อาการเจ็บคอ (Sore throat) เกิดขึ้นได้บ่อยๆ จากหลายสาเหตุ โดยอาการเจ็บจะยิ่งชัดเจนเมื่อคุณกลืนน้ำลาย หรือกลืนอาหาร และทำให้ไม่สามารถพูดคุย หรือรับประทานอาหารได้สะดวก โดยอาการอาจรุนแรงในช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน
นอกจากนี้ อาการเจ็บคอบางครั้งก็มาพร้อมกับอาการอื่นๆ ได้อีก เช่น มีกลิ่นปาก คันระคายเคืองในลำคอ เสียงแหบ เสียงหาย มีไข้ ตัวร้อน ปวดหู เยื่อบุในลำคอเป็นสีแดง ท่อมทอนซิลบวมโต อาจมีจุดหนองเป็นสีขาวเหลืองเกิดขึ้นด้วย ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว คัดจมูก มีน้ำมูก
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
เกือบทุกคนน่าจะเคยเผชิญอาการเจ็บคอกันมาก่อนแล้ว ดังนั้นคุณจึงควรศึกษาหาสาเหตุว่า อาการเจ็บคอเกิดมาจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร
อาการเจ็บคอสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ
- อาการเจ็บคอแบบมีไข้
- อาการเจ็บคอแบบไม่มีไข้
สาเหตุของอาการเจ็บคอแบบมีไข้
อาการเจ็บคอที่มีไข้ร่วมด้วย มักเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งหลายครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูงได้ ส่วนการติดเชื้อไวรัสก็ทำให้มีไข้อ่อนๆ ได้เช่นกัน
ตัวอย้างโรคที่มักทำให้เกิดอาการเจ็บคอแบบมีไข้ ได้แก่
- โรคไข้หวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด อาการโรคไข้หวัดที่พบได้บ่อยๆ จะได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไอ จาม เจ็บคอ และอาจมีไข้ได้บ้าง ส่วนมากอาการเจ็บคอจากโรคหวัดมักไม่รุนแรงมากนัก และสามารถหายได้เอง หากพักผ่อนได้เพียงพอ
- โรคไข้หวัดใหญ่ สาเหตุมาจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ร่วมกับมีอาการไอ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตามตัว
- โรคคางทูม สาเหตุมาจากเชื้อไวรัสคางทูม (Mumps) ซึ่งทำให้ต่อมน้ำลายอักเสบ และเจ็บคอโดยเฉพาะเวลากลืนน้ำลาย หรืออาหาร นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นอีก เช่น ต่อมน้ำลายบวม มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว และเบื่ออาหาร
- โรคมือ เท้า ปาก มักพบในผู้ป่วยวัยเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเกิดจากเชื้อไวรัสคอกซ์แซกกี เอ (Coxsackie A) ส่วนอาการที่พบนอกเหนือจากเจ็บคอจะได้แก่ มีไข้ มีแผลพุพองที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก
- โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัสโรคหัด (Measles) พบบ่อยในเด็กเช่นกัน โดยจะมีอาการเจ็บคอ ร่วมกับมีไข้สูง ไอ และมีผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งหากไม่รีบรักษา ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
- ภาวะคออักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อไวโนไวรัส โคโรนาไวรัส อะดิโนไวรัส รวมถึงติดเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Streptococcus group A) ทำให้มีอาการเจ็บคออย่างรุนแรง ไอมีเสมหะ กลืนน้ำลายลำบาก มีไข้ มักเกิดร่วมกับภาวะต่อมทอนซิลอักเสบ
- ภาวะทอนซิลอักเสบ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียที่เข้ามาทางปาก บางครั้งก็เป็นเชื้อที่ลุกลามมาจากภาวะคออักเสบ ทำให้มีอาการต่อมทอนซิลบวมแดง มีจุดสีขาวเหลืองปกคลุม เจ็บคอรุนแรง กลืนลำบาก เหมือนมีก้อนในคอ มีกลิ่นปาก และมีไข้สูง
- กล่องเสียงอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้มีอาการเจ็บคอเวลากลืน เสียงแหบ มีไข้ และอาจหายใจลำบากด้วย
- มีเนื้องอก หรือมะเร็งที่คอ เนื้องอก หรือเนื้อร้ายในคอสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บคอได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีเลือดปนออกมาในน้ำลาย และมีไข้สูงด้วย
สาเหตุของอาการเจ็บคอแบบไม่มีไข้
อาการเจ็บคอที่ไม่มีไข้มักเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่การติดเชื้อ ส่วนมากจะเป็นสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย เช่น
- โรคภูมิแพ้ หากผู้ป่วยสูดหายใจรับสารที่กระตุ้นอาการแพ้เข้าไป เช่น ฝุ่นละออง สิ่งสกปรกจากควัน ละอองเกสร ก็อาจทำให้มีน้ำมูกคั่งค้างในโพรงจมูก จนเกิดอาการคัดจมูก ร่วมกับรู้สึกเจ็บแสบระคายเคืองคอ
- การสัมผัสกับมลภาวะ ไม่ว่าจะควันท่อไอเสีย ควันบุหรี่ สารเคมี หรือสารที่มีกลิ่นฉุน หากสูดดมเข้าไปก็อาจทำให้โพรงจมูก คอ และหลอดลมระคายเคือง จนเกิดอาการแสบคอได้เช่นกัน
- สภาพอากาศเย็น และแห้ง การหายใจเอาอากาศที่เย็น แห้ง ไม่ชุ่มชื้นเข้าไปสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองในลำคอได้เช่นกัน เช่น อากาศในห้องแอร์ที่ปรับจนหนาว หรือในฤดูหนาวที่อากาศอาจแห้งมากกว่าปกติ
- โรคกรดไหลย้อน หากกรดในกระเพาะเกิดไหลกลับขึ้นมายังหลอดอาหารอีกครั้ง ก็จะส่งผลให้คุณเกิดอาการจุกแน่นท้อง แสบร้อนหน้าอก และแสบระคายเคืองคอได้ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ
- การใช้เสียงมากเกินไป การคุณตะโกน หรือพูดติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็อาจทำให้เส้นเสียงอักเสบจนเกิดอาการเจ็บคอ รวมถึงเสียงแหบได้ แต่อาการนี้ โดยปกติหากงดใช้เสียงไปสักพักก็จะดีขึ้นเอง
- อาหาร และพฤติกรรมอื่นๆ การรับประทานอาหารรสจัดบ่อยๆ การบริโภคแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ลำคอระคายเคือง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการเสียงแหบ และหายใจลำบากได้ด้วย
ความรุนแรงของอาการที่ควรต้องไปพบแพทย์
โดยปกติอาการเจ็บคอนั้น หากรับประทานยาร่วมไปกับอาการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง อาการก็จะดีขึ้นได้เอง แต่หากคุณมีอาการข้างเคียงดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างถูกต้องอีกครั้ง
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- เจ็บคอเรื้อรังเกิน 1 สัปดาห์
- เจ็บคอมากถึงขั้นไม่สามารถรับประทานอาหารได้ หรือรับประทานได้น้อยมาก
- ไข้ขึ้นสูงเกิน 38.3 องศาเซลเซียส
- หอบเหนื่อย
- หายใจลำบาก หรือหายใจไม่ออก
- ปวดหู หูอื้อ หรือรู้สึกปวดหูอย่างรุนแรง
- ปวดกล้ามเนื้อ หรือตามไขข้อต่างๆ
- มีผื่นขึ้น
- น้ำลาย หรือเสมหะมีเลือดปน
- คลำเจอก้อนที่คอ
- มีอาการต่อมน้ำเหลืองโตเกินกว่า 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอร่วมกับมีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคลิ้นหัวใจ โรคไข้รูมาติก โรคเอดส์ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งมะเลือดขาว ผู้ป่วยที่กำลังรับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ ก็ควรมาพบแพทย์ด้วยเช่นกัน
การรักษาอาการเจ็บคอ
วิธีรักษาอาการเจ็บคอมักรักษาโดยดูจากสาเหตุของโรคเป็นหลัก ร่วมกับบรรเทาอาการไปพร้อมๆ กัน ดังนี้
1. การใช้ยารักษา
- เมื่อมีอาการเจ็บคอ สามารถอมยาอมแก้เจ็บคอ เพื่อช่วยให้ชุ่มคอ และรู้สึกดีขึ้นได้ แต่อาจต้องระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยเด็ก
- หากมีอาการไอร่วมด้วย คุณอาจรับประทานยาแก้ไอ เช่น ยาโคเดอีน (Codeine) และยาละลายเสมหะ เช่น ยาไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) เพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- หากมีไข้ ก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ได้ เช่น พาราเซตามอล
- หากสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลิน (Penicillin) เพื่อกำจัดเชื้อโรคด้วย
- หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คัดจมูกน้ำมูกไหล ก็ให้รับประทานยาตามอาการ เช่น ยากลุ่มเอฟิดรีน (Ephedrine) สำหรับแก้คัดจมูก
2. การใช้สมุนไพรแก้เจ็บคอ
สมุนไพรหลายชนิดมีสรรพคุณช่วยแก้ไอ แก้เจ็บคอ ลดอาการคอแห้ง และช่วยให้ชุ่มคอ เช่น มะแว้ง มะขามป้อม มะนาว มะเฟือง เพกา มะขาม โดยคุณอาจใช้วิธีรับประทานแบบสดๆ นำมาคั้นเป็นน้ำดื่มสมุนไพร หรือนำมามาบดต้มเป็นยาน้ำ หรืออาจรับประทานในรูปของยาแคปซูล
การดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการ
นอกจากการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ ผู้ป่วยก็ต้องปรับวิถีชีวิตเพื่อดูแลร่างกายให้ฟื้นฟูจากอาการเจ็บคอได้เร็วขึ้น โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- อยู่ในที่อากาศถ่ายเท มีลมพัดเข้าออก ปราศจากฝุ่นควัน สิ่งสกปรกในอากาศ หรือสารที่ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่แออัด มีคนพลุกพล่านเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม และลดโอกาสแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
- ควรใส่หน้ากากอนามัยไว้หากมีผู้อยู่ใกล้ชิดดูแลอยู่ใกล้ๆ รวมถึงใช้กระดาษชำระปิดปากเวลาไอหรือจาม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่นควัน ควันบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ หรือสารที่กระตุ้นอาการแพ้
- ทำร่างกายให้อบอุ่น โดยการสวมเสื้อผ้าหนา ห่มผ้า และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศเย็น
- กลั้วคอด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำอุ่นผสมเกลือ เพื่อกำจัดเชื้อโรคในลำคอ และยังทำให้รู้สึกชุ่มคอมากขึ้นด้วย
- งดรับประทานอาหารรสจัด อาหารที่ปรุงโดยการทอด หรือผัด
- งดการใช้เสียงดัง การพูดมากๆ หรือการตะโกน
- งดบริโภคแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ ขณะที่มีอาการ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย และหมั่นจิบน้ำอุ่นอยู่บ่อยๆ
- หมั่นล้างมืออยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ
การป้องกันอาการเจ็บคอ
- ดูแลสุขอนามัยให้สะอาด โดยการล้างมือก่อนหยิบอาหารเข้าปาก และหลังเข้าห้องน้ำ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยทุกโรค เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บคอ และอาการป่วยอื่นๆ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับมลภาวะ ฝุ่น ควัน และสารที่กระตุ้นอาการแพ้ รวมถึงสภาพอากาศเย็น
- ลดการบริโภคแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายอ่อนเพลีย เพราะจะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสเข้าสู่ร่างกาย จนเกิดอาการเจ็บคอได้
อาการเจ็บคอเป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง คุณสามารถรักษาอาการนี้ด้วยตนเองได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือไปพบแพทย์เพื่อขอรับยารักษาที่เหมาะสม
และถึงแม้อาการเจ็บคอจะไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงอะไร แต่เมื่อเป็นแล้วคุณก็ไม่ควรมองข้าม และควรหาทางรักษาอาการให้ดีขึ้นโดยเร็ว เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายหลัง
ดูแพ็กเกจฉีดวัคซีนไข้หวัดสายพันธุ์ต่างๆ และแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android