กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Furosemide (ฟูโรซีไมด์)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที

Furosemide เป็นยาในกลุ่มยาขับปัสสาวะ ชื่อทางการค้าที่เป็นที่รู้จักคือ Lasix โดยบริษัท Sanofi Aventis กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของโซเดียมและคลอไรด์ที่บริเวณลูปออฟเฮนเล (Loop of Henle) ส่วนขาขึ้น (Loop of henle เป็นท่อยาวที่เป็นทางผ่านของปัสสาวะในหน่วยไต มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเกิดการดูดกลับและขับออกของสารในปัสสาวะเมื่อปัสสาวะเดินทางผ่านท่อนี้) เพิ่มการขับออกของโพแทสเซียมและแอมโมเนีย ลดการขับออกของกรดยูริก เพิ่มการทำงานของเรนนิน (Renin) นอร์อีพิเนปฟรีน (Norepinephrine) และ อาร์จีนิน-วาโซเพรสซิน (argenine-vasopressin) (ฮอรโมนทั้งสามชนิดนี้ในระบบ Renin-Angiotensin-Aldosterone system ของร่างกาย ทั้งสามเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต ของเหลว และสมดุลอิเล็กโทรไลต์ โดยฮอร์โมนทั้งสามจะถูกกระตุ้นให้ทำงานเมื่อร่างกายมีความดันโลหิตต่ำ เมื่อกระตุ้นแล้วร่างกายจะถูกตอบสนองผ่านกลไกที่ไต ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง หลอดเลือด เพื่อให้ความดันร่างกายกลับเข้าสู่ระดับปกติ) ในกระแสเลือด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขับออกของปัสสาวะ

Furosemide จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ตามการจำแนกโดยคณะกรรมการอาหารและยา มีจำหน่ายเฉพาะร้านยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งควบคุมการขายยา ต้องมีการจัดทำบัญชียาอันตราย และสำหรับบุคคลทั่วไปเภสัชกรสามารถจำหน่ายยาและให้คำแนะนำในการใช้ยาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพฯ รูปแบบยาที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • รูปแบบยาฉีด ความแรง 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร / 20 มิลลิกรัมต่อ 2 มิลลิลิตร / 250 มิลลิกรัมต่อ 25 มิลลิลิตร
  • รูปแบบยาเม็ด ขนาด 40 มิลลิกรัม และแบบ High dose ขนาด 500 มิลลิกรัม

ข้อบ่งใช้ของยา Furosemide

โรคที่เป็นข้อบ่งใช้ของยานี้ ได้แก่

  • ภาวะปอดบวมน้ำเฉียบพลัน (acute pulmonary edema)
  • ภาวะบวมน้ำ (edema) ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจล้มเหลว
  • โรคความดันโลหิตสูง

ขนาดและวิธีการใช้ยา Furosemide

Furosemide มีขนาดและวิธีการใช้ตามข้อบ่งใช้ ดังนี้

  • ภาวะปอดบวมน้ำเฉียบพลัน การใช้ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 40 มิลลิกรัมโดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ 1-2 นาที หากไม่มีการตอบสนองที่น่าพอใจใน 1 ชั่วโมง อาจให้ยาเพิ่มในขนาด 80 มิลลิกรัมโดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ 1-2 นาทีได้
  • ภาวะบวมน้ำ (edema) ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจล้มเหลว การใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน
    • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาดยาเริ่มต้น วันละ 40 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานตามความเห็นสมควรของแพทย์ อาจลดขนาดยาได้เหลือวันละ 20 มิลลิกรัม หรือรับประทาน 40 มิลลิกรัม วันเว้นวัน ตามความเห็นสมควรของแพทย์ ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจเห็นสมควรให้มีการใช้ยาขนาด 80 มิลลิกรัมต่อวัน หรือมากกว่านี้ได้
    • ขนาดการใช้ยาในผู้สูงอายุ ขนาดยาเริ่มต้น วันละ 20 มิลลิกรัม แพทย์อาจเห็นสมควรให้ค่อยๆเพิ่มขนาดยาขึ้นไปได้ตามความเหมาะสม
  • ภาวะบวมน้ำ (edema) ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจล้มเหลว การใช้ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ หรือฉีดเข้ากล้าม
    • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 20-50 มิลลิกรัม สามารถให้ขนาดยาเพิ่มอีก 20 มิลลิกรัมได้ในทุก 2 ชั่วโมงตามความเหมาะสมและการตอบสนองของผู้ป่วย ขนาดยาที่สูงกว่า 50 มิลลิกรัมควรให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำโดยการฉีดช้า ขนาดยาสูงสุดคือ 1500 มิลลิกรัมต่อวัน
    • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ขนาด 0.5 – 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมต่อวัน ขนาดยาสูงสุดคือ 20 มิลลิกรัมต่อวัน
  • โรคความดันโลหิตสูง การใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ วันละ 40-80 มิลลิกรัม สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่มอื่นได้

ข้อควรระวังในการใช้ Furosemide

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการแพ้ยา Furosemide และยาในกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide)
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ได้ หรือผู้ป่วยไตวาย
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรค Addison’s ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมหมวกไตที่ลดลงกว่าปกติ ส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตที่ลดลง ทำให้ร่างกายมีการทำงานที่ผิดปกติ เป็นการขาดฮอร์โมนโดยเฉพาะฮอร์โมนในกลุ่ม glucocorticoid ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการใช้พลังงานและภูมิคุ้มกันของร่างาย และฮอรโมนกลุ่ม mineralocorticoid ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมดุลเกลือแร่ของร่างกาย
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะของเหลวในร่างกายต่ำ หรืออยู่ในภาวะขาดน้ำ
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ควระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับแข็ง
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเกาท์
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ควรระวังการใชยาในผู้ป่วยสูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
  • ยามีความเสี่ยงทำให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว
  • ยาในรูปแบบยาฉีด สามารถเกิดพิษต่อหู (หูหนวก) ได้ หากให้ยาเร็วเกินไป

ผลข้างเคียงของการใช้ Furosemide 

  • ระดับโซเดียมในกระแสเลือดต่ำ ภาวะเลือดเป็นด่างจากการลดลงของคลอไรด์ในกระสแเลือด ระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือดต่ำ ปวดศีรษะ ง่วงซึม เกร็งกล้ามเนื้อ ตะคริว ความดันโลหิตต่ำ ปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ภาวะของเหลวในร่างกายต่ำ ภาวะขาดน้ำ
  • กรดยูริกในกระแสเลือดสูง ได้ยินเสียงในหู
  • อาการแพ้ยาชนิด Anaphylaxis หรือ SJS ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อสารเคมี ยา หรือการติดเชื้ออย่างรุนแรง อาการแสดง ได้แก่ มีไข้ เจ็บปวดบริเวณผิวหนัง เป็นผื่นแดงทั่วตามร่างกาย มีตุ่มน้ำบริเวณผิวหนังและตามเยื่อบุ เช่น ช่องปาก จมูก ตา อวัยวะเพศ มีการลอกของผิวหนังหลังจากเกิดตุ่มน้ำ
  • ยามีผลข้างเคียงต่อการเพิ่มของเอนไซม์ตับ คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ในกระแสเลือด
  • ยามีผลข้างเคียงต่อความสามารถการได้ยิน ทั้งแบบสูญเสียการได้ยินชั่วคราวและถาวร
  • ผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงชีวิต ได้แก่ หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง

ข้อควรทราบอื่นๆของยา Furosemide

  • ยาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม category C ตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) ควรใช้ยานี้เฉพาะเมื่อแพทย์มีความเห็นว่า ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากยามากกว่าความเสี่ยงรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์
  • ควรรับประทานยาในขณะท้องว่าง หรือรับประทานก่อนอาหาร โดยกลืนยาทั้งเม็ด และดื่มน้ำตาม หากรับประทานยาขณะท้องว่างแล้วเกิดผลข้างเคียงที่รบกวนการใช้ยา อาจให้รับประทานยาร่วมกับอาหารได้
  • หากผู้ป่วยใช้ยาแล้วเกิดผลข้างเคียงต่อการได้ยิน อาจเกิดจากขนาดยาที่ได้รับสูงเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงดังกล่าว เพื่อป้องกันการการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร
  • ยานี้แนะนำให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสงแดด

7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
furosemide (Lasix): Diuretic Uses, Side Effects & Dosage. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/furosemide/article.htm)
Furosemide - Side Effects, Dosage, Uses & More. Healthline. (https://www.healthline.com/health/furosemide-oral-tablet)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)