สิ่งที่ต้องรู้เพื่อเลือกยาทาแก้คันให้เหมาะ

รู้จักยาทาแก้คันแต่ละประเภทเพื่อใช้ให้ถูกกับอาการ คาลามายด์โลชัน ยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก และยาทาแก้คันในร่มผ้า
เผยแพร่ครั้งแรก 13 ต.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
สิ่งที่ต้องรู้เพื่อเลือกยาทาแก้คันให้เหมาะ

เมื่อมีอาการคัน ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเกิดจากเชื้อรา แต่ความจริงแล้วอาการคันสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ผื่นแพ้ ลมพิษ กลาก เกลื้อน รวมถึงจากแมลงสัตว์กัดต่อย การรักษาอาการคันที่ได้รับความนิยมคือรักษาด้วยยาทาแก้คัน ยานี้จะออกฤทธิ์เฉพาะบริเวณที่ต้องการ ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาน้อยเช่นกัน ยาทาแก้คันที่คนส่วนใหญ่มักถามถึง ได้แก่ คาลาไมน์โลชัน ยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก และยาทาแก้คันในร่มผ้า ยาทาแก้คันดังกล่าวมีตัวยาอะไรบ้าง วิธีใช้อย่างไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง HonestDocs มีคำตอบ

1. คาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion)

เป็นยาน้ำแขวนตะกอน ซึ่งมีลักษณะเป็นตัวยาแป้งสีชมพูกระจายตัวอยู่ในน้ำ มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการคันตามผิวหนัง เช่น ผดผื่นคัน ผื่นแพ้ ลมพิษ มีตัวยาสำคัญ ได้แก่ ซิงก์ออกไซด์ (Zinc oxide) หรือซิงก์คาร์บอเนต (Zinc Carbonate) คาลาไมน์โลชันเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีความปลอดภัยสูง สามารถใช้ในเด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ได้ ใช้ง่าย ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

คาลาไมน์โลชันมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ตัวอย่างยี่ห้อคาลาไมน์โลชัน เช่น คาดรามาย-วี โลชัน (Cadramine-V lotion) คาลาดิพ (Caladiph) คาลาคิน (Calakin) คาลาไมน์ โลชัน จีพีโอ (calamine lotion GPO) คาลาไมน์พญายอ (เสลดพังพอน) อภัยภูเบศร คาลาไมน์โลชัน ตราเสือดาว (Calamine Leopard brand) คาลาไมน์ โลชัน ศิริบัญชา (Calamine lotion Siribuncha)

2. ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (Topical steroids)

ยาทาแก้คันสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ กดภูมิคุ้มกัน ใช้รักษาโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบ (เช่น บวม แดง) และมีอาการคัน ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีรูปแบบต่างๆ ให้เลือกใช้ เช่น โลชัน ครีม ขี้ผึ้ง

ยาสเตียรอยด์สามารถแบ่งได้ตามระดับความแรง ดังนี้

  • ความแรงอ่อน สามารถใช้ทาในเด็ก หรือบริเวณที่บอบบางของผู้ใหญ่ เช่น ใบหน้า จุดซ่อนเร้น ตัวอย่างยาทาสเตียรอยด์ความแรงอ่อน ได้แก่ 1-2% Hydrocortisone cream (H-cort), 0.025% Triamcinolone acetonide (0.025% TA cream), 0.5% Prednisolone (Prenisil cream)
  • ความแรงปานกลาง เช่น 0.05% Betamethasone dipropionate (Diprosone® Cream), 0.1% Triamcinolone acetonide (0.1% Arisocort A®,  0.1% TA cream), 0.1% Mometasone furoate (Elomet), 0.1% Betamethasone Valerate (Betnovate), 0.1% Prednicarbae (Dermatop)
  • ความแรงมาก เช่น 0.05% Clobetasol propionate (Dermovate® cream), 0.05% Augmented betamethasone dipropionate  (Diprotop® cream, ointment), 0.05% Betamethasone dipropionate (Diprosone® ointment), 0.25% Desoximetasone (Topicort®, Esterson®)

ยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอกมีข้อบ่งใข้ในการรักษาโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบและอาการคัน เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) โรคผิวด่างขาว (Vitiligo) ซึ่งโรคผิวหนังที่ตอบสนองต่อยาได้ดีจะใช้ยาชนิดที่มีความแรงต่ำ ส่วนโรคผิวหนังที่รักษายากมีการตอบสนองไม่ดีจะต้องใช้ยาชนิดที่มีความแรงสูงขึ้น

ยาทาสเตียรอยด์สามารถบรรเทาอาการคันที่มีสาเหตุหลากหลายและมีประสิทธิภาพดี จึงมักถูกเรียกว่ายาครอบจักรวาล

ข้อควรระวัง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ความถี่ในการทายาสเตียรอยด์ที่เหมาะสมคือ วันละ 1-2 ครั้ง แต่ก็อาจทายาได้บ่อยกว่านั้นในบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า ไม่ควรทาสเตียรอด์บริเวณแผลเปิด/แผลสด ไม่ควรทายาต่อเนื่องเกินสามสัปดาห์ เพื่อป้องกันผลข้างเคียง เนื่องจากถึงแม้ว่ายาทาสเตียรอยด์จะสามารถลดอาการผื่นคันได้เป็นอย่างดี แต่การใช้ยาทาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ หรือใช้ในปริมาณที่สูงจนเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาตามมาได้ เช่น ผิวบาง เกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น เกิดสิว

ดังนั้นในการทายาสเตียรอยด์จึงต้องทาด้วยปริมาณและความถี่ที่เหมาะสม จึงจะทำให้การใช้ยามีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่มีผลข้างเคียงจากยาน้อยที่สุด 

นอกจากนี้ หากทายาสเตียรอยด์ไประยะหนึ่งแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม โดยไม่ควรซื้อยาใช้เองต่อเนื่องนานเกินไป

3. ยาทาแก้คันในร่มผ้า

อาการคันในร่มผ้าหรือที่อับชื้นบ่อยๆ อาจเกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งหากแน่ใจว่าเป็นเพราะสาเหตุนี้ สามารถรักษาด้วยยาทาฆ่าเชื้อราในร่มผ้าได้

ตัวอย่างยาทาฆ่าเชื้อราในร่มผ้า ได้แก่

  1. โคลไทรมาโซล (Clotrimazole) เป็นยาใช้ภายนอก ชนิดออกฤทธิ์ได้กว้าง (Broad-Spectrum) สามารถฆ่าเชื้อราหลายชนิด เช่น เดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ยีสต์ (Yeast) และเชื้อราอื่นๆ ตัวอย่างยี่ห้อยาโคลไทรมาโซล เช่น Canesten® Cream จำหน่ายในรูปแบบยาครีม ขนาด 10 กรัม และ 20 กรัม ใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต รวมถึงเชื้อราบริเวณขาหนีบ รักแร้ ข้อพับ รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแคนดิดาบริเวณอวัยวะเพศหญิงภายนอก (Candida vulvitis) และบริเวณอวัยวะเพศชายภายนอก (Candida balanitis)
  2. ไบโฟนาโซล (Bifonazole) เช่น Canesten® O.D. (คาเนสเทน โอ.ดี.) จำหน่ายในรูปแบบยาครีม ขนาด 10 กรัม รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อเดอร์มาโตไฟต์ ยีสต์ และเชื้อราอื่นๆ เช่น กลากที่เท้า กลากที่มือ กลากที่ลำตัว กลากที่ขาหนีบ เกลื้อน โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแคนดิดา และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย
  3. คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เช่น Nizoral® cream, Sporaxyl® cream, Ninazol®, Nora® cream จำหน่ายที่ความเข้มข้น 2% ใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราชนิดต่างๆ
  4. ไมโคนาโซล (Miconazole) เช่น Daktacort®, Daktarin®, Decozol®, Dermafec®, Dermon®, Funga®, Funcort® มีข้อบ่งใช้รักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง กลาก เกลื้อน โรคเชื้อราแคนดิดา เชื้อราในช่องปาก และเชื้อราในช่องคลอด โดยรูปแบบการใช้ยามีลักษณะยาครีมทาผิวหนัง และยาผงโรยที่ผิวหนัง
  5. ไทโอคาร์บาเมท (Thiocarbamate) เช่น ยาโทลนาฟเตท (Tolnaftate®) ใช้รักษาอาการติดเชื้อราผิวหนัง หรือบริเวณง่ามเท้า เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า และสังคัง เป็นต้น มีจำหน่ายทั้งในรูปแบบครีมและโลชัน
  6. ขี้ผึ้งวิตฟิลด์ (Whitfield's ointment) ส่วนใหญ่ใช้ทาสำหรับน้ำกัดเท้า ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) ยับยั้งการเจริญเติบโตและการลุกลามของเชื้อรา และกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ช่วยให้ผิวหนังบริเวณทายาค่อย ๆ หลุดลอกทำให้ตัวยาออกฤทธิ์ในผิวหนังชั้นในได้ดีขึ้น ข้อบ่งใช้  ได้แก่ ใช้รักษาการติดเชื้อราผิวหนังเช่น โรคน้ำกัดเท้า (Tinea pedis) โรคสังคัง (Tinea cruris) โรคกลาก (Ring worm)

ข้อควรระวัง

แม้อาการคันในร่มผ้ามักเป็นเพราะเชื้อรา แต่สาเหตุอื่นๆ ก็มีอีกเช่นกัน เช่น โรคผิวหนังอักเสบ แพ้ส่วนประกอบจากของใช้ส่วนตัว เช่น ครีม สบู่ น้ำยาปรับผ้านุ่ม รวมถึงการเสียดสีก็เป็นสาเหตุของอาการแพ้ผื่นคันได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนจะซื้อยาทาแก้คันมารักษาเอง ควรหาสาเหตุให้แน่ชัดก่อน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น หากเป็นเพียงผื่นอักเสบ แต่ซื้อครีมรักษาเชื้อรามารักษาเอง อาจทำให้อาการของโรคแย่ลงหรือติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้

ไม่ว่าจะใช้ยาทาแก้คันประเภทใด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อประเมินความปลอดภัยและความเหมาะสมในการใช้ยา และควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงประวัติการแพ้ยาหรือสารประกอบต่างๆ ให้ครบถ้วน หากทายาแล้วมีอาการระคายเคืองเกิดขึ้น เช่น แสบผิว มีผื่นขึ้นตามตัว คัน หรือมีอาการหายใจไม่ออก ให้หยุดใช้ยาทันทีและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Webmd, Antifungal Cream 2% Topical, (https://www.webmd.com/drugs/2/drug-61279/antifungal-cream-miconazole-topical/details), 7 October 2019.
NHS, Topical steroids (https://www.nhs.uk/conditions/topical-steroids/), 7 October 2019.
Medscape, Antifungals topical (https://reference.medscape.com/drugs/antifungals-topical), 7 October 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป