ทำความรู้จักมะเขือม่วง
ชื่อสามัญ Eggplant
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum melongena L. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (Solanaceae)
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
เป็นมะเขือชนิดหนึ่งมีสีม่วง เป็นพืชล้มลุก เป็นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็ก มะเขือม่วงมีถิ่นกำเนิดในทวีปอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีการปลูกกระจายอยู่ทั่วโลก มีลักษณะเป็นไม้พุ่มสูง ผลมะเขือม่วงจะมีรูปร่างหลากหลายตามสายพันธุ์ เช่น ผลกลม รูปไข่ รูปรี เมื่อผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อนหรือสีขาวเป็นมัน ส่วนผลแก่จะมีสีม่วงหรือม่วงดำ สามารถนำมารับประทานได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ มะเขือม่วง เป็นพืชชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาประกอบอาหาร เนื่องจากมีรสชาติหวานปนขื่นเฉพาะตัว และหารับประทานได้ง่ายตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ดี ๆ ต่อสุขภาพอีกมากมาย
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะเขือม่วง
สารสำคัญที่พบในมะเขือม่วง ได้แก่ Flavonoid, กรดฟีโนลิก, ไฟโทสเทอรอล, ไกลโคแอลคาลอยด์ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการดื่มน้ำมะเขือทุกวัน สามารถช่วยลดระดับไขมันในเลือดและเสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือดได้
ประโยชน์ของแอนโทไซยานิน
- สีม่วงที่เห็นในผลมะเขือม่วง เกิดจากสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้สูงกว่าวิตามินซีหลายเท่า
- ลดการอักเสบและช่วยสมานแผลได้ดี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ มีการวิจัยพบว่าแอนโทไซยานินมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซีและอีถึง 2 เท่า
- ช่วยปกป้องหลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดได้
- ลดคอเลสเตอรอลในเลือด สารแอนโทไซยานินในมะเขือม่วงมีฤทธิ์ขยายเส้นเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและอัมพาตได้ด้วย
คุณค่าทางอาหารของมะเขือม่วง
มะเขือม่วง 100 กรัม ให้พลังงาน 25 แคลอรี่ มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
- โปรตีน 0.98 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต5.88 กรัม
- น้ำตาล 3.53 กรัม
- ไขมัน 0.18 กรัม
- ใยอาหาร 3 กรัม
- โพแทสเซียม 229 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 9 มิลลิกรัม
- โซเดียม 2 มิลลิกรัม
- เหล็ก 0.23 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 14 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.16 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 2.2 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 3.5 มิลลิกรัม
- โฟเลต 22 ไมโครกรัม
ประโยชน์ของมะเขือม่วง
- ในด้านการนำมาประกอบอาหาร ส่วนใหญ่แล้วจะนำผลดิบมาเผารับประทานร่วมกับน้ำพริก หรือฝานเป็นชิ้นชุบแป้งทอดกรอบก็อร่อยดี ส่วนอาหารญี่ปุ่นก็จะมีมะเขือม่วงเป็นส่วนประกอบเกือบทุกเมนู
- มะเขือม่วงอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด
- มะเขือม่วงเป็นพืชผักเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกได้ง่าย ให้ผลผลิตดี เก็บเกี่ยวได้นาน และปัจจุบันสามารถส่งออกได้
สรรพคุณของมะเขือม่วง
ด้วยคุณค่าทางอาหารมากมาย จึงทำให้มะเขือม่วงมีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ อัมพาต ความดัน เบาหวาน เป็นต้น เราก็ได้รวบรวมประโยชน์ของมะเขือม่วงมาให้คุณได้ศึกษาและทำความเข้าใจกันดังนี้
- ช่วยบำรุงหัวใจ มะเขือม่วงมี ใยอาหาร โพแทสเซียม วิตามินซี วิตามิน B6 และสารอาหารสำคัญที่จะช่วยบำรุงหัวใจมากมาย โดยเฉพาะสารฟลาโวนอยด์และแอนโธไซยานิน จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้อย่างดี
- ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด จากผลการวิจัยในกระต่ายแสดงให้เห็นว่า เมื่อกระต่ายที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงดื่มน้ำมะเขือม่วง จะทำให้น้ำหนักและระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ที่เป็นเช่นนี้เพราะกรดคลอโรนิกในมะเขือม่วงสามารถลดระดับความหนาแน่นของไขมันชนิด LDL ได้
- ช่วยต้านมะเร็ง สารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่พบในมะเขือม่วง เช่น สารโพลีฟีนอล สารแอนโธไซยานิน และกรดคลอโรจินิค ช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระและช่วยป้องกันการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และช่วยปิดกั้นเอนไซม์ที่ทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายได้
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ผลการศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า สารแอนโธไซยานินในผิวมะเขือม่วง สามารถปกป้องเยื่อหุ้มสมองจากความเสียหายของอนุมูลอิสระได้ นอกจากนี้ยังช่วยในการขนส่งสารอาหารเข้าไปในเซลล์และเคลื่อนย้ายของเสียออก ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของระบบประสาทและทำให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองได้ดีขึ้น
- ช่วยควบคุมระดับความดันเลือด การศึกษาทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า ปริมาณแอนโธไซยานินในมะเขือม่วงช่วยลดระดับของความดันโลหิตได้ ซึ่งเมื่อความดันลดลงก็ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจวายและภาวะหลอดเลือดอุดตันได้เช่นกัน
- ช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับกระดูก ในมะเขือม่วงมีสารประกอบฟีนอล ที่ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรงและเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก จึงป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคตได้
- ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง นอกจากธาตุเหล็ก มะเขือม่วงยังอุดมไปด้วยทองแดงซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง และยังมีวิตามินบี 2 ซึ่งมีส่วนในการช่วยรักษาและป้องกันโรคโลหิตจางอีกด้วย
เมนูสุขภาพจากมะเขือม่วง
มะเขือม่วง สามารถนำมาประกอบอาหารเพื่อสุขภาพได้หลากหลายเมนู ยกตัวอย่างเช่น
- ผัดมะเขือม่วงใบโหระพา ปอกเปลือกมะเขือม่วงและหั่นให้พอดีคำ นำเกลือมาโรยให้ทั่ว คลุกให้เข้ากันและพักเอาไว้ 30 นาที หลังจากหมักเกลือให้ล้างก่อนนำไปผัด ตั้งกระทะไฟกลาง ใส่น้ำมันพืช กระเทียมสับ มะเขือม่วงลงไป เติมน้ำเปล่า ¼ ถ้วย และปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที เติมเต้าเจี้ยว 2 ช้อนโต๊ะ ซีอิ้วขาว 1 ช้อนโต๊ะ ใส่ใบโหระพา และน้ำตาล ½ ช้อนโต๊ะ ตามด้วยใส่พริกชี้ฟ้าที่หั่นไว้และผัดให้เข้ากัน
- มะเขือม่วงราดซอสมิโซะ ผ่ามะเขือม่วงตามยาว จากนั้นใช้มีดปลายแหลมกรีดเนื้อให้มีความลึกประมาณ 1/2 เซนติเมตร กรีดตามแนวยาวและแนวขวางให้มีลักษณะคล้ายตาราง จากนั้นนำไปแช่ในน้ำเกลือเพื่อป้องกันไม่ให้มะเขือม่วงมีสีคล้ำและทำให้เนื้อมีความนุ่ม ทำซอสโดยใส่มิโซะ 100 กรัม น้ำตาลทราย 50 กรัม น้ำส้มสายชู 35 กรัม น้ำมันงา 10 กรัม เกลือ 3 กรัม น้ำ ½ ถ้วย และขิงขูดลงในหม้อ คนให้เข้ากัน แล้วนำไปตั้งบนไฟปานกลาง เคี่ยวจนซอสข้น จากนั้นจึงตักใส่ถ้วยพักไว้ ตั้งกระทะไฟกลาง ใช้แปรงทาน้ำมันทาลงไปบนผิวกระทะที่ร้อน และทาผิวเปลือกของมะเขือม่วง นำด้านที่มีเปลือกไปย่างในกระทะ ปิดฝาและย่างประมาณ 15 นาที จึงกลับด้านที่กรีดเนื้อเป็นตารางย่างต่อประมาณ 5 นาที ทำการกลับด้านอีกครั้งแล้วใช้แปรงจุ่มซอสทาเคลือบ ปิดฝา และย่างอีก 5 นาที จากนั้นจึงตักใส่จาน โรยด้วยงาขาวและงาดำคั่วบด เสิร์ฟพร้อมไควาเระและซอสมิโซะ
ข้อควรระวัง
มะเขือม่วงมีสารออกซาเลตที่อาจก่อให้เกิดโรคนิ่วในไตและภาวะไตวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคไต และผู้ที่พึ่งหายจากการรักษานิ่วในไต ไม่ควรรับประทานมะเขือม่วง เพื่อป้องกันอาการกำเริบ
แม้มะเขือม่วงเป็นแหล่งโภชนาการที่สำคัญของสารอาหารต่าง ๆ แต่ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ยังไม่มีการรับรองคุณสมบัติเพื่อการรักษาโรคแต่อย่างใด มีเพียงหลักฐานบางส่วนที่แสดงถึงประสิทธิผลที่มีผลดีต่อสุขภาพเบื้องต้นเท่านั้น