กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ปัสสาวะแสบขัด (Dysuria)

ปัสสาวะแสบขัดเกิดจากอะไร? มีอาการอย่างไร? อันตรายไหม? มีการรักษาและป้องกันอย่างไรบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 27 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 23 ม.ค. 2024 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ปัสสาวะแสบขัด (Dysuria)

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ปัสสาวะขัด เป็นสัญญาณความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ
  • อาการอื่นๆ ที่มักจะมีร่วมกับอาการปัสสาวะขัด ได้แก่ มีไข้สูง ปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะสีขุ่น หรือมีเลือดปน เจ็บท้องน้อย
  • สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดมีหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวาน การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน การทำกิจกรรมปั่นจักรยานบ่อยๆ การใช้ยาบางชนิด
  • การรักษาอาการปัสสาวะขัดจะขึ้นอยู่กับโรค หรือความผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการ เช่น ดื่มน้ำให้มากๆ รับประทานยาแก้การติดเชื้อในทางเดินปัสสสาวะ การสลายนิ่วในไต
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั่วไป

หลายคนคงเคยมีอาการ ปัสสาวะแสบขัด หรือเจ็บแสบเวลาปัสสาวะออกมา ซึ่งเป็นอาการที่รบกวนชีวิตประจำวัน จนบางครั้งทำเอาเราขยาดการเข้าห้องน้ำไปเลย อาการปัสสาวะแสบขัดนั้นเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย และสาเหตุส่วนมากมักเกิดจากการอักเสบในทางเดินปัสสาวะหรือในช่องคลอด ถึงแม้จะเป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษา ก็อาจนำไปสู่ความผิดปกติที่รุนแรงได้

อาการที่มาพร้อมกับปัสสาวะแสบขัด

หลายครั้งอาการปัสสาวะแสบขัดมักไม่ได้เกิดขึ้นเดี่ยวๆ แต่จะมาพร้อมกับอาการอื่นๆ ที่บ่งชี้ถึงโรคหรือความผิดปกติด้วย ตัวอย่างเช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ จะพบอาการปัสสาวะแสบขัด ร่วมกับอาการต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ปวดปัสสาวะบ่อย แต่ปัสสาวะออกมาทีละน้อย
  • ปัสสาวะขุ่น และมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • บางครั้งอาจพบเลือดปนในปัสสาวะ
  • เจ็บท้องน้อย หรือบางครั้งปวดไปถึงหลังและเอว
  • มีไข้สูง หนาวสั่น พบบ่อยในผู้ที่เป็นกรวยไตอักเสบ
  • บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • มีของเหลวคล้ายตกขาวออกมาจากท่อปัสสาวะ

แต่หากสาเหตุมาจาก การอักเสบในช่องคลอดหรืออุ้งเชิงกราน ซึ่งพบในเพศหญิง จะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ร่วมกับอาการต่อไปนี้

  • รู้สึกแสบคันที่อวัยวะเพศ
  • เมื่อมีเพศสัมพันธ์จะรู้สึกเจ็บมาก
  • มีตกขาวผิดปกติ เช่น มีสีคล้ำ สีเขียวเหลือง หรือขุ่นและเหนียวคล้ายแป้งเปียก และตกขาวมีกลิ่นผิดปกติ

สาเหตุของปัสสาวะแสบขัด

สาเหตุของอาการปัสสาวะแสบขัดที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)

เป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะแสบขัดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ซึ่งการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบในผู้สูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว 

นอกจากนี้ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ โรคเบาหวาน การตั้งครรภ์ การใช้สายสวนปัสสาวะ 

  • มีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (Urolithiasis)

นิ่วในทางเดินปัสสาวะนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยตำแหน่งที่เกิดนิ่วมากที่สุด คือ ที่ไต โรคนิ่วไตเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมาก โดยเฉพาะคนอายุ 30 – 70 ปี ซึ่งหากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ จะทำให้เกิดอาการปัสสาวะแสบขัด ร่วมกับปวดท้องน้อยร้าวไปถึงสีข้าง 

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการนำนิ่วออกแล้ว ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ใหม่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • มีการติดเชื้อในช่องคลอด หรืออุ้งเชิงกราน

เป็นโรคที่พบเฉพาะในเพศหญิง โดยสาเหตุหลักมักมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อพยาธิ เช่น Candida albicans และ Trichomonas vaginalis  ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเหล่านี้ คือ การรักษาสุขอนามัยไม่ดีพอ เชื้อปนเปื้อนมาจากทวารหนัก หรือติดจากการมีเพศสัมพันธ์  

  • เกิดการระคายเคืองที่อวัยวะเพศ

ความระคายเคือง เกิดขึ้นได้เมื่อมีการเสียดสีที่อวัยวะเพศและปากทางท่อปัสสาวะ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การปั่นจักรยาน 

  • สาเหตุอื่นๆ

เช่น เป็นผลจากยาบางชนิด มีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบน้อยมาก

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปัสสาวะแสบขัด

อาการปัสสาวะแสบขัดที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น

  • ผู้ที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อาจติดเชื้อลุกลามไปที่ไต และไปยังทั่วร่างกาย กลายเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ
  • ผู้ป่วยโรคนิ่วไตที่ไม่ได้รับการรักษา หรือเป็นนิ่วซ้ำบ่อยๆ อาจทำให้ไตบาดเจ็บเรื้อรัง จนกลายเป็นโรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) ได้
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อในช่องคลอด อาจส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้

การรักษาอาการปัสสาวะแสบขัด

แนวทางการรักษาจะแบ่งเป็น การรักษาตามอาการ และ การรักษาที่สาเหตุ

การรักษาตามอาการ 

  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการเจ็บแสบขณะปัสสาวะ อาการเจ็บท้อง และลดไข้
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อเพิ่มปริมาณปัสสาวะ และเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ

การรักษาที่สาเหตุ 

  • หากมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และในช่องคลอด ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ แต่หากมีการติดเชื้อรา แพทย์จะให้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีทั้งประเภทยารับประทานและยาเหน็บ
  • หากเป็นโรคนิ่วไต และก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ จะต้องทำการสลายนิ่วหรือผ่าตัดเพื่อนำก้อนนิ่วออก

การป้องกันอาการปัสสาวะแสบขัด

  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ปัสสาวะมีความเจือจาง จะช่วยป้องกันการเกิดนิ่วที่ไต และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
  • หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
  • ดูแลสุขอนามัยของอวัยวะเพศให้ดี สำหรับผู้หญิง หลังขับถ่ายให้เช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง และพยายามไม่ให้อวัยวะเพศอับชื้น
  • การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยการสวมถุงยางอนามัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องคลอดได้ 

อาการปัสสาวะขัดเป็นอาการที่สร้างความรำคาญ และไม่สบายเนื้อสบายตัวต่อผู้ป่วย ทางที่ดีเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะก็ให้รีบไปเข้าห้องน้ำ รวมถึงดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายทุกวัน 

และเมื่อรู้สึกผิดปกติเมื่อต้องปัสสาวะ คุณควรรีบไปพบแพทย์ก่อนที่อาการจะก่อความรู้สึกไม่สบายตัว และกลายเป็นโรคร้ายแรงเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะมากกว่าเดิม

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั่วไป จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รศ.นท.ดร.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล, การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (https://med.mahidol.ac.th/surgery/sites/default/files/public/pdf/Urinary%20tract%20infection.pdf)
Bremnor JD and Sadovsky R, Evaluation of dysuria in adults (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/11989635), April 2002

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ประโยชน์ของการหยุดสูบบุหรี่ที่มีต่อร่างกาย ลดความเสี่ยงอะไรบ้าง ตั้งแต่ 20 นาที จนถึง 15 ปี
ประโยชน์ของการหยุดสูบบุหรี่ที่มีต่อร่างกาย ลดความเสี่ยงอะไรบ้าง ตั้งแต่ 20 นาที จนถึง 15 ปี

ร้อยพันประโยชน์ของการหยุดสูบบุหรี่ อ่านสักนิด คุณภาพชีวิตดีขึ้นแน่นอน

อ่านเพิ่ม
อาหารต้านเชื้อราแคนดิดา (Candida Diet)
อาหารต้านเชื้อราแคนดิดา (Candida Diet)

หากจำนวนเชื้อราแคนดิดาในร่างกายมีมากเกินไป อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อ่านเพิ่ม
มาตรฐาน การอบประคบสมุนไพร : การอบสมุนไพร
มาตรฐาน การอบประคบสมุนไพร : การอบสมุนไพร

ภูมิปัญญาไทยที่ทรงคุณค่า บรรเทาอาการเจ็บป่วย รักษาโรค และบำรุงสุขภาพได้ หากใช้อย่างถูกวิธี

อ่านเพิ่ม