โรคริดสีดวงทวารเป็นอีกหนึ่งในโรคเกี่ยวกับระบบขับถ่ายที่หลายคนมักจะได้ยินกันบ่อยๆ เพราะสาเหตุส่วนมากของโรคริดสีดวงทวารมักเกิดมาจากพฤติกรรมการขับถ่ายที่ผิดๆ ซึ่งหลายคนมักไม่รู้ตัวนั่นเอง
ความหมายและสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) คือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณลำไส้ใหญ่ และทวารหนักมีอาการบวม โป่งพอง และมีหลอดเลือดบางส่วนยื่นออกมาจากทวารหนัก
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น
- ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- ท้องเสียบ่อย
- มีภาวะโรคตับแข็ง ซึ่งมีผลทำให้เลือดดำเกิดการอุดตัน จนเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง
- อายุที่มากขึ้นและกล้ามเนื้อเริ่มหย่อนยาน จนทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อชื่อว่า "เบาะรอง" เลื่อนลงมาจนยื่นออกมาจากทวารหนัก
- บุคคลในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก
รวมทั้งจากการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการขับถ่าย เช่น
- พฤติกรรมชอบเบ่งอุจจาระอย่างแรง
- ชอบนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคนที่ชอบเล่นโทรศัพท์มือถือในขณะขับถ่าย
- มักใช้ยาสวนอุจจาระ หรือยาระบายบ่อยเกินความจำเป็น
- มีพฤติกรรมที่ต้องยกของ หรือออกแรงเบ่งมากๆ
อ่านเพิ่มเติม: ริดสีดวงทวารหนักคืออะไร?
ประเภทของโรคริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- ริดสีดวงทวารภายใน (Internal Hemorrhoids) หมายถึง โรคริดสีดวงทวารซึ่งตัวหลอดเลือดที่โป่งพองจะอยู่ที่บริเวณเหนือทวารหนักขึ้นไป จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็น หรือคลำหาเจอได้ อีกทั้งโรคริดสีดวงชนิดนี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอะไร หากยังไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น
- ริดสีดวงทวารภายนอก (External Hemorrhoids) หมายถึง โรคริดสีดวงซึ่งเกิดบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถเห็นและคลำเจอติ่งเนื้อที่ปกคลุมหลอดเลือดที่โป่งพองได้ อีกทั้งติ่งเนื้อซึ่งยื่นออกมานั้นยังมีปลายประสาทที่รับความรู้สึกได้ด้วย ผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงชนิดนี้จึงอาจเผชิญความรู้สึกเจ็บปวดได้ โดยเฉพาะเวลาขับถ่ายอุจจาระ
อ่านเพิ่มเติม: ริดสีดวงทวารขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร
อาการของโรคริดสีดวงทวาร
อาการของโรคริดสีดวงทวาร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยความรุนแรงจะเพิ่มตามระยะที่เป็น ได้แก่
ตรวจและรักษาริดสีดวงทวารวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 970 บาท ลดสูงสุด 46%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- ระยะที่ 1: มีเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนัก มีเลือดไหลออกมาเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระ หรือหากกำลังท้องผูก เลือดก็จะออกมากขึ้นกว่าเดิม
- ระยะที่ 2: หัวริดสีดวงโตมากขึ้นและติ่งเนื้อจะเริ่มโผล่ออกมาพ้นปากทวารหนัก เวลาเบ่งอุจจาระจะสามารถมองเห็นได้มากขึ้น และจะหดกลับได้เองหลังขับถ่ายเสร็จแล้ว
- ระยะที่ 3: หัวริดสีดวงเริ่มโผล่ออกมามากกว่าเดิมและไม่ใช่แค่เวลาขับถ่ายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเวลาไอ จาม หรือยกของหนักๆ ที่ต้องเกร็งท้อง เพราะพฤติกรรมดังกล่าวจะเกิดการเบ่ง ทำให้หัวริดสีดวงโผล่ออกมาข้างนอก และไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้เองอีก นอกจากต้องใช้นิ้วช่วยดันกลับเข้าไป
- ระยะที่ 4: หัวริดสีดวงโตมากขึ้น สามารถมองเห็นจากภายนอกได้อย่างชัดเจน รวมถึงมีอาการบวม อักเสบและมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก ได้แก่
- ทวารหนักผู้ป่วยมีเลือดออกอยู่เสมอ
- ระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจมีน้ำเหลือง หรือเมือกลื่นๆ และอุจจาระหลุดออกมาได้ ทำให้เกิดความสกปรก ส่งกลิ่นเหม็น และเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา
- ผู้ป่วยอาจมีอาการคันที่ขอบปากทวารร่วมด้วย บางครั้งอาจถึงขั้นเน่าและอักเสบมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่าย และหากผู้ป่วยยังมีเลือดออกอยู่เรื่อยๆ ก็จะทำให้ตัวเริ่มซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง และเกิดอาการหน้ามืดได้
- ทวารหนักผู้ป่วยมีเลือดออกอยู่เสมอ
อ่านเพิ่มเติม: อาการโรคริดสีดวงทวารเป็นอย่างไร
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคริดสีดวงทวาร
ด้วยตัวโรคซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะเลือดออกและการเคลื่อนตัวของอวัยวะ จึงทำให้นอกจากอาการหลักๆ ของโรคที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานแล้ว ผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารบางกลุ่มยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย
ลักษณะของภาวะแทรกซ้อนแบ่งออกได้ดังนี้
- การตกเลือด หากผู้ป่วยมีเลือดไหลออกทางทวารหนักอยู่ตลอดเวลา เมื่อระยะเวลาผ่านไปก็จะทำให้เกิดภาวะขาดเลือด ความดันโลหิตตก โลหิตจาง หรือหากมีเลือดออกทีละเล็กน้อยแต่นานและเรื้อรังก็จะนำไปสู่สาเหตุของโรคโลหิตจางชนิดขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) ได้ ภาวะนี้จะสังเกตได้จากระหว่างวัน ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลียง่าย วิงเวียนศีรษะ เบื่ออาหาร มือเท้าเย็น ปากแห้ง เจ็บหน้าอก
- ลิ่มเลือดอุดตัน หมายถึง เลือดที่จับตัวกันเป็นก้อนอยู่ภายในติ่งเนื้อริดสีดวง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง มักพบมากในโรคริดดวงทวารชนิดภายนอก
- การบีบรัดของริดสีดวง พบได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีติ่งเนื้อริดสีดวงโผล่ออกมาด้านนอกทวารหนักอย่างเห็นได้ชัด ติ่งเนื้อดังกล่าวจะไม่มีเลือดถูกส่งมาเลี้ยงจนทำให้เกิดภาวะขาดเลือดและทำให้หูรูดของทวารหนักเกิดการหดตัว จนลุกลามกลายเป็นการอักเสบและบวมอย่างหนัก รวมถึงทำให้มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นภายในติ่งเนื้อริดสีดวงร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง
การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวาร
การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวารอาจแบ่งตามชนิดของริดสีดวง ดังนี้
- สำหรับโรคริดสีดวงทวารชนิดภายนอก แพทย์จะตรวจทวารหนักเมื่อพบว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มจะเป็นโรคริดสีดวงทวาร เนื่องจากโรคริดสีดวงทวารชนิดภายนอกจะมีติ่งเนื้อยื่นออกมาให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วจึงสามารถตรวจได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์
- สำหรับโรคริดสีดวงชนิดภายใน แพทย์จะตรวจทวารหนักด้วยการสอดนิ้วเพื่อคลำหาความผิดปกติภายในทวารหนัก หรืออาจใช้เครื่องมือส่องกล้องพิเศษ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคให้แม่นยำมากขึ้น
- สำหรับผู้ป่วยที่อาการยังไม่ชัดเจน ในผู้ป่วยที่อาการยังไม่ชัดเจน หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วยรวมถึงผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการถ่ายเป็นเลือด แพทย์จะเริ่มตรวจทางทวารหนักก่อนด้วยการสอดนิ้วคลำ หรือใช้อุปกรณ์ ไปจนถึงการส่องกล้องตรวจ หรือใช้วิธีการสวนแป้งแบเรียม (Barium enema) เพื่อหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบพิเศษ และวินิจฉัยโรคให้แน่ใจว่า ผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคมะเร็งลำไส้ หรือโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ถ่ายเป็นเลือด หรือเกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร
การรักษาโรคริดสีดวงทวาร
1. รักษาด้วยตนเอง
หากคุณเป็นโรคริดสีดวงในระยะที่ 1 หรือระยะที่ 2 สามารถรักษาให้หายได้ด้วยตนเอง โดยการใส่น้ำอุ่นในกะละมังใบใหญ่ เทด่างทับทิมผสมกับน้ำจนกลายเป็นสีชมพูจางๆ (หรือจะแช่น้ำอุ่นอย่างเดียวก็ได้)
จากนั้นให้นั่งแช่ลงในกะละมังประมาณ 15-20 นาที ควรทำทั้งก่อนและหลังถ่ายอุจจาระ เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ และลดการขยายตัวของหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนัก
อ่านเพิ่มเติม: การรักษาริดสีดวงทวาร
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
2. เหน็บยารักษาริดสีดวง
ในปัจจุบันมียาเหน็บรักษาริดสีดวงหลายยี่ห้อและหลายชนิดให้คุณได้เลือก แต่แนะนำให้คุณเลือกยาเหน็บที่มีส่วนผสมของเบนโซเคน (Benzocaine) 1 กรัม และลาโนลิน (Lanolin) 15 กรัม เพราะเป็นตัวยาสำคัญในการรักษาโรคริดสีดวงทวารให้ดีขึ้นได้
อ่านเพิ่มเติม: ยารักษาริดสีดวง มีแบบไหนบ้าง?
3. รักษาโดยการฉีดยา
มักใช้เพื่อรักษาโรคริดสีดวงทวารภายในระยะที่ 1และ 2 หรือโรคริดสีดวงทวารที่มีเลือดออกมาก แพทย์จะฉีดสารเคมีเข้าไปบริเวณชั้นใต้ผิวหนังที่มีขั้วติ่งเนื้อริดสีดวง ทำให้เกิดพังพืดอุดกั้นหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงริดสีดวง หลังจากนั้นเลือดจะหยุดไหลและติ่งเนื้อริดสีดวงจะฝ่อไปในที่สุด
ขณะที่ฉีด แพทย์จะต้องระมัดระวังไม่ฉีดเข้าติ่งเนื้อริดสีดวงโดยตรงเพราะจะทำให้สารเคมีเข้าเส้นเลือด และทำให้ผู้ป่วยแน่นหน้าอก รวมถึงปวดท้องด้านบนได้
4. การรักษาโดยการใช้ยางรัด
การใช้ยางรัดหัวของติ่งเนื้อริดสีดวงที่โผล่ออกมาจะทำให้ติ่งเนื้อขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงและฝ่อจนหลุดไปเองตามธรรมชาติ วิธีนี้ใช้สำหรับริดสีดวงทวารในระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3
5. การผ่าตัด
ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวารในระยะที่ 3 และระยะ 4 เพราะระยะนี้ติ่งเนื้อริดสีดวงจะมีขนาดใหญ่มากจนไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้เองอีก การผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับจำนวนและชนิดของริดสีดวงทวาร รวมทั้งความชำนาญของศัลยแพทย์ด้วย
เช่น หากผู้ป่วยมีติ่งเนื้อริดสีดวง 1-2 ตำแหน่ง แพทย์อาจต้องใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยในการตัดริดสีดวงทวารโดยไม่ต้องใช้ไหมเย็บแผล แต่หากมีริดสีดวงทวารตั้งแต่ 3 ตำแหน่งขึ้นไป แพทย์อาจต้องใช้เครื่องมือตัดต่อเยื่อบุลำไส้ชนิดกลม โดยการตัดและเย็บแบบนี้จะเกิดตามแนวเส้นรอบวงของช่องทวารหนัก
วิธีการผ่าตัดแบบนี้มีข้อดีคือ แพทย์จะสามารถตัดติ่งเนื้อริดสีดวงออกได้ทุกหัวและไม่ทำให้รูทวารหนักแคบลงด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยจะไม่มีแผลภายนอกเลย อีกทั้งอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดก็ไม่ร้ายแรงมาก
อ่านเพิ่มเติม: ผ่าริดสีดวงทวารแบบใหม่เจ็บน้อย ปลอดภัย ฟื้นตัวไว และไม่เสี่ยง
การเตรียมก่อนการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
สิ่งที่สำคัญคือ ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังรับประทานอยู่ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพราะผู้ป่วยอาจจำเป็นจะต้องหยุดยาบางชนิด เช่น Aspirin, Advil (Ibuprofen), Aleve (Naproxen)
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Coumadin (Warfarin), Eliquis (Apixaban) และ Xarelto (Rivaroxaban) หรือ Plavix (Clopidogrel, Bisulfate) หลายวันก่อนการผ่าตัด
นอกจากนี้ควรแจ้งแพทย์ด้วยหากตนเองสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้ช้ากว่าปกติ และคุณอาจต้องงดน้ำและอาหารทุกชนิดเป็นเวลา 6-12 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด และควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
การปฏิบัติตนหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
คุณสามารถอาจกลับบ้านได้เลยหลังจากผ่าตัด แต่ไม่ควรขับรถกลับบ้านด้วยตนเองและควรมีญาติ หรือคนใกล้ชิดช่วยขับให้แทน หากมีอาการปวดหลังการผ่าตัดก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ตามที่แพทย์สั่ง
นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้แช่ก้นในน้ำอุ่นประมาณ 15-20 นาที เพราะจะช่วยทำให้บริเวณแผลผ่าตัดสะอาดและมีเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น คุณสามารถสอบถามแพทย์ได้ว่าจำเป็นต้องแช่น้ำอุ่นบ่อยแค่ไหน ทั้งนี้อาการต่างๆ จะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
ความเสี่ยงของการผ่าตัดริดสีดวงทวารหนัก
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดประกอบด้วยการติดเชื้อ มีเลือดออก กลั้นอุจจาระไม่ได้ และมีอาการปวดเวลาปัสสาวะ
การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
ระยะเวลาพักฟื้นของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนและระยะเวลาการผ่าตัด รวมถึงความรุนแรงและจำนวนของริดสีดวงทวารที่ผ่าตัดออกไป แต่โดยส่วนมากแล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มอาการดีขึ้นในวันที่ 3-4 หลังการผ่าตัด และดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้น
ส่วนเรื่องการทำกิจกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยปกติแล้วผู้ป่วยจะสามารถกลับมาทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้แรงมากได้ภายในเวลา 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด และสามารถกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติภายในเวลา 2 สัปดาห์
อ่านเพิ่มเติม: การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
อาการปวดหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
เป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยซึ่งใช้วิธีรักษาโดยการผ่าตัดจะรู้สึกปวดในช่วงสัปดาห์แรกหลังการรักษา และเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่เลือกวิธีการรักษาโดยการฉีดยาให้ฝ่อ ผู้ป่วยที่ใช้วิธีการผ่าตัดจะมีอาการปวดมากกว่าพอสมควร
สำหรับระดับของความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังการรักษา นอกจากเรื่องรูปแบบการรักษาแล้ว ความรุนแรงของริดสีดวงทวารก่อนการผ่าตัดยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ระดับความเจ็บปวดไม่เท่ากันด้วย
ในช่วงสัปดาห์แรกหลังการรักษา ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแผลมากเวลาเบ่งอุจจาระและอาจรู้สึกเจ็บเวลาต้องโน้มตัว นั่งยองๆ ยกของ หรือเปลี่ยนท่าจากยืนเป็นนั่ง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเจ็บระหว่างขับถ่ายอุจจาระหลังการผ่าตัด บางราย ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาแก้ปวดที่แพทย์สั่ง หรือการรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารไม่เพียงพอด้วย
นอกจากความรู้สึกเจ็บระหว่างขับถ่ายอุจจาระแล้ว ผู้ป่วยก็อาจเกิดอาการปวดขณะปัสสาวะได้เช่นกัน
วิธีแก้อาการเจ็บปวดหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
ส่วนมากจะเป็นการแก้ไขไปตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น
- แพทย์จะจ่ายยาทำให้อุจจาระนิ่มในช่วงสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด เพื่อลดอาการเจ็บขณะขับถ่าย
- ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องอาการท้องผูก และทำให้ไม่รู้สึกเจ็บในขณะต้องเบ่งอุจจาระ
- ผู้ป่วยควรนั่ง หรือนอนอยู่กับที่ในวันแรกๆ หลังการผ่าตัด
- ให้ผู้ป่วยนั่งแช่น้ำอุ่นระดับความสูง 2-3 นิ้วเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการคันที่เกิดขึ้น โดยให้ใช้โถพิเศษคล้ายกระโถน และสามารถทำได้หลายๆ ครั้งต่อวันด้วย
- แพทย์อาจสั่งจ่ายยาทาเฉพาะที่ให้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและตำแหน่งที่ผ่าตัดริดสีดวงออก
การติดเชื้อหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
การติดเชื้อเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการผ่าตัดรักษาริดสีดวงทวาร เนื่องจากอุจจาระสามารถเข้าไปปนเปื้อนตำแหน่งที่ผ่าตัดริดสีดวงได้และทำให้เกิดการติดเชื้อในภายหลัง
หากสังเกตว่า ตนเองมีเลือดออกเล็กน้อยบริเวณแผลผ่าตัดระหว่างเข้าห้องน้ำ หรือมีเลือดติดกางเกงชั้นใน ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตาม หากปริมาณเลือดเริ่มมีมากขึ้นผิดปกติ คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
เลือดที่ออกนี้ยังสามารถเพิ่มปริมาณขึ้นได้ระหว่างที่อุจจาระในช่วงประมาณ 48-72 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคริดสีดวงทวาร
โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคริดสีดวงทวารมักจะอายและไม่กล้าไปพบแพทย์ บางรายก็อาจหันไปใช้แพทย์ทางเลือกแทน โดยใช้วิธีรักษาด้วยการฉีดยาสมุนไพรจนกระทั่งแผลเน่าและรูทวารตีบ
ในกรณีนี้แพทย์จะรักษาด้วยการขยายรูทวารและดันผิวหนังที่ยื่นนูนออกมาให้กลับเข้าไปภายใน ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงมากระหว่างการรักษา
อ่านเพิ่มเติม: ควรบีบริดสีดวงทวาร ทำให้ริดสีดวงแตกไปเลยดีไหม?
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาโรคริดสีดวงทวาร
- หลังจากผ่าตัดแล้วจะทำให้กลั้นอุจจาระไม่อยู่ ในความจริงแล้ว การผ่าตัดริดสีดวงทวารหนักจะไม่ไปโดนในส่วนของกล้ามเนื้อหูรูดและไม่มีผลเกี่ยวข้องกับการกลั้นอุจจาระแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีผลแทรกซ้อนใดๆ ที่เป็นอันตรายทั้งสิ้นด้วย
- การรักษาริดสีดวงทวารไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดเท่านั้น และแพทย์มักแนะนำการผ่าตัดกับผู้ป่วยรายที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกลัวว่า เมื่อเป็นโรคริดสีดวงทวารแล้วจะต้องเข้าห้องผ่าตัดอย่างแน่นอน และไม่ควรอายที่จะไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาอย่างเหมาะสมด้วย
หากมีความสงสัยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงทวาร เช่น ไม่แน่ใจว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นเข้าข่ายริดสีดวงทวารจริงหรือไม่ หากเป็นแล้วต้องรักษาด้วยตนเองได้อย่างไร ถ้ารักษาโดยแพทย์จะมีวิธีรักษาแบบใดบ้าง
แต่คุณไม่มีเวลาไปพบแพทย์ด้วยตนเอง หรือรู้สึกเขินอายที่จะต้องไปพบแพทย์ ปัจจุบันมีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ให้บริการแล้ว สามารถเลือกได้ว่าจะโทรอย่างเดียว หรือจะเห็นหน้าคุณหมอด้วยการวิดีโอคอลก็ได้ บริการนี้สะดวกสบาย อยู่ที่ไหนก็ใช้บริการได้หมด
หรือหากคุณเป็นผู้หญิง รู้สึกว่าคุยกับผู้หญิงด้วยกันจะสบายใจกว่า จะเลือกปรึกษากับแพทย์หญิงก็ได้เช่นกัน
สมุนไพรรักษาโรคริดสีดวงทวาร
นอกจากการใช้ยา หรือการผ่าตัดแล้ว ยังมีวิธีรักษาด้วยสมุนไพรไทยซึ่งสามารถช่วยให้อาการของโรคริดสีดวงทวารดีขึ้นได้ เช่น
- เพชรสังฆาต: นำเพชรสังฆาตสด 1 ปล้อง หั่นเป็นข้อเล็กๆ แล้วหุ้มด้วยกล้วยสุกหรือมะขามเปียก ให้รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็นติดต่อกันเป็นเวลา 10-15 วัน แล้วอาการของโรคริดสีดวงทวารจะค่อยๆ บรรเทาและสามารถหายเองได้
- ขลู่: นำใบขลู่มาต้มรับประทานเป็นชาและคุณยังสามารถอบไอสมุนไพรผ่านการใช้เปลือกของต้นขลู่ซึ่งนำมาต้มในน้ำจนเดือดได้ ขลู่จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบได้ นอกจากนี้ขลู่ยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาที่หลากหลาย เช่น ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่วในไต ช่วยย่อยอาหาร และยังสามารถนำมารักษาโรคริดสีดวงจมูกได้ด้วยเช่นกัน
- ว่านหางจระเข้: นำว่านหางจระเข้มาปอกเปลือกส่วนนอกออกให้หมด เหลาให้ปลายแหลมเล็กน้อย เพื่อความสะดวกในการเหน็บเข้าไปในช่องทวารหนัก หากต้องการให้เหน็บง่ายขึ้นมีข้อแนะนำว่า ให้นำว่านหางจระเข้ไปแช่ในตู้เย็นเพื่อทำให้เกิดการแข็งตัวและจะทำให้สอดได้ง่ายขึ้น ควรทำให้ได้วันละ 1-2 ครั้ง จนกว่าจะหาย
วิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวารหนัก
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช ผัก และผลไม้ต่างๆ หรือน้ำลูกพรุนเพื่อทำให้ระบบขับถ่ายคล่องตัว
- ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว เพราะน้ำมีส่วนช่วยทำให้กากใยอาหารอ่อนตัวและช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายมีส่วนช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้นและยังช่วยทำให้ลำไส้แข็งแรงขึ้นด้วย
โรคริดสีดวงทวารหนักเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง หรือไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ร่างกาย เพียงแต่จะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความเจ็บปวดเวลาขับถ่าย
ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้มากๆ และงดเว้นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคริดสีดวงทวารหนัก
นอกจากนี้หากเกิดอาการของโรคริดสีดวงแล้วควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรอายเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตามมาอย่างร้ายแรงกว่าที่คิดได้
อ่านเพิ่มเติม: 7 สิ่งที่ควรทำ ถ้าอยากหายจากริดสีดวงทวาร
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงทวาร
1. เวลาขับถ่ายจะมีเลือดสดๆ ปนมาด้วย บางครั้งก็เยอะ บางครั้งก็น้อย มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้างคะ เเล้วมีโอกาสเป็นโรคริดสีดวงหรือเปล่า?
คำตอบ: อาการถ่ายเป็นเลือดสดพบได้ในคนเป็นโรคริดสีดวงทวารครับ แต่ควรได้รับการยืนยันวินิจฉัยและตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อน โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อยซึ่งจะมีอาการหลักๆ อยู่ที่เลือดออกขณะและหลังถ่ายอุจจาระ มีติ่งเนื้ออยู่ที่ขอบทวาร อาการในระยะแรกจะเป็นๆ หายๆ ไม่รุนแรง
โรคริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ โรคริดสีดวงภายในและโรคริดสีดวงภายนอก ส่วนอาการของโรคจะได้แก่
- มีเลือดแดงสดหยด หรือพุ่งออกมาขณะเบ่งถ่าย หรือหลังถ่ายอุจจาระ จำนวนเลือดที่ออกมาแต่ละครั้งจะไม่มากนัก และอาจยังไม่มีอาการปวดหรือแสบที่ขอบทวาร จากนั้นอาการมักจะหยุดไปเอง และจะเป็นๆ หายๆ
- มีติ่ง หรือก้อนเนื้อปลิ้นออกมาจากภายในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และจะยุบกลับเข้าไปเมื่อหยุดเบ่ง เมื่อโรคเป็นรุนแรงมากขึ้นจะต้องใช้นิ้วดันจึงจะกลับเข้าไป และขั้นสุดท้ายตัวติ่งเนื้ออาจย้อยอยู่ภายนอกตลอดเวลา
- มีก้อนและเจ็บปวดที่ขอบทวาร หากเกิดขึ้นจะเจ็บมากในระยะเวลา 5-7 วันแรก และเมื่อโรคถึงระยะนี้ ผู้ป่วยจะต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นด้วย ส่วนการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับระยะของโรคเช่นกัน
สำหรับวิธีการรักษาในอาการระดับทั่วไปที่ยังไม่รุนแรง แพทย์อาจใช้การรักษาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นๆ เพื่อให้การขับถ่ายสะดวกมากขึ้น อุจจาระนิ่ม ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเบ่งรุนแรง และเพื่อระงับอาการที่ก่อให้เกิดความรำคาญ หรือเจ็บปวด ได้แก่
- เพิ่มอาหารที่มีเส้นใยมาก เช่น ผัก ผลไม้
- ดื่มน้ำให้มากขึ้น
- รับประทานยาระบาย
ส่วนวิธีการรักษาเฉพาะเจาะจงจะมีหลายวิธีด้วยขึ้นอยู่กับระยะของโรค เครื่องมือ สถานที่ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แก่ การฉีดยา การใช้ยางรัด การจี้ริดสีดวง และการผ่าตัดริดสีดวงทวารครับ (ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.))
อ่านเพิ่มเติม: รวมคำถาม-คำตอบเรื่องอาหารการกิน สำหรับผู้เป็นริดสีดวงทวาร
2. ถ่ายเป็นเลือดสีแดงสดมา 3 วันแล้ว
ครั้งแรกถ่ายเป็นเลือดและมีลิ่มเลือดปนออกมา แต่ไม่มีกลิ่นคาวเลือด และมีอาการแสบท้องเหมือนกินของเผ็ดด้วย วันที่ 2 ก็ยังถ่ายค่อนข้างเหลวและมีเลือดออกมาเหมือนเดิม วันที่ 3 ก็เหมือนกัน ถ่ายเหลวและมีเลือด สงสัยว่า เป็นโรคริดสีดวงหรือเปล่า
คำตอบ: แนะนำว่า คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดก่อนว่า อาการถ่ายอุจจาระปนเลือดเกิดจากอะไรกันแน่ ส่วนสาเหตุที่ต้องระวังให้มากก็คือ โรคมะเร็งลำไส้ เพราะอาการของโรคนี้จะอยู่ในรูปถ่ายอุจจาระปนกับเลือด ปวดหน่วง และถ่ายไม่สุด
ส่วนอาการของโรคริดสีดวงทวารจะถ่ายเป็นเลือดสดและเลือดมักออกมาเคลือบปนกับอุจจาระ ทางที่ดีควรไปตรวจให้แน่ใจก่อนจะดีกว่า (ตอบโดย Buakhao Arpaporn (พญ.))
3. ผมเจ็บริดสีดวงมาก
ทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากนอนมา 1 สัปดาห์แล้ว และเมื่อ 2 วันก่อน ผมไปหาหมอที่ศูนย์การแพทย์ หมอให้ยามารับประทานโดยที่ยังไม่ตรวจริดสีดวงผมเลย ยาที่จ่ายมาเป็นยาตัวเดียวกับที่ผมซื้อมาจากร้านขายยา วันนี้ผมเจ็บไม่ไหวแล้วจริงๆ สามารถเข้าไปผ่าเลยได้ไหม
คำตอบ: ถ้ามีอาการปวดมาก รับประทานยาที่แพทย์จ่ายมาแล้วยังไม่ดีขึ้น คุณสามารถเข้าไปที่ศูนย์การแพทย์พัฒนาได้ตลอดเวลาอยู่แล้วครับ และแพทย์จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะรักษาอย่างไรต่อไป เนื่องจากวิธีการรักษามีหลายแบบด้วยกัน (ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.))
อ่านเพิ่มเติม: ริดสีดวงแตก ทำอย่างไรดี?
4. เป็นโรคริดสีดวงตอนท้องอยู่ สามารถกินยาแก้ริดสีดวงได้ไหมคะ
คำตอบ: สามารถใช้ยาได้ครับ แต่ยาที่จะช่วยในการลดการอักเสบและบวมในหญิงตั้งครรภ์อาจต้องใช้เป็นยาเหน็บก้นแทน เพราะยารับประทานทั่วไปที่ช่วยรักษาโรคริดสีดวงได้เป็นยาที่ยังไม่มีการศึกษาว่าใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์
ฉะนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้หากไม่จำเป็นจริงๆ
หากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์บอกว่าเป็นโรคริดสีดวงทวาร แพทย์จะต้องดูว่า มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้า ไม่เจ็บ ไม่มีเลือดออกมาก แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่ดันกลับเข้าไปเองและให้เน้นรับประทานอาหารที่มีกากใยเยอะๆ ถ้านั่งแล้วเบ่งอุจจาระไม่ออกก็ไม่ต้องเบ่งต่อ ถ้าคุณแม่ปฏิบัติตามได้ดีก็ไม่มีปัญหา
แพทย์ไม่แนะนำให้คุณแม่ซื้อทั้งยาเหน็บและยาทาตามร้านเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาจะปลอดภัยกับคุณแม่และทารกที่สุด (ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.))
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจและรักษาริดสีดวงทวาร จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android
รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับโรคริดสีดวงทวาร
- ริดสีดวงทวารหนักคืออะไร?
- ริดสีดวงทวารขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร
- อาการโรคริดสีดวงทวารเป็นอย่างไร
- วิธีรักษาริดสีดวงทวารทั้งแบบแผนปัจจุบันและทางเลือก
- การรักษาริดสีดวงทวาร
- ยารักษาริดสีดวง มีแบบไหนบ้าง?
- ผ่าริดสีดวงทวารแบบใหม่เจ็บน้อย ปลอดภัย ฟื้นตัวไว และไม่เสี่ยง
- การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
- ควรบีบริดสีดวงทวาร ทำให้ริดสีดวงแตกไปเลยดีไหม?
- ริดสีดวงแตก ทำอย่างไรดี?
- 7 สิ่งที่ควรทำ ถ้าอยากหายจากริดสีดวงทวาร
- รวมคำถาม-คำตอบเรื่องอาหารการกิน สำหรับผู้เป็นริดสีดวงทวาร
- รีวิว รัดยางริดสีดวง ที่ โรงพยาบาลยันฮี | HDmall
- รีวิว ตรวจหาริดสีดวงทวาร ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2 | HDmall