กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ปวดศีรษะ เมื่อไหร่ที่ต้องกังวล และควรทำอย่างไร

เผยแพร่ครั้งแรก 12 ก.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที
ปวดศีรษะ เมื่อไหร่ที่ต้องกังวล และควรทำอย่างไร

โดยส่วนใหญ่แล้วอาการปวดศีรษะสามารถรักษาได้ด้วยยา แต่อาการบางอย่างอาจจะบอกถึงภาวะที่อันตรายกว่านั้น

เข้าใจถึงสาเหตุ และหาวิธีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ

แทบทุกคนต้องเคยมีอาการปวดศีรษะ และส่วนใหญ่แล้วก็หลายครั้งเสียด้วยซ้ำ โดยปกติแล้วหากปวดศีรษะเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงพอรำคาญ การซื้อยาแก้ปวดทาน อาหาร กาแฟ หรือการได้หลับพักผ่อนเสียเล็กน้อยก็จะสามารถบรรเทาได้ แต่หากอาการปวดศีรษะนั้นรุนแรงกว่าปกติ คุณอาจต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องหลอดเลือดสมอง เนื้องอก หรือลิ่มเลือดอุดตัน โชคดีที่ว่าภาวะพวกนี้ไม่ได้พบเจอได้บ่อยขนาดนั้น อย่างไรก็ตามคุณควรจะรู้ไว้ถึงอาการปวดศีรษะที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเร่งด่วน และการบรรเทาอาการปวดศีรษะทั่วไปที่ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ปวดศีรษะ ไม่ใช่ อาการบาดเจ็บของสมอง

ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถบอกได้ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้มากที่สุด รู้แค่เพียงเนื้อสมอง และกะโหลกนั้นไม่ได้เป็นสาเหตุ เพราะว่าไม่มีเส้นประสาทรับรู้ความเจ็บปวดที่บริเวณนั้น แต่ว่าอาจเป็นหลอดเลือดในศีรษะและคอที่ส่งกระแสความรู้สึกปวด รวมถึงหลอดเลือดที่เลี้ยงเนื้อเยื่อรอบสมอง และเส้นประสาทหลัก ๆ ที่แตกออกมาจากในสมอง หนังศีรษะ โพรงไซนัส ฟัน กล้ามเนื้อ และข้อตามคอ จึงต่างเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะได้

แล้วเมื่อไหร่ที่ต้องกังวลเกี่ยวกับอาการปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะหลายอย่างคุณสามารถดูแลได้ด้วยตัวเอง รวมถึงยาที่แพทย์สั่งให้จะสามารถบรรเทาอาการได้ อย่างไรก็ตามอาการปวดศีรษะบางส่วนจำเป็นต้องได้รับการติดตามดูแลใกล้ชิด อาการต่อไปนี้เป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้คุณต้องเริ่มให้ความสำคัญกับอาการปวดศีรษะของคุณ

  • อาการปวดศีรษะที่เพิ่งเริ่มมีในช่วงอายุหลัง 50 ปี
  • อาการปวดศีรษะที่แตกต่างไปจากเดิม
  • อาการปวดศีรษะที่รุนแรงกว่าเดิมผิดปกติ “แย่ที่สุดที่เคยมีมาในชีวิต”
  • อาการปวดเป็นมากขึ้นเมื่อไอ หรือมีการขยับท่าทาง
  • อาการปวดศีรษะที่แย่ลงเรื่อย ๆ
  • มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัย หรือสภาพจิตใจ
  • อาการปวดศีรษะที่ตามมาด้วยไข้ คอแข็ง สับสน หรือภาวะรู้ตัวลดลง ความจำแย่ลง มีอาการทางระบบประสาท เช่น ตาพร่ามัว พูดจาสับสน อ่อนแรง ชา หรือชัก
  • อาการปวดศีรษะที่มีอาการปวดตา และตาแดงตามมา
  • อาการปวดศีรษะที่มีอาการปวดใกล้ขมับ
  • อาการปวดศีรษะที่เกิดตามหลังจากการได้รับการกระทบกระแทก
  • อาการปวดศีรษะที่รบกวนกิจวัตรประจำวัน
  • อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นมาทันที โดยเฉพาะอาการปวดที่รุนแรงจนทำให้คุณสะดุ้งตื่น
  • อาการปวดศีรษะในผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง 

ประเภทของอาการปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะมีมากกว่า 300 ประเภท แต่มีเพียง 10% ที่รู้สาเหตุชัดเจน และนอกเหนือจากนั้นจะถูกเรียกว่า ปวดศีรษะปฐมภูมิ (Primary headaches) ถัดจากนี้เป็นตัวอย่างของปวดศีรษะปฐมภูมิประเภทหลัก ๆ ที่พบเจอได้บ่อย

ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว

พบเจอในทุก ๆ 3 ใน 4 คน ปวดศีรษะแบบกล้ามเนื้อตึงตัวเป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่แล้วระดับอาการปวดจะอยู่ที่เบาจนถึงปานกลาง และเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ในคนบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวอย่างรุนแรง หรือเกิดขึ้นบ่อยมากถึง 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์

อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวจะมีลักษณะคือ รู้สึกเหมือนโดนบีบ รัด ตึงอยู่รอบศีรษะทั้งสองข้าง คนที่มีอาการปวดอย่างรุนแรงจะรู้สึกเหมือนหัวโดนบีบอัดอยู่ รวมถึงคอและไหล่ก็สามารถปวดได้ อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวนี้อาจเกิดได้จากความอ่อนล้า ความเครียด หรือปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและข้อบริเวณคอและกราม โดยส่วนใหญ่แล้วอาการปวดจะคงอยู่ 20 นาที ถึง 2 ชั่วโมง

หากคุณมีอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวไม่บ่อยนัก คุณสามารถดูแลตัวเองได้ง่ายโดยการซื้อยาแก้ปวดทาน เช่น กลุ่ม acetaminophen (tylenol) และ NSAIDS เช่น aspirin naproxen (Aleve) หรือ ibuprofen (Motrin, Advil) โดยให้ทานตามที่ฉลากระบุไว้ และไม่ทานมากเกินความจำเป็น การใช้แผ่นแปะความร้อนอาจช่วยได้ หลายคนอาการดีขึ้นจากการได้งีบหลับ หรือทานขนมเล็กน้อย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

หากการรักษาเบื้องต้นนั้นไม่เพียงพอ แพทย์อาจสั่งยาแก้ปวดที่แรงขึ้น หรือยาคลายกล้ามเนื้อ คนที่มีอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวบ่อยครั้งอาจทานยาต้านซึมเศร้า เช่น amitriptyline (Elavil) เพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะที่กลับมาเป็นซ้ำอยู่บ่อย ๆ โชคดีสำหรับคนที่มีอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว เพราะเป็นประเภทที่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี

ปวดศีรษะไมเกรน

อาการปวดศีรษะไมเกรนนั้นพบได้น้อยกว่าอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว แต่ว่ามีอาการปวดที่รุนแรงกว่า โดยไมเกรนนั้นพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 ถึง 3 เท่า แต่ว่านั่นเป็นเพียงการปลอบใจหากคุณดันเป็นในส่วน 6-8% ของผู้ชายที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน และจากการศึกษาจาก Harvard ในกลุ่มผู้ชายที่อยู่ในช่วงอายุ 40-84 ปี รวมทั้งหมด 20,084 คน พบว่า การปวดศีรษะไมเกรนนั้นเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจวายได้มากถึง 42% ดังนั้นแล้วผู้ชายที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนควรจะใส่ใจในการดูแลรักษาให้มากขึ้น

แพทย์ทางระบบประสาทเชื่อว่า ไมเกรนนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและเซลล์ระบบประสาท และพันธุกรรมส่งผลได้ เนื่องจากใน 70% ของผู้ป่วยไมเกรนนั้น จะมีอย่างน้อยญาติใกล้ชิดหนึ่งคนที่มีอาการแบบเดียวกัน

สิ่งกระตุ้นอาการไมเกรน แม้ว่าไมเกรนจะเกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีอาการเตือน แต่บ่อยครั้งที่พบว่ามีสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการขึ้น โดยสิ่งกระตุ้นนั้นจะต่างไปในแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสิ่งกระตุ้นเดิม ๆ ที่ทำให้เกิดอาการในคน ๆ นั้น ตารางด้านล่างได้ลิสต์ถึงสิ่งกระตุ้นอาการไมเกรนที่พบได้บ่อย

สิ่งกระตุ้นอาการไมเกรนที่พบบ่อยในผู้ชาย

  • อาการที่เปลี่ยน : ความชื้นที่เพิ่มขึ้น ความร้อน
  • นอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนหลับมากไป
  • ความเหนื่อยล้า
  • ความเครียด
  • สิ่งกระตุ้นระบบประสาทสัมผัส : แสงสว่างจ้า หรือแสงไฟวูบวาบ เสียงดัง กลิ่นแรง
  • สิ่งกระตุ้นที่เกี่ยวกับอาหาร
    • ขาดมื้ออาหาร
    • แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ ไวน์แดง
    • ช็อคโกแลต
    • Nitrates ในเนื้อหมู และปลา
    • คาเฟอีนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง
    • MSG (ผงชูรส มักพบในอาหารเอเชีย และอาหารสำเร็จรูป)

อาการ ไมเกรนมักเกิดอาการในช่วงตอนเย็นหรือกำลังจะหลับ ในบางคนอาการจะมีอาการนำมาได้หลายชั่วโมง เช่น เหนื่อยล้า รู้สึกเศร้า เฉื่อยชา หรือ หงุดหงิด และกระสับกระส่าย เนื่องจากอาการไมเกรนนั้นมีได้หลากหลายอาการ และครึ่งนึงของคนที่มีไมเกรนมักคิดแค่ว่าตัวเองเป็นปวดไซนัส หรือปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวธรรมดา

ประมาณ 20% ของคนที่มีอาการไมเกรนจะมีอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาทนำมาก่อนอย่างน้อยหนึ่งอาการหรือมากกว่า ซึ่งเรียกว่า ออร่า (aura) อาการเกี่ยวกับทางการมองเห็น (Visual aura) เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยพบได้ทั้งแสงรอบ ๆ ดวงไฟ แสงระยิบระยับ แสงวูบวาบ แสงเป็นเส้น หรือแม้กระทั่งอาจสูญเสียการมองเห็นได้ชั่วคราว โดยอาการออร่ายังสามารถทำให้เกิดอาการชา หรือแปล๊บ ๆ ที่ร่างกายข้างใดข้างหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าหรือมือ ในผู้ป่วยบางรายมีเพียงแต่อาการออร่าโดยไม่มีอาการปวดศีรษะ และคิดว่าอาการนั้นเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ใช่ไมเกรน 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สำหรับผู้ป่วยไมเกรนส่วนใหญ่นั้นจะไม่มีอาการออร่า ลักษณะของอาการปวดศีรษะไมเกรนคือ ปวดเพียงข้างใดข้างหนึ่ง มักเริ่มจากบริเวณรอบดวงตา หรือขมับ ก่อนที่จะกระจายไปที่ด้านหลังศีรษะ อาการปวดลักษณะตุ๊บ ๆ คล้ายตามจังหวะชีพจร และปวดอย่างรุนแรง อาการคลื่นไส้สามารถพบร่วมได้บ่อยมาก และยังสามารถพบว่าน้ำตามากขึ้น น้ำมูกไหล หรือคัดจมูก ซึ่งหากอาการพวกนี้เด่นกว่าอาการปวดศึรษะอาจทำให้วินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นเป็นอาการปวดไซนัสได้ วิธีการจำลักษณะของการปวดศีรษะไมเกรน คือ POUND

P - pulsating pain (ปวดตุ๊บ ๆ )

O - one-day duration of severe untreated attacks (อาการปวดคงอยู่ 24 ชั่วโมง)

U - unilateral (one-sided) pain (ปวดศีรษะข้างเดียว)

N - nausea and vomiting (คลื่นไส้อาเจียน)

D - disabling intensity.

หากไม่ได้รับยารักษา ไมเกรนจะมีอาการปวดคงอยู่ 4 - 24 ชั่วโมง หากคุณกำลังประสบกับปัญหาปวดศีรษะไมเกรนอยู่ แค่ 4 ชั่วโมงก็นานเกินพอแล้ว ดังนั้นแล้วการให้การรักษาแต่ต้นจึงมีความสำคัญ

การรักษา หากคุณพบว่าคุณเป็นไมเกรนแต่เนิ่น คุณสามารถบรรเทาอาการปวดได้โดยยาแก้ปวดทั่วไป Acetaminophen, aspirin, ibuprofen, naproxen หรือยาแก้ปวดรูปแบบผสม และคาเฟอีนต่างมีประสิทธิภาพในการรักษาอย่างมาก หากคุณใช้ยาเต็มขนาดตั้งแต่ช่วงแรกที่มีอาการ ยาแก้อาเจียน metoclopramide (Reglan) อาจไปเสริมการทำงานของ NSAIDs ได้

เมื่อยาทั่วไปไม่เพียงพอต่อการคุมอาการ แพทย์อาจสั่งยาในกลุ่ม triptans ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเม็ด ยาพ่นจมูก หรือยาฉีด ที่ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้การใช้งานได้ง่าย ตัวอย่างเช่น sumatriptan (Imitrex) zolmitriptan (Zomig) rizatriptan (Maxalt) ยากลุ่ม Triptans จะทำให้อาการปวดศีรษะหายไปได้ภายใน 2 ชั่วโมงได้มากถึง 70% โดยการตอบสนองต่อการรักษานั้นจะดีที่สุดหากได้รับการรักษาตั้งแต่อาการต้น ๆ ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้ยาขนาดที่ 2 ภายใน 12-24 ชั่วโมง แต่เนื่องจากยากลุ่ม triptans นั้นส่งผลต่อเรื่องกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ และสมอง ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ ความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหัวใจจึงไม่ควรใช้ยานี้ รวมถึงผู้ป่วยที่ทานยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI ก็ไม่สามารถใช้ยากลุ่ม triptans ได้เช่นกัน

สำหรับการรักษาไมเกรนในสมัยก่อน ยาที่ใช้จะเป็นยากลุ่ม ergot และยารวมที่มีส่วนผสมของ barbiturates ซึ่งยังสามารถใช้ได้ผลในผู้ป่วยบางกลุ่ม และบางคนอาจต้องใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยาแก้ปวดที่แรงขึ้น หรือแม้กระทั่งยาสเตียรอยด์ เช่น dexamethasone ร่วมด้วย

ปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดในการรักษาอาการไมเกรนของคุณ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า การใช้ยามากเกินไปอาจทำให้เกิดการกลับมาปวดไมเกรนซ้ำ และเกิดวงจรวิกฤตระหว่างการใช้ยาและอาการปวดไมเกรน ดังนั้นแล้วหากคุณจำเป็นต้องใช้ยาบรรเทาอาการมากกว่า 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ พิจารณาการทานยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการไมเกรน

การป้องกัน บางคนสามารถป้องกันการเกิดอาการไมเกรนได้จากการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น บางคนอาจทานยาบรรเทาอาการได้ แต่ในผู้ป่วยที่ต้องเจออาการปวดไมเกรนอยู่บ่อยครั้งจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการทานยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการไมเกรน ยาที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดคือ beta blockers (propranolol, atenolol, metoprolol) ยาต้านซึมเศร้าบางตัว (amitriptyline) และยาต้านโรคชักบางตัว (divalproex, topiramate, gabapentin) ในผู้ป่วยบางรายที่เจอกับอาการที่รุนแรงและไม่สามารถบรรเทารักษาได้โดยยาทั่วไป ควรส่งต่อพบแพทย์ระบบประสาท

ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster headache)

อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์แม้พบเจอไม่บ่อยแต่มีอาการปวดที่รุนแรง และพบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 5 เท่า แม้ว่าใครก็ตามก็เกิดอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์ได้ แต่ผู้ป่วยที่พบได้บ่อยคือ ชายวัยกลางคน ที่มีประวัติการสูบบุหรี่ 

อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ได้ชื่อนี้มาจากอาการของมันที่จะปวดมาเป็นชุด ๆ โดยรวม 1-8 ครั้งต่อวัน ในช่วง 1-3 เดือน ทุก ๆ 1-2 ปี โดยมักพบว่าอาการปวดจะเป็นในช่วงเดียวกันของแต่ละปี โดยอาการปวดศีรษะนั้นมักเป็นที่ข้างใดข้างหนึ่งและรุนแรงมาก ตาข้างที่ปวดศีรษะมักแดงและน้ำตาไหลมาก หนังตาอาจตก น้ำมูกไหลและอุดตันคัดจมูกได้ อาการปวดจะเกิดขึ้นทันทีทันใดและคอยู่นาน 30-60 นาที ทำให้รู้สึกกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ไม่สามารถนั่งอยู่เฉย ๆ ได้ อยากออกไปวิ่ง หรือเอาศีรษะโขกฝาบ้าน อาการคลื่นไส้ และไวต่อแสงและเสียงอาจพบได้ร่วมกับอาการปวดศีรษะ

การสูดดมออกซิเจนสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ Sumatriptan สามารถบรรเทาอาการได้โดยเฉพาะในรูปแบบฉีด กลุ่ม triptans ตัวอื่น ๆ อาจบรรเทาอาการได้บ้าง ในผู้ป่วยบางรายเลือกที่จะใช้ยา Lidocaine ในรูปแบบหยอดจมูก Dihydroergotamine รูปแบบฉีด โดยยาที่พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการปวดศีรษะได้ดีที่สุดคือ verapamil, calcium-channel blocker ยาอื่น ๆ ที่อาจช่วยได้เช่น divalproex, topiramate, lithium

อาการปวดศีรษะในรูปแบบอื่น ๆ

แพทย์ได้วินิจฉัยอาการอีกหลายร้อยแบบที่สัมพันธ์กับอาการปวดศีรษะ ตัวอย่างเช่นดังต่อไปนี้

อาการปวดศีรษะจากยา ยาหลายชนิดมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ แม้มันจะดูขัดแย้งกัน แต่ยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดศีรษะบางชนิดนั้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ (overuse headache, rebound headache) โดยเฉพาะไมเกรนที่อาการปวดนั้นอาจทำให้เกิดวงจรวิกฤตระหว่างการใช้ยาที่มากขึ้นที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะมากขึ้น ดังนั้นแล้วหากคุณมีอาการปวดศีรษะบ่อย และ/หรือจำเป็นต้องซื้อยาทานเองมานานเป็นเวลากว่า 10-15 วัน/เดือน คุณอาจมีอาการปวดศีรษะจากยาได้ การรักษาคือการหยุดยา หรือค่อย ๆ ลดยาลง ซึ่งให้ปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง นอกจากนี้ยาสเตียรอยด์อาจช่วยบรรเทาอาการปวดในช่วงที่กำลังลดยาได้ (withdrawal period)

อาการปวดศีรษะไซนัส โพรงไซนัสอักเสบ (Acute sinusitis) สามารถทำให้เกิดอาการปวดบริเวณหน้าผาก รอบจมูกและดวงตา แก้ม หรือฟันบนได้ โดยการโน้มตัวมาข้างหน้าจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดมากขึ้น น้ำมูกข้น คัดจมูก และอาการไข้จะบ่งบอกได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับโพรงไซนัส หากได้รับการรักษาแล้ว อาการปวดก็จะหายไป โดยโพรงไซนัสอักเสบนั้นไม่ใช่สาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดศีรษะเรื้อรังหรือการกลับมาเป็นซ้ำ

อาการปวดศีรษะจากไอศครีม (Ice cream headaches) บางคนอาจเกิดอาการปวดศีรษะเจ็บแปล๊บอย่างทันทีเมื่อได้ทานอะไรเย็น ๆ โดยอาการปวดจะคงอยู่น้อยกว่านาทีแม้ว่าคุณจะยังทานสิ่งนั้นต่อไป หากคุณรู้สึกรำคาญอาการปวดศีรษะนี้ ลองทานให้ช้าลง หรืออุ่นอาหารก่อนทาน

ความดันเลือดสูง โรคความดันเลือดสูงไม่ได้ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะยกเว้นเสียแต่ว่าในขณะนั้นมีความดันเลือดสูงมาก ๆ ในความจริงแล้ว ผู้ป่วยที่มีโรคความดันเลือดสูงจะไม่ได้มีอาการอะไรเลย และจากการศึกษาในประชากรจำนวน 51,234 คน พบว่าโรคความดันเลือดสูงนั้นมีความสัมพันธ์กับโอการเกิดการปวดศีรษะที่ลดลง แต่นั่นก็ไม่ใช่สาเหตุที่คุณจะละเลยการดูแลความดันเลือดของคุณ เพราะโรคความดันเลือดสูงจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว และโรคไต ดังนั้นแล้วทุกคนควรตรวจดูความดันเลือดตัวเองและดูแลรักษาอยู่เสมอ

การออกกำลังกาย และการมีเพศสัมพันธ์  การออกกำลังกายฉับพลันและใช้แรงมากสามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ การค่อย ๆ วอร์มร่างกาย หรือป้องกันโดยการทานยาต้านการอักเสบก่อนการออกกำลังกายสามารถช่วยได้ การมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ บางรายอาจมีอาการปวดตื้อ ๆ แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดรุนแรงเรียกว่า Orgasmic headaches (อาการศีรษะที่สัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์) โดยอาการปวดศีรษะนี้สามารถป้องกันได้โดยการทานยา NSAID 30-60 นาทีก่อนการมีเพศสัมพันธ์

การตรวจทดสอบเกี่ยวกับอาการปวดศีรษะ

การแพทย์ปัจจุบันเริ่มมีอาการอาศัยการตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ เพื่อการวินิจฉัย แต่สำหรับอาการปวดศีรษะแล้ว เพียงแค่การซักประวัติและตรวจร่างกายก็เพียงพอ การทำ CT scans, MRIs, EEGs (การตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง) จะพบว่าปกติในผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว, ไมเกรน, อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ แต่อย่างไรก็ตามการตรวจดังกล่าวนั้นอาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยที่มีสัญญาณเตือนอันตราย หรืออาการปวดศีรษะที่ดูมากเกินกว่าปกติ

ใช้ชีวิตอยู่กับอาการปวดศีรษะ

สำหรับเราส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดศีรษะที่มาเป็นครั้งคราวนั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่มาชะลอความเร่งรีบอย่างชั่วคราวในแต่ละวันที่ยุ่งเหยิง อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่สามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการทานยาบรรเทาอาการ เทคนิคการผ่อนคลาย การฝึก biofeedback, โยคะ, การฝังเข็ม อาจช่วยบรรเทาอาการได้ แต่สำหรับบางคนแล้วอาการปวดศีรษะนั้นเป็นปัญหามาก จึงต้องเรียนรู้ที่จะตระหนักถึงสัญญาณเตือนอันตรายและพบแพทย์ในทันที ปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางในการรักษาและป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนหรืออาการปวดศีรษะอื่น ๆ และอย่าเผลอใช้ยามากเกินไป เพราะในบางคนการเกิดอาการปวดศีรษะซ้ำ (rebound headache) เป็นอาการปวดที่แย่ที่สุด


12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
When to Call the Doctor About Your Migraine or Headache. WebMD. (https://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/when-call-doctor-migraines-headaches)
Signs That Let You Know When to Worry About a Headache. Healthline. (https://www.healthline.com/health/headache/when-to-worry-about-a-headache)
Headache: When to worry, what to do - Harvard Health (https://www.health.harvard.edu/pain/headache-when-to-worry-what-to-do)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป