ผักเสี้ยนผี

แนะนำผักเสี้ยนผี ผักซึ่งมีสรรพคุณทางยา ตามดำรายาไทย พร้อมผลการวิจัยผักเสี้ยนผีที่เกี่ยวกับสุขภาพ
เผยแพร่ครั้งแรก 21 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 30 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ผักเสี้ยนผี

ผักเสี้ยนผี เป็นผักพื้นบ้านของไทย มีชื่อเรียกทางภาคเหนือว่า ผักส้มเสี้ยน (ส้ม ภาคเหนือหมายถึง รสเปรี้ยว) เนื่องจากคนพื้นบ้านส่วนใหญ่นิยมนำผักเสี้ยนผีมากินเป็นผักดอง นอกจากนี้ตำรับยาไทยยังใช้ส่วนต่างๆ ของผักเสี้ยนผีมาบรรเทาและรักษาโรคได้อีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์  Cleome viscasa L.

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ชื่อสามัญ Wild Spider flower, Phak sian phee.

วงศ์ Capparidaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักเสี้ยนผี

เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก จัดอยู่ในจำพวกหญ้า ลำต้นมีขนและมีเมือกเหนียว กลิ่นฉุน ใบเป็นใบประกอบ ใบย่อยประมาณ 3-5 ใบรูปรี ปลายแหลมหรือมน โคนเรียวสอบ ขอบใบเรียบ มักมีสีเดียวกับก้านใบและมีขนอ่อนปกคลุม ดอกออกเป็นช่อบริเวณง่ามใบ กลีบดอก 4 กลีบ สีเหลืองอ่อน โคนเรียวแคบเป็นก้านกลีบ ผลเป็นฝักเรียวยาว คล้ายฝักของถั่วเขียว เห็นเป็นเส้นริ้วชัดเจน แต่ขนาดเล็กกว่า ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก มีสีน้ำตาลแดง ผิวขรุขระย่นเป็นแนว

สรรพคุณของผักเสี้ยนผี

ตามตำรายาไทย ผักเสี้ยนผีมีสรรพคุณทางยาดังนี้

  1. ราก แก้โรคผอมแห้งของสตรีที่เกิดจากคลอดบุตรแล้วไม่ได้อยู่ไฟ ช่วยทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น
  2. ใบ เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ปัสสาวะพิการ (อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะขัด ปวดเวลาปัสสาวะ หรือปัสสาวะเป็นเลือด) โดยนำไปบดกับเกลือรักษาอาการเคล็ดขัดยอก อาการปวดตามข้อต่อต่างๆ เนื่องจากสมุนไพรมีฤทธิ์ที่ทำให้เลือดลมภายในร่างกายเดินสะดวกยิ่งขึ้น
  3. ดอกและผล เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ฆ่าพยาธิ รักษาโรคพยาธิผิวหนัง
  4. เมล็ด รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน ช่วยรักษาอาการมีเสมหะในลำคอ ใบและเมล็ด
  5. ทั้งต้น (มี 5 ส่วน คือ ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล)  รสขมร้อน ใช้ต้มน้ำดื่ม ช่วยเจริญไฟธาตุ แก้โรคลม ทำให้เจริญอาหาร  แก้ปวดท้อง ลงท้อง แก้พิษฝี แก้ไข้ สูดดมไอที่ต้มพืชนี้ทั้งต้นสามารถแก้ปวดศีรษะได้ หรือปรุงเป็นยาแก้ฝีในปอด ลำไส้ และตับ (อาการของเนื้องอกหรือมะเร็งที่เกิดในอวัยวะต่างๆ) ช่วยขับหนองในร่างกาย หรือทำให้หนองแห้ง ช่วยขับพยาธิในลำไส้

นอกจากนี้ผักเสี้ยนผียังได้รับการบรรจุอยู่ในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ. 2556 ใช้เป็นตัวยาช่วยสำหรับยาถ่ายพยาธิตัวกลม และในบัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 มีผักเสี้ยนผีเป็นส่วนประกอบร่วมกับตัวยาสมุนไพรอื่นๆ ใช้เป็นยาผงชงรับประทาน แก้ลมอัมพฤกษ์  บรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชาอีกด้วย

ในต่างประเทศ การแพทย์พื้นบ้านในประเทศอินเดียใช้ผักเสี้ยนผีรักษาหลายอาการ เช่น ท้องเสีย มีไข้ อาการอักเสบ โรคตับ โรคไข้มาลาเรีย โรคผิวหนัง และโรคหลอดลมอักเสบ มีการรายงานว่าในการแพทย์แผนจีนมีการใช้ผักเสี้ยนผีรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคความดันโลหิตสูง โรคไข้มาลาเรีย ภาวะระสาทที่เรียกว่า Neurasthenia หรือภาวะประสาทที่ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ปวดศีรษะ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ อาจเกิดภายหลังหรือร่วมกับการติดเชื้อ

ผักเสี้ยนผีในงานวิจัยต่างๆ

  1. จากการศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับการใช้พืชสมุนไพรเป็นยาของชาวบ้านในจังหวัดสงขลาพบว่า มีการใช้ผักเสี้ยนผีเป็นยารักษาแผลฟกช้ำ โดยนำใบดอก ราก และลำต้น ใส่หม้อต้มน้ำพอเดือด แล้วแยกน้ำออก เอาชิ้นส่วนสมุนไพรห่อผ้าขาวผูกเป็นลูกประคบ ใช้ประคบตามบริเวณฟกช้ำ
  2. ผลการวิจัยการรักษาโดยการนวดรักษาแบบราชสำนัก ร่วมกับตำรับยาสมุนไพรพอกเข่า ที่มีผักเสี้ยนผีเป็นส่วนประกอบในผู้ป่วยโรคจับโปงเข่า โรงพยาบาลสมเด็จยุพราชสายบุรี จังหวัดปัตตานี พบว่าค่าเฉลี่ยอาการปวดเข่าลดลงและองศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การนวดรักษาและการพอกยาช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดและลมบริเวณเข่าดีขึ้น ลดอาการอักเสบของข้อต่อ และช่วยกระจายเลือดลมที่ค้างตามข้อ นอกจากนี้การพอกเข่ายังสามารถลดการอักเสยหรืออาการช้ำหลังการนวดได้อีกด้วย
  3. น้ำมันในเมล็ดของผักเสี้ยนผี มีคุณสมบัติเหมือนน้ำมันจากถั่วเหลือง ดอกคำฝอย เมล็ดหยีน้ำและจากสบู่ดำ ประกอบด้วยกรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) สูงซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ช่วยลดระดับโคลเรสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) และเพิ่มโคลเรสเตอรอลชนิดดี (HDL) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ได้อีกด้วย
  4. จากผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า ผักเสี้ยนผีมีคุณสมบัติที่ช่วยลดอาการปวด ด้วยกลไกลดการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) คล้ายการออกฤทธิ์ของยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และแอสไพริน (Aspirin) แก้อาการท้องเสีย ลดอาการคลื่นไส้ ใช้เป็นยาต่อต้านการอักเสบ เป็นสารต้านจุลชีพ แก้ไข้ เป็นยาถ่ายพยาธิ ช่วยบำรุงตับ และช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้

คุณค่าทางโภชนาการของผักเสี้ยนผี

ในผักเสี้ยนผีอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี ไขมันชนิดอิ่มตัวที่ดีต่อสุขภาพ และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายโดยเฉพาะแคลเซียมและธาตุเหล็ก

ผักเสี้ยนผีเอามาทำอะไรกินได้?

สามารถนำยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนของผักเสี้ยนผี นำมาดองรับประทานคู่กับขนมจีน หรือลวกผักจิ้มกับน้ำพริก นอกจากนี้ยังสามารถนำผักเสี้ยนผีไปปรุงเป็นอาหารก็ได้ เช่น ต้มส้ม แกงส้ม เป็นต้น

ข้อควรระวังในการกินผักเสี้ยนผี

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานความเป็นพิษของผักเสี้ยนผีที่ชัดเจน ดังนั้นการรับประทานผักเสี้ยนผีเป็นยาหรือรับประทานเป็นอาหาร จึงควรนำมาดองหรือต้มผ่านความร้อนก่อน เนื่องจากผักเสี้ยนผีสดมีสารไฮโดรไซยาไนต์ (Hydrocyanide) มีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง และควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป หากรับประทานเข้าไปแล้วเกิดอาการแพ้ มีผื่นคัน หายใจไม่ออก มือเท้าชา หรือหัวใจเต้นแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ โดย มหาวิทยาลัยมหิดล, ผักเสี้ยนผี (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=search_detail&medicinal_id=264), 2010.
บัญชียาหลักแห่งชาติ ฉบับที่ 2, (http://kpo.moph.go.th/webkpo/tool/Thaimed2555.pdf), 21 สิงหาคม 2555.
S. A. Rimi, S. Hossain, S.IsLam et al., Bioactive Potentials of Cleome viscosa L. Extracts: Does-mortality, Insect Respellency and Brine Shimp Lethality, (https://www.researchgate.net/publication/320788833_Bioactive_Potentials_of_Cleome_viscosa_L_Extracts_Dose-mortality_Insect_Repellency_and_Brine_Shrimp_Lethality), 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ผักเสี้ยน (Spider weed)
ผักเสี้ยน (Spider weed)

รู้จัก ผักเสี้ยน ผักพื้นบ้านที่มีประโยชน์ทางยา และการต้องนำมาดองก่อนรับประทานเพื่อกำจัดสารพิษ

อ่านเพิ่ม