ทีมแพทย์และเภสัชกร HonestDocs
เขียนโดย
ทีมแพทย์และเภสัชกร HonestDocs
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ทำอย่างไรเมื่อปัสสาวะเป็นเลือด?

วิธีสังเกตตัวเองเบื้องต้นเมื่อปัสสาวะเป็นเลือด ทั้งเลือดออกตอนเริ่มปัสสาวะ เลือดออกตอนท้าย เลือดออกตลอดการปัสสาวะ แต่ละอาการอาจบอกโรคที่ซ่อนอยู่
เผยแพร่ครั้งแรก 27 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 16 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ทำอย่างไรเมื่อปัสสาวะเป็นเลือด?

ภาวะปัสสาวะเป็นเลือด เป็นอาการแสดงที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ หากสังเกตพบว่าลักษณะสีปัสสาวะเปลี่ยนไป คล้ายมีเลือดปน หรือมีลักษณะสีผิดปกติไปจากเดิม นั่นหมายถึงอาจเกิดสิ่งที่ไม่ปกติขึ้นกับทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ดังนั้น หากมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและจัดการแก้ไขตามสาเหตุต่อไป

โดยปกติ ร่างกายจะมีการขับเม็ดเลือดแดงออกมาในน้ำปัสสาวะวันละ ประมาณ 1,000,000 เซล ดังนั้นเมื่อนำปัสสาวะไปตรวจ อาจพบเม็ดเลือดแดงได้ประมาณ 1-3 เซล หากพบว่ามีปริมาณเม็ดเลือดแดงเกิน 3 เซล ถือว่ามีความผิดปกติที่ต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ภาวะปัสสาวะเป็นเลือด สังเกตได้อย่างไร?

ภาวะปัสสาวะเป็นเลือด คือ การมีเม็ดเลือดแดงปนออกมาในปัสสาวะ อาจมองเห็นสีของปัสสาวะเปลี่ยนไปเป็นสีแดง ชมพู หรือดำคล้ำคล้ายสีโค้ก หรือลักษณะปัสสาวะเมื่อมองด้วยตาเปล่าเห็นเป็นสีปกติ แต่เมื่อนำปัสสาวะไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบเม็ดเลือดแดงปนในปัสสาวะ

กลุ่มที่มักพบการปัสสาวะเป็นเลือด

ภาวะปัสสาวะเป็นเลือดมักพบบ่อยในกลุ่มต่อไปนี้

  • ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีพบความผิดปกติของต่อมลูกหมากโตได้บ่อย
  • ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่
  • ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาสวะ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคที่เป็นความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคไต โรคนิ่วในไต
  • ผู้รับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาแอสไพริน ที่มีผลข้างเคียงทำให้เลือดหยุดยาก

สำหรับสาเหตุการเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินปัสสาวะจากการติดเชื้อ อาจพบในเพศหญิงได้บ่อยกว่า เพราะเพศหญิงมีลักษณะทางสรีรวิทยาที่ซับซ้อนกว่า ทำให้สามารถติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายกว่า

สาเหตุของการปัสสาวะเป็นเลือด

การเกิดปัสสาวะเป็นเลือดมีได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น การอักเสบ การติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บ การได้รับการกระทบกระแทกอย่างแรง เนื้องอก หรือ มะเร็ง ของไต เนื้อไต กรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และต่อมลูกหมาก รวมถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นนอกระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น การมีประจำเดือน ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เม็ดเลือดแดงมีความผิดปกติ เป็นต้น

เห็นได้ว่า ภาวะปัสสาวะเป็นเลือดมีความสัมพันธ์กับโรคทางอายุรกรรมและศัลยกรรมหลายๆ โรค และสาเหตุการเกิดภาวะปัสสาวะเป็นเลือดพบในโรคที่มีความรุนแรงน้อยไปจนถึงโรคที่มีความรุนแรงมาก นอกจากนี้ สาเหตุการเกิดภาวะปัสสาวะเป็นเลือดในเพศชายกับเพศหญิง ก็มีทั้งสาเหตุที่เหมือนกัน กับสาเหตุที่ต่างกัน

ปัสสาวะสีเข้มที่เห็นอาจไม่ใช่เลือดเสมอไป

อย่างไรก็ตาม ลักษณะสีของปัสสาวะที่ต่างไปจากสีปกติก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับโรคได้ เช่น การรับประทานยาบางชนิด การรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีสีเข้ม เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ข้อควรปฏิบัติเมื่อปัสสาวะเป็นเลือด

ภาวะปัสสาวะเป็นเลือดมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจรักษาอย่างละเอียดและเร่งด่วน เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและรวดเร็วตามสาเหตุการเกิดภาวะปัสสาวะเป็นเลือด

ในเบื้องต้น ควรสังเกตตนเองเกี่ยวกับลักษณะของเลือดที่ออกมากับปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • หากมีเลือดสีแดงสดออกมาในขณะเริ่มปัสสาวะ จะสัมพันธ์กับการมีท่อปัสสาวะฉีกขาดจากอุบัติเหตุต่างๆ หรือ จากการติดเชื้อรุนแรงของท่อปัสสาวะ ซึ่งมักมีหนองร่วมด้วย
  • หากมีเลือดแดงสดออกในช่วงท้ายของการปัสสาวะ มักพบรอยโรคที่กระเพาะปัสสาวะ หรือต่อมลูกหมาก เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้การอักเสบของอวัยวะดังกล่าวก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน
  • หากมีเลือดออกตลอดการปัสสาวะ มักเกิดจากเนื้อไต กรวยไต ท่อไต หรือเลือดออกมากๆ ในกระเพาะปัสสาวะก็เป็นได้ โรคที่เป็นสาเหตุ เช่น นิ่ว มะเร็ง และการติดเชื้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ป่วยควรสังเกตตนเองเกี่ยวกับอาการอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย เช่น อาการปวด ไข้ น้ำหนักลด และการปัสสาวะแสบขัด ลำบาก เพราะอาการเหล่านี้จะทำให้การตรวจแยกโรคสามารถทำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ดังได้กล่าวไปแล้วว่าภาวะปัสสสาวะเป็นเลือดเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุโดยแพทย์ เนื่องจากเป็นภาวะที่มีสาเหตุการเกิดได้หลากหลาย เมื่อแพทย์ซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว จะส่งผลผู้ป่วยเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เริ่มจากการตรวจปัสสาวะด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อยืนยันและหาลักษณะของการอักเสบร่วมด้วย จากนั้นอาจมีการถ่ายภาพเอกซเรย์ไต การอัลตร้าซาวด์ การเอกซเรย์ฉีดสี การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ ตามดุลยพินิจของแพทย์โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค

การรักษาปัสสาวะเป็นเลือด ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น หากเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการรับประทาน หรือ ฉีดยาปฏิชีวนะ หากเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ อาจได้รับการรักษาโดยการรับประทานยา การสลายนิ่ว หรือ การผ่าตัด หากเป็นมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะของโรค แต่หากผู้ป่วยที่มีภาวะปัสสาวะเป็นเลือดและแพทย์ได้ทำการตรวจละเอียดแล้ว พบว่าเป็นภาวะที่ไม่มีความผิดปกติ เช่น เป็นเลือดประจำเดือนที่ปนมากับปัสสาวะ เกิดจากการรับประทานยาบางชนิด ก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา เพียงแต่ให้คำแนะนำเพื่อติดตามเฝ้าระวังเป็นระยะต่อไป


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Cha, E.K., Tirsar, L., Schwentner, C., Hennenlotter, J., Christos, P.J., Stenzl, A., Mian, C., Martini, T., Pycha, A., Shariat, S.F., and Schmitz-Drager, B.J. (2014). Accurate risk assessment of patients with asymptomatic hematuria for the presence of bladder cancer.World J Urol., PMC., 29.
สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. ภาวะปัสสาวะเป็นเลือด. Available in http://tuanet.org/blood_urine/, Accessed in May 5, 2019.
ณัฐพงศ์ บิณษรี. (2554). Hematuria. เวชศาสตร์แพทย์ทหารบก. 64(4): 213-218.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)