การดูแลตัวเองเมื่อใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า

เผยแพร่ครั้งแรก 24 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
การดูแลตัวเองเมื่อใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า

การเกิดอาการข้างเคียง หรือ อาการไม่พึงประสงค์ เมื่อผู้ป่วยใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น อายุ ภาวะทางร่างกาย โรคประจำตัวร่วมยาชนิดอื่นที่ใช้ร่วมกัน 

ปัจจัยด้านพันธุกรรมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของยาในร่างกายและความไวของตัวรับในร่างกายที่มีต่อยา ฉะนั้นในระหว่างการใช้ยาจึงมีข้อพึงระวังต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการรักษา เพื่อลดการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • อาการง่วงซึม  ยารักษาโรคซึมเศร้าหลายชนิดมีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม ส่วนใหญ่จะใช้วิธีให้ยาขนาดต่ำในช่วงกลางวัน และขนาดสูงในช่วงเย็นหรือก่อนนอน ข้อพึงระวังในผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งอาจเกิดอาการวิงเวียนหรือเดินเซ หรือ ความดันโลหิตลดลงเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ อาจเกิดขึ้นได้หากลุกขึ้น มาในตอนกลางคืน อาการง่วงซึมมักเกิดขึ้นช่วงแรกที่เริ่มรับประทานยา และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถทนอาการข้างเคียงนี้ทำให้อาการง่วงในระยะหลังลดลงได้
  • อาการตาพร่ามัว ท้องผูกเหงื่อออกน้อย คอแห้งปัสสาวะไม่ออก ท้องอืดและหัวใจเต้นเร็ว  มักจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองในสัปดาห์หลัง ๆ หากเกิดอาการท้องผูกควรรับประทานอาหารที่มีกากใยมากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ หรือหากตาพร่ามัวมาก แพทย์อาจให้ยาหยอดตาลดอาการตาแห้ง ร่วมด้วย
  • อาการวูบ  อันเนื่องจากความดันโลหิตลดต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุเมื่อลุกจากการนอน แนะนำให้นั่งขยับแขนขาก่อนประมาณ 1 นาที แล้วจึงค่อยเดิน ยารักษาโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะกลุ่ม TCAs มีโอกาสเกิดฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้มาก ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเริ่มทำการรักษา หรือหากจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ ควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างสม่ำเสมอ
  • ภาวะน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น  โดยพบว่า ยารักษาโรคซึมเศร้าทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจึงรับประทานอาหารมากขึ้น จนน้ำหนักตัวเพิ่ม ฉะนั้นหากสังเกตพบว่ารับประทานอาหารมากขึ้น หิวบ่อย ควรหลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานอาหาร ที่ใช้น้ำมันหรือไขมันสัตว์ เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้ร่างกายเผาผลาญอาหารมากขึ้น ลดความเสี่ยงของภาวะน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางกาย เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ได้

ข้อควรระวังในการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า

  • ระวังการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า  ร่วมกับยากลุ่มที่กระตุ้นฤทธิ์สารสื่อประสาทซีโรโทนิน เช่น การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าร่วมกันหลายชนิด หรือการใช้ยาอื่นๆ ร่วมกับยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น ยาแก้ปวด tramadol ยาแก้ไอ dextromethorphan ยากลุ่มอนุพันธ์ของ fentanyl เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดกลุ่มอาการ serotonin syndrome ได้
  • ยากลุ่ม SSRIs โดยเฉพาะ fluoxetine, paroxetine, fluvoxamine  มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางชนิด ซึ่งมีผลเพิ่มระดับยาอื่นอื่นในเลือด เช่น ยาต้านโรคจิต haloperidol, risperidone ยารักษาโรคหอบ theophylline ยาละลายลิ่มเลือด warfarin เนื่องจากยาเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยร่างกายและขับออกได้น้อยลง อาจทำให้มีระดับยาในร่างกายมากเกินไปจนเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเหล่านี้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า บางชนิดที่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ ร่วมกับยาชนิดอื่นๆ
  • ไม่ควรใช้ยา venlafaxine ในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เพราะหากได้รับยานี้มากเกินไปอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเป็นพิษต่อหัวใจมากขึ้นได้
  • ไม่ควรใช้ยากลุ่ม TCAs ในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง เนื่องจากยากลุ่มนี้มีอาการไม่พึงประสงค์ต่อความดันโลหิตต่ำลงและหัวใจเต้นผิดจังหวะ และควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาบางชนิดที่อาจเพิ่มโอกาสเกิดพิษต่อหัวใจได้ เช่น ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ amiodarone ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม macrolide ยาต้านเชื้อรากลุ่ม azole
  • ระวังการใช้ยากลุ่ม MAOIs ร่วมกับอาหารที่มีสาร Tyramine  อาหารที่มีกรดอะมิโน กลุ่มไทโรซีน(tyrosine) ซึ่งร่างกายนำไปใช้ในการสร้างโปรตีน ได้แก่ เครื่องดื่มไวน์ เบียร์ ชีส กล้วย อะโวคาโดอาหารหมักดอง และอาหารที่มียีสต์ เป็นส่วนประกอบเพราะอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤตได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร

หากลืมรับประทานยาในกลุ่มรักษาโรคซึมเศร้าสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ และถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ควรรับประทานยาต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ เพราะถึงแม้ยาในกลุ่มนี้ไม่มีฤทธิ์ของการเสพติด แต่ถ้าหยุดใช้ยาเองโดยทันทีหรือลืมรับประทานยาบ่อยๆ หลายครั้งก็สามารถทำให้เกิดอาการถอนยาได้ ซึ่งมักจะพบอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน เช่น อาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ วิงเวียน หรือมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

ปฏิบัติตัวอย่างไรในระหว่างการรักษาโรคซึมเศร้า

การป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามักจะทำให้รู้สึกเพลีย รู้สึกไร้ค่า เหมือนช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีความหวัง ความคิดในแง่ลบกับตัวเองในแบบนี้มักจะทำให้ผู้ป่วยบางคนท้อถอยและยอมแพ้ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทราบว่าความคิดหรือความรู้สึกเหล่านี้เป็นเพียงอาการของโรค มิได้สะท้อนเรื่องจริงในชีวิตอย่างแท้จริงแต่อย่างใด แต่ความคิดเหล่านี้จะค่อยๆ หมดไป เมื่อเริ่มต้นการรักษาไปสักระยะหนึ่ง และในระหว่างนี้คุณควรจะ

  • อย่าตั้งเป้าหมายที่ประสบความสำเร็จได้ยาก หรือเข้าไปแบกความรับผิดชอบมากๆ
  • อย่าคาดหวังกับตนเองมากเกินไป เพราะนั่นคือ คุณกำลังสร้างแรงกดดันและความล้มเหลว.
  • พยายามร่วมกิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลินใจ เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ดูกีฬา เข้ากิจกรรมทางสังคม แต่อย่าหักโหมหรือหงุดหงิด ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่ช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้นอย่างทันใจ เพราะอาจต้องใช้เวลาอยู่บ้าง
  • อย่าด่วนตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เช่น ลาออก เปลี่ยนงาน แต่งงาน หรือ หย่าร้าง โดยไม่ปรึกษาคนอื่นที่รู้จักคุณดี และมีมุมมองที่เป็นกลางต่อปัญหาพอ อย่างไรก็ตามควรรอเพื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญเมื่ออาการโรคซึมเศร้าดีขึ้น
  • อย่าคาดหวังว่าคุณจะหายจากอาการซึมเศร้าอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นไปได้ยาก พยายามช่วย ตนเองให้มากที่สุด ฝึกให้กำลังใจตนเองจะทำให้คุณผ่านโรคนี้ไปได้

5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Tips to Reduce Antidepressant Withdrawal Symptoms. Verywell Mind. (https://www.verywellmind.com/tips-to-reduce-antidepressant-withdrawal-symptoms-1066835)
Antidepressants: Get tips to cope with side effects. Mayo Clinic. (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/in-depth/antidepressants/art-20049305)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป