กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

มะเร็งช่องปาก (Mouth cancer/Oral cancer)

เผยแพร่ครั้งแรก 21 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 18 นาที
มะเร็งช่องปาก (Mouth cancer/Oral cancer)

มะเร็งช่องปากเป็นชนิดของมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก สามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในช่องปากได้แก่ ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น และเหงือก มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา รวมถึงการเคี้ยวหมากและสามารถนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงเช่นการกลืนลำบากและการติดเชื้อปอดเหตุสำลัก

บทนำ

มะเร็งช่องปาก หมายถึงโรคที่ก้อนเนื้องอกเกิดขึ้นบนพื้นผิวของลิ้น ภายในช่องปาก ตามริมฝีปาก หรือเกิดขึ้นบนเหงือก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เนื้องอกยังสามารถเกิดขึ้นได้ในบริเวณต่อมน้ำลาย ต่อมทอนซิลและบริเวณคอหอยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลำคออยู่ด้านหลังช่องปากแต่ยังไม่ถึงหลอดลม แต่พบในตำแหน่งเหล่านี้ได้น้อยกว่า

อาการของมะเร็งช่องปาก ได้แก่:

  • เกิดแผ่นเนื้อสีแดงหรือสีขาวตามเยื่อบุปากหรือบนลิ้นของคุณ
  • เกิดแผลเหวอะภายในปาก
  • เกิดก้อนเนื้อขึ้น

โปรดเข้าพบแพทย์หรือทันตแพทย์ประจำตัวของคุณหากอาการเหล่านี้ไม่หายไปภายในสองถึงสามสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นผู้ที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ

ชนิดของโรคมะเร็งช่องปาก

มะเร็งที่เกิดขึ้นที่เยื่อบุชั้นในหรือเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของร่างกายจะถูกเรียกว่า มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma) และมะเร็งชนิดดังกล่าวจะแบ่งชนิดตามเซลล์ที่เกิดเป็นมะเร็งขึ้นเป็นอันดับแรก

มะเร็งเยื่อบุชนิดสความัส (Squamous cell carcinoma) เป็นชนิดของมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในบรรดาโรคมะเร็งในช่องปากทั้งหมดโดยคิดเป็น 9 ใน 10 ราย เซลล์เยื่อบุชนิดสความัส (Squamous cell) พบได้ในหลายตำแหน่งทั่วทั้งร่างกาย เช่น ผิวด้านในของปากและใต้ชั้นผิวหนัง

โรคมะเร็งช่องปากชนิดที่พบได้ยากกว่า ได้แก่:

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • มะเร็งเมลาโนมาในช่องปาก (Oral malignant melanoma ) - ซึ่งเซลล์มะเร็งจะเริ่มต้นที่เมลาโนไซต์ (Melanocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยให้ผิวเกิดสีขึ้น
  • มะเร็งอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinomas) - มะเร็งที่พัฒนาภายในต่อมน้ำลาย

สาเหตุของโรคมะเร็งช่องปาก

มะเร็งช่องปากเกิดขึ้นเมื่อมีกระบวนการวงจรชีวิตของเซลล์ที่ผิดปกติ ทำให้เซลล์เหล่านั้นเติบโต เพิ่มจำนวน และแบ่งเซลล์ไปเรื่อย ๆ โดยไม่สามารถควบคุมได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก ได้แก่ :

  • การสูบบุหรี่หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มียาสูบ
  • การดื่มแอลกอฮอล์ - ยิ่งเป็นผู้สูบบุหรี่ที่ดื่มสุราหนักด้วยจึงมีความเสี่ยงสูงอย่างมาก
  • การติดเชื้อไวรัส Human papilloma virus (HPV) - ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ

โรคมะเร็งช่องปากเกิดกับใครได้บ้าง

มะเร็งช่องปากเป็นชนิดที่พบไม่บ่อยนักของมะเร็งซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 1 ใน 50 รายของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด

ส่วนใหญ่ โรคมะเร็งช่องปากจะเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 50-74 ปี

มะเร็งช่องปากอาจเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ที่อายุต่ำกว่านั้นได้ แต่คาดว่าการติดเชื้อ HPV อาจเป็นสาเหตุสำคัญสำหรับกรณีส่วนใหญ่เหล่านั้น

โรคมะเร็งช่องปากมักเกิดขึ้นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งอาจจะมาจากการที่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ชายจะดื่มแอลกอฮอล์หนักและสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การรักษามะเร็งในช่องปาก

มีสามวิธีหลักในการรักษามะเร็งช่องปาก ได้แก่:

  • การผ่าตัด - ซึ่งก้อนเซลล์มะเร็งจะถูกกำจัดออกระหว่างการผ่าตัด และในบางกรณี อาจต้องตัดเนื้อเยื่อรอบ ๆ ออกบางส่วน
  • เคมีบำบัด - ซึ่งเป็นการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็ง
  • รังสีรักษา - ซึ่งเป็นใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง

การรักษาเหล่านี้มักใช้ร่วมกันในการรักษาผู้ป่วยรายหนึ่ง ตัวอย่างเช่น อาจมีการทำการฉายรังสีรักษาและการใช้เคมีบำบัดหลังการผ่าตัดเพื่อช่วยป้องกันมะเร็งไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

ภาวะแทรกซ้อนของการรักษาโรคมะเร็งช่องปาก

ทั้งการผ่าตัดและการฉายรังสีรักษาสามารถทำให้เกิดการพูดลำบากและการกลืนลำบาก (Dysphagia)

อาการดังกล่าวอาจกลายเป็นปัญหาร้ายแรง หากอาหารชิ้นเล็ก ๆ นั้นสำลักเข้าสู่ทางเดินหายใจ และติดค้างอยู่ในปอดของคุณ อาหารดังกล่าวอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในทรวงอก หรือที่เรียกว่า ภาวะปอดบวมเหตุสำลัก (Aspiration pneumonia)

การลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปาก

วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด 3 วิธี ในการป้องกันมะเร็งช่องปากไม่ให้เกิดขึ้นหรือป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำหลังจากการรักษาแล้วนั้น ได้แก่

  • งดสูบบุหรี่
  • ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกสัปดาห์ คือ ไม่เกิน 21 หน่วยสำหรับผู้ชายและไม่เกิน 14 ชิ้นสำหรับผู้หญิง
  • ทานผักและผลไม้สดให้มาก เช่น มะเขือเทศ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว น้ำมันมะกอกและเนื้อปลา

เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันที่คุณควรได้รับการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำด้วยทันตแพทย์ เนื่องจากทันตแพทย์มักเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นการเริ่มต้นของโรคมะเร็งช่องปาก

พยากรณ์โรคมะเร็งช่องปาก

หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในช่องปากในระยะเริ่มแรก การรักษาให้หายขาดมักเป็นไปได้โดยใช้หลายการรักษาร่วมกันเช่นทั้งการฉายรังสีรักษา การได้รับเคมีบำบัด และการผ่าตัด

แนวโน้มมะเร็งช่องปากอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าส่วนใดของปากที่ได้รับผลกระทบ และว่ามีการแพร่กระจายจากปากไปยังเนื้อเยื่อรอบ ๆ แล้วหรือไม่ แนวโน้มการตอบสนองต่อการรักษาจะยิ่งดีขึ้นถ้ามะเร็งได้รับการวินิจฉัยเร็วที่สุด

โดยรวมแล้ว ประมาณ 40% ของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งช่องปากและคอหอย จะมีชีวิตอยู่อย่างน้อยห้าปีหลังจากได้รับการวินิจฉัย และมีหลายคนที่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการตอบสนองการรักษาจะดีในโรคมะเร็งช่องปากที่เกิดขึ้นกับบางตำแหน่งมากกว่าส่วนอื่น เช่น เกิดขึ้นที่ริมฝีปาก บนลิ้น หรือภายในช่องปาก เป็นต้น

อาการของโรคมะเร็งช่องปาก

มะเร็งช่องปากสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายส่วนของปากทั้งริมฝีปาก เหงือก และบางครั้งก็เกิดขึ้นในบริเวณคอหอย

อาการที่พบได้บ่อยของโรคมะเร็งช่องปาก ได้แก่ :

  • เกิดแผ่นเนื้อสีแดงหรือสีขาวขึ้นในช่องปากหรือคอหอย
  • เกิดก้อนเนื้อขึ้น
  • เกิดแผลเหวอะ

อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่:

  • อาการปวดที่ไม่ทุเลาภายในช่องปาก
  • อาการปวดระหว่างกลืน หรือภาวะกลืนลำบาก
  • เสียงเปลี่ยน หรือปัญหาเกี่ยวกับการพูด
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอของคุณบวมโต
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีเลือดออกหรือเหน็บชาในปาก
  • ฟันโยกโดยไม่มีเหตุผลชัดเจน
  • ปัญหาในการเคลื่อนขากรรไกรของคุณ

ควรเข้าพบแพทย์หรือทันตแพทย์เมื่อใด

หลายอาการตามที่กล่าวไว้ข้างต้น อาจเกิดจากความผิดปกติที่ไม่รุนแรง เช่น การติดเชื้ออ่อน ๆ ภายในช่องปาก

อย่างไรก็ตามเป็นการดีกว่าที่คุณควรไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์ของคุณ หากเกิดอาการใด ๆ ที่ระบุไว้ข้างต้น และมีอาการอยู่นานกว่าสามสัปดาห์ และจะยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีกหากคุณเป็นผู้ดื่มสุราหนักหรือสูบบุหรี่จัดอยู่เดิมแล้ว

การตรวจสุขภาพฟันและช่องปาก

มะเร็งช่องปากมีแนวโน้มที่จะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ที่สังเกตได้ชัดเจนในระหว่างระยะเริ่มแรกของโรค

จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการตรวจสุขภาพช่องปากโดยทันตแพทย์เป็นประจำจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และหากคุณเป็นผู้สูบบุหรี่จัดหรือดื่มสุราหนักหรือเคี้ยวหมากเป็นประจำ ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตรวจบ่อยมากขึ้น เนื่องจากทันตแพทย์มักเป็นคนแรกที่สามารถตรวจพบโรคดังกล่าวระหว่างการตรวจตามปกติ

คุณควรเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันและช่องปากอย่างน้อยทุกปี อย่างไรก็ตาม หากมีประวัติฟันผุหรือโรคเหงือก แนะนำให้ตรวจสุขภาพบ่อยครั้งกว่านั้น

สาเหตุของโรคมะเร็งช่องปาก

สาเหตุหลักสองประการของโรคมะเร็งปาก คือ การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่มากเกินไป

ทั้งแอลกอฮอล์และยาสูบเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ซึ่งหมายความว่าภายในสุราและยาสูบมีสารเคมีที่สามารถทำลายดีเอ็นเอในเซลล์และนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้

ความเสี่ยงของโรคมะเร็งในช่องปากจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในคนที่ทั้งสูบบุหรี่จัดและดื่มสุราหนัก

สิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดีเอ็นเอซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งช่องปากนั้นยังไม่ชัดเจน และยังไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดว่าทำไมโรคดังกล่าวจึงเกิดในคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น

มะเร็งช่องปากแพร่กระจายได้อย่างไร

มีสองวิธีที่มะเร็งปากสามารถแพร่กระจาย คือ:

  • การแพร่กระจายโดยตรง (Directly)- เซลล์มะเร็งสามารถแพร่กระจายออกจากปากและเข้าสู่เนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง เช่น ผิวหนังรอบ ๆ หรือเข้าไปสู่ช่องด้านหลังของขากรรไกร
  • การแพร่กระจายผ่านระบบน้ำเหลือง (via lymphatic system) - ระบบน้ำเหลืองเป็นชุดของต่อมที่พบอยู่ทั่วร่างกายของคุณซึ่งทำหน้าที่ผลิตเซลล์จำนวนมากที่จำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกันของคุณเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ

มะเร็งช่องปากที่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายนอกช่องปากแล้วจะเรียกว่า มะเร็งช่องปากขั้นแพร่กระจาย (Metastatic oral cancer)

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ

ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งช่องปาก ได้แก่ :

  • การเคี้ยวยาสูบหรือการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ๆ
  • การเคี้ยวหมากร่วมกับยาสูบ หรือไม่ร่วมกับยาสูบก็ตาม
  • ทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
  • การติดเชื้อไวรัส Human papilloma virus (HPV)
  • สุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี

การใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ

มีผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันหลายประเภท ได้แก่:

  • การเคี้ยวยาสูบ
  • ผงยาสูบ (Snuff) - ยาสูบที่ออกแบบมาเพื่อให้สูดดมคลายยานัตถุ์
  • ยาสูบอมใต้ลิ้น (Snus) - ยาสูบไร้ควันชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมในสวีเดนซึ่งใช้ผ่านการวางใต้ริมฝีปากบนของคุณ

ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันดังกล่าวเหล่านี้ไม่ได้ปลอดภัย และสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งช่องปากเช่นเดียวกับมะเร็งอื่น ๆ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งหลอดอาหารได้อีกด้วย

การเคี้ยวหมาก

หมากเป็นเมล็ดของต้นหมากชนิดหนึ่งซึ่งทำให้เกิดการเสพติดอ่อน ๆ และใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงคนอินเดีย ศรีลังกาและในประเทศไทย

หมากมีฤทธิ์กระตุ้นร่างกายคล้ายกับกาแฟ เมล็ดหมากยังมีฤทธิ์เป็นสารก่อมะเร็งซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากได้ ความเสี่ยงนี้จะยิ่งมากขึ้นหากทำการเคี้ยวหมากร่วมกับยาสูบ

เนื่องจากการเคี้ยวหมากเป็นวัฒนธรรมของบางประเทศ อัตราการเป็นมะเร็งในช่องปากจึงสูงในบางกลุ่มประชากร เช่น เชื้อสายอินเดียและศรีลังกามากกว่าประชากรทั่วไป

อาหาร

มีหลักฐานหลายชิ้นที่ชี้ว่าอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากบางชนิดได้

อาหารที่ดีต่อสุขภาพ สมดุลและการทานผลไม้และผักสดจำนวนมากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากได้

ไวรัส Human papilloma virus (HPV)

HPV เป็นชื่อของกลุ่มไวรัสหนึ่งที่ส่งผลต่อผิวหนังและเยื่อบุผิวหลายตำแหน่งที่อยู่ในร่างกายของคุณ เช่น เยื่อบุในช่องปาก เยื่อบุปากมดลูก เยื่อบุทวารหนักและเยื่อบุลำคอ

คุณสามารถติดเชื้อไวรัสดังกล่าวผ่านการสัมผัสทางเพศกับผู้ที่มีเชื้อ แม้คุณไม่ได้มีเพศสัมพันธ์เต็มรูปแบบหรือมีการสอดใส่ก็ตาม เพียงแค่สัมผัสผิวหนังกันก็สามารถเกิดการติดต่อเชื้อ HPV ได้แล้ว

มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ในบางกรณี HPV บางชนิดอาจทำให้เนื้อเยื่อภายในปากเกิดการเจริญเติบโตผิดปกติทำให้เกิดมะเร็งช่องปากขึ้นได้

สุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี

มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการมีสุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี เช่น การมีฟันผุ หรือเป็นโรคเหงือก ไม่แปรงฟันสม่ำเสมอ และการใส่ฟันปลอมที่เก่าและหลวม สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งช่องปากได้

การวินิจฉัยโรคมะเร็งช่องปาก

ถ้าคุณมีอาการของโรคมะเร็งในช่องปาก แพทย์หรือทันตแพทย์ประจำตัวของคุณจะทำการตรวจร่างกายและซักถามเกี่ยวกับอาการของคุณ

หากสงสัยว่าเป็นมะเร็งช่องปาก คุณจะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจทดสอบเพิ่มเติม หรือพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศีรษะและลำคอ

การตรวจชิ้นเนื้อ

โดยทั่วไป มักจำเป็นต้องทำการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ผิดปกติดังกล่าวออกมาบางส่วน เพื่อตรวจดูว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่ภายในหรือไม่ ขั้นตอนนี้เรียกว่า การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy)

ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งช่องปาก สามารถทำการตรวจชิ้นเนื้อได้สามวิธี ได้แก่:

การขลิบตรวจชิ้นเนื้อ (Punch biopsy)

การตรวจชิ้นเนื้อโดยการขลิบออกไปนั้นอาจใช้ได้หากบริเวณเนื้อเยื่อที่สงสัยว่าได้รับผลกระทบอยู่ในที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น บนลิ้น ข้างลิ้นหรือด้านข้างของกระพุ้งแก้ม

บริเวณดังกล่าวจะถูกฉีดด้วยยาชาเฉพาะที่เพื่อทำให้ชาและไม่เจ็บปวด จากนั้นแพทย์หรือทันตแพทย์จะกรีดตัดเนื้อเยื่อออกมาบางส่วนและคีบออกมา

ขั้นตอนดังกล่าวไม่ได้เจ็บปวด แต่สามารถรู้สึกอึดอัดได้เล็กน้อย

การเจาะดูดเซลล์เพื่อตรวจชิ้นเนื้อ (Fine needle aspiration: FNA)

การเจาะดูดเซลล์เป็นชนิดของการตรวจชิ้นเนื้อ หากสงสัยว่าอาการบวมที่คอของคุณนั้นเป็นผลมาจากมะเร็งช่องปาก

ยาชาจะถูกฉีดไปในบริเวณคอของคุณ และเข็มจะถูกใช้เพื่อดูดเก็บตัวอย่างของเนื้อเยื่อและของเหลวจากก้อนเนื้อดังกล่าว ตัวอย่างจะถูกนำมาตรวจหาเซลล์มะเร็งภายใต้กล้องจุลทรรศน์

การเจาะดูดเซลล์ไม่ได้เป็นกระบวนการที่เจ็บปวด แต่อาจทำให้อึดอัดและทำให้เกิดรอยฟกช้ำบนคอของคุณ

การส่องกล้องเพื่อตัดตรวจชื้นเนื้อ (Panendoscope)

กล้องชนิดหนึ่งเรียกว่า Panendoscope จะถูกใช้เพื่อส่องหาเนื้อเยื่อที่สงสัยว่าอยู่บริเวณผิวด้านหลังของลำคอ หรือภายในโพรงจมูกของคุณข้างใดข้างหนึ่ง

กล้องชนิดดังกล่าวติดอยู่ในท่อบางยาว สามารถฉายแสง และถ่ายภาพโดยนำทางเข้าไปผ่านจมูก จากนั้นก็สามารถใช้สำหรับการตัดส่วนเล็ก ๆ ของเนื้อเยื่อมาเพื่อตรวจสอบได้

นอกจากนี้ การส่องกล้องดังกล่าวยังสามารถตรวจสอบได้ว่ามะเร็งได้แพร่กระจายจากปากของคุณไปยังลำคอของคุณแล้วหรือไม่ เช่น ไปยังกล่องเสียง หลอดอาหาร หรือหลอดลมแล้วหรือไม่

การตรวจเพิ่มเติม

หากผลการตรวจชิ้นเนื้อยืนยันว่าเป็นเซลล์มะเร็ง คุณจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อตรวจหาว่ามะเร็งดังกล่าวอยู่ในระยะ หรือเกรดไหน

หากมะเร็งได้รับการวินิจฉัยช้า เซลล์มะเร็งสามารถแพร่กระจายจากช่องปากของคุณไปสู่ระบบน้ำเหลือง ซึ่งเป็นชุดของต่อมที่มีอยู่ทั่วร่างกายและทำหน้าที่ผลิตเซลล์พิเศษจำนวนมากที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของคุณ

เมื่อมะเร็งถึงระบบน้ำเหลืองแล้ว ก็สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายรวมทั้งกระดูก เลือด และอวัยวะต่าง ๆ ได้โดยง่าย

อย่างไรก็ตาม พบไม่บ่อยนักที่มะเร็งช่องปากจะแพร่กระจายไปไกลกว่าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ปากของคุณ แม้ว่าน้อยกรณีอาจพบว่าเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังกระดูกโดยรอบ เช่น กระดูกขากรรไกร และในบางกรณีก็แพร่กระจายไปยังปอดได้อีกด้วย

ดังนั้น การตรวจทดสอบต่าง ๆ จะทำการตรวจต่อมน้ำเหลือง กระดูก และเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงของมะเร็งก้อนแรกของคุณเพื่อตรวจหาว่ามีเนื้องอกหรือการแพร่กระจายไปที่ใดแล้วหรือไม่

การตรวจเหล่านี้ ได้แก่:

  • การถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์
  • การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ
  • การสแกนด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • การสแกนชนิดเพทซีที (PET scan)

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย

การจัดระยะและการจัดระดับของโรคมะเร็งช่องปาก

เมื่อการตรวจเพิ่มเติมเหล่านี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว แพทย์มักจะแจ้งว่าโรคของคุณอยู่ในระยะไหน และระดับหรือเกรดของมะเร็งของคุณเป็นอย่างไร:

ระยะของโรคเป็นตัวชี้วัดว่ามะเร็งแพร่กระจายไปไกลเพียงใด

ส่วนระดับหรือเกรดจะอธิบายถึงความก้าวร้าวของโรคมะเร็งและความรวดเร็วในการแพร่กระจายของโรคในอนาคต

ซึ่งจะช่วยจัดจำแนกว่าโรคของคุณนั้นอยู่ในช่วงไหน:

  • มะเร็งช่องปากระยะเริ่มแรก - มักรักษาให้หายขาดได้
  • มะเร็งช่องปากระยะกลาง - อาจรักษาให้หายขาดได้
  • มะเร็งช่องปากระยะท้ายหรือระยะลุกลาม - ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มักเป็นไปได้ที่จะทำการชะลอการแพร่กระจายของมะเร็งและยืดอายุขัยของผู้ป่วย

มะเร็งช่องปากแบ่งออกเป็นสามระดับ:

  • เกรดต่ำ (เจริญเติบโตช้าที่สุด)
  • เกรดปานกลาง
  • เกรดสูง (พฤติกรรมก้าวร้าวและโตไวมากที่สุด)

การจัดระยะ และระดับของโรคมะเร็งจะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจว่าคุณควรเข้ารับการรักษาใดบ้าง และต้องทำการรักษารวดเร็วเพียงใด

การรักษาโรคมะเร็งช่องปาก

การรักษาที่คุณจะได้รับขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็ง ขนาดของมะเร็ง ระดับและระยะของโรคที่แพร่กระจาย รวมทั้งสุขภาพโดยทั่วไปของคุณว่าแข็งแรงเพียงใด

แผนการรักษาของคุณ

ถ้าก้อนมะเร็งไม่ได้แพร่กระจายออกไปนอกปากหรือคอหอยส่วนบนซึ่งเป็นโพรงหลังช่องปากที่เชื่อมไปยังกล่องเสียงและจมูก การรักษาให้หายขาดอาจทำได้โดยใช้การผ่าตัด ร่วมกับการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัด

แต่หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแล้ว การรักษาให้หายขาดนั้นมักจะเป็นไปไม่ได้ แต่สามารถชะลอการลุกลามของมะเร็งและช่วยบรรเทาอาการได้โดยการใช้การผ่าตัด การฉายรังสีรักษาและเคมีบำบัดเช่นกัน

การตัดสินใจว่าการรักษาใดที่ดีที่สุดสำหรับคุณอาจเป็นเรื่องยาก ทีมดูแลโรคมะเร็งของคุณจะให้คำแนะนำต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะเป็นของคุณ

ก่อนที่จะไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาของคุณ เป็นการดีหากคุณเขียนรายการคำถามที่อยากถามกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตัวอย่างเช่น สิ่งที่เป็นข้อดีและข้อเสียของการรักษาบางอย่างที่คุณทราบมาโดยเฉพาะ

ก่อนเริ่มการรักษา

การรักษาด้วยรังสีรักษาทำให้ฟันของคุณอ่อนแอลงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มการรักษาคุณจะได้รับการตรวจทางทันตกรรมโดยละเอียด และจะต้องดำเนินการหัตถการทางทันตกรรมที่จำเป็น เช่น ขูดหินปูน ถอนฟันหรือรักษารากฟัน

หากคุณสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา การงดบุหรี่หรือหยุดดื่มสุราจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาของคุณให้ประสบความสำเร็จ

พยาบาลผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ประจำตัวของคุณสามารถให้ความช่วยเหลือและการดูแลสนับสนุนได้หากคุณพบว่าการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องยาก โดยอาจส่งต่อคุณไปยังคลินิกเลิกบุหรี่ หรือเข้าบำบัดการติดแอลกอฮอล์ได้ด้วย

การผ่าตัด

สำหรับโรคมะเร็งช่องปาก เป้าหมายของการผ่าตัดคือการกำจัดก้อนเนื้อที่ผิดปกติ ในขณะที่ทำความเสียหายต่อส่วนที่เหลือของปากให้น้อยที่สุด

การรักษามะเร็งด้วยแสงเลเซอร์ (Photodynamic therapy: PDT)

หากมะเร็งอยู่ในระยะเริ่มแรก อาจเป็นไปได้ที่จะกำจัดก้อนเนื้องอกออกโดยใช้การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า Photodynamic therapy (PDT) กระบวนการดังกล่าวเริ่มโดยการได้รับยาที่ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นของคุณมีความไวต่อแสงมากขึ้น แล้วจากนั้นจึงฉายแสงเลเซอร์เพื่อกำจัดก้อนเนื้องอกออกไป

รูปแบบอื่น ๆ ของการผ่าตัด

หากมะเร็งของคุณอยู่ในระยะที่สูงขึ้น อาจจำเป็นต้องกำจัดเยื่อบุช่องปากของคุณและผิวหนังบางส่วนออกไปด้วย ซึ่งสามารถปลูกแทนที่โดยโยกจากบริเวณแขนหรือบริเวณหน้าอกของคุณมา

ถ้าลิ้นของคุณได้รับผลกระทบด้วย จำเป็นต้องตัดลิ้นออกบางส่วนซึ่งกระบวนการนี้ เรียกว่า การตัดลิ้นออกบางส่วน (Partial glossectomy) ส่วนนั้นของลิ้นจะถูกสร้างขึ้นใหม่โดยโยกเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นเข้ามา

หากเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกขากรรไกรของคุณจำเป็นจะต้องมีการผ่าตัดเพื่อกำจัดกระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นทิ้ง และสามารถปลูกถ่ายแทนที่ได้โดยการเอากระดูกออกจากส่วนอื่นของร่างกายของคุณ และทำการปลูกถ่ายในบริเวณที่ขาดไป

บางครั้งกระดูกส่วนอื่น ๆ เช่น กระดูกโหนกแก้มอาจต้องถูกกำจัดออกเช่นกันเพื่อกำจัดมะเร็งออกให้เกลี้ยง

บริเวณเหล่านี้สามารถถูกแทนที่ด้วยกระดูกเทียมพลาสติกซึ่งมีลักษณะคล้ายจริง และทำให้รูปลักษณ์ของใบหน้าคุณคล้ายเดิมมากที่สุด

ในระหว่างการผ่าตัด ศัลยแพทย์ของคุณอาจจะทำการกำจัดต่อมน้ำเหลืองใกล้กับบริเวณที่เกิดเนื้องอกขึ้นครั้งแรก นี่ถือเป็นมาตรการป้องกันในกรณีที่อาจมีเซลล์มะเร็งซึ่งไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจครั้งก่อน

การฉายรังสีรักษา

การฉายรังสีจะใช้ปริมาณรังสีพลังงานสูงในการฆ่าเซลล์มะเร็ง อาจเป็นไปได้ที่จะกำจัดมะเร็งโดยใช้รังสีรักษาเพียงอย่างเดียว แต่โดยทั่วไป มักใช้หลังจากการผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ

การรักษาฉายรังสี โดยปกติจะได้รับทุกวันในช่วงสามถึงเจ็ดสัปดาห์ขึ้นอยู่กับขนาดของมะเร็งและการแพร่กระจายของมัน

ในขณะที่รังสีทำการฆ่าเซลล์มะเร็ง การฉายรังสียังสามารถส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อที่มีสุขภาพดีและมีผลข้างเคียงหลายอย่างด้วย ได้แก่:

  • ผิวแสบ แดง ลักษณะคล้ายผิวไหม้แดด
  • เกิดแผลในปาก
  • เจ็บปากและลำคอ
  • ปากแห้ง
  • การรับรสเสียหาย หรือเปลี่ยนแปลงไป
  • เบื่ออาหาร
  • อาการเมื่อยล้า
  • คลื่นไส้
  • ขยับขากรรไกรลำบาก
  • มีกลิ่นปาก

ผลข้างเคียงดังกล่าวจะได้รับการตรวจโดยทีมดูแลของคุณอย่างสม่ำเสมอ และให้การรักษาที่เป็นไปได้อย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงของการฉายรังสีรักษาอาจเป็นเรื่องน่าวิตกกังวลอยู่บ้าง แต่ส่วนมากอาการจะหายไปเมื่อการรักษาเสร็จสิ้น

การฉายรังสีรักษาจากภายใน

การฉายรังสีรักษาภายในหรือที่เรียกว่า Brachytherapy มักใช้ในการรักษามะเร็งของลิ้นที่อยู่ในระยะเริ่มแรก ทำโดยการฝังอุปกรณ์ที่มีสารกัมมันตรังสีลงในเนื้องอกโดยตรงในขณะที่คุณอยู่ภายใต้การดมยาสลบ

อุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกทิ้งไว้ระยะหนึ่งระหว่างหนึ่งถึงแปดวัน ในช่วงนั้นเซลล์มะเร็งจะได้รับรังสีมากกว่าส่วนที่เหลือภายในปากของคุณ

การออกไปพบเพื่อนและครอบครัวหรือการเข้าเยี่ยมจากพวกเขาจะต้องถูกจำกัดให้น้อยลง เนื่องจากรังสีจะมีผลกระทบต่อคนข้างเคียงได้ และหญิงตั้งครรภ์และเด็ก ๆ จะไม่สามารถไปเยี่ยมคุณได้เลย

อุปกรณ์ฝังสารกัมมันตภาพรังสีจะทำให้ปากของคุณบวม และคุณจะรู้สึกเจ็บปวดบ้างสัก 5-10 วันหลังจากถอดอุปกรณ์ออกไปแล้ว

ยาเคมีบำบัด

บางครั้งแพทย์จะทำการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาเมื่อมะเร็งนั้นเป็นระยะแพร่กระจายแล้ว หรือถ้าคิดว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งจะแพร่กระจายได้อย่างมีนัยสำคัญ

เคมีบำบัดเกี่ยวข้องกับการใช้ยาฆ่ามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ยาเหล่านี้ทำลายดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งและขัดจังหวะความสามารถของเซลล์ในการแบ่งตัว

ยาที่ใช้ในเคมีบำบัดบางครั้งสามารถทำลายเนื้อเยื่อที่มีสุขภาพดีไปพร้อมกับเซลล์มะเร็งได้ด้วย ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้บ่อย ได้แก่:

อาการต่าง ๆ ดังกล่าวมักจะหมดไปเมื่อการรักษาเสร็จสิ้น

การได้รับเคมีบำบัดยังกระทบต่อภูมิต้านทานของคุณได้ และทำให้คุณเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น

ยา Cetuximab

Cetuximab เป็นยาตัวใหม่ตัวหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นชีวบำบัด ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งช่องปากระยะท้าย และมักใช้ร่วมกับการได้รับรังสีรักษาหรือเคมีบำบัดโดยทั่วไป

Cetuximab จะเจาะจงออกฤทธิ์ทำลายโปรตีนจำเพาะบนผิวของเซลล์มะเร็งชื่อว่า Epidermal growth factor receptors โปรตีนหน้าที่เฉพาะเหล่านี้จะช่วยในการเจริญเติบโตของมะเร็ง ดังนั้นการทำลายโปรตีนดังกล่าวจะช่วยลดการเจริญ และลดโอกาสการแพร่กระจายได้

อย่างไรก็ตาม ยา cetuximab ยังไม่ได้พิสูจน์ว่ามีความคุ้มค่าในเรื่องราคาและประสิทธิภาพในหลายกรณีและแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยซึ่ง

  • มีสุขภาพร่างกายทั่วไปแข็งแรงดี - คาดว่าสามารถจะฟื้นตัวได้ดีหากได้รับการรักษา
  • ไม่สามารถรับเคมีบำบัดได้ด้วยสาเหตุทางการแพทย์ เช่น มีโรคไตหรือกำลังตั้งครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งช่องปาก

ภาวะแทรกซ้อนในการรักษามะเร็งช่องปากได้แก่ ภาวะกลืนลำบาก ปัญหาเกี่ยวกับการพูด และอารมณ์ฉุนเฉียว

ภาวะกลืนลำบาก

Dysphagia เป็นคำศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้เรียกภาวะการกลืนลำบาก โดยปกติคุณอาจจะทำการกลืนอาหารและของเหลวได้ง่ายมาก จนไม่สังเกตได้ว่าในความเป็นจริงกระบวนการนี้ขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนของกล้ามเนื้อหลายมัด ซึ่งสามารถถูกระทบได้ง่าย

การผ่าตัดและการฉายรังสีรักษาอาจมีผลต่อลิ้น ช่องปาก หรือลำคอของคุณ ส่งผลให้เกิดอาการกลืนลำบาก ภาวะกลืนลำบากถือเป็นปัญหาร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น นอกเหนือจากความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดโอกาสที่อนุภาคขนาดเล็กของอาหารสามารถสำลักเข้าสู่ทางเดินหายใจ และติดค้างอยู่ในปอดได้ นำไปสู่การติดเชื้อทรวงอกเรียกว่าปอดบวมเหตุสำลัก (Aspiration pneumonia)

หากคุณมีปัญหาในการกลืน นักวจีบำบัดของคุณจะต้องประเมินรีเฟล็กซ์การกลืนของคุณ วิธีหนึ่งที่นักบำบัดสามารถทำได้คือการทำการทดสอบที่เรียกว่าการส่องกล้องเรืองแสง (Videofluoroscopy) ซึ่งเป็นการใส่สีย้อมพิเศษในของเหลวและอาหารที่คุณกลืนลงไป สีย้อมจะเน้นให้เห็นรีเฟล็กซ์การกลืนของคุณ และหลังจากการฉายรังสีเอกซ์ การส่องกล้องดังกล่าวจะสามารถตรวจดูได้ว่ามีความเสี่ยงที่อาหารจะสำลักเข้าสู่ปอดของคุณหรือไม่

หากเป็นกรณีเช่นนั้น อาจจำเป็นต้องได้รับอาหารผ่านหลอดให้อาหารในระยะหนึ่ง ซึ่งหลอดดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับกระเพาะของคุณโดยตรง บุคลากรผู้เชี่ยวชาญจะสอนการฝึกกล้ามเนื้อเพื่อให้คุณสามารถ "เรียนรู้" วิธีกลืนได้อย่างถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง

ความสามารถในการกลืนของคุณจะดีขึ้นเมื่อคุณเรียนรู้การฝึกกล้ามเนื้อดังกล่าว และเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายนั้นฟื้นฟูแล้ว อย่างไรก็ตาม มีโอกาสอยู่บ้างที่รีเฟล็กซ์การกลืนของคุณจะไม่ฟื้นตัวเต็มที่เช่นเดิม

ในบางกรณี คุณอาจต้องเปลี่ยนรูปแบบอาหารเพื่อให้กลืนได้ง่ายขึ้น นักโภชนาการสามารถให้คำแนะนำเรื่องอาหารได้โดยละเอียด

ปัญหาการพูด

เช่นเดียวกับการกลืน ความสามารถในการพูดนั้นขึ้นอยู่กับกล้ามเนื้อ กระดูก และเนื้อเยื่อต่าง ๆ มากมายรวมทั้งลิ้น ฟัน ริมฝีปาก และเพดานอ่อนซึ่งเป็นส่วนของเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ในช่องปากด้านหลัง

การฉายรังสีรักษาและการผ่าตัดอาจมีผลต่อขั้นตอนการพูดที่ซับซ้อนนี้และทำให้ยากที่จะออกเสียงบางเสียงได้อย่างชัดเจน ในกรณีที่รุนแรงคุณอาจมีปัญหาในการพูดทำความเข้าใจกับคนอื่นได้

นักวจีบำบัดจะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารด้วยวาจาของคุณ โดยการสอนชุดการฝึกเพื่อพัฒนาช่วงเสียงของคุณ และสอนวิธีการออกเสียงใหม่ ๆ ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น

ผลกระทบทางอารมณ์

ผลกระทบทางอารมณ์ของการมีชีวิตอยู่กับโรคมะเร็งปากอาจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ผู้ป่วยหลายคนรายงานว่าตนเองมีอารมณ์หมุนวน กลับไปกลับมาตลอดเวลา

ตัวอย่างเช่น คุณอาจรู้สึกแย่เมื่อได้รับการวินิจฉัย แต่รู้สึกสดชื่นขึ้นเมื่อมะเร็งตอบสนองต่อการรักษา จากนั้นคุณอาจรู้สึกหดหู่ใจในขณะที่คุณพยายามจะจัดการกับผลข้างเคียงของโรคและผลข้างเคียงต่าง ๆ จากการรักษา

ผลกระทบด้านอารมณ์ประเภทนี้อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ สัญญาณที่แสดงว่าคุณอาจเข้าสู่ช่วงภาวะซึมเศร้า ได้แก่ :

  • รู้สึกท้อแท้หรือสิ้นหวังในตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา
  • ไม่เพลิดเพลินกับสิ่งที่คุณเคยเพลิดเพลิน

ติดต่อขอคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวของคุณหากคุณคิดว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับภาวะซึมเศร้าหลายทาง ได้แก่ การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า และการบำบัดด้วยการพูด เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT)

การใช้ชีวิตอยู่กับโรคมะเร็งช่องปาก

การเป็นโรคมะเร็งในช่องปากไม่ได้หมายความว่าคุณต้องหยุดทำงาน แต่อาจต้องใช้เวลาดูแลตัวเองมากขึ้น และอาจไม่สามารถทำกิจกรรมที่คุณเคยทำเต็มที่ช่วงได้รับการรักษา

นายจ้างของคุณควรจะต้อง "ปรับตัวที่เหมาะสม" เพื่อช่วยให้คุณสามารถรับมือได้ ตัวอย่างของวิธีเหล่านี้ ได้แก่:

  • ยอมให้คุณลาได้เมื่อต้องเข้ารับการรักษา หรือมีนัดจากแพทย์
  • ให้ความยืดหยุ่นกับเวลาทำงานของคุณ
  • ปรับงานที่คุณต้องทำให้ใช้แรงน้อยลง หรือปรับสภาพแวดล้อมการทำงานของคุณ

ความหมายของสิ่งที่ "เหมาะสม" ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของนายจ้างคุณ เป็นต้น

เป็นการดีที่คุณแจ้งนายจ้างของคุณถึงข้อมูลทางการแพทย์และสุขภาพของคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แจ้งเกี่ยวกับเวลาที่คุณจะต้องลาให้ชัดเจนว่าเป็นเมื่อใด พูดคุยกับแผนกทรัพยากรบุคคลของคุณหากมี ตัวแทนสหภาพแรงงานควรให้คำแนะนำแก่คุณในเรื่องเหล่านี้ได้

ความสัมพันธ์กับผู้อื่น

การพูดคุยเกี่ยวกับโรคมะเร็งไม่ใช่เรื่องน่ายินดี หรือเรื่องสบายใจสำหรับทั้งตัวคุณเองหรือครอบครัวและเพื่อนของคุณ คุณอาจรู้สึกว่าบางคนรู้สึกอึดอัดใจรอบตัวคุณหรือพยายามหลีกเลี่ยงคุณ การพูดคุยอย่างเปิดอกเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณและสิ่งที่ครอบครัวและเพื่อนของคุณสามารถทำได้ จะช่วยให้การสนทนาไปในทางที่ดีขึ้น และทำให้คุณทั้งสองสบายใจ อย่ารู้สึกอายในการบอกกับพวกเขาว่าคุณต้องการเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น หากนั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องการ

ปัญหาการเงินและการสนับสนุนทางการเงิน

ถ้าคุณต้องหยุดทำงานหรือต้องทำงานลดลงเป็นพาร์ทไทม์เนื่องจากโรคมะเร็งของคุณ คุณอาจพบว่ามันยากที่จะรับมือกับปัญหาการเงิน

พูดคุยกับนักสังคมสงเคราะห์ที่โรงพยาบาลของคุณซึ่งสามารถให้ข้อมูลที่คุณต้องการได้

พูดคุยกับคนอื่น

หากคุณมีข้อสงสัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือพยาบาลของคุณอาจสามารถตอบคำถามและให้ความมั่นใจกับคุณได้ คุณอาจพบว่าเป็นประโยชน์ในการพูดคุยกับที่ปรึกษาที่ได้รับการฝึกฝนหรือพูดคุยกับนักจิตวิทยา หรือกับสายด่วนโรคมะเร็งหรือการผ่าตัด แพทย์ประจำตัวของคุณจะมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้

หลายคนพบว่าการพูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่เป็นมะเร็งช่องปากเช่นกันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสนับสนุนในท้องถิ่นหรือในห้องสนทนาทางอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นประโยชน์ต่อทั้งการดูแลตนเอง และสภาพจิตใจของคุณ

การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก

การเป็นผู้ดูแลไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เมื่อคุณยุ่งอยู่ตลอดเวลาในการตอบสนองความต้องการของผู้อื่นจะสามารถทำให้คุณหมดแรงทั้งทางอารมณ์และทางร่างกาย และทำให้คุณละเลยสุขภาพของตัวคุณเองและทำลายสุขภาพจิต การวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ดูแลผู้ป่วยแสดงให้เห็นว่าผู้ดูแลจำนวนมากประสบปัญหาสุขภาพระหว่างการดูแลผู้อื่น หากคุณกำลังพยายามที่จะทำทั้งงานเพื่อรองรับเสียค่าใช้จ่ายไปพร้อมกับการดูแลครอบครัว อาจส่งผลให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น

หากคุณกำลังดูแลคนอื่นอยู่ คุณควรดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เช่นกัน เพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณห่วงใย

ดูแลสุขภาพร่างกายของคุณ

ทานอาหารให้ตรงเวลาและทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ถ้าคุณไม่มีเวลานั่งพักทานอาหารทุกมื้อ ให้พยายามนั่งรับประทานอาหารอย่างน้อยหนึ่งมื้อในแต่ละวัน แทนที่จะต้องทานขนมขบเคี้ยวอย่างง่าย ๆ ให้ไปหาทางเลือกที่มีสุขภาพดี เช่น การทานผลไม้

ดูแลสุขภาพทางอารมณ์ของคุณ

เช่นเดียวกับการหมดแรง การแยกตัว และความกังวลเกี่ยวกับคนที่คุณดูแลอยู่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงที่ดูแล ถ้ามีบางครั้งที่คุณรู้สึกไม่พอใจและรู้สึกผิดกับความรู้สึกเช่นนี้ ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดกับผู้ดูแลทุกคน ให้ค่อย ๆ สงบอารมณ์และปล่อยมันไป

มองหาการสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนและครอบครัวอาจไม่เข้าใจสิ่งที่คุณกำลังประสบอยู่ได้อย่างถ่องแท้ และอาจเป็นประโยชน์ในการพูดคุยกับผู้อื่นที่มีสถานการณ์เดียวกัน คุณสามารถหาข้อมูลต่าง ๆ ได้จากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องหรือจากแพทย์ประจำตัวของผู้ป่วยว่าจะปรึกษาที่ไหนได้บ้าง

https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/cancer/cancer-types-in-adults/mouth-cancer#living-with-mouth-cancer


12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Mouth cancer - Cancer Council Australia. Cancer Council Australia. (https://www.cancer.org.au/about-cancer/types-of-cancer/mouth-cancer.html)
Mouth cancer: Symptoms, diagnosis, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/165331)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป