pseudoephedrine เป็นยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการหวัด โดย Pseudoephedrine เป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ เป็นไอโซเมอร์ (สารที่มีองค์ประกอบของโมเลกุลเหมือนกัน แต่การจัดเรียงโครงสร้างของโมเลกุลต่างกัน) รูปแบบหนึ่งของ ephedrine โดยยังคงฤทธิ์ในการขยายหลอดลมและกระตุ้นประสาท แต่มีความแรงน้อยกว่า ephedrine ลงครึ่งหนึ่ง นิยมนำมาใช้ในยาบรรเทาอาการคัดจมูกแทน Ephedrine ที่มีอันตรายมากกว่า กลไกการออกฤทธิ์ของยาคือ ยากระตุ้นตัวรับอะดรีเนอร์จิก ชนิดอัลฟ่าและบีต้า ทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดลมจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้หลอดเลือดหดตัว ฤทธิ์บรรเทาอาการคัดจมูกอาศัยการหดตัวของหลอดเลือดที่เข้าไปเลี้ยงบริเวณจมูก ลำคอ และไซนัส ทำให้ของเหลวและเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้ลดลง จึงช่วยลดการอักเสบที่เยื่อบุโพรงจมูกร่วมกันกับลดการสร้างน้ำมูก
Pseudoephedrine ที่เป็นยาสำเร็จรูป ทั้งรูปแบบยาสูตรเดียว รวมถึงยาสูตรผสมที่มี Pseudoephedrine เป็นส่วนประกอบ จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 ตาม พรบ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ไม่สามารถวางจำหน่ายได้ในร้านขายยา บุคคลทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้ยาต้องไปพบแพทย์ และสั่งจ่ายโดยแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น รูปแบบยาที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- รูปแบบยาเดี่ยว ชนิดยาเม็ด ขนาด 30 และ 60 มิลลิกรัม
- รูปแบบยาเดี่ยว ชนิดยาน้ำเชื่อม ความแรง 30 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร
- รูปแบบยาผสม ชนิดยาเม็ด ขนาด 30 และ 60 มิลลิกรัม โดยผสมกับ Triprolidine
- รูปแบบยาผสม ชนิดยาน้ำเชื่อม ความแรง 30 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร โดยผสมกับ Triprolidine
ข้อบ่งใช้ของยา Pseudoephedrine
ใช้เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก
ขนาดและวิธีการใช้ยา Pseudoephedrine
การใช้ Pseudoephedrine ในรูปแบบรับประทานเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก มีขนาดและวิธีการใช้ตามข้อบ่งใช้ ดังนี้
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 60 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดคือ 240 มิลลิกรัมต่อวัน
- ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 6-11 ปี ขนาด 30 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดคือ 120 มิลลิกรัมต่อวัน
- ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 12-17 ปี ขนาด 60 มิลิลกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดคือ 240 มิลลิกรัมต่อวัน
ข้อควรระวังในการใช้ Pseudoephedrine
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี รวมถึงการใช้ยาแก้หวัดอื่นที่มีส่วนผสมของ pseudoephedrine
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตบกพร่อง ระดับรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยระดับฮอรโมนไทรอยด์สูงกว่าปกติ
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยต้อหินมุมปิด
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยเนื้องอกต่อมหมวกไต ชนิดฟีโอโครโมไซไซโตมา (pheochromocytoma)
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่ได้รับยากลุ่ม MAOI (Mono Amine Oxidase Inhibitor - ยากลุ่มหนึ่งของยารักษาโรคซึมเศร้า) หรือเพิ่งหยุดการใช้ยากลุ่ม MAOI ยังไม่เกิน 2 สัปดาห์ (ยากลุ่ม MAOI ได้แก่ rasagiline, selegiline, isocarboxazid, phenelzine และ tranylcypromine)
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มกระตุ้นระบบซิมพาเทติก ยาบีต้าบล็อกเกอร์ และผู้ป่วยดมยาสลบ
- ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาแก้หวัดในเด็ก เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงสูง และยังมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพในการรักษาที่จำกัด
- ควรระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
ผลข้างเคียงของการใช้ Pseudoephedrine
- ต้อหินมุมปิด วิตกกังวล หัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิต ปากแห้ง เห็นภาพหลอน ปวกศีรษะ ความดันโลหิตสูง กระสับกระส่าย คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว ความผิดปกติทางจิต อาการทางผิวหนัง ส่งผลต่อการหลับ อาการสั่น ปัสสาวะขัด อาเจียน
ข้อควรทราบอื่นๆ ของยา Pseudoephedrine
- ยา Pseudoephedrine ยังไม่ถูกจัดกลุ่มตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
- การใช้ยานี้ในสตรีให้นมบุตร อาจกดการสร้างน้ำนมของมารดาได้
- ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ หากมีการใช้ยาควบคุมความดันโลหิต ยาในกลุ่มบีต้าบล็อคเกอร์ เนื่องจากยาส่งผลต่อความดันโลหิต โดยเฉพาะการใช้ยาในกลุ่ม MAOI อาจทำให้เกิดภาวะความดันสูงวิกฤตซึ่งอันตรายชีวิต
- ยานี้แนะนำให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เกิน 20-25 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสง และความชื้น