ภกญ. กันยรัตน์ ภัยชำนาญ เภสัชกร
เขียนโดย
ภกญ. กันยรัตน์ ภัยชำนาญ เภสัชกร
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ยาลดความดันโลหิต (Antihypertensives)

แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วยการใช้ยา และวิธีติดตามผลการรักษา
เผยแพร่ครั้งแรก 7 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 28 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ยาลดความดันโลหิต (Antihypertensives)

ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) คือ ภาวะที่ระดับความดันในหลอดเลือดภายในร่างกาย เพิ่มสูงเกินกว่าค่าปกติ โดยความดันโลหิต จะแบ่งเป็น 2 ค่า ได้แก่ ความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (Systolic) และ ความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (Diastolic) ซึ่งในผู้ที่มีค่าความดันทั้งสองชนิด มากกว่า 140 และ 90 มม. ปรอท ตามลำดับ จะถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง

ภาวะนี้เกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่ อายุ โรคประจำตัว โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคไต ภาวะน้ำหนักเกิน เพศ การสูบบุหรี่และ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น การรักษาภาวะความดันโลหิตสูงนั้น จะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง โดยจะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยก่อน ดังเช่น การปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ เป็นต้น แล้วค่อยเริ่มการใช้ยาเมื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตนั้นยังไม่ได้ผล

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน

ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูงมีหลากหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีกลไกการทำงาน และวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันด้วย ตามที่จะกล่าวต่อไป

ปัจจัยที่มีผลต่อความดันโลหิต

ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยดังนี้

  • อายุ อายุที่มากขึ้นจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
  • ช่วงเวลาของวัน ความดันโลหิตทีระดับที่ไม่เท่ากันตลอดวัน เช่น ความดันโลหิตอาจจะสูงขึ้นในช่วงบ่าย และลดลงในตอนนอนหรือช่วงค่ำ
  • สภาพอารมณ์และความเครียด ปัจจัยนี้มีผลต่อความดันโลหิตไมาก ความเครียดจะทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติได้ ขณะที่พักผ่อนความดันโลหิตก็จะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติ เมื่อรู้สึกเจ็บปวด หรืออารมณ์ไม่ดีก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน
  • เพศ โดยเพศชายจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าเพศหญิง
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีบิดาและมารดา หรือญาติพี่น่องสายตรง เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว
  • สิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมที่เคร่งเครียดหรือกดดัน ก็ทำให้มีแนวโน้มการเป็นโรคความดันสูง
  • เชื้อชาติ พบว่าชาวแอฟริกันอเมริกันมีความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว
  • เกลือ หรืืออาหาร ผู้ที่บริโภคเกลือ อาหารเค็ม ของหมักดองมาก จะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่กินเกลือน้อย
  • การสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้

ดังนั้นการปฏิบัติตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ให้เหมาะสม และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งผลต่อความดันโลหิตเหล่านี้ ก็จะช่วยลดความดันโลหิต หรือป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในผู้ที่ยังไม่เป็นได้

แนวทางการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงโดยการใช้ยา

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตนั้น เป็นการรักษาพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทุกราย แต่นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตแล้ว แพทย์อาจจะต้องใช้ยา ในการลดความดันโลหิตในรายที่มีความดันโลหิตสูงเรื้อรัง และไม่สามารถควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติได้ เพื่อให้การรักษาได้ตามเป้าหมาย คือ การลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคไต ทั้งนี้ การควบคุมระดับความดันเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย คือต่ำกว่า 140/90 มม. ปรอท

แพทย์จะเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตเริ่มต้นจากยา 4 กลุ่ม ต่อไปนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

  1. Thiazide–type diuretics หรือ ยาขับปัสสาวะกลุ่มไธอะไซด์ เป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อไต โดยมีผลลดปริมาณน้ำในระบบไหลเวียนโลหิต โดยการขับโซเดียมหรือเกลือ ออกจากร่างกาย

    ตัวอย่างยาที่ใช้ในประเทศไทย ได้แก่ Hydrochlorothiazide (HCTZ) และ Indapamide ผลข้างเคียงที่สําคัญจากการใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่มนี้คือ ก่อให้เกิดโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemia) หรือมีอาการคือเหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อหรืออาจจะเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ ปัสสาวะบ่อยครั้งในช่วงกลางวัน และอาจเป็นในช่วงกลางคืนด้วย

  2. Calcium channel blockers (CCBs) ยากลุ่มนี้จะไปปิดกั้นการไหลเข้าของแคลเซียมที่หลอดเลือดและที่หัวใจ มีผลให้หลอดเหลือดขยายตัวและหัวใจบีบตัวลดลง ช่วยลดความดันโลหิตลงได้

    ตัวอย่างยาที่นิยมใช้ในประเทศไทย คือ Nifedipine Amlodipine Felodipine Diltiazem และ Verapamil ผลข้างเคียงสำคัญของยากลุ่มนี้คือ ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว ปวดศรีษะ เหนื่อยล้า หน้าแดง ข้อเท้าบวม

    แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
    สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน

    ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  3. Angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEIs) หรือเรียกว่า เอส อินฮิบิเตอร์ ออกฤทธิ์โดยยับยั้ง แองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง เอนไซม์ (Angiotensin-Converting Enzyme) ซึ่งปกติเอนไซม์ตัวนี้จะทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เมื่อยาไปยับยั้งเอนไซม์นี้ก็จะเกิดผลหลอดเลือดจะขยายตัวออก ทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ ยากลุ่มนี้ยังช่วยป้องกันโรคไตวายจากเบาหวานหรือเบาจืดได้อีกด้วย

    ตัวอย่างยาที่ใช้ ได้แก่ enalapril lisinopril captopril และ ramipril แม้ว่ายากลุ่มนี้ จะเป็นยาที่มีผลขางเคียงต่ำ แต่อาจทําให้ผู้ป่วยมีอาการไอแห้ง และมีโพแทสเซียมในเลือดสูงได้โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตมาก่อน รวมทั้งอาจมีอาการปลายมือปลายเท้าบวมได้

  4. Angiotensin receptor blockers (ARBs) ยากลุ่มนี้มีหลักการทำงานคล้ายกับยากลุ่ม เอส อินฮิบิเตอร์ (ACEIs) แต่ตัวยาจะยับยั้งฤทธิ์ของแองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง เอนไซม์ (Angiotensin-Converting Enzyme) ได้สมบูรณ์กว่าโดย ยากลุมนี้มีประโยชน์ทางการรักษา และผลข้างเคียงที่คล้ายคลึงกับกลุ่ม เอส อินฮิบิเตอร์ (ACEIs) ยกเว้นไม่ทำให้อาการไอแห้ง และมีอาการปลายมือปลายเท้าบวมน้อยกว่ากลุ่ม เอส อินฮิบิเตอร์

    ตัวอย่างยาที่นิยมใช้ ได้แก่ losartan irbesartan valsartan และ candesartan ผลข้างเคียงจากยาจะคล้ายกับเอส อินฮิบิเตอร์ คือ เวียนหัว คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้ออ่อนแรง ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นต้น

ที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นยา 4 กลุ่มที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง แต่หากใช้ยา 4 กลุ่มนี้ไม่ได้ผล หรือมีอาการแพ้ยา หรือมีโรคประตัวบางชนิดที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ยา 4 กลุ่มนี้ ก็จะมียาทางเลือกรองลงมาที่แพทย์จะเลือกใช้ หรือให้ร่วมกับ 4 กลุ่มแรก เพื่อเพิ่มประสิทธะิภาพในการลดความดันโลหิตให้ได้ตามเป้าหมาย

ยาทางเลือกรองจะมี 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. Beta blockers หรือ เบต้า บลอคเกอร์ ยากลุ่มนี้มีกลไกการออกฤทธิ์คือ ปิดกั้นตัวรับชนิด เบต้า (Beta receptors) บริเวณหลอดเลือดและหัวใจ ส่งผลให้ หัวใจเต้นช้าลงและมีแรงบีบลดลง

    ยาที่นิยมใช้ มีดังนี้ Proprabolol Timolol Atenolol Bisoprolol Metoprolol และ Carvedilol โดยข้อบ่งใช้ของยากลุ่มนี้นั้นมีหลายภาวะ ดังนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีการบีบตัวของหัวใจบกพร่อง ภาวะหลังจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ดังนั้นแพทย์จะเลือกใช้ยานี้ลดความดันโลหิตก็ต่อเมื่อ ผู้ป่วยมีอาการที่เกี่ยวของกับภาวะข้างต้น

    ข้อควรระวังและผลข้างเคียงของยา ได้แก่ หลอดลมหดเกร็ง (bronchospasm) หัวใจเต้นช้า นอนไม่หลับ อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย

  2. Alpha Blockers หรือ อัลฟา บลอคเกอร์ เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับชนิดอัลฟา (alpha receptors) ที่กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว ลดความดันโลหิต ทั้งยังสามารถนำมาใช้รักษาโรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) เนื่องจากมีฤทธิ์ทำให้ปัสสาวะไหลดีขึ้น ลดการปัสสาวะลำบาก ตัวอย่างยาที่ใช้ได้แก่ Doxazosin Prazosin และ Terazosin ผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้คือ หน้ามืดได้ง่าย ใจสั่น คัดจมูก หัวใจเต้นเร็ว

การติดตามผลการรักษา

เนื่องจากการรักษาโรคความดันโลหิตสูงเป็นการรักษาระยะยาว เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง จึงจําเป็นที่แพทย์ จะต้องนัดผู้ป่วยมาพบและติดตามผลการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ ในทุก 1-3 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่ตามความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย โดยในการตรวจแตละครั้ง แพทย์จะประเมินผลการควบคุมความดันโลหิต และปรับการรักษาให้เหมาะสม พร้อมทั้งเก็บขอมูลเกี่ยวกับค่าความดันโลหิต น้ำหนัก ผลการตรวจหัวใจและปอด รวมทั้งสอบถามถึงผลข้างเคียงของยาด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือบ่อยขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วย มีปัญหาหรือโรคแทรกซ้อน


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย, Thai Guidelines on The Treatment of Hypertension 2012 Update 2015
MD.PhD. Matthew R Alexander, Hypertension Medication (https://emedicine.medscape.com/article/241381-medication), 22nd Feb 2019.
Markus MacGill, Everything you need to know about hypertension (https://www.medicalnewstoday.com/articles/150109.php), 21st Nov 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป