กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ธาตุเหล็ก (Iron)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที

ธาตุเหล็ก (Iron) คือแร่ธาตุที่พบได้มากที่สุดในฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) บนเซลล์เม็ดเลือดแดงของมนุษย์และในไมโอโกลบิน (Myoglobin) ของเซลล์กล้ามเนื้อ เป็นสิ่งจำเป็นในการขนส่งออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังมีหน้าที่สำคัญอีกหลายประการ แร่ธาตุนี้พบในอาหารต่าง อย่างเนื้อสัตว์ เลือด เครื่องในสัตว์ ปลา เต้าหู้ ถั่ว ผักโขม ซีเรียล และอื่น

การรับประทานธาตุเหล็กช่วยป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจางที่เกิดจากระดับธาตุเหล็กต่ำ อีกทั้งยังใช้สำหรับภาวะโลหิตจางที่เกิดจากประจำเดือน การตั้งครรภ์ ปัญหาไต หรือภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ประโยชน์ของธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็กช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงขนส่งออกซิเจนจากปอดไปยังเซลล์ทั่วร่างกาย และยังมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์

ภาวะที่ใช้ธาตุเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ภาวะโลหิตจางจากโรคเรื้อรัง (Anemia of chronic disease) โรคภัยหลาย โรคอย่างมะเร็ง ปัญหาเกี่ยวกับไต หรือเกี่ยวกับหัวใจ ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางตามมาได้ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือที่เรียกว่า อาหารเสริมชนิดนี้ร่วมกับยาตัวอื่นอย่างยาอีโพอิติน อัลฟ่า (Epoetin alfa (EPO)) ช่วยเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและป้องกันหรือรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไตหรือผู้ที่กำลังรักษามะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัดได้ โดยการฉีดเข้าร่างกายนั้นจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการรับประทาน
  • ภาวะโลหิตจางจากระดับธาตุเหล็กต่ำ (Iron deficiency anemia) การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ช่วยรักษาและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ระดับธาตุเหล็กต่ำระหว่างตั้งครรภ์ การรับประทานหรือฉีดเข้าทางเส้นเลือดอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางที่เกิดจากร่างกายมีระดับธาตุเหล็กต่ำจากการตั้งครรภ์ได้

ภาวะที่อาจใช้ธาตุเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • อาการไอจากการใช้ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE inhibitors อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการไอ งานวิจัยบางชิ้นพบว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจช่วยลดหรือป้องกันผลข้างเคียงนี้ได้ โดยยากลุ่ม ACE inhibitors มีดังนี้ Captopril (Capoten), Enalapril (Vasotec), Lisinopril (Prinivil, Zestril) และอื่นๆ มากมาย
  • พัฒนาการคิด การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจช่วยเพิ่มความสามารถในการคิด เรียนรู้ และความทรงจำของเด็กอายุ 6-18 ปีที่มีระดับธาตุเหล็กต่ำได้ โดยงานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานธาตุเหล็กอาจช่วยเพิ่มสมาธิของเด็กผู้หญิงอายุ 13-18 ปีแม้จะไม่ทราบภาวะธาตุเหล็กในร่างกาย
  • หัวใจล้มเหลว ผู้ที่ประสบกับภาวะหัวใจล้มเหลว 20 % จะมีระดับธาตุเหล็กต่ำ งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการฉีดธาตุเหล็กเข้าร่างกายจะช่วยลดอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลว อย่างความสามารถในการออกกำลังกายและอาการอื่นๆ ของภาวะนี้
  • กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome (RLS)) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานธาตุเหล็กจะลดอาการขาอยู่ไม่สุข อย่างขาหยุกหยิกและปัญหาการนอนหลับได้ ในความเป็นจริงแล้ว การรับประทานธาตุเหล็กเพื่อบรรเทาอาการนั้นเป็นหลักการรักษาผู้ป่วยที่ทุกคนควรจะปฏิบัติอยู่แล้ว มีรายงานว่าหลังจากฉีดธาตุเหล็ก ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการดีขึ้น แต่ก็ยังด่วนสรุปไม่ได้ว่าการฉีดธาตุเหล็กทุกชนิดจะช่วยลดอาการจากโรคนี้ได้จริง

ภาวะที่ธาตุเหล็กอาจไม่สามารถรักษาได้

  • การเจ็บคลอดก่อนกำหนด (Preterm labor) การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ระหว่างตั้งครรภ์เริ่มจากไตรมาสที่ 2 ไม่ได้เพิ่มระยะเวลาของการตั้งครรภ์ขึ้น และไม่ได้เพิ่มน้ำหนักแรกเกิดของทารกแต่อย่างใด

ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานและยังไม่มีข้อสรุปว่าใช้ธาตุเหล็กรักษาได้หรือไม่

  • โรคสมาธิสั้น (Attention deficit-hyperactivity disorder (ADHD)) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานธาตุเหล็กตลอด 1-3 เดือนจะช่วยให้อาการของโรคสมาธิสั้นในเด็กที่ประสบภาวะนี้และทำให้ระดับธาตุเหล็กที่ต่ำกลับมาดีขึ้น ทั้งนี้ยังต้องการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
  • ภาวะกลั้นหายใจ (Breath-holding attacks) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานหรือฉีดธาตุเหล็กจะช่วยลดจำนวนการเกิดอาการกลั้นหายใจในเด็ก แต่ก็ยังต้องการหลักฐานการวิจัยเรื่องผลกระทบเพิ่มเติม
  • พัฒนาการของเด็ก งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าอาหารเสริมชนิดนี้ไม่ได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการคิดหรือการเรียนรู้ของทารกและเด็กที่มีภาวะโลหิตจาง อย่างไรก็ตาม แม้อาจช่วยเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว แต่ยังมีหลักฐานแย้งว่าการรับประทานธาตุเหล็กไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กแต่อย่างใด
  • มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer) งานวิจัยพบว่าผู้ที่รับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลอดอาหารน้อยลง 32 % แต่ไม่มีงานวิจัยใดยืนยันผลได้ชัดเจนกว่านี้
  • เหนื่อยล้า มีหลักฐานว่าการรับประทานธาตุเหล็กเฟอรัสซัลเฟต (Ferrous sulfate) อาจช่วยลดอาการเหนื่อยล้าชนิดหาสาเหตุไม่ได้ในผู้หญิง ซึ่งประเด็นนี้ยังคงคลุมเครือในการรักษาแบบหายขาด
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร งานวิจัยพบว่าผู้ที่รับประทานอาหารเสริมชนิดนี้จะเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 เท่า แต่ก็ยังต้องการหลักฐานการวิจัยเรื่องผลกระทบเพิ่มเติม
  • โลหิตจางในผู้ติดเชื้อเอชไอวี งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีและมีภาวะโลหิตจางที่รับประทานอาหารเสริมชนิดนี้พร้อมวิตามินรวมนาน 3 เดือนจะมีโอกาสเสี่ยงลดลงต่อการประสบกับภาวะโลหิตจางต่อเนื่องนานถึง 3 เดือนเมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กที่ได้รับเพียงวิตามินรวมอย่างเดียว ซึ่งเป็นการวิจัยที่ต้องการการพิสูจน์เพิ่ม
  • ศักยภาพของร่างกาย งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมนี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการออกกำลังกายของเด็กและผู้หญิงอายุน้อยได้ แต่ยังไม่มีงานวิจัยอื่นยืนยันประสิทธิภาพนี้อีกแต่อย่างใด

ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็กจัดว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนมากเมื่อรับประทานหรือฉีดเข้าเส้นเลือดในปริมาณที่เหมาะสม แม้อาจเกิดผลข้างเคียงอย่างปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องร่วง คลื่นไส้ และอาเจียน การรับประทานร่วมกับอาหาร อาจทำให้ผลข้างเคียงลดน้อยลงได้ แม้อาจความสามารถในการดูดซึมจะลดลงเมื่ออยู่ในอาหาร ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ควรรับประทานธาตุเหล็กตอนท้องว่าง แต่หากคุณประสบกับผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรงควรปรับไปรับประทานพร้อมอาหาร พยายามเลี่ยงการรับประทานร่วมกับอาหารที่ยับยั้งและขัดขวางการดูดซึม ทั้งนม กาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มธัญญาหาร

อาหารเสริมชนิดนี้มีอยู่หลายรูปแบบ เช่น เฟอรัสซัลเฟต (Ferrous sulfate) เฟอรัสกลูโคเนต (Ferrous gluconate) เฟอรัสฟูมาเรต (Ferrous fumarate) และอื่นๆ บางผลิตภัณฑ์ เช่น Polysaccharide-iron complex (Niferex-150, etc) อ้างว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่าตัวอื่น แต่ ณ ขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือพออยู่ดี

ตัวเคลือบเอนทาริก (Enteric coated) หรือสินค้าที่ควบคุมการปล่อยธาตุเหล็กเมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจช่วยลดผลข้างเคียงอย่างอาการคลื่นไส้ได้ในบางคน อย่างไรก็ตาม สารเหล่านั้นอาจทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ดีเท่าที่ควร อีกทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารธาตุเหล็กที่เป็นของเหลวอาจทำให้ฟันดำได้ด้วย

การบริโภคในปริมาณมากไม่ปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก ถือเป็นหนึ่งตัวการที่ทำให้เด็กได้รับพิษจนเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งการได้รับแค่ 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นับว่าเป็นอันตราย ภาวะธาตุเหล็กเป็นพิษทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง เช่น กระเพาะและลำไส้ทะลุ ตับล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำจนเป็นอันตราย และเสียชีวิต หากพบว่ามีผู้ใหญ่หรือเด็กได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

สิ่งที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ การบริโภคมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าผู้ที่บริโภคแร่ธาตุนี้มากโดยเฉพาะจากแหล่งอาหารอย่างเนื้อแดงจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แม้ว่าจะมีการศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่พบว่าเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจก็ตาม ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปคำกล่าวทั้งสองได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

คำเตือนและข้อควรระวังในการบริโภคธาตุเหล็ก

สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร ธาตุเหล็กค่อนข้างปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์และแม่ให้นมบุตรที่ร่างกายไม่มีแร่ธาตุนี้เพียงพอเมื่อใช้ในปริมาณที่ต่ำกว่าระดับสารอาหารสูงสุดที่ควรได้รับ (Tolerable upper intake level (UL)) ที่ 45 มิลลิกรัม/วัน โดย UL คือระดับสูงสุดที่จะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายของสารอาหารนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม แร่ธาตุนี้จัดว่าค่อนข้างไม่ปลอดภัยเมื่อบริโภคเข้าไปในปริมาณมาก หากคุณไม่ได้ขาดธาตุเหล็ก ไม่ควรได้รับธาตุเหล็กมากกว่า 45 มิลลิกรัม/วัน การได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงกับกระเพาะอาหารและลำไส้เช่น คลื่นไส้และอาเจียน

เบาหวาน มีข้อกังวลว่าอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ขึ้น แต่คำกล่าวนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ หากคุณเป็นเบาหวาน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก่อนจะดีที่สุด

แผลในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้ ควรบริโภคอย่างระมัดระวังเพราะอาจสร้างความระคายเคืองและทำให้ภาวะที่อวัยวะทั้งสองแย่ลงได้

โรคฮีโมโกลบิน (Hemoglobin diseasesหากมีธาตุเหล็กในร่างกายเกิน และคุณเป็นโรคเกี่ยวกับฮีโมโกลบิน เช่น ธาลัสซีเมีย ห้ามบริโภคแร่ธาตุนี้ ยกเว้นจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ทารกที่คลอดก่อนกำหนด การให้ธาตุเหล็กแก่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่มีระดับวิตามินอี (Vitamin E) ในเลือดต่ำอาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรง ควรได้รับการรักษาด้วยวิตามินอีจนอยู่ในระดับที่เหมาะสมก่อนเริ่มให้แร่ธาตุนี้

การใช้ธาตุเหล็กร่วมกับยาชนิดอื่น

ควรใช้ร่วมกับยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง

  • ยาปฏิชีวนะควิโนโลน (Quinolone antibiotics)
    ธาตุเหล็กอาจลดกระบวนการดูดซับยาปฏิชีวนะของร่างกายลง การรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับยาปฏิชีวนะจึงลดประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะบางชนิด เพื่อเลี่ยงการตีกันของยาเช่นนี้ควรรับประทานธาตุเหล็กก่อนหรือหลังกินยาปฏิชีวนะ 2 ชั่วโมง โดยตัวอย่างยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้คือ Quercetin ที่รวมทั้ง Ciprofloxacin (Cipro), Enoxacin (Penetrex), Norfloxacin (Chibroxin, Noroxin), Sparfloxacin (Zagam), Trovafloxacin (Trovan) และ Grepafloxacin (Raxar)
  • ยาปฏิชีวนะเตตระไซคลิน (Tetracycline antibiotics)
    ธาตุเหล็กสามารถเข้ายึดเกาะกับยาปฏิชีวนะเตตระไซคลินในกระเพาะอาหารและลดกระบวนการดูดซับยาปฏิชีวนะของร่างกาย การรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับยาปฏิชีวนะเตตระไซคลินจึงเป็นการลดประสิทธิภาพของยา เพื่อเลี่ยงการตีกันของยาเช่นนี้ควรรับประทานธาตุเหล็กก่อนหรือหลังกินยาปฏิชีวนะ 2 ชั่วโมง โดยตัวอย่างยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้ คือ Demeclocycline (Declomycin), Minocycline (Minocin) และ Tetracycline (Achromycin)
  • ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตส์ (Bisphosphonates)
    ธาตุเหล็กอาจลดกระบวนการดูดซับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตส์ของร่างกายลง แปลว่าการรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตส์จะเป็นการลดประสิทธิภาพของยา เพื่อเลี่ยงการตีกันของยาเช่นนี้ควรรับประทานธาตุเหล็กก่อนยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตส์ 2 ชั่วโมงหรือกินหลังจากนั้น 1 วัน โดยตัวอย่างยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้คือ Alendronate (Fosamax), Etidronate (Didronel), Risedronate (Actonel), Tiludronate (Skelid) และอื่นๆ
  • ยาเลโวโดปา (Levodopa)
    ธาตุเหล็กอาจลดกระบวนการดูดซับยาเลโวโดปาของร่างกายลง แปลว่าการรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับยาเลโวโดปาจะลดประสิทธิภาพของยา โดยไม่ควรรับประทานธาตุเหล็กพร้อมกันกับยาเลโวโดปา
  • ยาเลโวไทรอกซีน (Levothyroxine)
    ยาเลโวไทรอกซีนใช้กับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย โดยธาตุเหล็กอาจลดกระบวนการดูดซับยายาเลโวไทรอกซีนของร่างกาย แปลว่าการรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับยาเลโวไทรอกซีนจะเป็นการลดประสิทธิภาพของยา ตัวอย่างยี่ห้อยาที่ประกอบด้วยตัวยาเลโวไทรอกซีน มีทั้ง Armour Thyroid, Eltroxin, Estre, Euthyrox, Levo-T, Levothroid, Levoxyl, Synthroid, Unithroid และอื่นๆ
  • ยาเมทิลโดปา (Methyldopa (Aldomet))
    ธาตุเหล็กอาจลดกระบวนการดูดซับยาเมทิลโดปาของร่างกายลง นั่นคือการรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับยาเมทิลโดปาจะเป็นการลดประสิทธิภาพของยา เพื่อเลี่ยงการตีกันของยาเช่นนี้ควรรับประทานธาตุเหล็กก่อนยาเมทิลโดปา 2 ชั่วโมง
  • ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล (Mycophenolate Mofetil (CellCept))
    ธาตุเหล็กอาจลดกระบวนการดูดซับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลของร่างกายลง การรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลจะเป็นการลดประสิทธิภาพของยาลง เพื่อเลี่ยงการตีกันของยาเช่นนี้ควรรับประทานธาตุเหล็กหลังจากใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล 2 ชั่วโมง
  • ยาเพนนิซิลลามีน Penicillamine (Cuprimine, Depen) 
    ยาเพนนิซิลลามีนเป็นยาที่ใช้รักษาโรควิลสัน (Wilson's disease) และโรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ซึ่งธาตุเหล็กอาจลดกระบวนการดูดซับยาเพนนิซิลลามีนของร่างกาย เพื่อเลี่ยงการตีกันของยาเช่นนี้ควรรับประทานธาตุเหล็กก่อนหรือหลังจากใช้ยาเพนนิซิลลามีน 2 ชั่วโมง

คอยสังเกตอาการเมื่อต้องใช้ธาตุเหล็กร่วมกับยาเหล่านี้

  • ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) 
    ธาตุเหล็กเป็นธาตุสำคัญที่ร่างกายใช้ในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดใหม่ โดยยาคลอแรมเฟนิคอลอาจลดกระบวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดใหม่ ดังนั้นการรับประทานยาคลอแรมเฟนิคอลอเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบได้ แต่คนส่วนมากก็มักใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลอในระยะสั้น การตีกันของยาชนิดนี้จึงไม่เป็นปัญหาใหญ่

ปริมาณการบริโภคธาตุเหล็ก

ผู้ใหญ่

  • สำหรับภาวะโลหิตจางจากระดับธาตุเหล็กต่ำ ธาตุเหล็ก 50-100 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน นาน 3-6 เดือน ปริมาณยาสำหรับผู้ใหญ่เพศหญิงอยู่ที่ 30-120 มิลลิกรัม/สัปดาห์
  • สำหรับป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กขณะตั้งครรภ์ ธาตุเหล็ก 20-225 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณที่แนะนำใน 1 วันคือ 45 มิลลิกรัม
  • สำหรับกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข ธาตุเหล็กเฟอรัสซัลเฟต 325 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน
  • สำหรับอาการไอจากการใช้ยา ACE inhibitor ธาตุเหล็กเฟอรัสซัลเฟต 256 มิลลิกรัม/วัน
  • สำหรับภาวะโลหิตจางจากภาวะเรื้อรัง ปริมาณธาตุเหล็กทั้งหมดในช่วง 6 เดือน 2,232 มิลลิกรัม ถึง 1,020 มิลลิกรัม ในช่วง 1 สัปดาห์
  • สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว ธาตุเหล็ก Ferric carboxymaltose ฉีดเข้าเส้นเลือดที่ 200 มิลลิกรัม/สัปดาห์ จนกว่าระดับธาตุเหล็กของร่างกายจะเป็นปกติ ตามด้วยการฉีดอีก 200 มิลลิกรัม ทุกๆ เดือนนาน 6 เดือน

เด็ก

  • สำหรับภาวะโลหิตจางจากระดับธาตุเหล็กต่ำ ธาตุเหล็ก 4-6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งปริมาณยาเป็น 3 เวลา นาน 3-6 เดือน
  • สำหรับป้องกันภาวะธาตุเหล็กต่ำ มีข้อมูลแนะนำการใช้อาหารเสริมธาตุเหล็กกับเด็กที่มีความเสี่ยงต่อภาวะธาตุเหล็กต่ำดังนี้
    • สำหรับทารกที่ดื่มนมมารดา: 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เริ่มจากอายุ 4 เดือน
    • สำหรับทารกอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี: 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน
    • สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดที่ได้รับนมแม่อย่างเดียว: 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ตั้งแต่อายุ 1 เดือน จนกว่าทารกจะได้รับธาตุเหล็กจากแหล่งอาหารได้เพียงพอแล้ว
    • สำหรับเด็กอายุมากกว่า 2 ปี: 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน (ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/วัน) ร่วมกับเสริมโฟเลต 250-400 ไมโครกรัม/วัน เป็นเวลา 3 เดือน หากอยู่ในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กมากกว่า 40 %
  • สำหรับเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และทักษะการคิดในเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะโลหิตจางจากระดับธาตุเหล็กต่ำ ควรศึกษาตารางแสดงความต้องการธาตุเหล็กต่อไปนี้

ตารางแสดงความต้องการธาตุเหล็กและปริมาณธาตุเหล็กอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย

ความต้องการธาตุเหล็กและปริมาณธาตุเหล็กอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย



5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
mayoclinic, Iron Supplement (Oral Route, Parenteral Route) (https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/iron-supplement-oral-route-parenteral-route/description/drg-20070148), 1 November 2019.
medlineplus, Taking iron supplements (https://medlineplus.gov/ency/article/007478.htm), 6 May 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)