โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)

เผยแพร่ครั้งแรก 7 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)


โรคข้อเสื่อมคืออะไร?

โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ได้แก่ โรคที่เกิดจากข้ออักเสบเนื่องจากกระดูกอ่อนของข้อเสื่อม โดยกระดูกอ่อนของข้อจะอยู่ในส่วนปลายของกระดูกแต่ละชิ้นที่ประกอบกันเป็นข้อ กระดูกอ่อนมีหน้าที่ปกป้องไม่ให้กระดูกแต่ละชิ้นบดเบียดเสียดสีกันเมื่อข้อเคลื่อนไหว และช่วยให้ข้อเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วขึ้น ดังนั้นเมื่อกระดูกอ่อนเหล่านี้เสื่อม กระดูกข้อแต่ละชิ้นจึงบดทับเสียดสีกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหว ทำให้อักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อ มีเสียงดังในข้อ และข้อเคลื่อนไหวได้จำกัด หรือมีข้อยึดติด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษา ผ่าตัด กระดูกและข้อวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,673 บาท ลดสูงสุด 80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เมื่อกระดูกเสียดสีกันมากขึ้นหรือเสื่อมมากขึ้น หินปูนก็จะจับส่วนที่เสื่อมนั้น เกิดเป็นปุ่มกระดูกหรือเงี่ยงกระดูกจับตามข้อ ส่งผลให้กระดูกเสียดสีกันมากขึ้นไปอีก ข้อจึงแข็งยึดติดกันมากกว่าเดิม อาการปวดข้อเพิ่มขึ้น และเคลื่อนไหวข้อได้น้อยลงตามลำดับ

นอกจากนั้น กระดูกอ่อนและกระดูกที่เสื่อมเหล่านี้อาจหลุดเป็นชิ้นเล็กๆ เข้าไปอยู่ในข้อ เพิ่มการเสียดสีระคาย ส่งผลให้ปวดข้อมากขึ้น

โรคข้อเสื่อมเกิดได้กับทุกข้อ แต่พบบ่อยในข้อที่ต้องลงน้ำหนักหรือรองรับน้ำหนัก ได้แก่ ข้อเข่า (พบได้บ่อยที่สุด) ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อสะโพก ข้อกระดูกคอ และข้อกระดูกสันหลัง

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้อที่พบได้บ่อย มักเกิดในอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป และพบสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เนื่องจากการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งรวมทั้งเซลล์กระดูกและกระดูกอ่อน แต่อาจพบได้บ้างในเด็กหรือวัยหนุ่มสาว สาเหตุจากพันธุกรรมหรืออุบัติเหตุต่อข้อโดยตรง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

  • ประกอบอาชีพที่ต้องใช้ข้อตลอดเวลา เช่น นักกีฬาอาชีพ
  • การเล่นกีฬาบางชนิดที่ต้องใช้ข้อตลอดเวลา เช่น ยกน้ำหนัก
  • อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาเกิดข้อเสื่อมก็ยิ่งสูงขึ้น ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวแล้ว
  • ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อโดยตรง เช่น จากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์
  • โรคอ้วน เพราะเพิ่มการเสียดสีของกระดูกข้อต่างๆ จากการรองรับหรือการกดของน้ำหนักตัว
  • โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ
  • โรคเบาหวาน เพราะเป็นโรคที่เพิ่มการอักเสบเรื้อรังต่อเนื้อเยื่อทุกชนิดรวมทั้งของข้อ
  • โรคของกล้ามเนื้อ เพราะส่งผลให้ข้อต้องช่วยรับน้ำหนักต่างๆ มากขึ้น
  • โรคแต่กำเนิดที่ทำให้มีกระดูกอ่อนผิดปกติ
  • โรคทางพันธุกรรม เพราะพบข้อเสื่อมได้สูงขึ้นเมื่อมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้

อาการโรคข้อเสื่อม

  • ปวดหรือเจ็บข้อที่เกิดโรค รวมทั้งกดแล้วเจ็บ
  • ข้อนั้นๆ บวม อาจมีน้ำในข้อ แต่ไม่มีอาการแดง ร้อน (ถ้าไม่มีการติดเชื้อของข้อร่วมด้วย)
  • ข้อยึด โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน เมื่อนั่งนานๆ แล้วลุกขึ้น ไม่สามารถนั่งได้ทุกท่า หรือนั่งกับพื้นไม่ได้
  • ได้ยินเสียงกรอบแกรมจากข้อนั้นๆ ขณะเคลื่อนไหว
  • รูปลักษณ์ข้อผิดปกติ

การวินิจฉัยโรคข้อเสื่อม

แพทย์วินิจฉัยโรคข้อเสื่อมได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว การตรวจร่างกาย การเอกซเรย์ข้อนั้นๆ และอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับดุพินิจของแพทย์

แนวทางการรักษาโรคข้อเสื่อม

แนวทางการรักษาโรคข้อเสื่อมได้แก่ การรักษาตามปัจจัยเสียงที่ดูแลได้ เช่น การควบคุมน้ำหนัก ลดการใช้ข้อนั้น ทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูข้อ กินยาบรรเทาปวดชนิดต้านการอักเสบ เจาะน้ำออกจากข้อเมื่อมีน้ำในข้อ และอาจต้องผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเขา เมื่อมีอาการมากและรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้ว ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษา ผ่าตัด กระดูกและข้อวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,673 บาท ลดสูงสุด 80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงจากโรคข้อเสื่อมคือ อาการปวดข้อเรื้อรัง และความพิการเนื่องจากใช้ข้อไม่ได้ตามปกติ

ความรุนแรงของโรค

โรคข้อเสื่อมไม่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต แต่เป็นโรคเรื้อรังซึ่งจำกัดการใช้ชีวิตตามปกติ จึงส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง และมีผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจ

การดูแลตนเองและการพบแพทย์

  • เข้าใจสาเหตุและกลไกการเกิดโรค ยอมรับถึงผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ลดปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ และลดโอกาสข้อติดเชื้อ
  • ลดและควบคุมน้ำหนัก
  • ลดการใช้ข้อ เช่น เปลี่ยนชนิดของกีฬา จากเล่นเทนนิสเป็นว่ายน้ำ เพราะลดการลงน้ำหนักบนข้อ หรือลดการขึ้นลงบันได
  • ทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูข้อตามที่แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัดแนะนำ
  • กินยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง เพราะยาบรรเทาปวดและยาต้านการอักเสบของข้อมีผลข้างเคียงสำคัญ คือ เป็นสาเหตุให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆ แย่ลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือมีความกังวลในอาการ
  • รีบพบแพทย์เมื่อ
  1. ข้อบวมมาก ปวดมากขึ้น เดิมไม่ได้เนื่องจากข้อยึดติดมากขึ้นหรือปวดข้อ
  2. มีอาการของข้ออักเสบติดเชื้อ ได้แก่ มีไข้ ปวดข้อ ข้อบวม แดง ร้อน
  3. มีผลข้างเคียงจากยาบรรเทาปวดและยาต้านการอักเสบ ได้แก่ ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่มากกว่าที่เคย
  • รีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเมื่อปวดท้องรุนแรง อุจจาระเป็นเลือดมีสีดำเหมือนยางมะตอย เพราะเป็นอาการจากผลข้างเคียงของยาต้านการอักเสบ ส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งเมื่อเลือดถูกกรดในกระเพาะอาหารจึงเปลี่ยนเป็นสีดำ

การป้องกัน

  • ป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน
  • เลือกประเภทการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น ว่ายน้ำ
  • เมื่อเล่นกีฬาหรือมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อ ควรเรียนรู้วิธีการที่จะดูแลรักษาข้อ เช่น วิธียกของหนัก หรือใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยพยุงข้อ ตามที่แพทย์และนักกายภาพบำบัดแนะ

คุณสามารถอ่านข้อมูลดีๆมีประโยชน์แบบนี้ได้เพิ่มเติมที่หนังสือ "โรคของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ" โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ จากสำนักพิมพ์อัมรินทร์สุขภาพ เพื่อสนับสนุนผู้แต่ง


14 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป