แบกเป้เที่ยวให้ฟิต พิชิตทุกเส้นทาง

ทริคจากคุณหมอ Backpacker: 7 ส่วนของร่างกายที่ควรเช็คก่อนออกซ่า พร้อมกับยาที่ควรมีพกติดเป้
เผยแพร่ครั้งแรก 15 ก.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
แบกเป้เที่ยวให้ฟิต พิชิตทุกเส้นทาง

ทริคจากคุณหมอ Backpacker: 7 ส่วนของร่างกายที่ควรเช็คก่อนออกซ่าพร้อมกับยาที่ควรมีพกติดเป้

บทความนี้จะขอแชร์เคล็ดลับสุขภาพสำหรับนักเดินทางที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในต่างแดนด้วยตนเองหรือ backpacker การท่องเที่ยวแบบนี้ต้องทำการบ้านเยอะเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนท่องเที่ยว ศึกษาเส้นทาง จองตั๋วเครื่องบิน รถ เรือ ที่พักหาที่กินที่ช๊อปปิ้ง เป็นต้น จนหลายๆคนลืมเตรียมสิ่งสำคัญที่สุดไปนั่นคือเตรียมตัวเอง เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางสุขภาพในต่างประเทศนั้นแพงมาก ดังนั้นการเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนเดินทางรู้จักป้องกันและรับมือกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดระหว่างการเดินทางจะทำให้ท่องเที่ยวสนุกมากขึ้น เรามาดูกันเลยว่าจะเตรียมดูแลตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้าได้อย่างไร

1. สมอง หลายคนคงสงสัยว่าเกี่ยวอะไรกับการไปเที่ยว ลองจินตนาการว่าต้องรีบเคลียร์งานเพื่อจะได้ลาไปเที่ยวยาวๆ ระหว่างนั้นเราอาจจะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ พักผ่อนน้อยสุดๆ เมื่อถึงวันจัดกระเป๋าไปเที่ยวจริงแทบจะไม่เหลือพลังแล้วตั๋วโปรโมชั่นที่เป็นมิตรกับเงินในกระเป๋าอาจบังคับให้เราต้องไปสนามบินแต่เช้าตรู่ หรือรอจนดึกดื่นเพื่อ check in ปัญหาใหญ่ของการอดหลับอดนอนและความอ่อนเพลียก่อนเดินทางคือทำให้เบลอ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าลืมเวลาบินใหม่ที่สายการบินเพิ่งแจ้งเลื่อนการเดินทาง ลืมหยิบ passport เล่มที่ยังไม่หมดอายุมา ลืมรหัสกระเป๋าที่เพิ่งล๊อคไปเมื่อสักครู่หรือลืมสัมภาระไว้ในแทกซี่ ในกรณีคงไม่มีอะไรดีไปกว่าแนะนำให้เตรียมตัวแต่เนิ่นๆและรับประทานอาหารบำรุงสมองบ้างจะช่วยให้สมองไม่อ่อนล้ามาก สำหรับคนที่เพิ่งหายป่วยจากโรคทางสมอง เช่นศีรษะได้รับความกระทบกระเทือนหลังจากรักษาตัวหายดีแล้วอยากจะไปเที่ยวต่อโดยต้องเดินทางกับเครื่องบิน กรณีนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าร่างกายพร้อมสำหรับบินหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้รับการผ่าตัดสมองเพราะจะมีอากาศที่ร่างกายยังดูดซึมไม่ หมดบางส่วนเหลือค้างอยู่ภายใน เมื่อความกดอากาศเปลี่ยนแปลง ฟองอากาศเหล่านี้จะขยายตัวและเซาะไปตามเยื่อหุ้มสมองทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ส่วนอาการปวดศีรษะธรรมดาๆก็อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างท่องเที่ยวเนื่องจากความเหน็ดเหนื่อย นอนดึก อดอาหารสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและความเครียดได้เช่นกัน แต่กรณีปวดศีรษะร่วมกับมีไข้ ซึม อาเจียน เวียนศีรษะร่วมกับเดินทางไปในประเทศร้อนชื้น ต้องระวังภาวะติดเชื้อในสมองยาที่แนะนำสำหรับอาการปวดศีรษะสำหรับผู้ใหญ่ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • Paracetamol (500 mg) 1 เม็ดเวลามีอาการ
  • Ibruprofen (400 mg) 1 เม็ดวันละ 3 ครั้งหลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น ในกรณีสงสัยเป็นไข้เลือดออกหรือไข้ออกผื่นแนะนำให้รับประทานแต่ paracetamol แล้วรีบไปพบแพทย์
  • Vitamin B complex 1 เม็ดวันละ 3 ครั้งหลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น ช่วยบำรุงสมอง

2. ดวงตา การไปเที่ยวด้วยตัวเองต้องมีมีสายตาที่ดีร่วมกับทักษะในการอ่านป้ายบอกทางหนังสือคู่มือ แผนที่ บอร์ดแจ้งเที่ยวบิน หมายเลขสายพานรับกระเป๋าป้ายบอกทางไปห้องน้ำ ทางหนีไฟ ป้ายรถประจำทางหมายเลขประจำชานชลารถไฟ เลขประจำโบกี้รถไฟ ป้ายแสดงการเดินรถไฟฟ้าหรือประตูทางออกตามสถานีรถไฟฟ้าเป็นต้น ในบางสถานการณ์เช่นมาถึงสถานีรถไฟช้าและกำลังจะตกรถไฟ ตั๋วรถไฟที่สำรองที่นั่งออนไลน์ไม่ได้บอกเลขชานชาลา ต้องหาเลขที่ชลาบนบอร์หาชานชาลาว่าอยู่ตรงไหนอีกเพราะสถานีรถไฟในเมืองใหญ่มักซับซ้อนมีหลายสิบชานชาลา หากมีกระเป๋าสัมภาระใบโตๆ อาจจะต้องมองหาลิฟท์หรือบันไดเลื่อน เมื่อถึงชานชาลาแล้วจะต้องเชคว่าไม่มีการเปลี่ยนขบวนรถไฟรวมถึงมองหาเลขโบกี้รถไฟ ใครที่ตาไวจะมีโอกาสขึ้นรถไฟได้ทัน ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาหาขบวนรถคันต่อไปหรือตกขบวนรถไฟที่จองต่อขบวนไว้นั่นเอง การดูแลดวงตาระหว่างเดินทางให้ดีจึงมีความสำคัญการท่องเที่ยวมีโอกาสให้เกิดอาการตาแห้งและระคายเคืองเนื่องจากแสงแดดหรือ แสงสะท้อน เช่นในทะเล ทะเลทรายหรือหิมะ มลภาวะ ฝุ่น ควันและสภาพอากาศคนที่มีสวมคอนแทคเลนส์อาจเกิดแผลที่กระจกตาหรือตาแดงจากการอักเสบติดเชื้อได้ง่าย บางครั้งอาการรุนแรงจนทำให้เป็นแผลเป็นบนกระจกตาและสูญเสียการมองเห็นในที่สุด การสวมแว่นกันแดดและใช้ยาอย่างเหมาะสมสามารถช่วยได้รวมถึงหมั่นล้างมือและหลีกเลี่ยงการขยี้ตายาที่ช่วยป้องกันภาวะตาแห้งที่ควรติดตัวระหว่างเดินทางคือ

  • Vidisic eye gel เจลป้ายตาวันละ 3-4 ครั้ง ป้องกันอาการตาแห้งและระคายเคืองตา
  • Tear natural free หยอดตาครั้งละ 1-2 หยด วันละ 4 ครั้ง ป้องกันอาการตาแห้งและระคายเคืองตา
  • Hista-oph หยอดตาครั้งละ 1-2 หยด วันละ 4 ครั้ง รักษาอาการตาอักเสบจากการระคายเคืองใช้ได้ในผู้ที่เป็นต้อเนื้อและต้อลม
  • Normal saline irrigation ล้างตาเมื่อสงสัยมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา
  • Astaxanthin (12mg) 1 ครั้งหลังอาหารเช้า บำรุงสายตา

3. ปอดและทางเดินหายใจ การเดินทางไปเที่ยวตามภูเขาหรือที่ราบสูงมากกว่า 8000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล มีความจำเป็นอย่างมากในการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาสภาวะก๊าซออกซิเจนเบาบางซึ่งในบทความนี้จะไม่ได้กล่าวถึงแต่สำหรับการท่องเที่ยวทั่วไปก็ต้องระมัดระวังโรคที่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจไม่แพ้กัน เนื่องจากสภาพอากาศและอุณหภูมิของโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคติดต่อที่อันตรายมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่แพร่กระจายทางระบบทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดใหญ่ไข้กาฬหลังแอ่น วัณโรคปอดอีโบลาMERV-COV คอตีบไอกรนหรือโรคไข้ออกผื่นเช่น สุกใส มือเท้าปาก ดังนั้นก่อนเดินทางควรติดตามถานการณ์โรคระบาดและโรคเฝ้าระวังเสมอ ผู้ที่มีโรคปอดและหลอดลมประจำตัวควรไปรับการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่และรับวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับคนที่แข็งแรงก่อนเดินทางควรดูประวัติวัคซีนว่าได้รับครบหรือไม่และสังเกตผู้ที่อยู่รอบข้างหากพบบุคคลที่มีอาการไข้ หน้าแดง มีผื่นตามร่างกาย ไอจาม น้ำมูกไหล หรือบุคคลที่ดูผอมมาก หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อยควรหลีกเลี่ยง กรณีต้องอยู่ใกล้ชิดเช่นอยู่ในรถคันเดียวกันควรขอร้องให้เขาสวมหน้ากากอนามัย ส่วนการดูแลตนเองทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัย ใช้มือสัมผัสสิ่งของให้น้อยที่สุด ทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ไม่เอามือสัมผัสใบหน้าและไม่รับประทานอาหารตลอดเวลาที่ต้องอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สงสัยว่ามีอาการป่วย กรณีมีไข้ ไอเจ็บคอปวดเมื่อยร่างกายสามารถรับประทานยาแก้ไข้หวัดบรรเทาอาการเบื้องต้นโดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเพราะส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัส แต่ถ้าไอมีเสมหะสีเขียว หายใจหอบเหนื่อย หรือไม่มีอาการไอแต่เจ็บคอมากร่วมกับมีไข้สูงจะทำให้สงสัยติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งต้องรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วยตัวอย่างยาทางระบบทางเดินหายใจที่ควรมีติดตัวได้แก่

  • Bromhexine 1 เม็ดวันละ 3 ครั้งหลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น แก้ไอ ขับเสมหะ
  • Ventolin (2mg) 0.5-1 เม็ดวันละ 4 ครั้งหลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น-ก่อนนอนขยายหลอดลม
  • Cetirizine (10mg) 1 เม็ดวันละ 1 ครั้ง แก้อาการภูมิแพ้ จาม ลดน้ำมูก
  • ยาอมแก้เจ็บคอมะขามป้อม
  • Nasal spray พ่นจมูกแก้อาการโรคภูมิแพ้จมูก คัดจมูก
  • Vaccine แนะนำ influenza vaccine (ไข้หวัดใหญ่), pneumococcal vaccine (ปอดบวมสำหรับคนที่อายุมากกว่า 65 ปี หรือมีโรคประจำตัว), MMR vaccine (หัด หัดเยอรมัน คางทูม), varicellar vaccine (สุกใส)

4. หัวใจและหลอดเลือด คนที่มีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัวควรได้รับการตรวจร่างกายก่อนเดินทางเพื่อให้แพทย์ประเมินว่าพร้อมเดินทางหรือไม่มีบ่อยครั้งที่ผู้เสียชีวิตบนเครื่องบินหรือแม้แต่นักบินเองมีอาการป่วยเป็นโรคหัวใจเฉียบพลัน สำหรับคนที่ไม่โรคประจำตัวอยู่ก่อนก็อย่าชะล่าใจหากรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติหัวใจเต้นเร็วแรง วูบบ่อยหรือเจ็บหน้าอกควรไปตรวจกับแพทย์ก่อนออกเดินทาง กรณีตนเองหรือคนข้างเคียงรู้สึกเจ็บหน้าอกเจ็บร้าวจากกลางอกไปคอหรือบ่าด้านซ้าย หน้าซีดมือเท้าเย็นให้สงสัยว่าจะมีภาวะหัวใจขาดเลือด โรคนี้อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ การศึกษาการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น (basic life support) จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตระหว่างรอหน่วยกู้ชีพมาช่วยการเดินทางที่ต้องนั่งนานๆอาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน (deep vein thrombosis) ซึ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน มีโรคประจำตัวเป็นมะเร็ง โรคแพ้ภูมิตัวเอง(SLE) ผู้ที่เคยมีภาวะหลอดเลือดดำอุดตันมาก่อนหรือผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงกับภาวะนี้ดังนั้นก่อนเดินทางควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการใช้ยาป้องกันคำแนะนำ: หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด เนื่องจากออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจทำให้มีภาวะหัวใจขาดเลือดและหัวใจวาย ผู้ที่มีโรคฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติต้องควบคุมระดับฮอร์โมนให้ดีก่อนเพราะมีความสัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจโดยตรง ไม่มียาแนะนำสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัวสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องพกเข็มฉีดยา เช่นเบาหวานจำเป็นต้องมีใบอนุญาตให้พกเข็มฉีดยาติดตัวระหว่างการเดินทางเพื่อแสดงแก่สายการบินด้วย

5. ทางเดินอาหาร ทุกคนทราบดีว่าอาหารและน้ำดื่มที่สุกสะอาดจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในทางเดินอาหารได้ อย่างไรก็ตามมีหลายคนรับประทานอาหารหมดอายุเพราะอ่านป้ายแสดงวันผลิตและวันหมดอายุผิด จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าประเทศนั้นๆมีการเรียงลำดับวันเดือนปีอย่างไร เช่นประเทศที่ใช้ วัน-เดือน-ปี ได้แก่ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เดือน-วัน-ปี ได้แก่ อเมริกา แคนาดา ปี-เดือน-วัน ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เป็นต้น สำหรับคนที่จะเดินทางไปยังประเทศฝั่งเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาควรระมัดระวังการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอที่ปนเปื้อนจากอาหารและหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของอหิวาตกโรค ใครวางแผนเดินเที่ยววันละหลายๆกิโลเมตรร่วมกับแบกสัมภาระหนักๆ ควรเฝ้าระวังโรคริดสีดวงทวาร เนื่องจากเกิดเลือดดำคั่งเกิดเป็นเส้นเลือดขอดบริเวณลำไส้ใหญ่ใกล้ทวารหนัก ใครที่มีริดสีดวงทวารหนักอยู่เดิมหรือสาวๆที่ท้องผูกบ่อยๆจะมีอาการจะกำเริบได้ง่าย ควรดื่มน้ำรับประทานไฟเบอร์และใช้ยาที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันและลดอาการไม่ให้เป็นรุนแรง อย่างไรก็ตามการดื่มน้ำเยอะๆอาจทำให้เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นจึงควรศึกษาว่าห้องน้ำในประเทศนั้นๆเป็นอย่างไรจะช่วยให้การเดินทางราบรื่นขึ้นมากทีเดียวตัวอย่างยาที่แนะนำคือ

  • Proctosedyl 1 เม็ดเหน็บทวารหนักก่อนนอนป้องกันและรักษาภาวะริดสีดวงทวารหนัก
  • วาสลีน ทารอบๆทวารหนักก่อนถ่ายอุจจาระจะป้องกันการเสียดสีและแผลที่จะเกิดบริเวณทวารหนัก
  • Senokot 2 เม็ด ก่อนนอน ช่วยลดอาการท้องผูก
  • Gaviscon 1 ซองหลังอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น หรือเมื่อมีอาการ แก้อาการกรดไหลย้อน
  • Activated charcoal แก้อาการท้องเสีย

6. ประจำเดือน บางครั้งการเดินทางในช่วงวันนั้นของเดือนอาจจะทำให้หมดสนุกเพราะนอกจากจะอารมณ์ไม่ดีแล้ว ยังต้องทนปวดประจำเดือน เข้าห้องน้ำบ่อยๆ หากใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอาจทำให้ติดเชื้อง่ายทำกิจกรรมลุยๆ ไม่สะดวกสิ่งสำคัญกว่านั้นคือควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนออกเดินทาง หากทราบว่าตั้งครรภ์อยู่ควรให้แพทย์ประเมินก่อนเดินทางเสมอ สำหรับคนที่เพิ่งตั้งครรภ์อ่อนๆ อาจเกิดการตั้งควรรภ์นอกมดลูกซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ โดยจะมีอาการปวดท้องน้อยและเลือดออกทางช่องคลอดภาวะนี้อันตรายมากเพราะทำให้เลือดออกในช่องท้องจนช๊อคและต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วนยาที่แนะนำสำหรับสาวๆคือ

  • ยาแก้ปวดประจำเดือนกลุ่ม NSAIDs
  • Primolut N 1เม็ด เช้า-เย็น รับประทานก่อนมีประจำเดือน 4-5 วัน ติดต่อกันไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพื่อเลื่อนประจำเดือน
  • แนะนำให้สาวๆทำอุลตร้าซาวด์เพื่อค้นหาความผิดปกติของมดลูกและรังไข่เช่น ซีสรังไข่ บางครั้งไม่แสดงอาการแต่อาจเกิดภาวะซีสแตกหรือถุงน้ำบิดขั้วเฉียบพลันทำให้ปวดท้องรุนแรงและต้องผ่าตัด

7. กระดูกและกล้ามเนื้อ การสะพายเป้บนหลังแล้วออกเดินทั้งวันสามารถสร้างปัญหาให้กับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอเช่น สายสะพายกดเส้นประสาทบริเวณไหปลาร้าทำให้ยกแขนไม่ขึ้นเลย กล้ามเนื้อคอบ่าไหล่อักเสบเกิดอาการปวดหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทำให้ปวดเหมือนไฟช๊อตลงแขนข้างใดข้างหนึ่ง การเลือกเป้สะพายหลังที่มีคุณภาพเหมาะสมกับเพศและความสูงการบรรจุน้ำหนักที่ไม่มากจนเกินไป รวมถึงออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังอย่างสม่ำเสมอสวมรองเท้าที่รับน้ำหนักได้ดีจะช่วยป้องกันได้ นอกจากนี้คนที่เลือกเดินทางด้วยกระเป๋าลากใบใหญ่ใบเดียว ควรศึกษาก่อนว่าที่ๆจะไปมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากน้อยเพียงใดเช่นบันไดเลื่อนหรือลิฟท์ตามสถานีรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ที่พักรวมถึงพื้นถนน แม้ว่ากระเป๋าใบโตจะสะดวกในการลากไปมาในสนามบินแต่มันจะเป็นปัญหาหนักถ้าต้องยกขึ้นลงบันได แนะนำให้คอยสังเกตป้ายลิฟท์ ป้ายคนพิการไว้ไม่แนะนำให้ยกกระเป๋าคนเดียวเพราะเสี่ยงต่อการปวดหลัง ควรระมัดระวังทุกๆก้าวของการเดินบางครั้งอาจเพลิดเพลินกับวิวทิวทัศน์จนเกิดอุบัติเหตุเช่น หกล้ม เท้าแพลง ชนสิ่งของอาจบาดเจ็บเล็กน้อยหรือรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ คำแนะนำคือ

  • ยารับประทานแก้เสบกลุ่ม NSAID ลดอาการปวดกล้ามเนื้อและใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะและปวดประจำเดือนได้ กรณีไม่ต้องการรับประทานยาสามารถใช้ spray หรือครีมทาบริเวณที่ปวดได้เช่นกัน
  • พลาสเตอร์ปิดแผล ยาใส่แผล เทปพันข้อเท้า ข้อเข่า(ต้องศึกษาวิธีการใช้) แผ่นเจลประคบร้อนและเย็น
  • Reparil 1 เม็ด หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น ลดอาการบวมของกล้ามเนื้อ การเตรียมตัวที่ดีจะทำให้การเดินทางประสบความสำเร็จไปกว่าครึ่ง

การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางสุขภาพและรู้จักดูแลตนเองเบื้องต้นจะช่วยให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตามอย่าลืมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันด้วยการทำประกันการเดินทาง ขอให้ทุกคนได้ออกไปเห็นโลกกว้าง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สนุกตลอดการเดินทางและกลับบ้านอย่างปลอดภัย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Overseas travel – health tips. Better Health. (https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/travel-health-tips)
How to Stay Safe on Hiking Trails and in the Wilderness. Verywell Fit. (https://www.verywellfit.com/hiking-and-backpacking-safety-tips-3119265)
The 15 Best Backpacking Foods and Meals. Healthline. (https://www.healthline.com/nutrition/backpacking-food)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)