ภาวะโลหิตจาง (Anemia)

ภาวะโลหิตจางเกิดจากอะไร อาการอะไรบ้างที่บอกว่าเป็นโรคโลหิตจาง และทานอาหารอย่างไรไม่ให้เป็นโรคนี้
เผยแพร่ครั้งแรก 7 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ภาวะโลหิตจาง (Anemia)

ภาวะโลหิตจางหรือโรคโลหิตจางคืออะไร

ภาวะโลหิตจาง จะเกิดขึ้นเมื่อจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีสุขภาพดีในร่างกายของคุณมีปริมาณต่ำเกินไป โดยเซลล์เม็ดเลือดแดงจะทำหน้าที่ส่งออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อทั้งหมดของร่างกาย เมื่อจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ ปริมาณออกซิเจนในเลือดของคุณก็จะต่ำไปด้วย

ภาวะโลหิตจางวัดได้ด้วยปริมาณของฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนภายในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย

สาเหตุของภาวะโลหิตจาง

ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และโฟเลต เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกาย ปกติแล้วจะมีการแทนที่เซลล์เม็ดเลือดแดงเดิมด้วยเซลล์ใหม่เป็นปริมาณ 0.8-1 เปอร์เซ็นต์ทุกวัน และอายุเฉลี่ยของเซลล์เม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์คือ 100 ถึง 120 วัน หากมีกระบวนการใด ๆ ที่ส่งผลเสียต่อความสมดุลระหว่างการผลิต และการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ก็จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางขึ้น

สาเหตุของภาวะโลหิตจางโดยทั่วไปแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มสาเหตุที่ลดการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง และกลุ่มสาเหตุที่เพิ่มการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง

ปัจจัยที่ลดการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง ได้แก่

  • ฮอร์โมน Erythropoietin ที่ผลิตจากไต ทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอ
  • การบริโภคธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 หรือโฟเลตที่ไม่เพียงพอ
  • เป็นโรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism)

ส่วนปัจจัยที่เพิ่มการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ได้แก่

  • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
  • การเกิดอุบัติเหตุ
  • แผลในทางเดินอาหาร
  • การมีประจำเดือน
  • การคลอดบุตร
  • เลือดออกในมดลูกมากเกินไป
  • ได้รับการผ่าตัด
  • โรคตับแข็งซึ่งทำให้เกิดแผลเป็นภายในตับขึ้น
  • เกิดพังผืดหรือเนื้อเยื่อแผลเป็นภายในไขกระดูก
  • ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis) ซึ่งเป็นการฉีดขาดของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่อาจเกิดขึ้นด้วยยาบางอย่างหรือได้รับเลือดที่ไม่เข้ากันในกลุ่ม Rh
  • ความผิดปกติของตับและม้าม
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น
    • การขาดกลูโคส -6- ฟอสเฟตดีไฮโดรจีเนส (G6PD Deficiency)
    • โรคโลหิตจางทาลัสซีเมีย (Thalassemia)
    • โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia)

แต่สาเหตุของภาวะโลหิตจางที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การขาดธาตุเหล็ก ซึ่งการบริโภคธาตุเหล็กยังถือเป็นดัชนีที่สำคัญสำหรับการประเมินสภาวะสุขภาพของประเทศต่างๆ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีคนประมาณ 2 พันล้านคนทั่วโลกที่มีภาวะโลหิตจาง และส่วนมากเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก

ความสัมพันธ์ของโภชนาการประจำวันและโรคโลหิตจาง

วิตามินและธาตุเหล็กที่ควรได้รับต่อวัน จะแตกต่างกันไปตามเพศและอายุ ซึ่งผู้หญิงจะต้องการธาตุเหล็กและโฟเลตมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีการสูญเสียธาตุเหล็กในระหว่างรอบประจำเดือน และจำเป็นต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร

ธาตุเหล็ก

ปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำในแต่ละวัน แบ่งออกตามเพศและอายุดังนี้

  • ผู้หญิงอายุ 19-50 ต้องการธาตุเหล็ก 18 mg
  • ผู้ชายอายุ 19-50 ต้องการธาตุเหล็ก 8 mg
  • ผู้หญิงที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ต้องการธาตุเหล็ก 27 mg
  • ผู้หญิงที่ให้นมบุตร ต้องการธาตุเหล็ก 9 mg
  • ผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีต้องการธาตุเหล็ก 8 mg ต่อวัน

ผู้ที่ได้รับธาตุเหล็กจากอาหารเพียงอย่างเดียว และไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาจต้องได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก หรือต้องรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กให้มากขึ้น เช่น

  • ตับไก่และตับวัว
  • เนื้อไก่งวงสีเข้ม
  • เนื้อแดงต่างๆ เช่น เนื้อวัว
  • อาหารทะเล
  • ธัญพืชเสริมแร่ธาตุ
  • ข้าวโอ๊ตบด
  • ถั่ว
  • ผักโขม

โฟเลต

โฟเลต เป็นรูปแบบหนึ่งของกรดโฟลิกที่สร้างขึ้นตามธรรมชาติในร่างกาย เพศชายและเพศหญิงที่มีอายุเกิน 14 ปี ต้องการโฟเลต 400 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ต้องการโฟเลต 600 ไมโครกรัม และ 500 ไมโครกรัมต่อวันตามลำดับ

อาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต ได้แก่

  • ตับวัว
  • ถั่ว
  • ผักโขม
  • หน่อไม้ฝรั่ง

วิตามินบี 12

ปริมาณที่แนะนำของวิตามินบี 12 ของผู้ใหญ่อยู่ที่ 2.4 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ต้องการ 2.6 ไมโครกรัมต่อวัน และผู้หญิงที่ให้นมบุตรต้องการ 2.8 ไมโครกรัมต่อวัน

อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 ได้แก่

  • เนื้อปลา
  • เนื้อสัตว์
  • สัตว์ปีก
  • หอย
  • เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ
  • ไข่
  • ผลิตภัณฑ์นมต่างๆ

อาการของภาวะโลหิตจาง

ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง จะมีอาการทั่วไปดังนี้

  • มีลักษณะซีด
  • ทนต่ออาการเย็นไม่ได้
  • มึนงงหรือเวียนศีรษะ โดยเฉพาะเมื่อออกแรง
  • มีความอยากที่ผิดปกติ เช่น อยากกินน้ำแข็ง อยากกินดินเหนียว หรืออยากกินดิน
  • เหนื่อยง่าย
  • ท้องผูก
  • ไม่มีสมาธิ
  • โรคโลหิตจางบางชนิดสามารถทำให้เกิดการอักเสบของลิ้น ส่งผลให้ลิ้นมีลักษณะเรียบมัน วาว แดง และเจ็บปวด

หากมีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง อาจพบอาการดังนี้

  • เล็บเปราะแตกหักง่าย
  • หายใจหอบถี่
  • เจ็บหน้าอก
  • หรืออาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด (Heart Attack) ในกรณีที่รุนแรงมาก

เมื่อไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย อาจพบอาการเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

  • ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ
  • ผิวซีด
  • ภาวะดีซ่าน (Jaundice)
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • เสียงหัวใจผิดปกติ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ม้ามหรือตับโต
  • ลิ้นอักเสบ (Atrophic Glossitis)

การวินิจฉัยภาวะโลหิตจาง

การวินิจฉัยภาวะโลหิตจาง จะเริ่มจากการซักประวัติทางการแพทย์และประวัติครอบครัวของคุณ เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยภาวะโลหิตจางบางชนิด เช่น โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงรูปเคียว ประวัติของการสัมผัสกับสารพิษต่างๆ ในบ้าน เป็นต้น

จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อให้แพทย์ทราบสาเหตุของภาวะโลหิตจางได้ดียิ่งขึ้น

การตรวจที่เกี่ยวข้องเพื่อวินิจฉัยภาวะโลหิตจาง ได้แก่

  • การเจาะตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) : การตรวจนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงจำนวนและขนาดของเม็ดเลือดแดงของคุณ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเซลล์เม็ดเลือดอื่น ๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดเป็นปกติหรือไม่
  • การตรวจระดับธาตุเหล็กในเลือด : การตรวจนี้จะแสดงให้เห็นว่าการขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุของโรคโลหิตจางหรือไม่
  • การตรวจระดับเฟอร์ริติน (Ferritin Test) : การตรวจนี้เป็นการวิเคราะห์ปริมาณเหล็กที่สะสมอยู่ในร่างกาย
  • การตรวจระดับวิตามินบี 12 : การตรวจนี้จะแสดงระดับวิตามินบี 12 และระบุว่าปริมาณดังกล่าวต่ำเกินไปหรือไม่
  • การตรวจระดับโฟเลต : การตรวจนี้แสดงให้เห็นว่าระดับโฟเลตในเลือดต่ำเกินไปหรือไม่
  • การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Stool Test For Occult Blood) : การตรวจนี้ จะใช้สารเคมีกับตัวอย่างอุจจาระที่เก็บมา เพื่อตรวจหาว่ามีเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่ หากผลการทดสอบเป็นบวก หมายความว่าเลือดนั้นมีการรั่วซึมมาจากตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในทางเดินอาหารตั้งแต่ปากไปยังลำไส้ตรง เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

การตรวจเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง

จากผลของการตรวจข้างต้น แพทย์อาจสั่งตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การสวนแป้งแบเรียมเพื่อตรวจลำไส้ (Barium Enema) เอกซเรย์ทรวงอก หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณหน้าท้องของคุณ

วิธีการรักษาภาวะโลหิตจาง

การรักษาภาวะโลหิตจางขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากภาวะโลหิตจางเกิดจากการได้รับธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และโฟเลตไม่เพียงพอ สามารถรักษาได้ด้วยอาหารเสริม

ในบางกรณี หากภาวะโลหิตจางนั้นรุนแรงมาก แพทย์จะใช้การฉีดฮอร์โมน Erythropoietin เพื่อกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงจากไขกระดูก หากมีภาวะเลือดออกรุนแรง หรือระดับฮีโมโกลบินต่ำมาก ก็อาจจำเป็นต้องได้รับการถ่ายเลือด (Transfusion)

แนวโน้มของภาวะโลหิตจางในอนาคต

แนวโน้มระยะยาวของภาวะโลหิตจางขึ้นอยู่กับสาเหตุและการตอบสนองต่อการรักษา ภาวะโลหิตจางหรือโรคโลหิตจางนั้นสามารถรักษาได้ แต่หากปล่อยไว้ไม่ได้รักษาก็สามารถเป็นอันตรายได้เช่นกัน หากคุณมีอาการของภาวะโลหิตจาง โดยที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคโลหิตจางชนิดใดก็ตาม แพทย์อาจพิจารณาให้คุณควบคุมอาหารหรือได้รับอาหารเสริมมากขึ้น

ที่มาของข้อมูล

Verneda Lights and Brian Wu, What Causes Anemia? (https://www.healthline.com/symptom/anemia), January 3, 2018


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
What are the signs and symptoms of iron-deficiency anemia? (2014, March 26) (https://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/ida/signs)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)