ผักเสี้ยน เป็นผักพื้นบ้านที่มีมาตั้งแต่โบราณ สามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร และใช้เป็นยารักษาโรค พบได้ทั่วไป ชอบขึ้นตามท้องนา ริมลำธาร ผักเสี้ยนในไทยมีหลายชนิด ที่พบบ่อยได้แก่ ผักเสี้ยนผี (ผักเสี้ยนตัวเมีย) กับผักเสี้ยนขาว (ผักเสี้ยนตัวผู้) ทั้งสองชนิดมีลักษณะจะคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันที่ใบและลำต้นของผักเสี้ยนผีจะมีขนเหนียว ส่วนใบและลำต้นของผักเสี้ยนขาวจะมีขนอ่อนๆ
ชื่อสามัญ Spider weed, Spider Flower ชื่อวิทยาศาสตร์ Cleome gynandra L. ชื่ออื่นๆ ส้มเสี้ยน ผักเสี้ยนขาว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักเสี้ยน
ผักเสี้ยนเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30 เซนติเมตร ใบเป็นใบประกอบมี 3-5 ใบย่อย ใบรูปไข่ ปลายแหลม ขอบใบเป็นฟันเลื่อยเล็กๆ มีดอกสีขาวออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ผลเป็นฝักยาวสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ทั้งใบและต้นของผักเสี้ยนมีกลิ่นฉุน
ผักเสี้ยนเป็นพืชที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ทุกส่วน ทั้งลำต้น ใบ ดอก ผล และราก โดยนิยมใช้ชนิดผักเสี้ยนผี ส่วนผักเสี้ยนขาวนิยมนำใบและยอดอ่อนมาดองเพื่อรับประทานเป็นอาหาร
ผักเสี้ยนดิบมีรสขม มีน้ำมันหอมระเหย และมีสารไฮโดรไซยาไนด์ ซึ่งมีผลต่อซึ่งมีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง แต่เมื่อนำมาดองหรือต้มสารพิษก็สลายไป สามารถนำมารับประทานได้
ประโยชน์ของผักเสี้ยน
ผักเสี้ยน มีสารสำคัญที่ช่วยต้านการอักเสบ ต้านการเกิดเชื้อรา มีการนำสารสกัดมาใช้รักษาการอักเสบของข้อ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง และผักเสี้ยนดองมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม และธาตุเหล็ก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ขาดสารอาหาร ขาดวิตามินเอ หรือผู้ป่วยโลหิตจาง ผู้ที่มีปัญหาเลือดออกตามไรฟัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยระบุว่าผักเสี้ยนดองมีโพรไบโอติกส์ (แบคทีเรียที่มีประโยชน์) ช่วยระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย กำจัดสิ่งตกค้างในลำไส้ ลดอาการท้องผูก ลดการอักเสบในร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อ ปรับการทำงานของสมอง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
ตามสรรพคุณยาแพทย์แผนไทย ผักเสี้ยนมีรสร้อน ช่วยบำรุงร่างกาย แก้โรคโลหิตระดูเน่าเสีย เมล็ดใช้ฆ่าพยาธิไส้เดือน ขับเสมหะ รากนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ไอ เลือดออกตามไรฟัน ใบสดนำมาตำใช้เป็นยาภายนอก ทาแก้ปวดเมื่อย แก้ปวดหู พอกรักษาฝี ขับหนอง แก้อาการอักเสบ ช้ำ บวมและอาการระคายเคืองต่างๆ ผักเสี้ยนทั้งต้นนำมาต้มหรือดอง ใช้ขับประจำเดือน แก้ปวดหลัง แก้เมาสุรา บรรเทาอาการระคายเคืองจากพิษแมลงป่อง
รับประทานผักเสี้ยนอย่างไรให้ปลอดภัยและได้คุณค่า?
เนื่องจากผักเสี้ยนดิบเป็นพืชที่มีสารไฮโดรไซยาไนด์ จึงต้องนำมาต้มหรือดองก่อน วิธีการดองทำไม่ยาก เพียงนำมาล้างให้สะอาด เด็ดหรือหั่นเป็นท่อนขนาดตามต้องการ นำไปตากแดดพอหมาดเพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นเขียว จากนั้นนำข้าวสุกประมาณ 1 กำมือ ต่อผักเสี้ยน 5 ถ้วย นำมาขยำกับเกลือ แล้วใส่น้ำตาลโตนด 5 ช้อนแกง คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ภาชนะปิดฝาให้สนิท ใช้เวลาดอง 3-4 วัน ผักเสี้ยนดองที่ได้จะมีรสเปรี้ยวพอดีๆ สามารถนำมารับประทานเป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริก หรือนำไปประกอบอาหารอื่นๆ ได้ เช่น แกงส้ม แกงผักใส่กระดูกหมู เป็นต้น
ข้อควรระวังในการรับประทานผักเสี้ยน
การรับประทานผักเสี้ยนให้ปลอดภัย มีข้อควรระวังดังต่อไปนี้
- ห้ามรับประทานผักเสี้ยนดิบ เนื่องจากมีสารไฮโดรไซยาไนด์ เป็นสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ ขัดขวางการนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ทำให้ผู้ที่รับประทานเข้าไปมีอาการหายใจแรง เร็ว ปวดศีรษะ มึนงง หมดสติและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- สตรีไม่ควรรับประทานผักเสี้ยนดองในปริมาณมาก เนื่องจากจะทำให้ระดูขาวมากและกลิ่นเหม็นผิดปกติ