กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

เผยแพร่ครั้งแรก 14 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

ในอดีตคนส่วนใหญ่ถูกสอนกันว่า อาหารไขมันสูงทำให้เกิดปัญหาคอเลสเตอรอล ซึ่งไม่จริงเสมอไป ปัจจุบันนักวิจัยพบว่า ชนิดของไขมันที่เราบริโภคสำคัญกว่าปริมาณไขมัน ในบรรดาไขมันทั้งหมดไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวจะเป็นไขมันที่เพิ่มระดับคอเลสเตอรอล ส่วนกรดไขมันโอเมก้า-3 และไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวจะช่วยลดคอเลสเตอรอล

รู้จักไขมันและคอเลสเตอรอลให้มากขึ้น

ไขมันและคอเลสเตอรอลมักจะได้ฉายาว่าเป็นตัวร้ายอยู่เสมอจริงอยู่ที่ทั้งสองชนิดนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ แต่ไขมันและคอเลสเตอรอลก็ไม่ได้เลวร้ายเสียทีเดียว เพราะไขมันจะมีส่วนประกอบของไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างไม่ได้ แต่ต้องได้รับจากการกินอาหาร ไขมันช่วยร่างกายสร้างเนื้อเยื่อและเก็บสะสมพลังงาน การทำงานของเซลล์ต้องใช้ไขมันซึ่งจำเป็นต่อการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน (วิตามินเอ ดี อี และเค) และต้องใช้สารอาหารอื่นๆร่วมด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน

ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ไขมันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามโครงสร้างของไขมัน คือ ไขมันอิ่มตัวและไขมันไม่อิ่มตัว

ไขมันอิ่มตัว มักจะแข็งตัวที่อุณหภูมิห้อง ขณะที่ไขมันไม่อิ่มตัวยังเป็นของเหลว และเมื่อเข้าไปรวมตัวอยู่ในเซลล์เมมเบรน ไขมันอิ่มตัวจะทำให้เซลล์ขาดความยืดหยุ่น เซลล์สื่อสารกันอย่างไม่มีประสิทธิภาพในทางตรงกันข้าม ไขมันไม่อิ่มตัวเป็นของเหลวที่ทำให้เซลล์เมมเบรนยืดหยุ่น จึงทำให้เซลล์ทำงานได้ดีกว่า

ไขมันอิ่มตัวมีมากในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู ไก่ วัว เวลาใช้น้ำมันเหล่านี้ปรุงอาหาร เมื่อทิ้งไว้ให้เย็นมักจะจับตัวเป็นฝ้า แต่ถ้านำเข้าตู้เย็นจะเห็นไขมันจับตัวแข็งบนผิวอาหาร เห็นได้ชัดในแกงจืดหรือแกงกะทิ ไขมันอิ่มตัวจะพบในนม ครีม เนยแข็ง ไอศกรีม หนังสัตว์ติดมัน น้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว ไขมันประเภทนี้ถ้ากินมากเกินไปจะไปเพิ่มแอลดีแอลคอเลสเตอรอลได้ ฉะนั้นควรกินให้น้อยที่สุด

ไขมันทรานส์ เป็นไขมันวายร้ายที่จัดว่าร้ายกว่าไขมันอิ่มตัวเกิดจากการแปรรูปของน้ำมันพืชโดยการผ่านไฮโดรเจนทำให้เปลี่ยนสภาพเป็นของแข็ง ซึ่งก็คือ เนยเทียมและเนยขาว ที่ใช้ทำเบเกอรี่นั่นเอง ตัวอย่างอาหารที่มีไขมันทรานส์ ได้แก่ มาร์การีน เค้ก คุกกี้ แครกเกอร์ อาหารทอดกรอบประเภทฟาสต์ฟู้ด หรือที่ขายกันกันตามริมถนน ไขมันชนิดนี้ นอกจากจะเพิ่มแอลดีแอลคอเลสเตอรอบที่ไม่ดีแล้ว ยังลดเอชดีแอลคอเลสเตอรอลที่ดีด้วย

ไขมันไม่อิ่มตัว มี 2 ชนิด คือ ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว(กรดโอเมก้า-9) และไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (กรดโอเมก้า-3และกรดโอเมก้า-6)

  • ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว จัดเป็นไขมันชนิดดี ช่วยลดคอเลสเตอรอลรวมและแอลดีแอล เพิ่มเอชดีแอล มีมากในถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง เป็นต้น
  • ไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (กรดโอเมก้า-3 และกรดโอเมก้า-6) ช่วยลดคอเลสเตอรอลรวมและแอลดีแอล กรดโอเมก้า-3 มีมากในปลาทะเลและอาหารสด สาหร่ายทะเล กรดโอเมก้า-6 มีมากในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันข้าวโพด ถั่วเหลือง ดอกคำฝอย เมล็ดทานตะวัน

อาหารคาร์โบไฮเดรตขัดสีสาเหตุของโรคหัวใจ

สิ่งสำคัญที่นักวิจัยพบคือ ปัญหาใหญ่สุดที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลผิดปกตินั้นไม่ใช้ไขมันอย่างที่เราถูกสอนกันมา แต่กลับเป็นอาหารคาร์โบไฮเดรตขัดสีและน้ำตาล ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันในร่างกาย และน้ำตาลที่ถูกตราหน้าว่าร้ายสุดๆ คือไฮฟรักโทสคอร์นไซรัป (High Fructose Corn Syrup) หรือน้ำเชื่อมที่ผลิตจากข้าวโพด ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารนิยมใช้เติมในน้ำอัดลม น้ำผลไม้ อาหารแปรรูปเพราะต้นทุนต่ำน้ำตาลชนิดนี้จึงถูกมองเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดปัญหาคอเลสเตอรอลในร่างกาย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน

ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

คาร์โบไฮเดรตขัดสีและน้ำตาลทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดการอักเสบ

เวลาเรากินอาหารคาร์โบไฮเดรต เช่น น้ำตาล จะถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคส ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันตับอ่อนจะปล่อยอินซูลินออกมาทำหน้าที่นำน้ำตาลกลูโคสจากเลือดเข้าไปในเซลล์ที่จะเก็บสะสมเป็นพลังงาน ถ้าเซลล์เก็บพลังงานเต็มแล้ว ไม่ต้องการกลูโคสส่วนเกินอีก อินซูลินจะถูกปล่อยออกมามากขึ้นและเปลี่ยนกลูโคสเป็นไขมันเก็บไว้เป็นเสบียง

เวลาที่น้ำตาลเหลือ น้ำตาลส่วนเกินจะจับกับโปรตีนต่างๆในร่างกาย ซึ่งผลพวงที่ได้ทำอันตรายต่อผนังหลอดเลือด เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกในคนที่ชอบกินอาหารคาร์โบไฮเดรตมากๆทุกวันผนังหลอดเลือดก็จะเกิดการอักเสบ เปรียบเสมือนนำกระดาษทรายขัดหลอดเลือดบ่อยๆ ย่อมทำให้เกิดแผลขึ้นได้

ไขมันโอเมก้า-6 เพิ่มการอักเสบ

เวลากินของหวาน เช่น ขนมเค้ก ไม่ได้มีแต่แป้งและน้ำตาลเท่านั้น แต่จะมีไขมันอยู่ด้วย ทั้งไขมันอิ่มตัวและไขมันโอเมก้า-6 จากน้ำมันที่ใช้เป็นส่วนประกอบ

โอเมก้า-6 เป็นไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การกินไขมันชนิดนี้มากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจหลอดเลือด การอักสบในผนังหลอดเลือดและระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง อาหารที่มีโอเมก้า-6 มากได้แก่ น้ำมันดอกคำฝอย ข้าวโพด ถั่วเหลือง ดอกทานตะวัน มาร์การีน มายองเนส ขนมอบกรอบ เค้ก คุกกี้ เป็นต้น

แม้โอเมก้า-6 จะสำคัญต่อสุขภาพและเป็นส่วนสำคัญของเซลล์เมมเบรนที่ผ่านเข้าออกเซลล์ แต่จะต้องสมดุลกับปริมาณกรดโอเมก้า-3ในร่างกายด้วย โดยการลดปริมาณโอเมก้า-6 และเพิ่มโอเมก้า-3 ที่บริโภค

ถ้าเสียสมดุล คือกินโอเมก้า-6 มากไป เซลล์เมมเบรนจะผลิตสารเคมีเรียกว่า ไซโทไคน์ ทำให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้ในคนที่อ้วนจากการกินมากไปจะทำให้เซลล์ไขมันผลิตสารที่เหนี่ยวนำทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย ทับถมการบาดเจ็บซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงอยู่แล้ว กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงและไขมันไม่ดีมากๆ จะกลายเป็นวัฏจักรที่เลวร้าย ทำให้เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอัลไซเมอร์ได้ในที่สุด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน

ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ฉะนั้นปัญหาคอเลสเตอรอลสูงในขณะนี้ไม่ได้มากจากปริมาณคอเลสเตอรอล แต่เป็นชนิดและปริมาณของไขมัน ปริมาณน้ำตาลรวมทั้งคาร์โบไฮเดรตขัดสีในอาหาร ที่จะทำให้เกิดความผิดปกติในการผลิตคอเลสเตอรอลในร่างกายได้

คอเลสเตอรอลในร่างกายมาจากตับและลำไส้ 75 เปอร์เซ็นต์ อีก 25 เปอร์เซ็นต์มาจากอาหารที่กิน โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวสูง แต่คนบางคนอาจมียีนที่ทำให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลมากขึ้น แม้จะกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำก็ไม่อาจลดคอเลสเตอรอลได้

ไม่ว่าจะมียีนอย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือ ไม่ควรกินไขมันเกินกว่า 20-35 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานตามข้อแนะนำ แต่วิธีที่จะลดไขมันควรจะสัมพันธ์กับลักษณะยีนที่มีอยู่ และเน้นการลดปริมาณไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอลในอาหารที่กิน หรือเพิ่มปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในอาหาร

รู้ได้อย่างไรว่าร่างกายเกิดการอักเสบ

เมื่อรู้ว่าการอักเสบเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ การมีระดับคอเลสเตอรอลปกติไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยจากโรคหัวใจ สิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนขึ้นคือการวัดค่าสารอื่นๆ ต่อไปนี้ในเลือดด้วย

ซี-รีแอ๊คทีฟโปรตีนหรือซีอาร์พี (C-reactive Protein : CRP) คือโปรตีนที่ผลิตจากตับเมื่อร่างกายเกิดการบาดเจ็บติดเชื้อ เป็นปฏิกิริยาการตอบสนองการอักเสบในร่างกาย ซีอาร์พีจึงใช้เป็นตัววัดการอักเสบที่เกิดในร่างกาย แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดที่ไหน

ซีอาร์พีมีความสำคัญในกระบวนการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งแต่การตรวจซีอาร์พีอย่างเดียวไม่สามารถบอกความเสี่ยงโรคหัวใจได้ต้องอาศัยการตรวจตัวอื่นๆ ร่วม หากมีระดับสารซีอาร์พีสูง ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจจะสูงกว่าคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว และความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกเมื่อทั้งระดับซีอาร์พีและคอเลสเตอรอลสูง

ปัจจุบันการตรวจซีอาร์พีจะใช้ในเฉพาะผู้ที่รู้ว่ามีความเสี่ยงโรคหัวใจแล้ว

ไฟบริโนเจน (Fibrinogen) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือด ซึ่งช่วยการแข็งตัวของเลือด ระดับไฟบริโนเจนปกติคือ 200-400 มิลลิกรัมต่อลิตร ถ้ามีไฟบริโนเจนมากไปจะทำให้เลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแดงนำไปสู่การเกิดหัวใจวายหรือสโตรกได้

การมีระดับไฟบริโนเจนสูงยังบอกให้รู้ถึงการอักเสบที่เกิดขึ้นจากการที่หลอดเลือดแดงแข็งด้วย และทำให้ผนังหลอดเลือดแดงที่มีแผลอยู่แล้วเลวร้ายขึ้นไปอีก

ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มระดับไฟบริโนเจนคือการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย การเสริมฮอร์โมนเอสโทรเจนหรือยาคุมกำเนิด

โฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) กับโรคหัวใจ

โฮโมซิลเทอีนเป็นกรดแอมิโนที่ผลิตขึ้นในกระบวนการสร้างโปรตีนบางชนิดที่ร่างกายใช้สร้างหรือซ่อมแซมเนื้อเยื่อ หากร่างกายไม่ได้นำโฮโมซิสเทอีนไปใช้ให้มากพอจะเกิดการสะสมในร่างกาย เมื่อถึงระดับที่สูงจะเป็นอันตราย เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ ทำให้เลือดแข็งตัวและเส้นเลือดในสมองตีบ หากระหว่างตั้งครรภ์ถ้ามีระดับสารตัวนี้มากผิดปกติจะทำให้เกิดความผิดปกติในการสร้างระบบประสาทในเด็กได้

อย่างไรก็ตาม ร่างกายของเรามีวิธีป้องกันปัญหานี้โดยที่โฮโมซิสเทอีนจะถูกเปลี่ยนเป็นสารอื่นจากการอาศัยวิตามินที่ชื่อว่าโฟเลตหรือกรดโฟลิก วิตามินบี 12 บี 16 และ บี 2 ซึ่งจะทำให้โฮโมซิสเทอีนไม่สะสมในเลือด กรดโฟลิกมีมากในตับ ผักใบเขียว ส้ม สตรอว์เบอรี่ เป็นต้น

ฉะนั้นวิธีที่ง่ายและปลอดภัยสำหรับทุกคนในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจคือกินอาหารที่มีวิตามินบีให้เพียงพอ โดยเฉพาะโฟเลตสำหรับผู้ที่ตรวจยีนก็ใช้มาตรการป้องกันนี้ได้ เพราะคนกลุ่มนี้สามารถปรับเปลี่ยนอาหารให้กับกับยีน MTHFR ซึ่งมีความสำคัญในการเปลี่ยนโฮโมซิสเทอีนเป็นสารที่อันตรายน้อยกว่า ผู้ที่มียีนผิดปกติจะต้องการโฟเลตจากอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมเพิ่มขึ้น เพื่อให้การเปลี่ยนโฮโมซิสเทอีนเป็นไปตามปกติ มิฉะนั้นระดับจะสูงขึ้น จะก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจขึ้นได้

แต่สิ่งที่ยังไม่ทราบกันคือ ถ้าระดับโฮโมซิสเทอีนลดลง จะลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้หรือไม่

 


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Cholesterol. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/topics/cholesterol)
Study says there's no link between cholesterol and heart disease. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/news/heart-and-lungs/study-says-theres-no-link-between-cholesterol-and-heart-disease/)
Does 'bad' cholesterol deserve its bad name?. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/323235)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป