพาะของคุณหรือไม่ หากพบแพทย์จะจัดการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทน

Proton pump inhibitors (PPI)

PPI ออกฤทธิ์ด้วยการเข้าไปลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารลง ซึ่งจะป้องกันความเสียหายที่เกิดกับแผลภายในกระเพาะต่อเนื่องจนทำให้แผลสมานตัวเองตามธรรมชาติได้

ยา PPI ที่แพทย์นิยมใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารคือ Omeprazole, pantoprazole และ lansoprazole โดยผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้มักจะไม่รุนแรง ดังนี้: ปวดศีรษะ ท้องร่วงหรือท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง วิงเวียน ผื่นขึ้น

ผลข้างเคียงข้างต้นควรจะหายไปเมื่อการรักษายุติลง

H2-receptor antagonists

เช่นเดียวกับ PPI ยากลุ่ม H2-receptor antagonists เองก็ออกฤทธิ์ด้วยการลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารลง โดยยาที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ Ranitidine ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อยดังนี้: ท้องร่วง ปวดศีรษะ วิงเวียน ผื่นขึ้น เหน็ดเหนื่อย

ยาลดกรดและอัลจิเนท

การรักษาข้างต้นมักต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงก่อนจะแสดงผล ดังนั้นแพทย์จะจัดจ่ายยาลดกรดเพื่อปรับสภาพกรดในกระเพาะอาหารที่ออกฤทธิ์ทันทีให้แก่คุณ

ยาลดกรดบางตัวจะประกอบด้วยยาที่เรียกว่าอัลจิเนท (alginate) ซึ่งช่วยเคลือบผนังเยื่อบุกระเพาะได้อีกด้วย

คุณสามารถหาซื้อยาเหล่านี้ได้จากร้านขายยาทั่วไป โดยเภสัชกรจะสามารถแนะนำตัวยาที่เหมาะสมกับคุณได้

ควรจะใช้ยาลดกรดเมื่อคุณมีหรือเมื่อคาดว่าจะมีอาการ เช่นใช้หลังรับประทานอาหาร หรือก่อนเข้านอน ยาลดกรดที่มีแอนจิเนทจะดีที่สุดหากคุณชอบใช้หลังทานอาหาร

ผลข้างเคียงจากยาทั้งสองมักจะไม่รุนแรง และมีดังนี้: ท้องร่วงหรือท้องผูก ผายลม ปวดท้องบิด คลื่นไส้

การตรวจสอบการใช้ยา NSAID

หากโรคแผลในกระเพาะอาหารของคุณเกิดมาจากการใช้ยา NSAID แพทย์จะทำการตรวจสอบการใช้ยาของคุณ โดยคุณอาจจะถูกแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ยาแก้ปวดที่ไม่ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารชนิดอื่น เช่นพาราเซตตามอล หรือบางครั้งอาจมีการใช้ยา NSAID ตัวอื่นที่ทำให้เกิดแผลน้อยลงที่เรียกว่า COX-2 inhibitor แทน

หากคุณใช้ยาแอสไพรินขนาดต่ำเพื่อลดการเกิดลิ่มเลือด แพทย์จะเป็นผู้ตรวจสอบและแจ้งแก่คุณว่าควรใช้ยาตัวเดิมต่อไปหรือไม่

หากคุณยังคงต้องใช้แอสไพรินต่อ แพทย์จะจัดการรักษาระยะยาวด้วย PPI หรือ H2-receptor antagonist ให้คุณใช้พร้อมกับแอสไพรินเพื่อป้องกันการเกิดแผลเพิ่มเติม

สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจความเสี่ยงอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา NSAID ต่อเนื่อง คุณจะมีความเสี่ยงประสบกับแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น และอาจประสบกับภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอย่างภาวะเลือดออกภายในได้

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคแผลในกระเพาะอาหารมักไม่ค่อยพบเจอนัก แต่ก็อาจเป็นภาวะร้ายแรงถึงชีวิตได้ ดังนี้: เลือดออก ณ จุดที่มีแผล เยื่อบุกระเพาะที่เป็นแผลฉีกขาดและเปิดออก (perforation) แผลอุดกั้นการเคลื่อนที่ของอาหารผ่านระบบย่อย (gastric obstruction)

ภาวะเลือดออกภายใน

ภาวะเลือดออกภายใน (Internal bleeding) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด โดยสามารถเกิดขึ้น ณ จุดที่มีแผลบนหลอดเลือด โดยภาวะเลือดออกนี้สามารถเป็นได้ทั้ง:

การเลือดออกอย่างช้า ๆ ระยะยาวที่นำไปสู่ภาวะโลหิตจาง (anaemia): ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า หายใจติดขัด ผิวซีด และหัวใจเต้นแรง

การเลือดออกอย่างรวดเร็วและรุนแรง: ทำให้คุณอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายหนักเป็นสีดำเหนียวคล้ายก้อนถ่าน

คุณควรต้องเข้าพบแพทย์หากว่าคุณมีอาการเรื้อรังจากภาวะโลหิตจาง หากแพทย์คาดว่าคุณมีแผลในกระเพาะอาหาร พวกเขาอาจส่งคุณไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านระบบย่อยอาหารเพื่อรับการตรวจสอบและรักษาต่อไป

กระบวนการสอดกล้องกระเพาะอาหาร (endoscopy) จะถูกใช้เพื่อตรวจหาสาเหตุของการเลือดออก และดำเนินการรักษาระหว่างการสอดกล้องเพื่อหยุดการเลือดออก บางครั้งอาจมีกระบวนการเฉพาะทางที่ต้องดำเนินการพร้อมการสแกนเอกซเรย์นำทางเพื่อหยุดการเลือดไหลออกจากบาดแผล ในบางครั้งแพทย์อาจจะใช้วิธีผ่าตัดซ่อมแซมหลอดเลือดที่เสียหายแทนก็ได้

เพื่อชดเชยเลือดที่เสียไป คุณอาจต้องเข้ารับการถ่ายเลือด (Blood transfusions) ด้วยเช่นกัน

อวัยวะฉีกขาด

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคแผลในกระเพาะอาหารที่หายากคือการฉีกขาดของผนังเยื่อบุกระเพาะอาหาร (perforation)

ภาวะนี้เป็นภาวะร้ายแรงมากเพราะจะทำให้แบคทีเรียที่อาศัยในกระเพาะอาหารหนีออกมาและเข้าไปติดเชื้อที่เยื่อบุช่องท้องของคุณ (peritoneum) หรือที่เรียกว่า ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (peritonitis)

ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบทำให้การติดเชื้อลุกลามไปยังเลือดก่อนจะกระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลวได้ และจะกลายเป็นเรื่องที่อันตรายถึงชีวิตหากปล่อยทิ้งเอาไว้

อาการทั่วไปจากภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบคืออาการปวดท้องกะทันหัน ซึ่งจะทรุดลงอย่างต่อเนื่อง หากคุณมีความเจ็บปวดประเภทนี้ให้รีบติดต่อแพทย์อย่างฉุกเฉินทันที

ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ในบางกรณีอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาเท่านั้น

ภาวะทางออกกระเพาะอาหารอุดกั้น

ในบางกรณี การอักเสบหรือบาดแผลจากโรคแผลในกระเพาะอาหารก็เข้าไปอุดกั้นช่องทางลำเลียงอาหารผ่านระบบย่อยลง ภาวะเช่นนี้เรียกว่าภาวะทางออกกระเพาะอาหารอุดกั้น (gastric obstruction) ซึ่งมีอาการดังต่อไปนี้: อาเจียนเรื้อรัง โดยอาจมีปริมาณของอาหารที่ไม่ได้ย่อยออกมามาก ท้องอืดหรืออิ่มเรื้อรัง รู้สึกอิ่มมากแม้จะทานอาหารเพียงเล็กน้อย น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้

แพทย์มักยืนยันภาวะอุดกั้นได้ด้วยกระบวนการสอดกล้องกระเพาะอาหาร หากพบการอุดกั้นเกิดจากการอักเสบจะมีการใช้ proton pump inhibitors (PPIs) หรือ H2-receptor antagonists เพื่อลดระดับกรดในกระเพาะลงจนกว่าอาการบวมจะหายไป

หากการอุดกั้นเกิดจากเนื้อเยื่อแผลเป็น อาจต้องใช้การผ่าตัดในการรักษา หรือบางครั้งอาจใช้วิธีสอดบอลลูนขนาดเล็กสอดเข้าไปพร้อม endoscope เพื่อขยายช่องที่อุดตันขึ้น


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
medicalnewstoday.com, Stomach ulcers&gastric ulcers (https://www.medicalnewstoday.com/articles/312045.php), January 17, 2018
webmd.com, Stomach ulcers&gastric ulcers (https://www.webmd.com/digestive-disorders/peptic-ulcer-overview#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาการเจ็บแน่นหน้าอก อาจเป็นผลมาจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร
อาการเจ็บแน่นหน้าอก อาจเป็นผลมาจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร

ปวดท้องแน่นหน้าอก อาการที่อาจเกิดจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร ไม่ใช่โรคหัวใจ

อ่านเพิ่ม
อาการปวดท้อง ปวดท้องแต่ละส่วน มีผลอย่างไร
อาการปวดท้อง ปวดท้องแต่ละส่วน มีผลอย่างไร

แนะนำแนวทางการสังเกตอาการปวดท้องแต่ละส่วน อาการปวดท้องแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์ หาคำตอบได้ที่นี่

อ่านเพิ่ม