กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Glyceryl Guaiacolate (กลีเซอริล ไกวอะโคเลท) / Guaifenesin (ไกวเฟเนซิน)

เผยแพร่ครั้งแรก 17 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที

ไกวเฟเนซิน (Guaifenesin) หรือชื่อทางเคมีอีกชื่อหนึ่งคือ กลีเซอริล ไกวอะโคเลท (glyceryl guaiacolate) เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการขับเสมหะ มักเป็นส่วนผสมในตำรับยาแก้ไอ รักษาอาการหวัดหลายตำรับ โดยไกวเฟเจซินจะช่วยเพิ่มการหลั่งของเมือกที่บริเวณทางเดินหายใจ และออกฤทธิ์กับตัวรับแกสติรก วากัส (gastric vagaries receptor) กระตุ้นการเกิดเอฟเฟอเรนท์พาราซิมพาเธติก (efferent parasympathetic) 

ไกวเฟเนซินลดความหนืดของเมือกโดยลดความสามารถในการยึดติดของเยื่อเมือก ลดแรงตึงผิว และเพิ่มการดูดน้ำเข้าสู่เยื่อเมือก ซึ่งทำให้เยื่อเมือกมีความหนืดลดลงได้ ไกวเฟเนซินช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของกลไก mucociliary ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเมือกที่สะสมอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน และทางเดินหายใจส่วนล่าง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ไกวเฟเนซินยังมีการใช้ในการรักษาไฟโบรไมอัลเจีย (fibribromyalgia) แต่ปัจจุบันยังไม่มีการรับรองในการใช้ไกวเฟเนซินสำหรับข้อบ่งใช้นี้ เนื่องจากการศึกษาแบบ double-blinded พบว่าไกวเฟเนซินไม่ได้ให้ผลการรักษาที่ดีไปกว่ายาหลอก ไกวเฟเนซินถูกรับรองโดยคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 1952

ตัวอย่างยี่ห้อของยาไกวเฟเนซินที่มีจำหน่ายในประเทศไทย

  • Fenesin ยาน้ำเชื่อม ความแรง 100 มิลลิกรัม / 5 มิลลิลิตร จากผู้ผลิต GPO
  • Robitussin ยาน้ำเชื่อม ความแรง 100 มิลลิกรัม / 5 มิลลิลิตร จากผู้ผลิต Pfizer
  • Guaiacol Syrup ยาน้ำเชื่อม ความแรง 100 มิลลิกรัม / 5 มิลลิลิตร จากผู้ผลิต สุพงษ์เภสัช
  • Glyceryl Guaiacolate Syrup ยาน้ำเชื่อม ความแรง 100 มิลลิกรัม / 5 มิลลิลิตร จากผู้ผลิต เอเชี่ยน ฟาร์มาซูติคัล
  • Mucinex ยาเม็ด รูปแบบ sustain release ขนาด 600 มิลลิกรัม จากผู้ผลิต Reckitt benckiser
  • Glyryl Syrup ยาน้ำเชื่อม ความแรง 100 มิลลิกรัม / 5 มิลลิลิตร จากผู้ผลิต Pharmasan
  • Mactussin ยาน้ำเชื่อม ความแรง 100 มิลลิกรัม / 5 มิลลิลิตร จากผู้ผลิต Macrophar
  • Robitussin ยาน้ำเชื่อม ความแรง 100 มิลลิกรัม / 5 มิลลิลิตร จากผู้ผลิต Olic
  • Glyceryl Guaiacolate 100mg Tablets ยาเม็ด ขนาด 100 มิลลิกรัม จากผู้ผลิต Inpac pharma
  • MUCHES-200 ยาเม็ด ขนาด 200 มิลลิกรัม และ MUCHES-400 ยาเม็ด ขนาด 400 มิลลิกรัม จากผู้ผลิต V.S.pharma
  • Glycolate Tablet ยาเม็ด ขนาด 100 มิลลิกรัม จากผู้ผลิต T.man pharma
  • Kidkof ยาน้ำเชื่อม ความแรง 100 มิลลิกรัม / 5 มิลลิลิตร จากผู้ผลิต ห้างยาไทย 1942

  โรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานี้บรรเทา

  • ข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอากมาไอ ขับเสมหะ
  • ไม่ใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีอาการหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการเรื้อรัง
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไต โรคตับ ระดับรุงแรง
  • ระวังการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้ในสตรีให้นมบุตร

กลไกการออกฤทธิ์ของไกวเฟเนซิน

ไกวเฟเนซินออกฤทธิ์แบบ systemic โดยเชื่อว่าฤทธิ์ในการขับเสมหะเกิดจากความสามารถในการเพิ่มปริมาตรของเมือกโดยเพิ่มปริมาณของเหลว ร่วมกับการลดความหนืดของเมือกที่หลั่งจากหลอดลมและถุงลม ไกวเฟเนซินอาจมีฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเสมหะจากการไอ อย่างไรก็ตามการศึกษาที่แน่ชัดของกลไกการออกฤทธิ์ของไกวเฟเนซินยังมีอยู่จำกัด

ข้อบ่งใช้ของยาไกวเฟเนซิน

ข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ยาในรูปแบบยาเตรียมสำหรับรับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 200-400 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ยาในรูปแบบยาเม็ดออกฤทธิ์นาน (extended- release tablet) ขนาด 600-1200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดต่อวัน 2400 มิลลิกรัม

ขนาดการใช้ยาในเด็ก อายุ 6-12 ปี ขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดต่อวัน 400 มิลลิกรัม ใช้ยาต่อเนื่องได้นานที่สุด 5 วัน

ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ให้ใช้ขนาดยาเดียวกันกับในผู้ใหญ่

ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยาไกวเฟเนซิน

หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไปและไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ข้อควรระวังของการใช้ยาไกวเฟเนซิน

ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาไกวเฟเนซิน

ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อาการที่เกี่ยวของกับระบบต่อมไร้ท่อ ได้แก่ กรดยูริกในกระแสเลือดต่ำ อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ได้แก่ มึนงง ง่วงนอน ปวดศีรษะ อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบผิวหนัง ได้แก่ เกิดผื่น

ข้อมูลการใช้ยาไกวเฟเนซินในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร

สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม category C คือ ควรระมัดระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ สำหรับสตรีให้นมบุตร ควรระวังการใช้ยา

ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย

ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาทั่วไป (NDD)

ข้อมูลการเก็บรักษายาไกวเฟเนซิน

เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสง

สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา

แพทย์และเภสัชกรสามารถให้ข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการใช้ยา

แจ้งข้อมูลการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทาน (รวมถึงวิตามิน และสมุนไพร) ในกรณีมียาประจำตัวจำนวนมาก ให้พกยาเพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยตรวจสอบก่อนสั่งจ่ายยาใหม่ ไม่ให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่จะได้รับใหม่และยาที่เดิมที่ผู้ป่วยใช้อยู่

แจ้งประวัติการแพ้ยา หรืออาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือแพ้อาหารชนิดใดอยู่ (เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม ยีสต์) อาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวม เกิดผื่น หายใจลำบาก หรือให้นำบัตรแพ้ยา พกติดตัวและแสดงบัตรนี้แก่แพทย์และเภสัชกรก่อนเข้าใช้บริการสุขภาพทุกครั้ง

แจ้งข้อมูลในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์ หรือสามารถขับออกทางน้ำนมได้

แจ้งข้อมูลที่จะส่งผลต่อการรับประทานยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา วิธีการรับประทานยา เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เภสัชกร ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง, ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/169/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%AD-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A/), 29 September 2013.
Gary A. Thompson, PhD, FAAPS, FCP, Gail Solomon, MS, Helmut H. Albrecht, MD, MS, FFPM, Donald P. Reitberg, PharmD, Eric Guenin, PharmD, PhD, Guaifenesin Pharmacokinetics Following Single‐Dose Oral Administration in Children Aged 2 to 17 Years (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5066754/), 24 January 2016.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)