หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยรับประทานขนมไทยๆ อย่างรวมมิตร น่าจะคุ้นเคยกับ "ขนุน" เป็นอย่างดี นอกจากกลิ่นหอม รสหวาน และสีสันที่เข้ากันดีกับตัวขนมแล้ว ขนุนยังมีประโยชน์อีกมากมายที่คุณต้องทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางโภชนาการ แม้กระทั่งสรรพคุณทางยาก็มีไม่น้อย ดังนั้นผู้รักสุขภาพทั้งหลายอย่าได้มองข้ามขนุนเป็นอันขาด
รู้จักขนุน
ขนุน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artocarpus heterophyllus Lam. เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ความสูงราว 15-30 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลอ่อนอมขาว ใบสีเขียวเข้มเป็นมันเงา ส่วนผิวใบด้านล่างมีความสากเล็กน้อย ออกดอกเป็นช่อสีเขียว เมื่อเกสรได้รับการผสม ดอกทั้งช่อจะเจริญเป็นผลมีเปลือกสีเขียว มีหนามเล็กๆ โดยรอบ เมื่อผลแก่ขึ้นเปลือกจะเริ่มมีสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง หนามจะลดความแหลมลง ส่วนเนื้อขนุนจะมีสีและรสชาติแตกต่างไปตามสายพันธุ์ บางพันธ์ุมีรสหวาน บางพันธ์ุมีรสจืด
ในเนื้อขนุนเต็มไปด้วยสารอาหารมากมาย ได้แก่ วิตามินซี วิตามินเอ ไทอามิน แคลเซียม ไนอาซิน เหล็ก โพแทสเซียม สังกะสี กรดโฟลิก โซเดียม วิตามินบี และยังมีไฟโตนิวเทรียนต์ที่เป็นสารต้านมะเร็งและสารต้านการอักเสบอีกด้วย แต่ยังไม่หมดแค่นั้นในขนุนยังมี
- สารพฤกษเคมี และสารประกอบฟีนอล
- มีเกลือแร่ ไฟเบอร์ และมีโปรตีนสูง
- ในขนุนยังมีไขมันและคอเลสเตอรอลที่น้อยมากๆ และให้พลังงานต่ำ โดยขนุน 100 กรัมให้พลังงานเพียง 94 กิโลแคลรอลีเท่านั้น
- มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสจึงมีส่วนช่วยในเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน
คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อขนุนดิบ ต่อ 100 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 23.25 กรัม
- น้ำตาล 19.08 กรัม
- เส้นใย 1.5 กรัม
- ไขมัน 0.64 กรัม
- โปรตีน 1.72 กรัม
- วิตามินเอ 5 ไมโครกรัม 1%
- เบตาแคโรทีน 61 ไมโครกรัม 1%
- ลูทีนและซีแซนทีน 157 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.105 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี 2 0.055 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 3 0.92 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 5 0.235 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 6 0.329 มิลลิกรัม 25%
- วิตามินบี 9 24 ไมโครกรัม 6%
- วิตามินซี 14.7 มิลลิกรัม 17%
- วิตามินอี 0.34 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแคลเซียม 24 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุเหล็ก 0.23 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมกนีเซียม 29 มิลลิกรัม 8%
- ธาตุแมงกานีส 0.043 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุฟอสฟอรัส 21 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุโพแทสเซียม 448 มิลลิกรัม 10%
- ธาตุโซเดียม 2 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.13 มิลลิกรัม 1%
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
- ตามภูมิปัญญาชาวบ้านที่อ้างว่า ขนุนมีสรรพคุณลดการอักเสบและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา สอดคล้องกับงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่กล่าวถึงสารประกอบอาร์โทคาร์เปซิน (Artocarpesin) ในขนุนอันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟีนอลิก คาดว่า สารนี้มีคุณสมบัติช่วยลดภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นจากการต่อต้านปฏิกิริยาบางอย่างภายในร่างกาย รวมทั้งอาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
- งานวิจัยด้านคุณสมบัติการต้านเชื้อแบคทีเรียชิ้นหนึ่งที่ทำในห้องทดลองก็ชี้ว่า ผงสกัดสารอาร์โทคาร์ปิน (Artocarpin) และอาร์โทคาร์ปาโนน (Artocarpanone) จากลำต้นของขนุนมีฤทธิ์ช่วยยั้บยังเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงได้หลากหลายชนิด แต่ว่าคุณสมบัติในการต้านอักเสบและยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของขนุนจะนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์ได้จริงหรือไม่ คงต้องรอให้มีการศึกษาในคนโดยตรงและยืนยันประสิทธิภาพได้อย่างแน่ชัดเสียก่อน
สรรพคุณของขนุนสำหรับการรักษาโรค
1. ช่วยในเรื่องการนอนหลับ
ในขนุนมีแมกนีเซียมและธาตุเหล็กที่ช่วยกระตุ้นให้ฮอร์โมนเมลาโทนินทำงานได้อย่างเต็มที่ จึงส่งผลให้นอนหลับสบายขึ้น
2. ช่วยระบบย่อยอาหาร
การรับประทานขนุนเพียง 100 กรัมก็มีไฟเบอร์ประมาณ 3.6 กรัมแล้ว จะช่วยระบบย่อยไม่ค่อยทำงาน หรือท้องผูกได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันลำไส้สกปรก เมื่อร่างกายขับถ่ายสารก่อมะเร็งออกทางลำไส้ใหญ่
3. ป้องกันมะเร็ง
ขนุนเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีไฟโตนิวเทรียนต์และมีวิตามินซีสูงจึงมีสรรพคุณช่วยป้องกันมะเร็งได้หลายชนิด ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งในช่องปาก มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยจะช่วยปกป้องเซลล์ร่างกายจากการโดนทำลายและยังช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอได้ด้วย
4. ลดความดันโลหิต
ขนุนมีโพแทสเซียมสูง ช่วยลดความดันโลหิต ลดอาการหลอดเลือดอุดตัน บำรุงหัวใจ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดไม่ให้อุดตัน
5. ป้องกันภาวะเลือดจาง
ในขนุนมีธาตุเหล็กที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดและยังมีแมกนีเซียม ที่สำคัญต่อเม็ดเลือดขาว ขนุนจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคโลหิตจางได้
6. บำรุงกระดูก
ขนุนมีแคลเซียม วิตามินซี แมกนีเซียม ที่เป็นตัวช่วยสำคัญทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายทำได้ง่าย ทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น
7. บำรุงประสาท
ในขนุนมีวิตามินและสารอาหารสำคัญต่อระบบประสาทอย่างไทอามีน ไนอาซิน และเกลือแร่ที่เข้าไปช่วยการทำงานของระบบประสาทและสมอง
8. บำรุงสายตา
วิตามินเอในขนุนสามารถช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น ป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม และโรคต้อกระจกได้
9. บำรุงผิวพรรณ
ในขนุนมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ส่งผลดีต่อผิวพรรณ ลดริ้วรอย พร้อมปกป้องผิวจากแสงแดดและมลพิษที่เป็นตัวการทำให้ร่างกายแก่ก่อนวัย
10. รักษาแผลพุพอง แผลเปื่อย
เนื่องจากขนุนเป็นผลไม้มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรียและไวรัส อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยปกป้องเซลล์ผิวหนังจากการถูกทำลายได้อย่างดี ทำให้แผลพุพอง หรือแผลที่เปื่อยดีขึ้น
ประโยชน์ของขนุนมากมายแบบนี้คงถูกใจคนรักขนุนกันแน่ๆ เพียงแต่ต้องกินในปริมาณที่พอดีเพราะขนุนเป็นผลไม้ที่ให้น้ำตาลสูง ถ้าเผลอกินมากๆ กินบ่อยๆ และกินเป็นเป็นประจำ มีหวังเบาหวานได้ถามหา แต่สำหรับใครที่ไม่ชอบกลิ่นขนุนเห็นทีจะต้องอดทนปิดจมูกแล้วลองกินดูทีละน้อยๆ ไม่แน่ว่า ถ้าได้รับประโยชน์จากขนุนแล้ว คุณอาจจะเปลี่ยนใจหันมาสนใจขนุนดูบ้างก็เป็นได้