สุขภาพเท้า สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย

"เท้า" เป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย มีสัญญาณเกี่ยวกับสุขภาพเท้าหลายประการที่อาจบ่งบอกว่ามีโรคอันตรายซ่อนอยู่
เผยแพร่ครั้งแรก 2 พ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
สุขภาพเท้า สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย

“เท้า” เป็นส่วนประกอบของร่างกายที่คนเราต้องใช้ทุกวัน ไม่ว่าจะตื่นนอน อาบน้ำแต่งตัว กินข้าว ไปโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน หรือจะเคลื่อนย้ายตัวไปยังสถานที่ใด คุณต้องใช้เจ้าเท้าสองข้างนี้ทั้งสิ้น หากเท้าของคุณเกิดอาการเจ็บ หรือมีอาการแปลกๆ ไม่ค่อยสู้ดีนัก คุณควรให้ความสำคัญในการหาสาเหตุหรือต้นตอเพื่อแก้ปัญหา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า สุขภาพเท้าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรใส่ใจ เพราะเป็นตัวบ่งชี้และส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมทั้งร่างกายได้

“เท้า” เป็นอวัยวะที่ซับซ้อนและสำคัญต่อร่างกาย

องค์กรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า กระดูกเท้าของคนเรามีกลไกอันน่าอัศจรรย์ การเคลื่อนไหวเท้านั้นต้องใช้การทำงานของกระดูกกว่า 50 ชิ้นประสานกัน ถือเป็น 1 ใน 4 ของกระดูกทั้งหมดของร่างกาย และในกระดูกเหล่านั้นมีข้อต่อกว่า 60 ข้อ และมีกล้ามเนื้อและเอ็นยึดข้อกว่า 200 มัดที่ยึดโยงกระดูกเข้าด้วยกัน จึงไม่น่าแปลกใจหากปัญหามากมายจะเกิดขึ้นกับเท้าของคุณได้ เนื่องจากคุณต้องทิ้งน้ำหนักทั้งตัวลงไปที่เท้าและนิ้วเท้า การใช้ร่างกายส่วนใหญ่อาศัยการยืนและลงน้ำหนักบนเท้าเป็นเวลานาน รวมไปถึงการออกกำลังกายบางประเภท เช่น การวิ่ง ก็ส่งผลถึงเท้าโดยตรง นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้หญิงที่ใส่รองเท้าแบบไม่เสริมส้นหรือส่วนรองรับส้นเท้าที่สบายเพียงพอ อาจส่งผลเสียต่อเท้าได้ เช่น รองเท้าแตะหรือส้นสูงที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สัญญาณเกี่ยวกับสุขภาพเท้าที่พึงระวัง 

คุณไม่ควรมองข้ามปัญหาหรืออาการที่เกิดขึ้นกับเท้า หรือมัวทนเจ็บ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าแค่คุณรู้สึกเดินลำบากก็เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ ทั้งยังมีโรคหลายโรคที่ส่งสัญญาณผ่านอาการแปลกๆ ที่เท้าได้ด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • มีอาการชาเท้าที่เท้าทั้งสองข้าง ในผู้ป่วยเบาหวาน หากมีอาการเช่นนี้ อาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับโรคเส้นประสาทถูกทำลายจากโรคเบาหวาน (Diabetic neuropathy) โดยอาจเริ่มจากชาที่เท้าและค่อยๆ ไล่ขึ้นมาที่ขา ซึ่งบ่งบอกว่าเส้นประสาทในร่างกายถูกทำลาย
  • รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มฝ่าเท้า นี่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) 
  • ขนที่นิ้วเท้าหลุดร่วง หากคุณมีอาการขนที่นิ้วเท้าหลุดร่วงอย่างเห็นได้ชัด นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral artery disease) เนื่องมาจากเลือดในเส้นเลือดแดงที่ขาหมุนเวียนไม่สะดวก และอาจหมายถึงภาวะโรคหัวใจอื่นๆ ได้อีก
  • มีแผลที่รักษาไม่หายบริเวณฝ่าเท้าส่วนบน องค์กรการแพทย์โรคเท้าแห่งอเมริกันวิจัยพบว่า ประมาณ 15 % ของผู้เป็นโรคเบาหวานมักมีแผลอักเสบหรือแผลที่รักษาไม่หายบริเวณฝ่าเท้าส่วนบน โดยใน 14-24 % ของผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจต้องผ่าตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของขาออกเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ลุกลาม หรือไม่อาจต้องใช้อินซูลินเพื่อควบคุมอาการเบาหวานในแต่ละระดับ
  • เท้าเย็น อาการเท้าเย็นบ่งบอกถึงโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน มีการไหลเวียดเลือดที่เท้าผิดปกติ นอกจากนี้ยังเสี่ยงเป็นภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติ (Thyroid dysfunction) ดังนั้นหากคุณมีอาการเท้าเย็นหรือมือเย็นเป็นระยะเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและไทรอยด์ โดยในเบื้องต้นควรทำให้เท้าอุ่น ด้วยการใส่ถุงเท้าหนาก่อนนอนและรองเท้าเดินในบ้าน
  • เล็บเหลืองและหนา หากนิ้วเท้าบางนิ้วมีเล็บหนา เปลี่ยนสี หรือแยกห่างจากเนื้อเล็บหรือฐาน เป็นสัญญาณว่าคุณอาจเป็นเชื้อราที่เล็บเท้า (Fungal infection) ส่วนผู้เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune diseases) ที่จำเป็นต้องกินยากดภูมิคุ้มกันก็มีความเสี่ยงที่จะมีอาการนี้ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเท้าที่ว่านี้ด้วย
  • นิ้วโป้งที่เท้าบวม อาการนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบที่เกิดจากการมีกรดยูริกในร่างกายมากเกินไป มักแสดงอาการให้เห็นในส่วนของร่างกายที่มีความเย็นที่สุด นั่นคือนิ้วเท้าหัวแม่โป้ง
  • เล็บเท้าบุ๋ม เป็นสัญญาณของโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) หรือโรคสะเก็ดเงินชนิดข้ออักเสบ (Psoriatic arthritis) นอกจากนี้หากมีลักษณะของเล็บเท้าซีด ไม่มีสี ฉีกขาดง่าย เล็บหาย หนา หรือมีเส้นแนวนอน ให้รีบปรึกษาแพทย์ซึ่งมีความชำนาญเฉพาะในการตกแต่งเล็บเท้าและรักษาโรคเท้า
  • เล็บเท้างอนเป็นรูปช้อน เป็นลักษณะที่พบได้ในผู้มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Chronic iron deficiency) บางคนมีอาการนี้เมื่ออยู่ในภาวะแพ้ความสูง ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือได้รับพิษจากการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ผงซักฟอก เป็นต้น
  • เจ็บข้อนิ้วเท้า เป็นภาวะของโรคข้อเสื่อมและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งมักเริ่มจากอาการเจ็บปวดเล็กน้อยเมื่อเคลื่อนไหวหรือขยับมือหรือเท้า หากมีอาการนี้เป็นเวลานานต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาต่อไป
  • กระดกเท้าส่วนหน้าไม่ได้ หรือเรียกว่า เท้าตก เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อบริเวณหน้าฝ่าเท้าอ่อนแอ ทำให้กระดกเท้าขึ้นลำบากและเดินลากเท้า สาเหตุมาจากการกดทับของเส้นประสาทจากการนั่งไขว่ห้างหรือขัดสมาธิเป็นเวลานาน และยังพบในผู้ประสบอุบัติเหตุ หรือผู้ป่วยหมดสติหรืออัมพาตที่ไม่พลิกตะแคงตัว และผู้มีความผิดปกติของระบบประสาท (Neurodegenerative disorders) โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple sclerosis) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) สมองพิการ (Cerebral palsy) โปลิโอ (Polio) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic lateral sclerosis (ALS)) หรือโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหรือระบบประสาทอื่นๆ
  • นิ้วซีดกลายเป็นสีน้ำเงินหรือแดง มักมีอาการเมื่อสัมผัสอากาศหนาว ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคเรย์เนาด์ (Raynaud’s disease) หรือเลือดลมเดินไม่ดี มักพบในส่วนของนิ้วเท้าและนิ้วมือ โดยจะเริ่มซีดจนเป็นสีน้ำเงิน (เขียว) หากอยู่ในสภาพอากาศหนาวหรือประสบภาวะกดดันสูงทางจิตใจ ผู้เป็นโรคนี้ต้องระมัดระวังเมื่อต้องสัมผัสกับสภาพอากาศหนาว

คำแนะนำในการดูแลสุขภาพเท้าเบื้องต้น

เพื่อให้เท้ามีสุขภาพดี ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • หมั่นล้างเท้าให้สะอาด โดยทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำและสบู่ทุกวัน หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน เพราะจะเป็นการชะล้างน้ำมันธรรมชาติบนผิวที่เท้าออกไป
  • ทำให้เท้าแห้งอยู่เสมอ หลังจากล้างทำความสะอาดเท้า ต้องเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะง่ามนิ้วเท้าที่เป็นสาเหตุของเชื้อราที่นำไปสู่โรคน้ำกัดเท้า
  • เติมความชุ่มชื้น ถ้ารู้สึกว่าผิวที่เท้าแห้งเกินไป ควรทาครีม โดยทาให้หมดทั้งเท้า ยกเว้นง่ามนิ้วเท้า หากผิวหนังที่เท้ามีลักษณะหนาด้านหรือแข็ง ให้ค่อยๆ ขัดออกเบาๆ ด้วยหินขัดหรือเครื่องขัดเท้า แต่ต้องระวังไม่ขัดแรงเกินไป
  • ตัดเล็บที่นิ้วเท้าอย่างระมัดระวัง ค่อยๆ ตัดและเล็มเล็บนิ้วเท้า ไม่ควรตัดจมูกเล็บจนลึกเกินไป เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเล็บขบ
  • หากจะซื้อรองเท้าใหม่ ควรไปซื้อในเวลาบ่ายหรือเย็น เท้าจะขยายเต็มที่ในช่วงบ่ายหรือเย็น จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะที่จะเลือกซื้อรองเท้าขนาดกำลังสบาย
  • เลือกรองเท้าให้เหมาะกับการทำงานหรือกิจกรรม งานก่อสร้างหรือวิศวกรรมอาจต้องการรองเท้าเซฟตี้หรือรองเท้าหัวเหล็ก สาวออฟฟิศที่ต้องสวมรองเท้าส้นสูงควรสลับเป็นใส่รองเท้าใส่สบายบ้าง หรือหากทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น เดินป่า ต้องใช้รองเท้าเฉพาะที่เหมาะกับการใช้งาน
  • เปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน ควรเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน เลือกวัสดุและการออกแบบที่เหมาะกับกิจกรรมแต่ละวัน รวมถึงกีฬาที่เล่น ปล่อยให้เท้าได้หายใจและอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม รวมถึงเลือกขนาดถุงเท้าที่มีความกว้างและยาวเหมาะกับเท้าและข้อเท้า
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดโรคน้ำกัดเท้าหรือหูด ด้วยการสวมรองเท้าแตะในพื้นที่ชื้นแฉะ แต่ก็ไม่ควรใส่ตลอดเวลา เพราะรองเท้าแตะไม่ได้รองรับน้ำหนักที่ส้นเท้า อาจทำให้ส้นเท้าเจ็บ
  • ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ หากพบว่าเจ็บเท้าผิดปกติ มีอาการที่เท้าโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีภาวะทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเท้า เช่น เบาหวาน ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ หรือภูมิคุ้มกันต่ำ
ที่มาของข้อมูล
  1. Tips on foot care (https://www.nhs.uk/live-well/healthy-body/tips-on-foot-care/), 25 October 2018.
  2. Eileen Bailey, What Your Feet Say About Your Health (https://www.healthcentral.com/slideshow/what-your-feet-say-about-your-health#slide=1), 13 April 2018.

9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
10 Tips to Keep Your Feet Healthy - Foot Health Center. Everyday Health. (https://www.everydayhealth.com/foot-health/tips-for-healthy-feet.aspx)
Women’s Foot and Nail Care: Tips for Healthy, Sexy Feet. WebMD. (https://www.webmd.com/beauty/features/foot-cream-toenail#1)
5 ways to keep your feet healthy for better mobility. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/balance-and-mobility/keep-your-feet-healthy-for-better-mobility)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebral Vascular Accidents)
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebral Vascular Accidents)

ปัญหาสุขภาพรุนแรงและเป็นที่น่ากังวลที่เรียกว่าโรคหลอดเลือดสมอง

อ่านเพิ่ม