บทความเดียวจบ รวมยาที่คนมักถามถึง

ยาเหล่านี้หลายคนมักมีคำถาม ยาคลายเส้น แก้ปวด แก้อักเสบ คุมกำเนิด HonestDocs จึงขอรวบรวมข้อมูลแบบสรุปเข้าใจง่ายไว้ที่นี่
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
บทความเดียวจบ รวมยาที่คนมักถามถึง

กลุ่มยาที่คนส่วนใหญ่มักถามหาและใช้กันบ่อยๆ ในหลายโอกาส ได้แก่ ยาคลายเส้นหรือยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาคุมกำเนิด แต่ละกลุ่มมียาอะไรบ้าง การทำงานของยาเป็นอย่างไร มีข้อควรระวังอะไรหรือไม่ อ่านได้ในบทความนี้

ยาคลายเส้น (ยาคลายกล้ามเนื้อ)

ยาคลายเส้นที่เราเรียกกันจนติดปาก แท้จริงแล้วคือ ยาคลายกล้มเนื้อ (Muscle relaxants) ใช้ลดหรือผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการออกกำลังกาย การวางท่าทางของร่างกายไม่ถูกต้อง การใช้งานอวัยวะในท่าเดิมซ้ำๆ เป็นต้น ยาคลายเส้นหรือยาคลายกล้ามเนื้อส่วนใหญ่จะมีผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว เมื่อรับประทานแล้วจึงรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ยาในกลุ่มคลายกล้ามเนื้อที่ใช้กันบ่อย เช่น ยาออร์เฟเนดรีน (Orphenadrine) ยาโทลเพอราโซน (Tolperazone) และยาบาโคลเฟน (Baclofen) ตัวยาคลายกล้ามเนื้อบางตัวอาจจำหน่ายในรูปแบบผสมยาลดปวดด้วย เช่น Norgesic® (Orphenadrine + Paracetamol) อาการข้างเคียงจากการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย เมื่อยล้า หมดแรง ง่วงนอน ปากแห้ง เป็นต้น จึงควรระมัดระวัดการขับขี่ยานพาหนะภายหลังการรับประทานยา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ยาแก้ปวด

ยาแก้ปวดเป็นกลุ่มยาที่มีคุณสมบัติลดอาการเจ็บปวด มีทั้งที่หาซื้อได้เองหรือใช้ตามคำสั่งแพทย์ สามารถแบ่งประเภทตามกลไกการออกฤทธิ์ได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่

  1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) คงไม่มีใครไม่รู้จักยาพาราเซตามอล ยาพาราเซตามอลเป็นยาสามัญประจำบ้าน แทบจะทุกบ้านต้องมีติดไว้เสมอเพื่อลดอาการปวดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยาพาราเซตามอลออกฤทธิ์โดยการเปลี่ยนแปลงการรับความรู้สึกเจ็บปวดของร่างกาย และสามารถเข้าสู่สมองได้ดีจึงออกฤทธิ์ลดไข้ได้ด้วย
  2. ยากลุ่มโอพิออยด์ (Opioid) มีฤทธิ์ช่วยลดสัญญาณความเจ็บปวดที่ส่งมาจากระบบประสาทและยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางได้ดี จึงสามารถลดอาการเจ็บปวดที่รุนแรงได้ แต่อาการข้างเคียงสูง และอาจเกิดการเสพติดหรือใช้ยาในทางที่ผิดได้ ดังนั้นยาในกลุ่มนี้ต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ยากลุ่มโอปิออยด์ เช่น ยามอร์ฟีน (Morphine) ยาออกซิโคโดน (Oxycodone) ยาเฟนตานิล (Phentanyl) เป็นต้น

ยาแก้อักเสบ

ยาแก้อักเสบยาแก้อักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์หรือยากลุ่มเอ็นเสด (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการปวดหรือบวมจากการอักเสบในร่างกาย ทำให้อาการปวดและอักเสบลดลงได้ด้วย ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs เป็นยาลดอักเสบที่ใช้กันบ่อย เนื่องจากยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ลดอักเสบได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว ปวดประจำเดือน ปวดฟัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยา NSAIDs สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาไดโคฟีแน็ก (Diclofenac) ยานาพร็อกเซน (Naproxen) ยาพอนสแตนหรือเมฟีนามิคแอซิด (Mefenamic acid) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยาส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มีอาการข้างเคียงระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงแนะนำให้รับประทานหลังอาหารทันที หรือเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นในกลุ่มที่ไม่ระคายกระเพาะแทน เช่น ยาซีรีเบร็กซ์หรือซีลีคอกซิบ (Celecoxib) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยาซีรีเบร็กซ์มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ นอกจากนี้ ผู้ที่แพ้ยาอาจเกิดการแพ้ยาทุกตัวในกลุ่มได้จากโครงสร้างหลักของยา ดังนั้น หากผู้ป่วยมีประวัติการแพ้ยาควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้ยาซ้ำ

ยาคุมกำเนิด (Oral contraceptive pill)

หากพูดถึงวิธีคุมกำเนิดที่ผู้หญิงนิยมใช้มากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรับประทาน เนื่องจากราคาไม่แพง ใช้ง่าย และประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดดี ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งมีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progestrogen) เพียงอย่างเดียว และชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งประกอบไปด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ตัวอย่างยาเม็ดคุมกำเนิด เช่น Yasmin, Diane-35, Cilest, Oillezz, Sucee เป็นต้น ยาคุมแบบเม็ดสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มีให้เลือกหลายชนิด หลายยี่ห้อ หลายราคา และมีปริมาณฮอร์โมนที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้เพื่อจะได้รับยาคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยาคุมกำเนิดมีข้อควรระวังในการใช้ในผู้ที่มีหรือเคยมีภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ หลอดเลือดดำตีบตัน โรคลิ่มเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ มีการทำงานของตับผิดปกติ เป็นมะเร็งหรือสงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าอาจตั้งครรภ์


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WebMD Medical Reference, https://www.webmd.com/back-pain/do-i-need-a-muscle-relaxer, 23 October 2018.
WebMD Medical Reference, https://www.webmd.com/drugs/2/drug-57595/paracetamol-oral/details, Access online: 14 August 2019.
WebMD Medical Reference, https://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-pills#1, 05 August 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)