โรคตับแข็ง

เผยแพร่ครั้งแรก 23 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 12 นาที
โรคตับแข็ง

โรคตับแข็ง (Cirrhosis) คือบาดแผลที่ตับที่เกิดจากความเสียหายที่ตับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื้อเยื่อตับที่เป็นแผลจะถูกทดแทนด้วยเนื้อเยื่อสุขภาพดีเพื่อป้องกันไม่ให้ตับหยุดทำงาน

ความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยภาวะตับแข็งไม่สามารถแก้ไขได้ และจะกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้ตับหยุดทำงานในที่สุด ภาวะนี้จะเรียกภาวะตับล้มเหลว หรือภาวะตับวาย (liver failure)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ภาวะตับแข็งจะเป็นภาวะอันตรายมากหากทำให้ตับวาย อย่างไรก็ตามกว่าจะถึงระยะนั้นก็ต้องใช้เวลาหลายปี ซึ่งหากได้รับการรักษาต่อเนื่องจะทำให้ภาวะตับวายลุกลามช้าลง

แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคตับแข็งประมาณ 4,000 คน และมีผู้ป่วย 700 คนที่ต้องเข้ารับการปลูกถ่ายตับใหม่เพื่อที่จะได้มีชีวิตรอด (ข้อมูลจากสหราชอาณาจักร)

สัญญาณและอาการของโรคตับแข็ง

อาการของโรคตับแข็งระยะแรกเริ่มมักจะมีอยู่น้อยมาก แต่เมื่อตับเริ่มสูญเสียการทำงานตามปรกติไปแล้ว คุณมักจะประสบกับอาการไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ และคันผิวหนัง

ในช่วงระยะหลัง ๆ ของโรค อาการจะมีทั้งดีซ่าน อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ และมีของเหลวสะสมในขา (oedema) และในช่องท้อง (ascites)

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

โรคตับแข็งไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจนในช่วงระยะเริ่มต้น ทำให้แพทย์มักตรวจพบโรคนี้ระหว่างการตรวจร่างกายหาภาวะสุขภาพอื่น ๆ มากกว่า

คุณควรไปพบแพทย์หากว่ามีอาการดังต่อไปนี้: มีไข้และตัวสั่น หายใจติดขัด อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีคล้ำดำคล้ายก้อนถ่าน มีช่วงที่รู้สึกสับสนหรือง่วงนอน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตับวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 65%

ตรวจตับ วันนี้ เปรียบเทียบราคา / ประหยัดกว่า / ผ่อน 0% ได้ / แอดมินพร้อมให้บริการ กดที่นี่

อะไรเป็นสาเหตุของโรคตับแข็ง?

สาเหตุการเกิดโรคตับแข็งที่พบได้บ่อยมีดังนี้: ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นเวลานานหลายปี (alcohol misuse) ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C (hepatitis C) เป็นเวลานาน เป็นภาวะที่เรียกว่า non-alcoholic steatohepatitis (NASH) ที่ทำให้มีไขมันสะสมในตับมากเกินไป

มีผู้ป่วย NASH เพิ่มมากขึ้นในแต่ละประเทศทุกปีเนื่องจากจำนวนผู้ที่มีภาวะอ้วน (obesity) และการลดน้อยลงของกิจกรรมทางร่างกายของคนสมัยใหม่ จนแทบจะมีจำนวนเทียบเท่ากับสาเหตุที่มาจากการบริโภคแอลกอฮอล์กับไวรัสตับอักเสบ C

ส่วนสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนั้น มีทั้งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B และโรคตับทางพันธุกรรม เช่นภาวะเหล็กเกิน (haemochromatosis)

การรักษาโรคตับแข็ง

ยังไม่มีวิธีรักษาโรคตับแข็ง มีเพียงการควบคุมจัดการอาการกับภาวะแทรกซ้อน และชะลอการลุกลามของโรคลงเท่านั้น

การรักษาภาวะต้นตอที่เป็นสาเหตุของโรคตับแข็งอย่างการใช้ยาต้านไวรัสรักษาภาวะติดเชื้อตับอักเสบ C ก็สามารถหยุดไม่ให้ภาวะตับแข็งทรุดลงได้

คุณอาจถูกแนะนำให้ลดหรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์ หรือลดน้ำหนัก โดยมีตัวเลือกบริการช่วยเหลือมากมายให้คุณเลือกใช้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สำหรับโรคตับแข็งระยะลุกลามมากแล้ว แผลที่เกิดจากภาวะนี้สามารถทำให้ตับของคุณหยุดทำงานได้ ในกรณีเช่นนี้จะมีเพียงการปลูกถ่ายตับเป็นตัวเลือกรักษาสุดท้าย

การป้องกันโรคตับแข็ง

การจำกัดปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์

การพยายามไม่ดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณขีดสุดเป็นวิธีป้องกันการเกิดโรคตับแข็งจากพิษแอลกอฮอล์ (alcohol-related cirrhosis) ที่ดีที่สุด

ทั้งผู้ชายและผู้หญิงไม่ควรดื่มสุรามากกว่า 14 หน่วยต่อสัปดาห์

พยายามกระจายการดื่มของคุณให้มากกว่า 3 วันขึ้นไปในกรณีที่คุณดื่มเกือบหรือเท่ากับ 14 หน่วยต่อสัปดาห์

หากคุณป่วยเป็นโรคตับแข็งไม่ว่าจะเป็นผลมาจากสาเหตุใดก็ตาม ควรเลิกการดื่มสุราในทันทีเพราะจะยิ่งไปเร่งการลุกลามของภาวะนี้ให้เร็วมากขึ้น

การป้องกันตนเองจากโรคตับอักเสบ

สำหรับไวรัสตับอักเสบ C และ B นั้นสามารถติดได้จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือการใช้เข็มฉีดร่วมกัน ดังนั้นการใช้ถุงยางอนามัย และไม่ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่นจะเป็นวิธีลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสทั้งสองที่ดีที่สุด

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B อย่างเช่นตำรวจและผู้ดูแลผู้ป่วยควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ กระนั้นการฉีดวัคซีนสามารถทำได้เฉพาะไวรัสตับอักเสบ B เท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนใดสามารถป้องกันไวรัสตับอักเสบ C ได้

อาการของโรคตับแข็ง

อาการของโรคตับแข็งระยะแรกเริ่มมักจะมีอยู่น้อยมาก ปัญหาที่สังเกตเห็นได้มักจะเริ่มขึ้นหลังจากที่ตับเสียหายมากขึ้น

ในช่วงระยะต้น ๆ ของโรคตับแข็ง ตับจะสามารถทำงานได้ตามปรกติแม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้น เมื่อโรคเริ่มลามมากขึ้น อาการมักจะเกิดขึ้นจนส่งผลต่อการทำงานของตับ โดยมีอาการดังนี้: เหน็ดเหนื่อย และอ่อนแรง ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด และกล้ามเนื้อลีบ รู้สึกคลื่นไส้ และอาเจียน กดเจ็บหรือเจ็บปวดบริเวณที่ตับอยู่ เกิดเส้นเลือดสีแดงขึ้นบนผิวหนัง ณ ตำแหน่งเหนือเอวขึ้นไป คันผิวหนังอย่างมาก ผิวหนังและตาขาวออกสีเหลือง (ดีซ่าน) ฟกช้ำและเลือดออกได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นประสบกับภาวะเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟันบ่อยครั้ง ผมร่วง มีไข้และหนาวสั่น ขา ข้อเท้า และเท้าบวมเนื่องจากภาวะบวมน้ำ (oedema) ท้องบวม เนื่องจากการสะสมของของเหลวภายในช่องท้อง เรียกว่าภาวะท้องมาน (ascites)

คุณอาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพ ปัญหาการนอนหลับ สูญเสียความทรงจำ สับสน และทำสมาธิลำบากขึ้น ภาวะเหล่านี้เรียกว่าโรคสมองจากโรคตับ (encephalopathy) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสารพิษที่มาจากการที่ตับไม่สามารถกรองออกจากร่างกายได้เข้าสู่สมอง

อาการของโรคตับแข็งระยะท้าย ๆ

อาการของโรคตับแข็งระยะหลัง ๆ มีทั้งอาเจียนเป็นเลือด หรือมีอุจจาระสีดำ เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลผ่านตับได้ตามปกติจนทำให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำที่เชื่อมจากลำไส้ไปยังตับเพิ่มขึ้น (portal vein)

การเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตจะทำให้เลือดต้องไหลผ่านเส้นเลือดที่แคบและเปราะบางขึ้น ซึ่งสามารถแตกออกได้หากมีความดันสูงเกินไป จนทำให้เกิดภาวะเลือดออกภายในซึ่งจะสังเกตได้จากอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือ/และมีเลือดปนอุจจาระ

เมื่อผ่านไปนานเข้า สารพิษที่ปรกติจะถูกตับกรองออกจากร่างกายจะเข้าไปทำให้อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว และในที่สุดจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

สาเหตุของโรคตับแข็ง

สาเหตุของโรคตับแข็งมีอยู่หลากหลาย โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือการบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C เป็นเวลานาน แต่ในบางกรณีก็อาจเกิดโรคนี้ขึ้นโดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดก็ได้

การบริโภคแอลกอฮอล์

ตับสามารถย่อยสลายสารพิษอย่างเช่นแอลกอฮอล์ได้ แต่การรับมือกับแอลกอฮอล์มากเกินไปก็สามารถทำให้เซลล์ตับเป็นแผลและเสียหายได้ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 14 หน่วยต่อสัปดาห์จะนับว่าดื่มสุราหนักเกินไป

หากคุณเป็นคนดื่มหนัก โอกาสที่คุณจะกลายเป็นโรคตับแข็งจะเพิ่มสูงขึ้น กระนั้นคุณควรทราบไว้ว่าโรคตับแข็งไม่ใช่ภาวะที่จะส่งผลต่อผู้ที่ติดสุราเท่านั้น ผู้ที่ทำการดื่มสุราอย่างหนักตามโอกาสพบปะหรืองานสังคมต่าง ๆ นาน ๆ ครั้งก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

โรคตับแข็งจากแอลกอฮอล์มักจะเกิดขึ้นหลังการดื่มอย่างหนักเป็นประจำนาน 10 ปี แต่มนุษย์บางคนอาจมีความอ่อนไหวต่อความเสียหายเซลล์มากกว่าผู้อื่นโดยที่ยังไม่มีใครทราบสาเหตุ ผู้หญิงที่ดื่มอย่างหนักจะมีความอ่อนไหวต่อความเสียหายของตับมากกว่าผู้ชาย อาจเป็นเพราะเรื่องของขนาดมวลกายและรูปร่างที่ต่างกันนั่นเอง

ระยะของความเสียหายที่ตับจากแอลกอฮอล์

ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก และยังคงดื่มต่อเนื่องแม้จะเป็นโรคตับแข็งแล้ว จะมีระยะของโรคตับแข็งอยู่ 3 ระยะ ดังนี้:

ระยะแรกของโรคตับจากพิษแอลกอฮอล์ (alcohol-related liver disease) คือภาวะไขมันพอกตับ (fatty liver) ซึ่งเกิดขึ้นกับนักดื่มสุราหนัก ๆ แทบทุกราย นับเป็นผลข้างเคียงจากกระบวนการทำลายแอลกอฮอล์ของตับและจะหายไปเมื่อคุณดื่มสุราน้อยลง

ระยะที่สองของโรคตับจากพิษแอลกอฮอล์คือภาวะตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (alcoholic hepatitis) โดยนักดื่มสุราประมาณ 20-30% ที่ยังคงดื่มอย่างหนักหน่วงอยู่จะเข้าสู่ระยะนี้ เมื่อเข้าสู่ระยะนี้ตับจะอักเสบขึ้นและหากยังคงดื่มต่อไป ตับจะทรุดโทรมลงจนอาจถึงระยะของตับล้มเหลวที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ผู้ดื่มสุราอย่างหนักประมาณ 10% จะกลายเป็นโรคตับแข็ง ซึ่งนับเป็นระยะที่สามของโรคตับจากพิษแอลกอฮอล์

ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคตับแข็ง พร้อมกับความเสี่ยงของภาวะตับอักเสบจากแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทางการแพทย์แนะนำให้ผู้ชายและผู้หญิงไม่ควรดื่มสุรามากกว่า 14 หน่วยต่อสัปดาห์ และแนะนำให้กระจายการดื่มทั้งสัปดาห์ให้มากกว่าช่วงเวลา 3 วันขึ้นไปแทน

แพทย์สามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ไม่สามารถลดหรือเลิกดื่มได้

ภาวะตับอักเสบ

ภาวะตับอักเสบ (Hepatitis) คือภาวะอักเสบของตับที่หากทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานานหลายปีจะสร้างความเสียหายกับตับจนกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด

ไวรัสตับอักเสบ C เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบขึ้นมา โดยไวรัสตับอักเสบ C มักจะแพร่กระจายผ่านทางการสัมผัสโลหิตกับโลหิต ส่วนมากจะมาจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน

ภาวะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีกสองประเภทคือ B และ D ก็สามารถก่อให้เกิดโรคตับแข็งได้บ้างเช่นกัน

ภาวะไขมันสะสมคั่งในตับ

ภาวะไขมันสะสมคั่งในตับ (Non-alcoholic steatohepatitis - NASH) คือภาวะร้ายแรงที่ทำให้ตับเกิดโรคตับแข็งขึ้น เช่นเดียวกับโรคตับที่มาจากแอลกอฮอล์ NASH ระยะแรกมาจากการสะสมกันมากเกินไปของไขมันที่ตับ ไขมันเหล่านี้เกี่ยวพันกับการอักเสบและบาดแผล ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดโรคตับแข็งขึ้น

NASH สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีภาวะอ้วน เป็นเบาหวาน มีไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง ผู้ป่วย NASH ส่วนมากจะรู้สึกสบายดีและไม่ตระหนักถึงภาวะของตนเองจนกว่าอาการของโรคตับแข็งจะเริ่มขึ้น และส่งผลต่อการทำงานของตับไปแล้ว

สาเหตุอื่น ๆ

มีภาวะอื่น ๆ มากมายที่ทำให้ตับหยุดทำงานและกลายเป็นโรคตับแข็งได้ ดังนี้: โรคระบบภูมิคุ้มกันร่างกายโจมตีตับ: ระบบภูมิคุ้มกันคือระบบที่ใช้แอนติบอดีเข้าโจมตีแบคทีเรียและไวรัส หากคุณเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoimmune disease) เช่น autoimmune hepatitis โรค primary biliary cirrhosis หรือโรคท่อน้ำดีอักเสบแข็งปฐมภูมิ (primary sclerosing cholangitis - PSC) ระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะทำให้แอนติบอดีเข้าโจมตีอวัยวะที่สุขภาพดีแทน

(กรณีหายาก) ภาวะทางพันธุกรรม อย่างภาวะเหล็กเกิน (haemochromatosis) (โรคที่มีธาตุเหล็กในตับและส่วนอื่นของร่างกาย) และ Wilson's disease (โรคที่ทำให้มีทองแดงในตับและอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย)

ภาวะที่ทำให้ท่อน้ำดีเกิดการอุดตัน: เช่นมะเร็งท่อน้ำดี หรือมะเร็งตับอ่อน

Budd-Chiari syndrome: ภาวะที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ใช้ลำเลียงเลือดออกจากตับ

ในบางกรณี การใช้ยาบางประเภทอย่าง amiodarone และ methotrexate ก็สามารถทำให้เกิดโรคตับแข็งได้เช่นกัน

การวินิจฉัยโรคตับแข็ง

หากแพทย์คาดการณ์ว่าคุณเป็นโรคตับแข็ง พวกเขาจะตรวจสอบประวัติสุขภาพของคุณและดำเนินการตรวจร่างกายเพื่อมองหาสัญญาณของโรคตับ

หากแพทย์คาดการณ์ว่าตับของคุณเสียหาย พวกเขาจะส่งคุณไปรับการทดสอบต่าง ๆ เพื่อยืนยันการวินิจฉัย

การทดสอบ

การตรวจเลือด

การตรวจเลือดจะช่วยวัดการทำงานของตับและปริมาณความเสียหายของตับคุณได้ โดยการตรวจเลือดจะใช้เพื่อวัดระดับเอนไซม์ alanine transaminase (AL T) ของตับ และ aspartate transferase (AST) ในเลือด เพราะเอนไซม์เหล่านี้จะเพิ่มขึ้นหากตับของคุณมีการอักเสบ

การสแกน

การอัลตราซาวด์ (ultrasound scan)  transient elastography scan การสแกนคอมพิวเตอร์ (computerised tomography - CT) หรือการถ่ายภาพสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging - MRI) สามารถดำเนินการกับตับของคุณได้ โดย )  transient elastography scan จะคล้ายกับเทคนิคอัลตราซาวด์ที่ใช้ระหว่างการตั้งครรภ์ (บางครั้งก็เรียกการสแกนประเภทนี้ว่า Fibroscan)

การสแกนเหล่านี้จะร่างภาพตับและใช้ตรวจหาความแข็งของตับเพื่อชี้ชัดความเสียหายได้

การเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับ

การเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับ (liver biopsy) เป็นการเจาะเข็มลงไปในร่างกายเพื่อเก็บตัวอย่างเซลล์ของตับออกมา ตัวอย่างที่นำมาจะถูกส่งไปห้องปฏิบัติการณ์เพื่อตรวจหาด้วยกล้องจุลทรรศน์

การเจาะตรวจชิ้นเนื้อมักดำเนินการด้วยการใช้ยาชาเฉพาะที่กับผู้ป่วย ซึ่งผลที่ได้จะเป็นข้อมูลช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคตับแข็ง และอาจจะเป็นแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับแพทย์ก็ได้ อย่างไรก็ตามแพทย์มักจะใช้เทคนิค transient elastography แทนการเจาะตรวจชิ้นเนื้อวินิจฉัยโรคตับแข็งมากเสียกว่า

การสอดกล้อง

การสอดกล้องตรวจภายในร่างกาย (Endoscopy) เป็นการใช้ endoscope (ท่อเรียวยาวที่มีไฟฉายและกล้องวิดีโอติดอยู่ที่ปลาย) สอดผ่านลำคอลงไปยังกระเพาะอาหาร

ภาพของหลอดอาหาร (ท่อจากลำคอลงไปยังกระเพาะอาหาร) กับกระเพาะอาหารจะถูกส่งไปยังจอภายนอกที่จะแสดงให้เห็นเส้นเลือดโป่งพอง (varices) ที่เป็นสัญญาณของโรคตับแข็ง

การคัดระดับ

มีระบบที่ใช้บ่งชี้ระดับความรุนแรงของโรคตับแข็งมากมาย โดยหนึ่งระบบที่ใช้กันคือ Child-Pugh score ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการตรวจร่างกายและผลการทดสอบห้องปฏิบัติการณ์ ซึ่งมีเกรดตั้งแต่ A (ค่อนข้างเบาบาง) ถึง C (รุนแรง)

อีกระบบเรียกว่า model of end-stage liver disease (MELD) ที่จะใช้ผลการตรวจเลือดเพื่อระบุว่าผู้ป่วยจำต้องเข้ารับการปลูกถ่ายตับเร่งด่วนแค่ไหน

การรักษาโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งไม่สามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นการรักษาต่าง ๆ จะมีเป้าหมายเพื่อจัดการอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เพื่อหยุดไม่ให้ภาวะทรุดลง

โดยมากมักไม่สามารถเยียวยาความเสียหายของตับที่เกิดขึ้นได้ กระนั้นก็มีงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้กล่าวว่าการเยียวยาอาจจะทำได้ในกรณีที่สามารถทำการรักษาภาวะต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายที่ตับสำเร็จ

การรักษามักจะดำเนินการกันในโรงพยาบาล โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งมีความช่ำชองในการรักษาภาวะผิดปรกติที่ตับ ถุงน้ำดี และทางเดินน้ำดี

การหยุดความทรุดโทรมของโรคตับแข็ง

การใช้ยารักษาภาวะต้นตอที่ทำให้เกิดความเสียหายที่ตับ และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจะช่วยระงับการทรุดลงของโรคตับแข็งได้ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพเพิ่มเติมได้อีกด้วย

การใช้ยา

ยาที่คุณต้องใช้จะขึ้นอยู่กับสาเหตุของความเสียหายที่ตับของคุณ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณติดเชื้อไวรัสตับอักเสบคุณจำต้องได้รับยาต้านไวรัส หากคุณเป็นตับอักเสบจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง คุณจะได้รับยาสเตียรอยด์ (คอร์ติโคสเตียรอยด์) หรือยาที่ใช้กดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressant)

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณสามารถทำเพื่อช่วยให้ร่างกายของคุณสุขภาพดีและลดโอกาสเกิดปัญหาต่าง ๆ ในกรณีที่คุณเป็นโรคตับแข็ง ดังนี้: การเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าคุณจะเป็นตับแข็งที่มาจากการบริโภคแอลกอฮอล์หรือไม่ก็ตาม เพราะแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการลุกลามของภาวะนี้ได้ ลดน้ำหนักหากคุณมีน้ำหนักร่างกายเกินหรือมีภาวะอ้วน ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อลดอาการกล้ามเนื้อลีบ ฝึกดูแลสุขอนามัยของตนเองเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ ปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีน เช่นการฉีดวัคซีนไข้หวัดประจำปี ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากคุณต้องใช้ยาต่าง ๆ เนื่องจากโรคตับแข็งอาจส่งผลให้ร่างกายตอบสนองต่อยาบางประเภทไม่ปรกติ

ผู้ป่วยโรคตับแข็งมักประสบกับภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) บ่อยครั้ง ดังนั้นคุณจึงควรทานอาหารให้สมดุลเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบตามความต้องการ

เลี่ยงอาหารรสเค็ม และไม่เพิ่มเกลือลงในอาหารเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะขา เท้า และท้องบวมที่มาจากการสะสมกันของของเหลว

ความเสียหายที่ตับยังทำให้ร่างกายคุณไม่สามารถกักเก็บไกลโคเจน ที่เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานระยะสั้นได้ เมื่อเกิดเช่นนี้ขึ้นร่างกายจะใช้เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อมาทดแทน ดังนั้นคุณจำต้องได้รับแคลอรีในอาหารมากกว่าผู้อื่น

การทานขนมที่ดีต่อสุขภาพระหว่างมื้อจะช่วยเพิ่มระดับแคลอรีและโปรตีนแก่คุณได้ หรือคุณอาจจะใช้วิธีทานอาหารมื้อเล็ก ๆ 3 ถึง 4 มื้อแทนการทานอาหารมื้อใหญ่ 1 หรือ 2 มื้อต่อวันก็ได้

การบรรเทาอาการ

มีการรักษาหลายอย่างที่ช่วยบรรเทาอาการของโรคตับแข็งได้ ดังนี้: การทานอาหารโซเดียมต่ำ (เกลือ) หรือใช้ยาขับน้ำเพื่อลดปริมาณของเหลวในร่างกายลง การใช้ยาทานที่ช่วยลดระดับความดันโลหิตในเส้นเลือดพอร์ทัลลง (เส้นเลือดดำหลักที่ใช้ลำเลียงเลือดจากลำไส้ไปสู่ตับ) และเพื่อป้องกันหรือรักษาภาวะติดเชื้อต่าง ๆ ครีมสำหรับลดอาการคัน

การจัดการกับภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับแข็งระยะลุกลาม

ในกรณีของโรคตับแข็งระยะหลัง ๆ จะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นที่คุณต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน

ภาวะหลอดเลือดโป่งพอง

หากคุณอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายหนักปนเลือด คุณอาจมีภาวะหลอดเลือดโป่งพองที่ส่วนของหลอดอาหารก็ได้ (oesophageal varices)

ในกรณีเช่นนี้ต้องเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาฉุกเฉินทันที โดยจะมีกระบวนการบางประเภทที่ช่วยหยุดการไหลของเลือด และลดความเสี่ยงต่อภาวะนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก เช่น:

การปิดแถบ (Banding): จะมีกระบวนการสอดกล้อง (endoscopy) เข้าไปเพื่อใช้แถบปิดขนาดเล็กพันรอบฐานของหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหาร (varices) เพื่อควบคุมภาวะเลือดไหล

การบำบัดฉีดกาว (Injection glue therapy): หลังจากกระบวนการสอดกล้อง จะมีการใช้กาวสำหรับทางการแพทย์ฉีดเข้าที่หลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารเพื่อทำให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งจะช่วยหยุดการไหลของเลือดได้

การใช้ท่อ Sengstaken ที่มีบอลลูนติดอยู่ที่ปลาย: จะมีการสอดท่อชนิดพิเศษลงไปยังลำคอจนถึงกระเพาะอาหารก่อนที่จะทำให้บอลลูนพองตัวออก ซึ่งจะทำให้เข้าไปกดเส้นเลือดขอดที่หลอดอาหารจนหยุดการไหลของเลือดลง โดยระหว่างกระบวนการนี้คุณจะได้รับยาระงับประสาทก่อน

transjugular intrahepatic portosystemic stent shunt (TIPSS): จะมีการใช้ท่อโลหะที่เรียกว่า stent ผ่านเข้าไปยังตับเพื่อเชื่อมเส้นเลือดดำขนาดใหญ่ทั้งสอง (portal กับ hepatic) เข้าด้วยกัน โดยจะสร้างเส้นทางไหลเวียนเลือดใหม่ขึ้นมา ดังนั้นจึงช่วยลดแรงดันที่ทำให้เกิดเส้นเลือดดำขอดที่หลอดอาหารลงตามมา

คุณอาจได้รับยากลุ่มที่เรียกว่า  beta-blocker อย่าง propranolol เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก หรือลดความรุนแรงของภาวะเลือดออกที่มีอยู่ก็ได้

น้ำในช่องท้องและขา

ภาวะท้องมาน (Ascites) (ภาวะที่มีของเหลวอยู่รอบพื้นที่กระเพาะอาหาร) กับภาวะบวมส่วนปลาย (peripheral oedema) (ภาวะที่มีของเหลวรอบขาและข้อเท้า) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับแข็งระยะท้ายหลังที่พบได้บ่อย โดยควรต้องทำการรักษาในทันที

คุณจะมีน้ำขังอยู่ในพื้นที่หน้าท้องประมาณ 20 ถึง 30 ลิตร ซึ่งทำให้คุณทานอาหารและหายใจได้ลำบากขึ้น การรักษาทั่วไปสำหรับภาวะท้องมานกับภาวะบวมน้ำคือการจำกัดปริมาณโซเดียม (เกลือ) ในอาหารลง และทานยาขับปัสสาวะ (diuretic) อย่าง spironolactone หรือ furosemide

หากของเหลวรอบกระเพาะอาหารเกิดการติดเชื้อ คุณจำต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรืออีกวิธีคือการทานยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดภาวะติดเชื้อในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง

สำหรับกรณีผู้ป่วยท้องมานรุนแรง จะมีการสอดท่อเพื่อดูดของเหลวออกจากช่องท้องแทน ซึ่งอาจต้องทำเช่นนี้ทุก ๆ สองหรือสามสัปดาห์

โรคสมองจากโรคตับ

ผู้ป่วยโรคตับแข็งอาจประสบกับภาวะที่ส่งผลต่อการทำงานของสมองที่เรียกว่าโรคสมองจากโรคตับได้ (Encephalopathy) ซึ่งภาวะนี้จะเกิดขึ้นเพราะว่าตับไม่สามารถกำจัดสารพิษออกได้หมด

การรักษาโรคสมองจากโรคตับคือการใช้ lactulose syrup ซึ่งทำหน้าที่คล้ายเป็นยาระบายและช่วยให้ร่างกายขจัดสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกายออกมา ในบางกรณีก็อาจมีการสวนทวารหรือยาระบายอื่น ๆ ด้วยก็ได้

เลือดออก

โรคตับแข็งส่งผลต่อความสามารถในการก่อให้เกิดลิ่มเลือด ทำให้คุณมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกไม่หยุดเมื่อมีบาดแผล วิธีรักษาในกรณีที่คุณมีเลือดออกไม่หยุดซ้ำซากคือการให้วิตามิน K และพลาสม่า (plasma) และทำการกดปากแผลเพื่อหยุดเลือด

ดังนั้นคุณควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ อย่างการทำฟัน เป็นต้น

การปลูกถ่ายตับ

ตับของคุณอาจจะหยุดการทำงานได้หากตับเสียหายหรือเป็นแผลรุนแรง ในสถานการณ์เหล่านี้จะมีหัตถการปลูกถ่ายตับเกิดขึ้นเป็นทางเลือกสุดท้าย หัตถการนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องมีการกำจัดตับที่เสียหายออกและแทนที่ด้วยตับที่สุขภาพดีจากผู้ให้บริจาค

อย่างไรก็ตามคุณอาจต้องทำการรอรับการปลูกถ่ายเป็นเวลานานเนื่องจากมีผู้ป่วยมากมายในระบบที่กำลังต่อคิวรอตับใหม่จากผู้บริจาคอยู่


27 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Cirrhosis of the liver: Causes, symptoms, and treatments. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/172295)
John P. Cunha, DO, FACOEP, Cirrhosis (Liver) (https://www.medicinenet.com/cirrhosis/article.htm).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป