พยาธิอาจเป็นกับอวัยวะหลายส่วนของคนเรา เช่น ลำไส้ ตับ กล้ามเนื้อ สมอง และเส้นเลือด จากการสำรวจทั่วทุกภูมิภาคของประเทศโดยพบว่าประชาชนชาวไทยเป็นพยาธิราว 50 เปอร์เซ็นต์ ชนิดของพยาธิอาจแตกต่างกันเล็กน้อยในภาคต่าง ๆ ของประเทศตามลักษณะภูมิภาค เช่น ภาคใต้พบพยาธิปากขอมาก และอาจแตกต่างกันตามอุปนิสัยในการกิน เช่น ภาคเหนือ-ภาคอิสาน พบพยาธิใบไม้ตับมากเป็นต้น
พยาธิลำไส้เป็นภัยมืดที่บั่นทอนสุขภาพของคน เนื่องจากไม่พบอาการอะไรมากนัก นอกจากจะทำให้อ่อนเพลีย ซีด และซูบผอมลงเท่านั้น พยาธิลำไส้ที่พบบ่อยในประเทศไทยอาจแบ่งตามลักษณะของการติดต่อได้ 2 ชนิดคือ
- ชนิดที่ติดต่อโดยการกิน ที่สำคัญได้แก่ พยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน (ตืด) พยาธิเส้นด้าย และพยาธิแส้ม้า
- ชนิดที่ติดต่อโดยตัวอ่อนไชเข้าผิวหนัง ที่สำคัญได้แก่พยาธิปากขอ และพยาธิสตรองจิลอยด์
อาการและอาการแสดงของพยาธิลำไส้นั้นมีไม่มาก อาจมีอาการปวดท้องเล็กน้อย อาจมีท้องร่วงเล็กน้อยในเด็กอาจพบมีพุงโต ร่างกายผอมซูบ และซีด จากโลหิตจาง ถ้าเป็นพยาธิตัวกลมอาจมีพยาธิลักษณะคล้ายไส้เดือนออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ หรือถ้าเป็นพยาธิตัวแบน (ตืด) อาจพบปล้องแก่ขนาด 0.5 x 1 ซม. สีขาวออกมากับอุจจาระ ถ้าเป็นพยาธิเส้นด้ายจะมีอาการคันบริเวณรอบทวารโดยเฉพาะเวลากลางคืน เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนอาศัยการตรวจอุจจาระเพื่อตรวจหาไข่พยาธิ หรือตัวอ่อนพยาธิไข่และตัวอ่อนของพยาธิชนิดต่าง ๆ จะมีลักษณะจำเพาะ การเก็บอุจจาระควรเก็บส่วนที่เหลว ซึ่งจะมีโอกาสพบไข่หรือตัวอ่อนได้มากกว่าอุจจาระก้อนแข็ง
การป้องกัน
- กินอาหารที่ปรุงสุกเสมอ
- หากจำเป็นต้องกินผักสดให้แช่ผักในน้ำยาตามเวลาที่กำหนดเพื่อทำลายไข่พยาธิ
- ไม่ควรใช้อุจจาระเป็นปุ๋ยรดผักหากจำเป็นให้ใช้อุจจาระที่ย่อยสลายแล้วเท่านั้น
- การป้องกันพยาธิไชเข้าผิวหนังให้แนะนำใส่รองเท้า และไม่ควรใช้มือเปล่าคลุกดิน
- หากสงสัยว่าเป็นพยาธิลำไส้ให้เก็บอุจจาระส่งตรวจ