โรคโปลิโอ มีชื่อเต็มว่า โปลิโอมัยอิลัยติส (Poliomyelitis) หรือ แอคควิท์แอนทีเรีย โปลิโอมัยอิลัยติส (Acute Anterior Poliomyelitis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มีโอกาสจะกลายเป็นคนทุพพลภาพ
โรคนี้พบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำว่า 5 ปี แต่ถ้าเกิดขึ้นในผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่าเด็ก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือถ้าเชื้อไวรัสโปลิโอเข้าไปยังศูนย์ที่ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะสำคัญ เช่น ศูนย์ประสาทควบคุมการหายใจหรือศูนย์การทำงานของหัวใจ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโปลิโอ
เชื้อไวรัสโปลิโอสามารถติดต่อได้ทางอาหารและน้ำดื่ม โดยเชื้อนี้สามารถทนต่อกรดในกระเพาะอาหารได้เป็นอย่างดี แต่ถูกทำลายเมื่อได้รับความร้อน ดังนั้นการดื่มน้ำที่ต้มแล้วและรับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุก รวมถึงการรักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร จะเป็นวิธีป้องกันโรคเบื้องต้นที่ดีที่สุด
อาการของผู้ที่เป็นโรคโปลิโอ
ระยะที่เชื้อโปลิโออยู่ในเลือดนั้น จะตรงกับระยะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโปลิโอขึ้นมา ดังนั้น ถ้าภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมามีมากก็สามารถกำจัดเชื้อโปลิโอออกไปจากกระแสเลือดได้ แต่ปรากฏว่าผู้ป่วยประมาณ 1-2 % กำจัดเชื้อโปลิโอได้ไม่หมด ทำให้เชื้อโปลิโอแพร่กระจายไปยังร่างกายอื่นๆ เช่น ตับ ม้าม ไขกระดูก และต่อมน้ำเหลืองบางส่วน
ในกรณีร้ายแรงสุดอาจเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง คือสมองและไขสันหลัง โดยไปอยู่ที่กลุ่มเซลล์ประสาท ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ในกรณีนี้จะทำให้มีอาการคอแข็ง เจ็บปวดที่คอ หลัง และบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ถ้ากลุ่มเซลล์ประสาทดังกล่าวถูกทำลายมาก เส้นประสาทจะไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องได้ ทำให้กล้ามเนื้อนั้นกลายเป็นอัมพาต (Paralysis)
หากเกิดขึ้นกล้ามเนื้อใบหน้า จะทำให้ใบหน้าเบี้ยว หากเป็นอัมพาตที่กล้ามเนื้อหัวใจ หรือเป็นอัมพาตที่กล้ามเนื้อกระบังลมร่วมกับกล้ามเนื้อทรวงอก และกล้ามเนื้อระหว่างช่องซี่โครงแล้ว การเต้นของหัวใจและการหายใจก็จะหยุด ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตได้ทันที แต่ถ้ากลุ่มเซลล์ประสาทถูกทำลายไม่มาก กล้ามเนื้อก็มีโอกาสฟื้นตัวได้ภายใน 4-6 สัปดาห์
การวินิจฉัยโรค
ประกอบด้วยการตรวจทางร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการการตรวจทางร่างกาย แยกได้ยากเพราะมีอาการคล้ายกับโรคหวัด ดังนั้น จึงควรดูว่าอาการคอแข็ง หลังแข็ง ต้นขาตึง หรือเจ็บตามกล้ามเนื้อหรือเปล่า หรือทดสอบกำลังของกล้ามเนื้อดูว่ากำลังของกล้ามเนื้อลดลงไปเรื่อย ๆ หรือเปล่า ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด กรวดน้ำไขสันหลัง ตลอดจนตรวจอุจจาระเพื่อแยกเชื้อไวรัสเป็นชั้นตอนการวินิจฉัยโรคที่แน่นอนกว่า การตรวจทางร่างกาย เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคโปลิโอ จะต้องรีบแจ้งให้ทางราชการทราบและรีบเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทันที เพราะถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมาแต่เริ่มต้นแล้ว ก็มักจะพิการไปตลอดชีวิต เมื่อรักษาได้ถึงขึ้นพ้นระยะความรุนแรงของโรคแล้ว จะต้องให้การรักษาทางกายภาพบำบัดทันที เพื่อให้กล้ามเนื้อนั้นมีกำลังกลับคืนมาตามปกติ และป้องกันความพิการที่เกิดขึ้นต่อไป
เชื้อไวรัสโปลิโอมีอยู่ 3 ชนิด (Type) คือชนิดที่ 1 พบได้บ่อยและมักทำให้เกิดอัมพาต ส่วนชนิดที่ 2 และ 3 พบได้ประปรายและมักไม่ทำให้เกิดอัมพาต การติดเชื้อในแต่ละครั้งมักเกิดจากเชื้อโปลิโอชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นก็ป้องกันได้เฉพาะเชื้อโปลิโอชนิดนั้นเพียงชนิดเดียว ดังนั้นการป้องกันโรคที่ได้ผลสมบูรณ์จึงต้องได้รับวัคซีนโปลิโอครบทั้ง 3 ชนิด ในรูปที่เรียกว่า ไตรเวเลนท์ (Trivalent) และจะต้องได้รับการกระตุ้นตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันสูงพอในการป้องกันโรค
วัคซีนดังกล่าวมี 2 ชนิด คือวัคซีนชนิดฉีด (IPV) และวัคซีนชนิดรับประทาน (OPV) ปัจจุบันนิยมใช้วัคซีนชนิดรับประทานมากกว่าชนิดฉีด เพราะว่าง่ายต่อการใช้ และให้ผลในการป้องกันโรค ได้ดีกว่า
วัคซีนชนิดรับประทาน (Trivalent OPV) นี้จะต้องได้รับทั้งหมด 5 ครั้ง ครั้งที่ 1 , 2 และ 3 ให้เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ หลังจากนั้นจะต้องได้รับการกระตุ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 1 ปี 6 เดือน และครั้งที่ 2 อายุประมาณ 4-6 ปี วัคซีนโปลิโอนี้สามารถให้พร้อมไปกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (D), ไอกรน (P), บาดทะยัก (T), และหัด (M) โดยไม่มีอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น เด็กที่กินแม่อยู่ก็รับวัคซีนได้ ดังนั้นจึงควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีน เพื่อที่บุตรหลานของท่านจะได้ไม่เป็นโรคโปลิโอ