กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ประโยชน์ของคำฝอย ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

ประโยชน์ของดอกคำฝอยมีอะไรบ้าง? รวมถึงข้อควรระวังต่างๆ
เผยแพร่ครั้งแรก 8 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประโยชน์ของคำฝอย ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

คำฝอย เป็นพืชสมุนไพรที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ และการบรรเทาอาการของโรคบางชนิด ซึ่งคำฝอยมีคุณลักษณะอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง วันนี้เราก็ได้รวบรวมข้อมูลมาบอกกันแล้ว

รู้จักคำฝอย

คำฝอย (safflower) เป็นพืชที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุกตระกูลเดียวกันกับต้นทานตะวัน มีใบสีเขียวรูปวงรี ขอบใบหยัก ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง และจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเมื่อแก่จัด  ดอกคำฝอยมีกลิ่นเฉพาะตัว ดอกและเกสรมีรสหวานร้อนและขมเล็กน้อย โดยดอกคำฝอยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งก็ได้มีการนำมาปลูกในประเทศไทย โดยปลูกมากในภาคเหนือ เพราะมีดินและสภาพอากาศที่เหมาะสมนั่นเอง

คุณค่าทางโภชนาการของคำฝอย

คำฝอยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะอุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ 

โปรตีน 8-17 เปอร์เซ็นต์ เส้นใย 10.4 เปอร์เซ็นต์ แคลเซียม 530 มิลลิกรัม เหล็ก 7.3 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 287 มิลลิกรัม น้ำมัน 35-45 เปอร์เซ็นต์ กรดโอเลอิก 10-60 เปอร์เซ็นต์ กรดลิโนเลอิก 60-80 เปอร์เซ็นต์ สารคาร์ทามีดีน (carthamidine) ให้สีเหลือง และสารคาร์ทามีน (carthamine) ให้สีแดง เป็นต้น โดยสารอาหารเหล่านี้ล้วนดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น

ประโยชน์ของคำฝอย

สำหรับประโยชน์ของคำฝอยที่มีต่อสุขภาพก็มีมากมายล้นเหลือ ดังนี้

1. ลดไขมันในเส้นเลือด

น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดของดอกคำฝอยมีกรดไลโนเลอิก ที่จะช่วยลดไขมันในเส้นเลือด และป้องกันการอุดตันของไขมันในหลอดเลือดได้ นอกจากนี้ American Heart Association ยังระบุว่ากรดไขมันไม่อิ่มตัวที่พบในน้ำมันดอกคำฝอยสามารถลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ น้ำมันดอกคำฝอยจึงเหมาะกับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดเป็นที่สุด และนอกจากลดไขมันในเลือดได้แล้ว คำฝอยก็สามารถลดความอ้วนได้เช่นกัน

2. ช่วยบำรุงหัวใจ

ดอกคำฝอยเป็นพืชสมุนไพรที่มีรสหวานร้อนและขมเล็กน้อย จึงสามารถบำรุงหัวใจได้ดี โดยใช้ชาดอกคำฝอย 1 ช้อนชาต่อน้ำร้อน 1 แก้ว ชงดื่มวันละ 1-2 ครั้งจะทำให้หัวใจมีความแข็งแรงและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

3. ลดระดับน้ำตาลในเลือด

การบริโภคน้ำมันสกัดจากเมล็ดดอกคำฝอยจะช่วยลดระดับของน้ำตาลในเลือดได้ จากการศึกษาในปี 2011 พบว่าการบริโภคน้ำมันดอกคำฝอย 8 กรัมทุกวันเป็นเวลา 4 เดือนในกลุ่มผู้ป่วยหญิงที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนมีภาวะของโรคอ้วนและเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 พบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยได้

4. ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย

ดอกคำฝอยมีฤทธิ์เป็นยาระงับประสาทแบบอ่อนๆ มีส่วนช่วยให้เกิดความผ่อนคลายมากขึ้น ช่วยลดความเครียด พร้อมทั้งแก้อาการนอนไม่หลับได้เป็นอย่างดี จึงช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้นกว่าเดิม  

5. บรรเทาอาการปวดประจำเดือน

ในผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนเป็นประจำ ก็สามารถบรรเทาอาการปวดด้วยคำฝอยได้ โดยใช้ชาดอกคำฝอย 1 หยิบมือชงกับน้ำอุ่น 1 แก้ว ดื่มวันละ 2-3 ครั้ง  นอกจากนี้กรดไลโนเลอิกที่พบในน้ำมันดอกคำฝอยยังสามารถช่วยควบคุมการหลั่งของสารกลุ่มพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในระหว่างการมีประจำเดือนจึงช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้

ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพ

นอกจากประโยชน์ข้างต้นของคำฝอยแล้ว ก็สามารถนำมากินนำมาใช้เพื่อสุขภาพได้อย่างหลากหลายไอเดีย ซึ่งเราก็ได้รวบรวมไอเดียการกินการใช้มาฝากกันแล้ว จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลย

ไอเดียการกินคำฝอยเพื่อสุขภาพ

สำหรับไอเดียการนำคำฝอยมากินเพื่อสุขภาพ ก็มีไอเดียดังต่อไปนี้

1. นำมาทำอาหาร

ดอกคำฝอยก็สามารถนำมาทำอาหารได้ด้วย ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารและประโยชน์ให้สูงขึ้นไปอีก โดยเมนูที่นิยม ได้แก่ ข้าวดอกคำฝอยผัดปลาทู โดยส่วนผสมและวิธีการทำ ก็มีดังต่อไปนี้

ส่วนผสม

  • ข้าวสวย 1 ถ้วย
  • ปลาทูนึ่งแกะเอาแต่เนื้อ 1 ตัว
  • ถั่วพูซอย 1/2 ถ้วย
  • กระเทียบกลีบใหญ่ปอกเปลือกสับหยาบ 4 กลีบ
  • น้ำดอกคำฝอย 2 ช้อนชา
  • ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนชา
  • น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
  • น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำร้อน 3 ช้อนโต๊ะ
  • แตงกวาหั่นแว่นตามชอบ
  • มะนาวหั่นซีก
  • พริกขี้หนูซอย 1/2 ช้อนชา
  • หอมเล็กซอย 1 ช้อนชา

วิธีทำ นำดอกคำฝอยมาชงกับน้ำร้อน ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที แล้วกรองเอากากออกให้หมด จากนั้นนำปลาทูลงไปผัดในน้ำมันจนเหลือง ใส่กระเทียมและถั่วพู ตามด้วยปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและน้ำตาล ใส่ข้าวสวยลงไปตามด้วยน้ำดอกคำฝอย ผัดจนเข้ากันดีแล้วจึงตักใส่จาน แต่งหน้าด้วยพริกขี้หนูซอย หอมเล็กซอย มะนาว และแตงกวา เท่านี้ก็พร้อมเสิร์ฟได้เลย ง่ายๆ แบบนี้ไปลองทำกันดูได้เลย

2. ชงเป็นชาดอกคำฝอย

ชาดอกคำฝอย เป็นอีกหนึ่งไอเดียการกินคำฝอยที่ดีต่อสุขภาพไม่น้อย โดยให้นำดอกคำฝอยไปตากจนแห้ง จากนั้นนำดอกคำฝอยแห้งประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ มาแช่ในน้ำร้อน ทิ้งไว้สักพักแล้วกรองดอกคำฝอยออก นำน้ำที่ได้มาดื่ม ซึ่งเมื่อดื่มเป็นประจำก็จะดีต่อสุขภาพและป้องกันอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้มากทีเดียว

3. ทำน้ำดอกคำฝอยเก๊กฮวย

น้ำดอกคำฝอยเก๊กฮวย เป็นเครื่องดื่มที่จะช่วยบำรุงโลหิต ลดไขมัน และป้องกันไขมันในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็มีวิธีการทำไม่ยาก

ส่วนผสม

  • น้ำ 500 มิลลิลิตร
  • ดอกคำฝอยแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ
  • ดอกเก๊กฮวยแห้ง 5-10 ดอก
  • น้ำผึ้ง ปริมาณตามความชอบ

วิธีทำ นำน้ำใส่หม้อตั้งไฟแรง ใส่ดอกคำฝอยและเก๊กฮวยลงไปต้มจนเดือด จากนั้นลดไฟให้อ่อนลง ต้มต่ออีกสักพัก แล้วยกลงจากเตา กรองเอากากออก เทน้ำคำฝอยใส่ในแก้วและเติมน้ำผึ้งลงไป คนให้เข้ากันพร้อมดื่มได้ทันที โดยทั้งนี้อาจจะเติมน้ำแข็งลงไป เพื่อให้ได้เครื่องดื่มเย็นๆ ด้วยก็ได้

ไอเดียการใช้คำฝอยเพื่อสุขภาพ

สำหรับไอเดียการนำคำฝอยมาใช้เพื่อสุขภาพ ก็มีไอเดียดังต่อไปนี้

1. แก้อาการปวดมดลูกหลังคลอดบุตร

หลังคลอดบุตร ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดมดลูก โดยให้แก้ด้วยการนำเมล็ดคำฝอยมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกตรงหัวหน่าว จะช่วยลดอาการปวดมดลูกหลังคลอดบุตรได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นใครที่มีอาการปวดก็ลองทำตามกันดู รับรองว่าได้ผลอย่างแน่นอน

2. แก้อาการปวดบวม ฟกช้ำ

วิธีนี้จะใช้น้ำมันจากเมล็ดของคำฝอยมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการปวดหรือฟกช้ำ ซึ่งจะทำให้อาการปวดและฟกช้ำค่อยๆ ทุเลาลงไปและยังช่วยให้อาการปวดบวมตามข้อต่างๆดีขึ้นอีกด้วย แต่หากใครไม่สะดวกที่จะใช้น้ำมันจากเมล็ดคำฝอย ก็ให้ใช้วิธีนำดอกคำฝอยสดมาตำแล้วพอกบริเวณที่ปวดก็ได้

3. ช่วยให้ผมเงางาม

น้ำมันของดอกคำฝอยมีกรดโอเลอิกสูงซึ่งมีประโยชน์ต่อเส้นผมและหนังศีรษะ ช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผมและปิดเกล็ดผม บำรุงให้ผมมีชีวิตชีวาและเงางาม โดยใช้น้ำมันดอกคำฝอยผสมกับน้ำมันมะกอกและน้ำมันมะพร้าว อุ่นน้ำมันให้อุ่นเล็กน้อยจากนั้นนำน้ำมันมานวดตั้งแต่ปลายผมถึงหนังศีรษะอย่างเบามือหมักผมไว้ข้ามคืนหรืออย่างน้อย 1 ชั่วโมง แล้วทำความสะอาดผมตามปกติจะช่วยให้เส้นผมเงางาม

ข้อควรระวัง

ดอกคำฝอย มีสรรพคุณที่หลากหลาย และขึ้นชื่อในเรื่องเป็นสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็มีโทษ ได้แก่ 

  • หญิงตั้งครรภ์ ก็ไม่ควรรับประทานดอกคำฝอยอย่างเด็ดขาด เพราะมีฤทธิ์ในการขับเลือดช่วยให้มดลูกบีบตัวจึงอาจจะทำให้เกิดการแท้งลูกได้ 
  • สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนมามากอยู่แล้ว การรับประทานดอกคำฝอยในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดอาการประจำเดือนมามากผิดปกติได้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เพราะจะทำให้เลือดหยุดไหลช้า และเป็นอันตรายมาก 
  • ผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์จากดอกคำฝอยก่อนทำการผ่าตัด ต้องหยุดบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุด 
  • ผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายมีแผลในกระเพาะอาหารไม่ควรใช้ดอกคำฝอย
  • ผู้ที่แพ้ดอกคำฝอยหรือพืชในตระกูลทานตะวัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์จากดอกคำฝอย

การรับประทานคำฝอยเพื่อสุขภาพ ควรคำนึงถึงข้อควรระวังเหล่านี้ด้วย เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานผิดวิธีนั่นเอง โดยปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์จากดอกคำฝอยผลิตออกมาวางจำหน่ายเอาใจคนรักสุขภาพมากขึ้น เช่น ชาดอกคําฝอย ดังนั้น ใครที่อยากสุขภาพดีด้วยสมุนไพรชนิดนี้ หากมีโอกาสก็อย่าลืมหาซื้อมาลิ้มลองกัน


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Jayne Leonard, Six health benefits of safflower oil (https://www.medicalnewstoday.com/articles/322245.php), 14 January 2019
ชาสมุนไพร เครื่องดื่มหรือยา, ศูนย์วิทยาการ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (http://elib.fda.moph.go.th/2008/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15640&id_L3=927)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป