คนไทยเรานอกจากใช้กระวานเป็นเครื่องยารักษาโรคแล้ว ยังนำกระวานมาเป็นเครื่องเทศในการทำอาหารด้วยเพราะมีน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์และมีสรรพคุณมากมายที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง กระวานจึงกลายมาเป็นที่รู้จักมาอย่างช้านาน
รู้จักกระวาน
กระวานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด หลักๆ ได้แก่
- กระวานไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Amomum krervanh Pierre ex Gagnep ชื่อที่ใช้เรียกกันโดยทั่วไป ได้แก่ กระวานขาว (ภาคกลาง ภาคตะวันออก) ข่าโคม ข่าโคก หมากเนิ้ง (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ปล้าก้อ (ปัตตานี) มะอี้ (เหนือ) กระวานดำ กระวานแดง กระวานโพธิสัตว์ กระวานจันทร์ (ภาคกลาง)
- กระวานเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Elettaria cardamomum (L.) Maton ชื่อที่ใช้เรียกกัน ได้แก่ กระวานแท้ ลูกเอล (Ela) ลูกเอน ลูกเอ็น กระวานขาว กะวาน
ลักษณะของกระวาน
กระวานทั้ง 2 นี้ มีลักษณะที่แตกต่างกันชัดเจนคือ ลักษณะของผลแก่
- กระวานไทย ลักษณะผลกลม ออกเป็นพวงราว 10-20 ผลต่อพวง เมื่อแห้งจะมีริ้วตามยาว ภายในแบ่งได้เป็น 3 พลู มีเมล็ดจำนวนมาก
- กระวานเทศ ลักษณะผลจะเป็นรูปวงรี รูปไข่ หัวท้ายแหลมเม็ดด้านในสีน้ำตาลอมดำ ลักษณะเป็นสามเหลี่ยม และมีกลิ่นเฉพาะตัว เป็นต้น
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผลแก่
ช่วงเวลาที่เก็บยา : ตั้งแต่เริ่มปลูกจนมีอายุ 4 – 5 ปี จึงจะเริ่มเก็บผลได้ ผลแก่เก็บในช่วงเดือนสิงหาคม – เดือนมีนาคม
กระวานไทย
รสและสรรพคุณยาไทย: รสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม เป็นยาขับลมและเสมหะ ส่วนมากมักใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุก เสียด แน่น บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ลมในไส้ ในอก แก้รำมะนาด แก้เบื่ออาหาร ขับเสมหะ ใช้ผสมกับยาถ่ายเพื่อลดอาการปวดท้องจากผลข้างเคียงนั่นเอง
บัญชียาสมุนไพร : ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ผลกระวานไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ตำรับยา “ยาธาตุบรรจบ” ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ
วิธีใช้
- ผลกระวาน แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด โดยเอาผลแก่จัดตากแห้งและบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1 ช้อนครึ่ง - 3 ช้อนชา (หนัก 1 - 2 กรัม) ชงกับน้ำอุ่น
- ผลกระวาน ยังใช้ผสมกับยาถ่าย เช่น มะขามแขก เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องได้
กระวานเทศ
สรรพคุณ : ตำรายาไทยใช้คล้ายกับกระวานไทย ผล บำรุงธาตุ กระจายโลหิต เสมหะ ขับลม ช่วยเจริญอาหาร และระบาย แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้อาการเกร็งของลำไส้
สำหรับในทางสุคนธบำบัด น้ำมันกระวานเทศ ช่วยกระตุ้นจิตใจในผู้ที่มีภาวะอ่อนล้า กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง แก้เกร็ง ช่วยเจริญอาหาร แก้อาเจียน แก้ท้องอืดเฟ้อได้
อันตรายของกระวาน
ยังไม่มีการศึกษาใดพบว่า การใช้กระวานจะทำให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ แต่ก็ควรระมัดระวังในการใช้ เพราะน้ำมันหอมระเหยในกระวานก็มีสารบางชนิดที่หากสะสมในร่างกายมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้