โดยปกติ คนหนุ่มสาวจะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและยืดหยุ่นสูง สามารถทรงตัวและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอหลังจากการบาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงหลากหลายอย่าง กล้ามเนื้อที่แข็งแรงกลับอ่อนแอลง แม้ผู้สูงอายุบางคนจะมีไม้เท้าเป็นตัวช่วยพยุงร่างกาย แต่ก็ยังเสี่ยงต่อการหกล้มได้
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (Center for Disease Control and Prevention - CDC) ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้มีอายุอายุ 65 ปีขึ้นไป มีโอกาสหกล้มได้มากถึง 25% หรือเท่ากับ 1 ใน 4 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด และหากเคยหกล้มมาแล้ว 1 ครั้ง โอกาสที่จะหกล้มซ้ำเป็นครั้งที่ 2 มีความน่าจะเป็นเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า คือ 50% เลยทีเดียว
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
สิ่งที่น่ากลัวคือ การหกล้มนำไปสู่ความพิการและภาวะทุพพลภาพตามมา
อาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากการหกล้ม
อาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากการหกล้ม ได้แก่
- ภาวะเลือดออกในสมองจากศีรษะกระแทก (Traumatic Brain Injury - TBI) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความรู้สึกตัวลดลง ทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด สิ่งที่ต้องระวังในผู้ป่วยสูงอายุที่หกล้มศีรษะกระแทกคือ หลังจากล้มแล้วผู้ป่วยมีอาการหมดสติ จำเหตุการณ์ไม่ได้ ซึมลง มีอาการชาหรืออ่อนแรงที่แขนขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปี จำเป็นต้องใช้ภาพถ่ายทางรังสีช่วยวินิจฉัยเนื่องจากมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมองได้สูง
- กระดูกหัก ข้อต่อและเอ็นได้รับบาดเจ็บ (Bone Fracture) ได้แก่ สะโพกหัก (Hip Fracture) มีผลต่อการเคลื่อนไหวและการพยุงสมดุลของร่างกาย หากมีอาการปวดบริเวณกระดูกมากหรือกระดูกผิดรูป แม้ว่าจะมีบาดแผลภายนอกหรือไม่ก็ตาม จำเป็นต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อเอกซเรย์ดูความผิดปกติของกระดูกหลังจากล้มกระแทก เพราะผู้สูงอายุมักมีภาะกระดูกพรุน ทำให้กระดูกแตกหักง่ายกว่าวัยอื่นๆ
- ภาวะซีดหรือโลหิตจาง (Anemia) เป็นภาวะที่จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลงภายหลังจากการเสียเลือดหรือได้รับบาดเจ็บ จำเป็นต้องได้รับการห้ามเลือดโดยด่วนเพื่อไม่ให้เลือดออกมากเกินไป มิฉะนั้นความดันจะตก จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ สาเหตุหลักที่ทำให้เสียเลือดมากหลังการหกล้มของผู้สูงอายุ ได้แก่ ภาวะเลือดออกในอวัยวะภายใน กระดูกหัก บาดแผลฉีกขาดตามร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องเย็บแผลเพื่อห้ามเลือด นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตได้จากรอยฟกช้ำจากการบาดเจ็บ อาการซีด แต่บางภาวะก็ไม่สามารถประเมินได้จากการสังเกตภายนอก เช่น เลือดออกในอวัยวะภายใน เพราะฉะนั้นหากมีผู้สูงอายุในบ้านหกล้ม ต้องรีบพาไปพบแพทย์ให้ประเมินอาการทุกครั้ง
- ภาวะติดเชื้อ (Infection) ได้แก่ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection) ปอดอักเสบ (Pneumonia) เป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยนอนติดเตียงหรือไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะร่างกายเช่นนี้ ร่วมกับภูมิคุ้มกันที่แย่ลงตามวัยของผู้สูงอายุ จำเป็นต้องอาศัยการกายภาพโดยเร็วหากสามารถทำได้ ก็จะลดภาวะติดเชื้อลงได้
สิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการหกล้มได้บ่อย
- ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง จากปริมาณกล้ามเนื้อที่จะค่อยๆ ทยอยลดลงตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ร่วมกับการสึกหรอของกระดูกที่เพิ่มสูงขึ้น การทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยใช้แรงเท่าเดิมจึงทำได้ยากลำบากมากขึ้น
- ความสามารถการทรงตัวถดถอย โดยทั่วไประบบต่างๆ สามารถทำงานประสานกันเพื่อให้ร่างกายมีความสมดุล ตั้งตรงอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวช่วยพยุงหรือไม้เท้า แต่ในผู้สูงอายุจะทำได้ยาก นอกจากนี้ยาบางชนิดยังมีผลข้างเคียงต่อการทรงตัวอีกด้วย
- สายตาที่แย่ลง สายตามีผลต่อการทรงตัวและหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง สายตาที่พร่ามัวหรือการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน จึงเป็นอุปสรรคต่อการปรับสมดุลให้ร่างกายสามารถตั้งตรง และเดินได้ไม่สะดุดหกล้ม
- ขาดความยืดหยุ่นของข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือข้อสะโพกและข้อเท้า การที่มีข้อติด ไม่ยืดหยุ่น ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูกไม่สัมพันธ์กัน เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการหกล้มในผู้สูงอายุ
- ความอึดหรือความทนของกล้ามเนื้อลดลง การทำงานของกล้ามเนื้อโดยการหดตัว ทำให้ทำกิจกรรมต่างๆ เข่น ยืน เดิน ไม่สามารถทำได้นาน นำไปสู่ความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อ และหกล้มลงได้ง่าย
- ความสามารถและความต้องการในการเดินลดลง ผู้สูงอายุมักปฏิเสธที่จะต้องยืนหรือเดินนานๆ จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ซึ่งหากไม่ได้ใช้งานกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมถอยของกล้ามเนื้อและการทรงตัวที่แย่ลงเป็นวงจรตามไปเรื่อยๆ
อาการที่ต้องสังเกตเป็นพิเศษ
หากผู้สูงอายุหกล้มแล้วมีอาการต่อไปนี้ ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
- ระดับความรู้สึกตัวลดลง เช่น ซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือมีอาการเอะอะโวยวาย ไม่ทำตามสั่ง ไม่โต้ตอบ จำไม่ได้ สับสน
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียนพุ่ง
- มือและแขนขาอ่อนแรง มีการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ ชัก
- ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด พูดช้า ติดขัด
- เลือดออก เกิดบาดแผลหรือรอยฟกช้ำตามร่างกาย กระดูกผิดรูป
- หายใจติดขัด เหนื่อย จุกแน่นหน้าอก
- ปวดท้อง อาเจียนเป็นเลือด หรืออาเจียนเป็นน้ำสีดำ
วิธีลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุหกล้มในผู้สูงอายุ
วิธีลดความเสี่ยงของการหกล้มในผู้สูงอายุ มีดังนี้
- จัดบริเวณภายในบ้านให้ปลอดภัย ไม่มีสิ่งกีดขวาง แสงสว่างส่องถึง มีราวสำหรับจับเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถพยุงตัวเองได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว และความยืดหยุ่นของข้อ
- ไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาปัญหาสายตา ลดความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้ม
- ตรวจร่างกายเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว และต้องรับประทานยาเป็นประจำอย่างเคร่งครัด
- ใช้ไม้เท้าช่วยพยุง อาจเป็นแบบขาเดียวหรือสี่ขาที่เหมาะกับผู้สูงอายุแต่ละคน เพื่อให้สามารถทรงตัวได้อย่างสมดุล