กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

งาดํา มีสรรพคุณช่วยชะลอวัย และมีวิตามินแร่ธาตุต่างๆ มากมาย

งาดำ มีประโยชน์มากมาย ช่วยชะลอวัย เสริมสร้างร่างกายแข็งแรง รวมไอเดียการกินการใช้งาดำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 4 พ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
งาดํา มีสรรพคุณช่วยชะลอวัย และมีวิตามินแร่ธาตุต่างๆ มากมาย

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • งาดำ เป็นธัญพืชที่มีกลิ่นหอม อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุที่สำคัญหลายชนิด เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินอี แคลเซียม ธาตุเหล็ก หรือสังกะสี
  • การรับประทานงานดำเป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคมะเร็ง บำรุงหัวใจ สายตา กระดูก และผิวพรรณ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดข้ออักเสบรูมาตอยด์ และแก้เคล็ดขัดยอกอีกด้วย
  • แนะนำให้รับประทานงาดำสดที่ไม่ผ่านความร้อน เพราะความร้อนทำให้คุณค่างาดำลดลง โดยต้องเคี้ยวให้ละเอียด เพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น
  • ปริมาณที่แนะนำต่อวัน ผู้สูงอายุวันละ 10 ช้อน คนวัยทำงานวันละ 3-4 ช้อน
  • ควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

งาดำ (Black sesame seeds) เป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากรับประทานเป็นประจำอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง 

ภายในงาดำเต็มไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ มากมาย เช่น วิตามินบีรวม แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม โซเดียม ฟอสฟอรัส สังกะสี หรือเหล็ก ช่วยบำรุงสุขภาพทุกๆ ส่วนในร่างกาย และยังป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยทองได้อีกด้วย

แล้วจะรับประทานงาดำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ มาลองเรียนรู้กัน

ทำความรู้จักกับงาดำ

งาดำเป็นธัญพืชขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง 

งาดำเป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอธิโอเปีย ต่อมาได้แพร่กระจายพันธุ์ไปยังอินเดีย จีน แอฟริกาเหนือ ทวีปอเมริกา และเอเชียใต้ 

ลักษณะของต้นงา มีลำต้นเป็นเหลี่ยม มีขนอ่อนปกคลุมอยู่ทั่วไป ลำต้นสูงประมาณ 30-100 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือรูปหอก กว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับตรงข้ามกัน

ดอกมีลักษณะเป็นหลอด ออกเป็นดอกเดี่ยวบริเวณซอกใบตอนบนของลำต้นโดยรอบ มีกลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพู ลักษณะของผลจะแยกออกเป็น 4 พู เมื่อผลแห้งจะมีเมล็ดรูปไข่ แบน สีดำ ขนาดเล็กมากมาย แต่ละฝักมีเมล็ด 80-100 เมล็ด

คุณค่าทางโภชนาการของงาดำ

งาดำปริมาณ 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

  • พลังงาน 573 กิโลแคลอรี่
  • โปรตีน 17.73 กรัม 
  • คาร์โบไฮเดรต 23.45 กรัม 
  • เส้นใยอาหาร 11.8 กรัม 
  • ไขมันรวม 49.67 กรัม แบ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 18.759 กรัม กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 21.773 กรัม กรดไขมันอิ่มตัว 6.957 กรัม และกรดไขมันจำเป็นอื่นๆ
  • มีวิตามิน และแร่ธาตุที่สำคัญหลายชนิด เช่น ไฟโตสเตอรอล (Phytosterols) เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินอี แคลเซียม ธาตุเหล็ก หรือซีลีเนียม 

ประโยชน์ของงาดำ 

งาดำเป็นเมล็ดธัญพืช ประกอบด้วยสารอาหารหลากหลายชนิด จึงอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน ดังนี้ 

  • ช่วยบรรเทาอาการปวดข้ออักเสบรูมาตอยด์ ธาตุทองแดงที่อยู่ในงาดำมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ ช่วยลดอาการปวดจากโรครูมาตอยด์ และยังมีส่วนช่วยสร้างคอลลาเจน ซึ่งสำคัญต่อการเสริมสร้างเนื้อเยื่อ ข้อต่อ กระดูกอ่อน และหลอดเลือดให้แข็งแรง 
  • ช่วยบำรุงสายตา ในการแพทย์แผนจีนเชื่อว่า ดวงตาสัมพันธ์กับตับ ถ้าตับมีปัญหาจะทำให้ดวงตาอ่อนล้า ตาแห้ง และมองเห็นไม่ชัด ในแพทย์แผนจีนจึงใช้งาดำเพื่อบำรุงสายตา และตับไปพร้อมๆ กัน
  • ช่วยบำรุงผิวพรรณ และกระดูก งาดำอุดมไปด้วยแคลเซียม และสังกะสี ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เพิ่มมวลกระดูก ป้องกันการเกิดโรคกระดูกเปราะ กระดูกพรุน ต้านทานอาการข้ออักเสบ โรคข้อเสื่อม และยังมีวิตามินอี ช่วยบำรุงผิวพรรณให้นุ่มชุ่มชื้น
  • ช่วยบำรุงหัวใจ งาดำช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจสะอาดขึ้น ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคความดันโลหิตสูง
  • ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เมล็ดงาดำอัดแน่นด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ และยังมีเซซามีน ช่วยป้องกันสารอนุมูลอิสระไปทำลายตับ ทำให้ตับทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ร่างกายไม่มีสารพิษสะสมก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
  • แก้เคล็ดขัดยอก ตามตำรายาไทยจะใช้น้ำมันที่บีบจากเมล็ดงา หุงเป็นน้ำมันใส่บาดแผล และผสมเป็นน้ำมันทาถูนวดแก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ ปวดบวม ลดการอักเสบ

สรรพคุณของงาดำต่อการชะลอวัย

งาดำมีสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย มีสรรพคุณช่วยชะลอวัย รวมไปถึงช่วยบำรุงผิวสดใสอยู่เสมอ

  • งาดำมีสารอาหารที่ช่วยซ่อมแซมและบำรุงผิว ทำให้ผิวไม่เหี่ยวแห้ง
  • ช่วยบำรุงเส้นผมให้ดำเงางาม แข็งแรง ป้องกันการเกิดผมหงอก
  • ช่วยให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น
  • งาดำช่วยป้องกันเส้นเลือดแข็งตัว ช่วยขยายหลอดเลือด
  • ช่วยให้ระบบการทำงานของหัวใจแข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ป้องกันลิ่มเลือด
  • งาดำมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้
  • ช่วยลดความเครียด บำรุงระบบประสาทและสมอง
  • งาดำมีธาตุเหล็กสูง จึงช่วยบำรุงเลือด ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ร่างกายจึงแข็งแรงต่อเชื้อโรค
  • ป้องกันโรคหวัด โรคเหน็บชา ตะคริว
  • งาดำช่วยให้หลับง่ายขึ้น 

รับประทานงาดำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ที่สุด

วิธีการรับประทานงาดำให้ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ เคี้ยวให้ละเอียด ให้เม็ดงาแตกออก ร่างกายจึงจะดูดซึมสารอาหารจากงาดำได้ดี จะรับประทานเปล่าๆ หรือเอามาใส่กับอาหารอย่างอื่น เช่น ใส่ในขนมปัง โรยในจานข้าว หรือประกอบอาหารต่างๆ เพื่อช่วยให้รับประทานได้ง่ายขึ้นก็ได้

สำหรับผู้สูงอายุควรรับประทานงาดำวันละ 10 ช้อน ส่วนคนวัยทำงานควรรับประทานงาดำวันละ 3-4 ช้อน เป็นปริมาณเหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน 

นอกจากนี้ งาดำยังสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันเพื่อใช้นวดทาบริเวณต่างๆ ของร่างกายที่มีอาการปวด และยังช่วยรักษาอาการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นได้ 

ไอเดียการรับประทานงาดำเพื่อสุขภาพ

การรับประทานงาดำให้ได้ประโยชน์ ต้องใส่ใจการเลือกงาดำ โดยเลือกงาดำที่สดใหม่ ไม่ผสมสารกันชื้น และไม่ผ่านการคั่ว เนื่องจากการคั่ว หรือการให้ความร้อนจะทำให้คุณค่าของงาดำลดลง

ไอเดียการรับประทานงาดำเพื่อสุขภาพ มีดังนี้

  • นำมารับประทานกับอาหารอื่นๆ อาจนำงาดำมาใส่ในอาหารอย่างอื่น เช่น ใส่ในขนมปัง โรยในจานข้าว หรือรับประทานงาดำเปล่าๆ ซึ่งจะต้องเคี้ยวให้ละเอียด เพื่อให้เม็ดงาแตกออก ร่างกายจึงจะดูดซึมสารอาหารจากงาดำได้ดี 
  • ทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ นำงาดำคั่ว 100 กรัม ปั่นรวมกับน้ำ 2 ถ้วย กรองเอาแต่น้ำ และนำน้ำงาดำที่ได้มาตั้งไฟอ่อนๆ จนเดือด ใส่น้ำตาลทรายแดงเพื่อเพิ่มรสชาติ คนให้ละลาย ยกลงจากเตา ตั้งไว้ให้พออุ่นก็พร้อมดื่มได้เลย ส่วนใครที่อยากดื่มแบบเย็นๆ ก็ใส่น้ำแข็งลงไปได้เหมือนกัน
  • ทำขนมเพื่อสุขภาพ นำกล้วยมาผสมกับแป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วย แป้งข้าวเหนียว 2 ช้อนโต๊ะ แป้งมัน 1 ช้อนโต๊ะ งาดำป่น 2 ช้อนชา น้ำกะทิ 1 ถ้วย น้ำตาลทรายแดง 3 ช้อนโต๊ะ และเกลือป่น ½ ช้อนชา ขยำให้เข้ากันเทใส่พิมพ์ นึ่งประมาณ 15 นาทีก็จะได้ขนมจากงาดำที่อร่อย และมีประโยชน์

ไอเดียการใช้งาดำเพื่อสุขภาพและความงาม

นอกจากนำมารับประทานแล้ว งาดำก็สามารถนำมาใช้เพื่อสุขภาพได้เช่นกัน ดังนี้

  • ผิวขาวสวยด้วยงาดำ นำงาดำประมาณ 2 ช้อนชามาบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา แล้วนำมาทาให้ทั่วใบหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที ล้างออกด้วยน้ำอุ่น ทำเป็นประจำก่อนนอนจะมีผิวที่ดูกระจ่างใสขึ้นอย่างแน่นอน
  • งาดำขัดผิวสวย นำงาดำมาผสมกับน้ำผึ้ง โยเกิร์ต แล้วนำมาขัดผิว ทิ้งไว้สักพัก ล้างออกให้สะอาด ทำเป็นประจำจะช่วยให้ผิวสวยเนียนนุ่ม ทั้งยังแก้ปัญหาผิวแห้งเสีย หยาบกร้านได้เป็นอย่างดี

วิธีการเลือกซื้อเมล็ดงาดำ

การเลือกซื้อเมล็ดงาดำเพื่อรับประทาน ควรเลือกซื้องาดำที่สะอาด ไม่มีสิ่งสกปรกเข้ามาเจือปน 

ไม่ควรซื้อตามร้านขายของชำ เนื่องจากอาจจะมีการเก็บรักษาที่ไม่สะอาด ทำให้มีสิ่งสกปรกจากแมลงเข้ามาเจือปน 

ไม่ควรซื้อแบบบดสำเร็จมารับประทาน เพราะมีโอกาสพบเชื้อราสูง

หลังจากซื้องาดำมาแล้ว วิธีการเก็บรักษา ให้เก็บในขวดที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เก็บเอาไว้ในที่แห้ง เพื่อไม่ให้เสียก่อนเวลาอันควร

ข้อควรระวัง

  • การรับประทานงาดำแบบป่นดีต่อระบบย่อยอาหารที่สุด แต่งาแบบป่นมักมีเชื้อราปนเปื้อนได้ง่ายกว่างาชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะงาดำแบบที่บดสำเร็จแล้ว จึงต้องเก็บรักษาอย่างระมัดระวัง เก็บให้พ้นความชื้น อากาศ ความร้อน และแสงแดด 
  • ตำราอายุรเวทระบุว่า สตรีมีครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกไม่ควรรับประทานงาดำ เพราะงาดำมีฤทธิ์เป็นยาขับประจำเดือน อาจทำให้แท้งได้
  • การรับประทานงาดำในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และลำไส้ได้
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่รักษาด้วยยาลดน้ำตาลในเลือด ควรรับประทานงาดำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากงาดำมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดเช่นกัน ถ้ารับประทานร่วมกันอาจทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปจนเกิดผลเสียได้

แม้งาดำจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่อาหารทุกชนิดล้วนมีทั้งข้อดี และข้อเสีย จึงควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงได้อย่างเต็มที่

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
งาดำ (Sasame seeds (Black) สรรพคุณ และการปลูกงาดำ, (https://puechkaset.com/งาดำ/), 1 พฤษภาคม 2560
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, งา (http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=45)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป