ความหมายของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection: UTI) หมายถึง การอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยพบตั้งแต่ท่อปัสสาวะไปจนถึงไต ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นบริเวณทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ซึ่งได้แก่
- กระเพาะปัสสาวะ (Bladder) เรียกว่า “Cystitis”
- ท่อปัสสาวะ (Urethra) ซึ่งเป็นท่อที่ลำเลียงน้ำปัสสาวะออกไปจากร่างกาย เรียกว่า “Urethritis”
ส่วนการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- บริเวณไต (Kidney) เรียกว่า “Pyelonephritis”
- ท่อไต (Ureter)
นอกจากนี้ จากการติดเชื้อดังกล่าว ยังสามารถทำให้เกิดโรคกรวยไตอักเสบได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่า แต่หากกรวยไตมีการติดเชื้อ หรือเกิดการอักเสบ อาการจะรุนแรงกว่าการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง โดยคนไข้มักจะมีอาการไข้ ปัสสาวะขัด ร่วมกับปวดหลัง
หากมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจนำไปสู่การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
อุบัติการณ์การเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะพบได้ค่อนข้างบ่อยในผู้หญิงทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มากกว่าในผู้ชาย งานวิจัยหนึ่งเผยว่า โดยทั่วไป 60% ของผู้หญิงทั่วไปจะมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต
แต่ทั้งนี้ การที่พบโรคนี้ในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชายนั้น มีความสัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพของอวัยวะเพศหญิงซึ่งสามารถติดเชื้อได้มากกว่าในเพศชาย เช่น
- มีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่า
- ความชื้นรอบบริเวณรูเปิดของท่อปัสสาวะมากกว่า
- รูเปิดของท่อปัสสาวะใกล้กับทวารหนักมากกว่า
สำหรับวัยของผู้หญิงที่มักจะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมากที่สุด คือ หญิงวัยเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์ จะมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้มากกว่าหญิงที่ไม่มีเพศสัมพันธ์
ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1 วันใน 1 สัปดาห์จะสามารถเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ถึง 37% และในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 5 วันใน 1 สัปดาห์พบว่า มีโอกาสเกิดโรคมากกว่าถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์เพียง 1 วัน
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
ภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียเข้าไปในทางเดินปัสสาวะโดยผ่านทางท่อปัสสาวะ ส่วนมากจะเป็นเชื้อ E. coli (อี. โคไล) และแบคทีเรียอื่น ๆ ที่พบได้ปกติในบริเวณทางเดินอาหาร
ส่วนการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ได้แก่เชื้อ Herpes (เฮอร์พีรส์) Gonorrhea (โกโนเรีย) Chlamydia (คลาไมเดีย) และ Mycoplasma (ไมโคพลาสมา) สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้
สำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เพิ่มโอกาสการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- มีท่อปัสสาวะที่ค่อนข้างสั้น
- ในหญิงที่มีการเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศไม่เหมาะสม เช่น การเช็ดจากทวารหนักไปอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นการนำพาให้เชื้อแบคทีเรียจากรูทวารมายังท่อปัสสาวะได้
- ในชายที่มีต่อมลูกหมากขนาดใหญ่ หรือมีภาวะต่อมลูกหมากโต (Benign Prostate Hyperplasia: BPH)
- ปัสสาวะน้อย จากการที่ดื่มน้ำปริมาณน้อยเกินไป
- เป็นนิ่วบริเวณกรวยไต หรือการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ
- การมีเพศสัมพันธ์
- การใช้ห่วงคุมกำเนิด หรือใช้สารทำลายเชื้ออสุจิในการคุมกำเนิด
- วัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงระบบทางเดินปัสสาวะในผู้หญิง
- ผู้สูงอายุ
- การใช้สายสวนปัสสาวะในการขับปัสสาวะ
- ได้รับการผ่าตัด หรือมีหัตถการบริเวณที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะในช่วงที่ผ่านมา
- เป็นโรคเบาหวาน หรือโรคอื่นที่ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง
- การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
- ผู้ที่มีประวัติติดเชื้อทางเดินปัสสาวะตอนเด็ก
อาการของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะกะปริบกะปรอย
- ปัสสาวะแสบขัด
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัสสาวะเป็นหนอง
- ปวดท้องน้อย
- เจ็บชายโครง ปวดบั้นเอว
- หนาวสั่น เป็นไข้
โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์เป็นปัญหาที่พบบ่อย เนื่องจากการตั้งครรภ์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายรวมทั้งระบบทางเดินปัสสาวะ การที่มดลูกขยายตัวทำให้กดกระเพาะปัสสาวะ และท่อไต รวมทั้งในช่วงนี้ยังมีเลือดไหลเวียนเพิ่มมากขึ้น
หากคุณกำลังตั้งครรภ์ และพบว่ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่น มีไข้สูง หนาวสั่น ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษา เนื่องจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหวางตั้งครรภ์ได้หลายอย่าง เช่น
- ทารกน้ำหนักน้อย
- ทารกเจริญเติบโตช้า
- ทารกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด
การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection: UTI)
การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นหลัก โดยอาจเป็นรูปแบบของยาเม็ดที่ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 3-7 วันผล ซึ่งโดยปกติ การรับประทานยาปฏิชีวนะแบบเม็ดจะให้ผลดี และสามารักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะถึง 85-100 %
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
หากคุณเคยได้รับการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมาแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนยาปฏิชีวนะเป็นตัวอื่นที่แตกต่างจากตัวแรกสำหรับการรักษาอาการติดเชื้อในครั้งต่อไป เนื่องจากแบคทีเรียบางชนิดที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะนั้น อาจดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวเดิมได้
ยาปฏิชีวนะสำหรับโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
ปัจจุบันมียาปฏิชีวนะหลายชนิด ที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หากคุณเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่ไม่ลุกลามไปถึงการติดเชื้อที่ไต แพทย์อาจจะสั่งยาในกลุ่มต่อไปนี้
- Macrobid (nitrofurantoin monohydrate) – แมคโครบิด (ไนโตรฟูแรนโตอิน โมโนไฮเดรต)
- Bactrim (trimethoprim and sulfamethoxazole) – แบคทริม (ไตรเมโทพริม และ ซัลฟาเมททอคซาโซล)
- Selexid (pivmecillinam) – ซีเล็กส์สิด (พิฟเมคซิลลินัม)
- Monurol (fosfomycin tromethamine) – โมนูรอล (โฟสโฟมัยซิน โทรเมททามีน)
- Cipro (ciprofloxacin) – ซิโปร (ซิโปรฟลอกซาซิน)
- Levaquin (levofloxacin) – ลีวาควิน (ลีโวฟล็อกซาซิน)
- Augmentin (amoxicillin and clavulanate) – อ็อกเมนติน (แอมอกซี่ซิลิน และ คลาวูลาเนต)
สำหรับปัจจัยที่แพทย์จะเลือกว่า ควรใช้กลุ่มใดในการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย จะมีดังต่อไปนี้
- มีการติดเชื้อลามไปถึงไตหรือไม่
- ไตของคุณมีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่
- คุณสามารถกินยาหลาย ๆ เม็ดต่อวันได้หรือไม่
- ประวัติการแพ้ยา
- ผลการเพาะเชื้อปัสสาวะ (หากมีการตรวจ และพบว่ามีการติดเชื้อ)
อย่างไรก็ตาม หากมีการติดเชื้อที่ค่อนข้างรุนแรง จนทำให้การติดเชื้อไปสู่ไต คุณอาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำซึ่งอาจใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลาหลายวัน
ถ้าคุณได้รับยาปฏิชีวนะในระยะเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็วหลังมีอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ก็จะสามารถบรรเทาอาการได้ภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งถ้าได้รับการรักษาช้า จะทำให้มีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะนานขึ้นกว่าเดิม
ยาอื่นๆ สำหรับโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
ในบางครั้งแพทย์อาจสั่งยาไพรีเดียม หรือ Pyridium (phenazopyridine) เป็นยาเสริมจากยาปฏิชีวนะ ซึ่งยาชนิดนี้สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อใช้ลดอาการปวดบริเวณทางเดินปัสสาวะ
การกินไพรีเดียม 3 ครั้งต่อวัน เป็นระยะเวลา 2 วัน อาจช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะแสบขัดในช่วงเริ่มต้น จนกว่ายาปฏิชีวนะจะออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ
การรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่เกิดขึ้นซ้ำ
ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะในผู้หญิงอาจเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งอาการดังกล่าวหมายความว่า มีการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้งใน 6 เดือน หรือมากกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี
การลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อซ้ำ สามารถทำได้หลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น การฝึกการรักษาความสะอาด โดยเช็ดทำความสะอาดหลังปัสสาวะหรืออุจจาระจากหน้าไปหลัง และการหลีกเลี่ยงการใช้สารทำลายเชื้ออสุจิ
การติดเชื้อ ESBL (อี เอส บี แอล)
การติดเชื้ออีกชนิดหนึ่งในทางเดินปัสสาวะที่รักษายาก และเป็นที่สนใจของแพทย์ ก็คือ การติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Extended-Spectrum Beta-Lactamase (ESBL)-Producing organism (กลุ่มเชื้อโรคที่สร้างเบตาแลคแทมเมส)
โดยการติดเชื้อโรคกลุ่มนี้จะทำให้ดื้อต่อยาปฏิชีวนะทั่วไปหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ
โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ จะรักษาด้วยยา Doribax (doripenem) หรือยาปฏิชีวนะชนิดอื่นในกลุ่ม Cabapenem
ภาวะแทรกซ้อนของการเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
ส่วนมากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะจะไม่ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ หากได้รับการรักษาโดยเร็ว แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังต่อไปนี้
- เกิดความเสียหายต่อไตอย่างถาวร
- เกิดการติดเชื้อซ้ำ
- หากเกิดในหญิงตั้งครรภ์ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย
- ทำให้ท่อปัสสาวะในผู้ชายตีบแคบลง
- อาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) โดยเฉพาะในกรณีที่ติดเชื้อบริเวณไต (urosepsis) ซึ่งมีอันตรายถึงแก่ชีวิต
การป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
วิธีการต่อไปนี้ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวันเพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียออกมาได้ง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะที่นานเกินไป
- หลังปัสสาวะ หรืออุจาระ ควรทำความสะอาดให้ถูกวิธี โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง
- รีบถ่ายปัสสาวะโดยเร็ว หลังจากการมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการใช้สารระงับกลิ่น อุปกรณ์ฉีดล้าง แป้ง หรือผลิตภัณฑ์ของผู้หญิงอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ
- เลือกใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆ แทนการใช้ห่วงคุมกำเนิด สารทำลายเชื้ออสุจิ หรือใช้ถุงยางอนามัยที่ไม่มีสารหล่อลื่น
- ไม่ใส่ชุดชั้นในที่อับชี้น หรือคับแน่นจนเกินไป
- การดื่มน้ำแครนเบอร์รี หรือสารสกัดจากแครนเบอร์รี ซึ่งมีสารสำคัญที่เรียกว่า "PAC" อาจขจัดแบคทีเรีย E.Coli และช่วยป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ แม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาที่ช่วยยืนยัน แต่การดื่มน้ำแครนเบอร์รีก็ไม่ได้ทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย ดังนั้นจึงสามารถดื่มได้
น้ำแครนเบอร์รี่กับโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
มีความเชื่อกันว่า น้ำแครนเบอร์รี่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหวาน หรือ เครื่องดื่มค็อกเทล มีส่วนผสมที่ช่วยลดการยึดเกาะของแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ จึงทำให้แบคทีเรียถูกกำจัดได้ง่ายขึ้น
ซึ่งแม้ว่าน้ำแครนเบอร์รี่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ว่ามีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ดีจริงหรือไม่ แต่การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดโทษอะไร ดังนั้นถ้าคุณเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำหลายครั้ง แพทย์อาจพิจารณาแนะนำคุณให้ดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ก็ได้
เนื่องจากโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หากเป็นแล้วแม้จะรักษาให้หายได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นได้ใหม่อีกหากมีพฤติกรรมเสี่ยง
ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ "ป้องกันตนเอง" ไม่ให้ติดเชื้อจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด รวมทั้งหมั่นสังเกตตนเอง หากมีความผิดปกติที่ระบบทางเดินปัสสาวะควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android
เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดเดียวกันในช่วงๆเวลาใกล้กันได้หรือไม่คะ