โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล คือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีความรุนแรงและลุกลามอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องรีบรักษาทันทีที่วินิจฉัยพบ โดยยาเคมีบำบัด คือการรักษาหลักสำหรับโรคมะเร็งเอเอ็มแอล ยานี้จะไปทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในร่างกายเท่าที่จะทำได้และจะลดความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำ และในผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาอย่างเข้มข้นร่วมกับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เพื่อให้การรักษาหายขาด
บทนำ
มะเร็งเม็ดเลือดขาวคือโรคมะเร็งของเซลล์เม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันหมายถึงโรคมะเร็งที่มีความรุนแรง และลุกลามอย่างรวดเร็ว และจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันสามารถแบ่งตามชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่:
- เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (lymphocytes): เป็นเม็ดเลือดขาวที่ถูกใช้เพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่
- เซลล์ไมอีลอยด์ (myeloid cells): เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่หลายหน้าที่ เช่น ต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรีย ต่อสู้กับการติดเชื้อพยาธิ และป้องกันการแพร่กระจายของเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย
บทความนี้จะมุ่งเน้นที่โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดไมอีลอยด์ (acute myeloid leukaemia (AML)) หรือโรคมะเร็งเอเอ็มแอล (AML) เป็นโรคมะเร็งของเซลล์ไมอีลอยด์ ซึ่งเป็นคนละอย่างกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวอื่นๆ ที่ไม่ได้พูดถึง ณ ที่นี้ ได้แก่:
- acute lymphoblastic leukaemia (โรคมะเร็งเอแอลแอล)
- chronic myeloid leukaemia
- chronic lymphocytic leukaemia
อาการและอาการแสดงของโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
อาการของโรคมะเร็งเอเอ็มแอลมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์และจะมีอาการรุนแรงขึ้น อาการนั้นได้แก่:
- ผิวหนังซีด
- อ่อนเพลีย
- หายใจลำบาก
- ติดเชื้อบ่อย
- มีเลือดออกผิดปกติและบ่อยครั้ง เช่น เลือดออกที่เหงือก หรือ เลือดกำเดาไหล
ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โรคมะเร็งเอเอ็มแอลเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อร้ายแรงถึงชีวิต หรือ เลือดออกภายในร่างกายอย่างรุนแรงได้
เมื่อไรควรไปพบแพทย์
คุณควรพบแพทย์เมื่อคุณหรือบุตรหลานของคุณมีอาการที่เข้าได้กับโรคมะเร็งเอเอ็มแอล แม้ว่าสาเหตุของอาการอาจไม่ใช่มาจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นควรได้รับการตรวจวินิจฉัย
หากแพทย์ที่ตรวจรักษาคุณกำลังสงสัยว่าคุณอาจเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว คุณจะได้รับการเจาะเลือดไปตรวจสอบการผลิตเซลล์เม็ดเลือด หากผลการตรวจเลือดพบว่าคุณมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คุณจะได้รับการส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคเลือด) เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมและรับการรักษาที่จำเป็น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
สาเหตุของโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
โรคมะเร็งเอเอ็มแอลเกิดขึ้นจากสเต็มเซลล์ที่อยู่ภายในไขกระดูก (เนื้อเยื่อฟองน้ำภายในกระดูก) มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวไม่สมบูรณ์ยังโตไม่เต็มที่เป็นจำนวนมาก เซลล์เม็ดเลือดขาวที่โตไม่สมบูรณ์นี้เรียกว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อน หรือ บลาสต์เซลล์ (blast cells)
เซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อน หรือ บลาสต์เซลล์ ไม่มีคุณสมบัติในการต่อสู้กับเชื้อโรคเช่นเดียวกับเซลล์เม็ดเลือดขาวสุขภาพดี การผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนมากเกินไปจะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงลดปริมาณลง (เซลล์เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย) และยังทำให้เกร็ดเลือดลงด้วยด้วย (เกร็ดเลือดคือเซลล์ที่ทำหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด)
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมจึงเกิดโรคนี้ขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ อย่างไรก็ตามพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่เพิ่มโอกาสของการเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอล ได้แก่:
- การได้รับยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษามาก่อนหน้านี้
- การสัมผัสกับรังสีในปริมาณสูงมาก (รวมถึงการได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษามาก่อน)
- การสัมผัสกับสารเบนซิน- เป็นสารเคมีในอุตสาหกรรม และยังพบในบุหรี่ด้วย
- เป็นโรคเลือดหรือโรคทางพันธุกรรมอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome)
มีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอลมากแค่ไหน
โรคมะเร็งเอเอ็มแอลเป็นโรคมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อย
ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอลจะขึ้นกับอายุ เมื่ออายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยพบได้บ่อยสุดในผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
จะรักษาโรคมะเร็งเอเอ็มแอลได้อย่างไร
โรคมะเร็งเอเอ็มแอลเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงและโรคมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อได้รับการยืนยันการวินิจฉัยโรคแล้วต้องรีบทำการรักษาทันที
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) คือการรักษาหลักสำหรับโรคมะเร็งเอเอ็มแอล ยานี้จะไปทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในร่างกายเท่าที่จะทำได้และจะลดความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำ (relapsing)
ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาอย่างเข้มข้นร่วมกับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เพื่อให้การรักษาหายขาด
อนาคตของผู้ป่วยโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
อนาคตของโรคมะเร็งเอเอ็มแอลจะขึ้นกับชนิดของโรคมะเร็งเอเอ็มแอลที่คุณเป็น รวมไปถึงอายุและสุขภาพร่างกายโดยรวมของคุณ
โรคมะเร็งเอเอ็มแอลสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ได้หลายชนิด โดยจะแบ่งชนิดได้จากลักษณะของโรคที่แตกต่างกัน เช่น ลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่พบในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และบางชนิดของโรคมะเร็งเอเอ็มแอลเป็นชนิดที่รักษาได้ยากกว่าชนิดอื่นๆ
แม้ว่าการรักษาโรคมะเร็งเอเอ็มแอลจะประสบความสำเร็จในช่วงตอน แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำที่ช่วงเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า หากเกิดเหตุการณ์มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ ก็จำเป็นต้องรักษาซ้ำอีกรอบ
มีข้อมูลจากงานวิจัยทางการแพทย์พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งเอเอ็มแอลที่วินิจฉัยตั้งแต่อายุก่อน 60 ปี จะมีชีวิตอยู่ได้อีกอย่างน้อย 5 ปี และในมะเร็งเอเอ็มแอลบางชนิด เช่น acute promyeloid leukaemia (APML) ประมาณ 85% ของมะเร็งชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ได้อีกอย่างน้อย 5 ปี
โดยทั่วไปผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเอเอ็มแอลจะมีแนวโน้มที่ภาพอนาคตของโรคจะดีกว่าผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้
อาการของโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งเอเอ็มแอลมักจะพัฒนาอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น (บลาสต์เซลล์)
อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งเอเอ็มแอล ได้แก่:
- ผิวหนังซีด
- อ่อนเพลีย
- หายใจลำบาก
- มีไข้
- เหงื่อออกมาก
- ติดเชื้อบ่อยครั้ง
- มีเลือดออกผิดปกติและบ่อยครั้ง เช่น เลือดออกที่เหงือก หรือ เลือดกำเดาไหล
- ผิวหนังฟกช้ำง่าย
- จุดเลือดออกขนาดเล็กสีแดงหรือสีม่วงบนผิวหนัง (petechiae)
- ปวดกระดูกและข้อ
- รู้สึกไม่สบายท้องอันเนื่องมากจากตับหรือม้ามโต
และมีผู้ป่วยมะเร็งเอเอ็มแอลจำนวนน้อยที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการปวดศีรษะ อาการชัก อาเจียน ตามองภาพไม่ชัด และเวียนศีรษะ
เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ให้ไปพบแพทย์ทันทีที่คุณหรือบุตรหลานของคุณมีอาการดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าโอกาสน้อยที่อาการดังกล่าวจะเกิดจากโรคมะเร็งเอเอ็มแอล แต่ก็ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุของโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดไมอีลอยด์ หรือ เอเอ็มแอล มีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ (DNA) ในสเต็มเซลล์ที่อยู่ในไขกระดูกซึ่งทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เกร็ดเลือด และเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค
การกลายพันธุ์ดังกล่าวเป็นสาเหตุให้สเต็มเซลล์ผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนมากกว่าที่ต้องการ
เม็ดเลือดขาวที่ผลิตออกมาปริมาณมากนั้นเป็นเม็ดเลือดขาวที่ไม่สมบูรณ์ คือยังเป็นเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนอยู่ ทำให้ไม่มีคุณสมบัติในการต่อสู้กับเชื้อโรคเหมือนกับเม็ดเลือดขาวโตเต็มที่ เราเรียกเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนว่า บลาสต์เซลล์ (blast cells)
เมื่อมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ไม่สมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือดที่สมบูรณ์มีปริมาณลดลง ซึ่งการลดลงดังกล่าวเป็นสาเหตุของอาการหลายอาการในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอะไรกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ในโรคมะเร็งเอเอ็มแอล แต่ก็มีปัจจัยหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยของการเป็นโรคดังกล่าว
ปัจจัยหลักที่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอล ได้แก่:
การสัมผัสกับรังสี
การสัมผัสกับรังสีในปริมาณสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอล แต่ก็ต้องได้รับรังสีในปริมาณที่สูงมากพอจึงจะถือว่ามีความเสี่ยง ตัวอย่างเช่น อัตราการเกิดมะเร็งเอเอ็มแอลจะพบสูงมากกว่าปกติในผู้ที่รอดจากเหตุการณ์การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้วผู้คนส่วนใหญ่แทบจะไม่มีโอกาสสัมผัสกับรังสีปริมาณสูงขนาดที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเอเอ็มแอลได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายที่ได้รับรังสีรักษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษามะเร็งในครั้งก่อนหน้านี้ถือเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเอเอ็มแอลได้
สารเบนซินและการสูบบุหรี่ (benzene and smoking)
การสัมผัสกับสารเคมีเบนซินถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของโรคมะเร็งเอเอ็มแอลในผู้ใหญ่ เบนซินพบได้ในน้ำมันเบนซินและยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมยาง ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมการใช้สารนี้อย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนสัมผัสกับสารนี้เป็นเวลานานเกินไป
นอกจากนี้เบนซินยังพบในบุหรี่ที่สูบด้วย จึงอธิบายได้ว่าทำไมผู้ที่สูบบุหรี่จึงมีความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอลมากขึ้น
การรักษามะเร็งในอดีต
การรักษามะเร็งในอดีตด้วยรังสีรักษาและยาเคมีบำบัดบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอลได้ในเวลาหลาย ๆ ปีให้หลัง
มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เกิดขึ้นเนื่องจากการรักษามะเร็งในอดีต เราเรียกว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวทุติยภูมิ (secondary leukaemia) หรือ มะเร็งที่สัมผัสกับการรักษาโรค (treatment-related leukaemia)
โรคเลือด (blood disorders)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือดบางชนิด เช่น myelodysplasia, myelofibrosis หรือ polycythaemia vera (PCV) จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอลมากขึ้น
โรคทางพันธุกรรม
ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด ได้แก่ ดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) และ Fanconi’s anaemia จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
มีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งเอเอ็มแอลได้ เช่น การฉีดวัคซีนในเด็ก และการอาศัยอยู่ใกล้กับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือ สายไฟฟ้าแรงสูง อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลหลักฐานยืนยันทีชัดเจนว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
การวินิจฉัยโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
ในระยะแรกของการวินิจฉัยโรคมะเร็งเอเอ็มแอล แพทย์จะตรวจร่างกายโดยดูจากอาการแสดงของโรค และให้คุณเจาะเลือดไปตรวจ
เมื่อผลการตรวจเลือดพบปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวผิดปกติจำนวนมาก หรือ นับเม็ดเลือดได้น้อยกว่าปกติมาก อาจหมายถึงคุณเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หากเกิดกรณีนี้ขึ้นคุณจะได้รับการส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาโดยเร่งด่วน (แพทย์ด้านโลหิตวิทยาคือแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเลือด)
แพทย์โลหิตวิทยาอาจทำการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
การเจาะตรวจไขกระดูก (bone marrow biopsy)
เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งเอเอ็มแอล แพทย์โลหิตวิทยาจะเจาะเอาไขกระดูกจำนวนเล็กน้อยไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะทำโดยการใช้ยาชาเฉพาะที่ร่วมด้วย
แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าที่ผิวหนังบริเวณหลังส่วนกระดูกสะโพกก่อนที่จะใช้เข็มขนาดเล็กแทงเข้าไปเพื่อดูดเอาตัวอย่างไขกระดูกจำนวนเล็กน้อยออกมาตรวจ ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้เข็มขนาดใหญ่มากขึ้นเพื่อดูดเอาตัวอย่างกระดูกและไขกระดูกจำนวนเล็กน้อยออกมาพร้อมๆ กัน
ระหว่างการเจาะตรวจไขกระดูก คุณจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่คุณอาจมีอาการช้ำและรู้สึกไม่สบายตัวในช่วงเวลา 2-3 วันหลังจากนั้น กระบวนการเจาะตรวจไขกระดูกจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที และคุณไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
ตัวอย่างของไขกระดูกที่เจาะออกมาได้จะนำไปตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็ง หากพบเซลล์มะเร็ง ตัวอย่างที่นำมานั้นจะถูกนำไปวิเคราะห์หาชนิดของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวต่อไป
การตรวจเพิ่มเติม
การตรวจเพิ่มเติมจะทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินไปและความรุนแรงของโรคมะเร็งเอเอ็มแอล ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรค ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมนั้นได้แก่:
การตรวจทางพันธุกรรม
การตรวจทางพันธุกรรมจะใช้เลือดและไขกระดูกตัวอย่างที่เจาะดูดออกมาเพื่อหาลักษณะทางพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมหลายแบบที่พบได้ในโรคมะเร็งเอเอ็มแอล เมื่อรู้ชนิดของโรคมะเร็งเอเอ็มแอลที่แน่ชัดแล้ว จะเป็นประโยชน์ให้แพทย์ตัดสินใจเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้กับคุณได้
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเอเอ็มแอลชนิด acute promyelocytic leukaemia (APML) จะตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยา All Trans-Retinoic Acid (ATRA) เป็นต้น
การตรวจสแกน
ถ้าคุณเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอล คุณอาจได้รับการตรวจซีทีสแกน/การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การตรวจเอกซ์เรย์ หรือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ซึ่งเป็นการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจชนิดหนึ่ง การตรวจเหล่านี้เพื่อตรวจสอบอวัยวะต่างๆ ว่ายังมีสุขภาพดีอยู่ เช่น หัวใจ และปอด
การตรวจเหล่านี้มีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้แพทย์ประเมินสุขภาพโดยรวมก่อนตัดใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคุณ
การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture)
ในบางสถานการณ์อาจพบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่โรคมะเร็งเอเอ็มแอลจะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบประสาท แพทย์จึงอาจพิจารณาเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง โดยจะใช้เข็มเจาะดูดเอาตัวอย่างน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) ออกมาจากหลังของคุณเพื่อนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง
หากตรวจพบเซลล์มะเร็งในระบบประสาท คุณอาจจำเป็นต้องฉีดยาเคมีบำบัดเข้าไปในน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังโดยตรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา
การรักษาโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดไมอีลอยด์ หรือ โรคมะเร็งเอเอ็มแอล เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรง ลุกลามรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องรีบทำการรักษาทันทีหลังได้รับการยืนยันการวินิจฉัยโรคแล้ว
โรคมะเร็งเอเอ็มแอลเป็นโรคที่มีความซับซ้อน และต้องรักษาร่วมกันโดยทีมบุคลากรทางการแพทย์หลายสาขาความเชี่ยวชาญที่ทำงานร่วมกัน
แผนการรักษาของคุณ
ในการรักษาโรคมะเร็งเอเอ็มแอล มักจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะด้วยกัน คือ:
- ระยะชักนำ (Induction)- เป้าหมายของการรักษาในระยะแรกนี้คือเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งจำนวนมากที่อยู่ในเลือดและในไขกระดูกเท่าที่จะทำได้ ทำให้ทำให้ระบบเลือดกลับมาทำงานเป็นปกติมากที่สุดและรักษาอาการต่างๆ ที่คุณกำลังเป็นอยู่
- ระยะเข้มข้น (Consolidation)- การรักษาในระยะนี้มีเป้าหมายเพื่อป้องกันเซลล์มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ (relapsing) โดยการทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย
การรักษาในระยะชักนำไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จเสมอไป และบางครั้งอาจจำเป็นต้องรักษาซ้ำก่อนที่จะเริ่มการรักษาในระยะเข้มข้น
หากคุณมีการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งภายหลังการรักษา คุณจะต้องได้รับการรักษาใหม่ทั้งระยะชักนำและระยะเข้มข้น ซึ่งอาจเหมือนกับการรักษาครั้งแรก แต่มีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนยาที่ใช้รักษาให้แตกต่างกันออกไป หรือรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
ถ้าคุณมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็งเอเอ็มแอล ตัวอย่างเช่น อายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป หรือ มีโรคร่วมอื่นๆ กรณีนี้อาจต้องรักษาด้วยความเข้มข้นน้อยกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้โอกาสทำลายเซลล์มะเร็งทั้งหมดจะลดลง แต่ก็ยังสามารถช่วยควบคุมอาการของโรคได้
การรักษาระยะชักนำ (induction)
การรักษาโรคมะเร็งเอเอ็มแอลในระยะแรก จะขึ้นกับสภาพความพร้อมของร่างกายในการได้รับยาเคมีบำบัดเข้มข้นว่ามีสภาพร่างกายเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจต้องปรับขนาดยาลดลงให้เหมาะสม
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบเข้มข้น (Intensive chemotherapy)
หากคุณสามารถรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบเข้มข้นได้ คุณมักจะได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดตั้งแต่ 2 ชนิดในขนาดสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งในเลือดและในไขกระดูก
การรักษาในระยะนี้จะทำที่โรงพยาบาลหรือในคลินิกเฉพาะโรค และคุณจำเป็นต้องได้รับการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์และพยาบาล
คุณจะได้รับการให้เลือดเพราะเลือดของคุณมีเซลล์เม็ดเลือดสุขภาพดีไม่เพียงพอในช่วงนี้
คุณจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคุณจะต้องอาสัญในสถานที่สะอาด และสามารถติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและหากเกิดการติดเชื้อเกิดขึ้นต้องสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที คุณอาจได้รับการสั่งยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในอนาคต
การรักษาในระยะชักนำนี้จะใช้เวลานานระหว่าง 4 สัปดาห์ไปจนถึง 2 เดือน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของคุณว่าเป็นอย่างไร คุณอาจได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลและรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกถ้าอาการคุณดีขึ้นแล้ว
ในการรักษาแบบเข้มข้นนี้ ยาเคมีบำบัดจะได้รับการฉีดเข้าสู่ร่างกายผ่านท่อเล็กๆ ที่แทงเข้าสู่หลอดเลือดใกล้หัวใจ (central line) หรือท่อเล็กๆ ที่อยู่ที่แขน (peripherally inserted central catheter, PICC)
และมีผู้ป่วยจำนวนน้อยมากที่ต้องมีการใช้ยาเคมีบำบัดฉีดเข้าสู่น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังโดยตรงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่อาจแพร่กระจายเข้าสู่ระบบประสาท ซึ่งจะทำโดยการฉีดยาเข้าไปที่กระดูกสันหลัง โดยทำด้วยวิธีเช่นเดียวกับการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง (lumbar puncture)
ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบเข้มข้นพบได้บ่อย ได้แก่
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- เบื่ออาหาร
- เป็นแผลในปาก เจ็บปาก (mucositis)
- อ่อนเพลีย
- ผื่นผิวหนัง
- ผมร่วง
- มีบุตรยาก-ซึ่งอาจเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้
ส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง หากอาการข้างเคียงที่เป็นรบกวนคุณมากเกินไป ขอให้แจ้งแพทย์ทราบ เพราะมียาที่สามารถช่วยให้คุณรับมือกับผลข้างเคียงต่างๆ ได้
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบไม่เข้มข้น (non-intensive chemotherapy)
หากแพทย์ของคุณคิดว่าคุณยังร่างภายไม่แข็งแรงพอที่จะรับผลกระทบจากการให้ยาเคมีบำบัดแบบเข้มข้นได้ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาแบบไม่เข้มข้นแทน โดยการใช้ยาเคมีบำบัดทางเลือกตัวอื่นๆ แทน ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับควบคุมอาการแทนการรักษาให้หายขาด
เป้าหมายหลักของการรักษาคือการควบคุมระดับของเซลล์มะเร็งในร่างกายและจำกัดอาการที่คุณกำลังเป็น และขณะเดียวกันก็ต้องลดโอกาสที่จะมีผลข้างเคียงจากการรักษาด้วย
ยาที่ใช้ระหว่างการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบไม่เข้มข้นอาจเป็นยาให้อย่างต่อเนื่องทางหลอดเลือดดำ, ให้ทางปากโดยการรับประทาน หรือให้โดยการฉีดใต้ผิวหนัง และมักให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก
ยา All Trans-Retinoic Acid (ATRA)
หากคุณเป็นมะเร็งเอเอ็มแอลชนิดย่อยคือ acute promyelocytic leukaemia คุณมักได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาแคปซูลที่ชื่อว่า ATRA เพิ่มเติมจากยาเคมีบำบัดปกติ
ยา ATRA ออกฤทธิ์โดยการเปลี่ยนแปลงเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อน ไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวสมบูรณ์โตเต็มวัย และช่วยบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว
ผลข้างเคียงของยา ATRA ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดกระดูก และปากแห้ง ผิวหนังแห้ง ตาแห้ง
การรักษาระยะเข้มข้น (Consolidation)
ถ้าการรักษาในระยะชักนำประสบความสำเร็จ การรักษาในระยะถัดไปคือการรักษาระยะเข้มข้น
การรักษาในระยะนี้จะเป็นการได้รับยาเคมีบำบัดฉีดอย่างต่อเนื่อง โดยการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามคุณอาจจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ถ้าอาการของคุณแย่ลงกะทนหัน หรือมีการติดเชื้อเกิดขึ้น
การรักษาในระยะเข้มข้นจะใช้เวลาหลายเดือน
การรักษาอื่นๆ
มีการรักษาอื่นๆ หลายการรักษาสำหรับรักษามะเร็งเอเอ็มแอล ดังนี้
รังสีรักษา (radiotherapy)
รังสีรักษาคือการรักษาโดยการใช้รังสีควบคุมขนาดสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง เหตุผลหลัก 2 ประการที่ใช้รังสีรักษาในการรักษามะเร็งเอเอ็มแอล:
- เพื่อเตรียมร่างกายสำหรับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
- เพื่อรักษาโรคที่มีการลุกลามเข้าสู่ระบบประสาท และ/หรือ สมอง แม้ว่าจะพบไม่บ่อย
ผลข้างเคียงของรังสีรักษา ได้แก่ ผมร่วง คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย ผลข้างเคียงมักจะดีขึ้นเมื่อจบคอร์สของการรักษาด้วยรังสีรักษา
การปลูกถ่ายไขกระดูกและสเต็มเซลล์
ถ้าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การรักษาทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้คือ การปลูกถ่ายไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์
ก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับยาเคมีบำบัดแบบเข้มข้นขนาดสูงและรังสีรักษาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งในไขกระดูก และสเต็มเซลล์ที่ได้รับบริจาคจะให้เข้าสู่ร่างกายผ่านท่อเข้าสู่หลอดเลือด เช่นเดียวกับช่องทางการให้ยาเคมีบำบัด
กระบวนการเหล่านี้จะสร้างความเครียดให้กับร่างกายและทำให้เกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นคุณจึงจำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
การปลูกถ่ายจะประสบความสำเร็จมากขึ้นถ้าผู้บริจาคมีเนื้อเยื่อที่คล้ายกับผู้รับบริจาค ผู้บริจาคที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมักเป็นพี่ชายน้องชาย หรือพี่สาวน้องสาวที่มีเนื้อเยื่อคล้ายกัน
การปลูกถ่ายจะประสบความสำเร็จอย่างมากหากทำในเด็กหรือในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น หรือผู้ที่มีอายุมากแต่สุขภาพดี และได้รับการบริจาคจากผู้บริจาคที่เหมาะสม เช่น พี่น้องของตน
ยา Azacitidine
ยา Azacitidine คือการรักษาทางเลือกในผู้ป่วยมะเร็งเอเอ็มแอลที่ไม่สามารถทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้
ยานี้ถูกแนะนำในบางสถานการณ์ ซึ่งขึ้นกับลักษณะเฉพาะตัวของเลือดและไขกระดูกของผู้ป่วย
ยา Azacitidine เป็นยาเคมีบำบัดที่ให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยจะไปรบกวนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง และยังช่วยให้ไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดปกติด้วย
การวิจัยทางคลินิกและการรักษาใหม่ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน
ในประเทศสหราชอาณาจักรมีการวิจัยทางคลินิกเพื่อค้นหาวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาโรคมะเร็งเอเอ็มแอล การวิจัยทางคลินิกจะศึกษาถึงการรักษาและเทคนิคใหม่ๆ เพื่อดูว่าการรักษานั้นๆ มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และมีแนวโน้มที่จะรักษามะเร็งเอเอ็มแอลให้หายขาดได้หรือไม่
มีความเป็นไปได้ที่คุณอาจถูกแนะนำให้เข้าร่วมการวิจัยทางคลินิกที่จะช่วยให้รู้ถึงวิธีการรักษาโรคมะเร็งเอเอ็มแอลที่ดีที่สุด
ในการเข้าร่วมการวิจัยทางคลินิก คุณอาจได้รับการแนะนำให้ใช้ยาที่ไม่มีทะเบียนในประเทศหรือยังไม่มีที่ใช้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามไม่เป็นการรับประกันว่ายาใหม่หรือเทคนิคการรักษาใหม่ที่ได้รับระหว่างการวิจัยจะดีไปกว่าการรักษาที่มีในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าคุณจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงทั้งหมดก่อนตัดสินใจเข้าร่วมการวิจัย ซึ่งคุณสามารถเลือกเข้าร่วมการวิจัยหรือไม่ก็ได้ตามความสมัครใจ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
ถ้าคุณเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอล คุณอาจมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ซึ่งอาจเกิดจากโรคโดยตรง หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงของการรักษา
ภาวะแทรกซ้อนหลักที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็งเอเอ็มแอล ได้แก่:
ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
แม้ว่าระบบเลือดของคุณจะฟื้นฟูกลับสู่การทำงานปกติตามการรักษาที่ได้รับแล้ว แต่ยาหลายๆ ชนิดที่ใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งเอเอ็มแอลสามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้
ซึ่งหมายถึงคุณจะมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้ง่าย และการติดเชื้อที่เกิดขึ้นมักมีอาการรุนแรงกว่าปกติ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเอเอ็มแอลเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามถ้ารักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ การติดเชื้อเกือบทั้งหมดจะตอบสนองต่อการรักษาที่เหมาะสม
ดังนั้นคุณอาจได้รับคำแนะนำดังนี้:
- รับประทานยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) สม่ำเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
- รักษาสุขภาพกายและสุขภาพช่องปากเป็นอย่างดี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนที่มีการติดเชื้อ แม้ว่าคุณจะเคยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนั้นมาก่อนแล้วก็ตาม เช่น อีสุกอีใส หรือ หัด
- ตรวจสอบกับแพทย์ว่าคุณได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนตามความจำเป็นแล้ว และคุณไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็น เช่น วัคซีนงูสวัด และ วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR vaccine)
เมื่อมีอาการของการติดเชื้อเกิดขึ้น ให้แจ้งแพทย์ทราบทันที เพราะการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้
อาการของการติดเชื้อ ได้แก่:
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ท้องเสีย
- อ่อนเพลีย
ภาวะเลือดออก
ถ้าคุณเป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอล คุณจะมีเลือดออกและมีรอยฟกช้ำได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายมีเกร็ดเลือดต่ำลง (เซลล์ที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด) และภาวะเลือดออกอาจเป็นมากได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเอเอ็มแอลอย่างรุนแรง จะมีโอกาสเกิดเลือดออกมากภายในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับที่ 2 ของการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคมะเร็งเอเอ็มแอล
ภาวะเลือกออกรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ที่:
- ภายในกะโหลกศีรษะ (intracranial haemorrhage)-ทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง อาเจียน และสับสน
- ภายในปอด (pulmonary haemorrhage)-ทำให้มีอาการ เช่น ไอเป็นเลือด หายใจลำบาก และผิวหนังสีเขียว (cyanosis)
- ภายในกระเพาะอาหาร (gastrointestinal haemorrhage)-ทำให้มีอาการ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระสีเข้มมาก หรือเหมือนน้ำมันดิน
ภาวะเลือกออกทั้งหมดนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ หากคุณคิดว่ามีภาวะเลือดออกเกิดขึ้นให้โทรเรียกรถพยาบาลที่ 1669 ทันที
มีบุตรยาก
การรักษาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเอเอ็มแอลหลายชนิดทำให้มีภาวะมีบุตรยากได้ ซึ่งมักเป็นแบบชั่วคราว แต่ในผู้ป่วยบางรายจะเป็นอย่างถาวร
ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยากคือผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงและรังสีรักษาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์
ทีมแพทย์ที่ให้การรักษาคุณจะประมาณการโอกาสที่จะเกิดภาวะมีบุตรยากให้คุณทราบก่อน
คุณอาจป้องกันความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยากได้ก่อนเริ่มการรักษา เช่น ผู้ชายสามารถเก็บอสุจิฝากไว้ที่ธนาคาร เช่นเดียวกัน ผู้หญิงสามารถฝากไข่ไว้ได้เช่นกัน ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้งเมื่อการรักษาสิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งเอเอ็มแอลเป็นโรคที่ลุกลามรวดเร็ว ซึ่งอาจมีเวลาไม่เพียงพอที่จะทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก่อนเริ่มการรักษา