กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ประโยชน์ของน้ำมันรำข้าว ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

แนะนำประโยชน์ของน้ำมันรำข้าวที่ควรรู้ และไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพแบบง่ายๆ สามารถทำเองได้ที่บ้าน
เผยแพร่ครั้งแรก 15 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 25 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 24 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประโยชน์ของน้ำมันรำข้าว ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • น้ำมันรำข้าว คือ น้ำมันที่สกัดมาจากรำข้าว สามารถนำมาประกอบอาหารประเภทผัด หรือทอดได้อย่างปลอดภัย
  • น้ำมันรำข้าว อุดมไปด้วยไขมันดี วิตามินอี วิตามินบี โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 โอเมก้า 9 และสารสำคัญอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารแกมมาโอรีซานอล หรือกรดไลโนเลอิก
  • การรับประทานน้ำมันรำข้าวเป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด บำรุงระบบประสาทและสมอง ป้องกันโรคมะเร็ง บำรุงผิวพรรณ สายตา เล็บ และผม ให้แข็งแรง และช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะขาดไทรอยด์ และผู้ป่วยโรคไต ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมันรำข้าว หากจำเป็นต้องรับประทานจริงๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • อาหารทุกชนิดไม่เว้นแม้แต่น้ำมันรำข้าว ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มาก หรือน้อยเกินไป และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค (ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงได้ที่นี่)

น้ำมันรำข้าว คือ น้ำมันชนิดหนึ่งที่สกัดมาจากรำข้าว หรือเมล็ดข้าวซึ่งมีปริมาณน้ำมัน 18-22% และได้รับความนิยมไปทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย ถูกนำมาใช้สำหรับประกอบเมนูอาหารต่างๆ และนำมาเป็นส่วนผสมหลักของอาหารเสริมบางชนิดอีกด้วย

น้ำมันรำข้าวมีจุดเกิดควัน (Smoke point) สูงประมาณ 254 อาศาเซลเซียส จึงเหมาะสำหรับนำไปใช้ประกอบอาหารประเภทผัด หรือทอดได้อย่างปลอดภัย

คุณค่าทางโภชนาการของน้ำมันรำข้าว

น้ำมันรำข้าว 100 กรัม ประกอบไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

  • พลังงาน 80 กิโลแคลอรี่

  • ไขมันทั้งหมด 3.1 กรัม ประกอบไปด้วยไขมันอิ่มตัว 2.3 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 1.7 กรัม และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 0.5 กรัม

  • อุดมไปด้วยวิตามินอี วิตามินบี โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และโอเมก้า 9 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

9 ประโยชน์ของน้ำมันรำข้าวที่ควรรู้

1. ป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด

น้ำมันรำข้าวอุดมไปด้วยสารแกมมาโอรีซานอล (Gamma Oryzanol) ที่มีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด หรือในกระแสเลือดได้ 

นอกจากนี้ ยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด และเสริมระบบการไหลเวียนของเลือดให้เป็นไปอย่างปกติยิ่งขึ้น จึงส่งผลดีต่อระบบฮอร์โมน ผิวพรรณ ทำให้ดูอ่อนกว่าวัยอยู่เสมอ

2. บำรุงระบบประสาทและสมอง

น้ำมันรำข้าวอุดมไปด้วยกรดไลโนเลอิก (Linoleic Acid) ที่มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้ร่างกายดูดซึมกรดอะมิโนไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ระบบประสาท และสมองได้รับสารอาหารมากขึ้น 

ส่งผลให้เซลล์สมองพร้อมใช้งาน มีความจำที่ดีขึ้น สมองปลอดโปร่ง และสามารถซ่อมแซมเซลล์สมองที่สึกหรอให้กลับมาสมบูรณ์แข็งแรงมากยิ่งขึ้น

3. ป้องกันโรคมะเร็ง

น้ำมันรำข้าวถือเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณมาก ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ได้ และช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อมะเร็ง

4. บำรุงผิวพรรณ

น้ำมันรำข้าวไม่ได้มีประโยชน์ต่อสุขภาพภายในเพียงเท่านั้น แต่ยังมีสรรพคุณบำรุงผิวพรรณให้มีสุขภาพดียิ่งขึ้น เพราะอุดมไปด้วยวิตามินอีปริมาณมาก ที่ช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น มีเลือดฝาด เนียนนุ่ม แลดูอ่อนเยาว์อย่างเป็นธรรมชาติ 

นอกจากนี้ ยังมีสารแกมมาโอรีซานอลที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับผิว และมีวิตามินบีที่มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้

5. บำรุงสายตา

น้ำมันรำข้าวมีคุณสมบัติช่วยบำรุงสายตาได้ เนื่องจากมีสารแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ที่สามารถฟื้นฟูระบบสายตา ทำให้การมองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น น้ำมันรำข้าวจึงเหมาะกับผู้ที่ใช้สายตาทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ

6. บำรุงผมและเล็บให้แข็งแรง

ในน้ำมันรำข้าวประกอบไปด้วยสารแคโรทีนอยด์ที่มีคุณสมบัติในการบำรุงผม และเล็บให้แข็งแรง มีสุขภาพดี

7. ป้องกันโรคเบาหวาน

น้ำมันรำข้าวมีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีอาการดีขึ้น สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ และยังป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้อีกด้วย

8. เสริมสร้างกล้ามเนื้อ

สารแกมมาโอรีซานอลในน้ำมันรำข้าวมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน โดยสามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อในร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น และยังเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย หรือนักเพาะกาย

9. อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

ในน้ำมันรำข้าว ประกอบด้วย แกมมาโอไรซานอล โทรโคฟีรอล โคไตรอีนอล และสารอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอนุมูลอิสระนี้เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสื่อมของเซลล์ทั้งผิว และภายในร่างกาย โดยน้ำมันรำข้าวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีกว่าวิตามินอีถึง 8 เท่า

ไอเดียการใช้น้ำมันรำข้าวเพื่อสุขภาพ

1. รักษาผื่นและภูมิแพ้ผิวหนัง

น้ำมันรำข้าวสามารถนำมารักษาอาการผื่น หรือภูมิแพ้ต่างๆ บนผิวหนังได้ เพราะมีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น โทโคฟีรอล (Tocopherol) และแกมมาโอรีซานอล ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ หรืออาการแพ้บนผิวหนัง 

การรับประทานน้ำมันรำข้าวเป็นประจำจึงสามารถช่วยลดอาการภูมิแพ้ลงได้ นอกจากนี้น้ำมันรำข้าวยังสามารถใช้ทาผิวได้โดยตรงเพื่อช่วยลดอาการผิวแห้งคันได้

2. บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ

น้ำมันรำข้าวอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 6 และ 9 อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีสรรพคุณในการดูแลเส้นผม และหนังศีรษะ 

วิธีการใช้ เพียงนำน้ำมันรำข้าวมาหมักผมอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง ก็จะช่วยทำให้ผมยาวเร็วขึ้น เส้นผมแข็งแรง ลดการขาดหลุดร่วง ช่วยรักษาปัญหาผมแตกปลาย และทำให้หนังศีรษะมีสุขภาพดีขึ้น

นอกจากนี้ สารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินอีในน้ำมันรำข้าวยังช่วยทำให้ผมดกดกดำเงางาม ไม่เกิดผมขาวง่ายอีกด้วย

3. บำรุงผิวให้อ่อนเยาว์

น้ำมันรำข้าวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินอี และวิตามินบี ซึ่งมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเซลล์ของร่างกาย และผิวหนังให้แข็งแรง ช่วยลดการเกิดริ้วรอยต่างๆ สารแกมมาโอรีซานอลยังช่วยป้องกันไม่ให้ผิวคล้ำเสีย 

ในปัจจุบันน้ำมันรำข้าวได้ถูกนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหลายชนิด

วิธีสครับผิวด้วยน้ำมันรำขาวแบบง่ายๆ

  • นำผงสมุนไพร เช่น ผงขมิ้น ผงข้าวกล้อง ผงมังคุด มาผสมกับน้ำคนให้เข้ากัน และเติมน้ำมันรำข้าวลงไป

  • หลังจากนั้นนำไปสครับผิวหน้า และผิวกาย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือถ้ามีผิวแห้งให้สครับ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง จะช่วยให้ผิวเรียบเนียน ชุ่มชื้น และกระจ่างใสมากยิ่งขึ้น

ไอเดียการกินน้ำมันรำข้าวเพื่อสุขภาพ

น้ำมันรำข้าวสามารถนำมาใช้ในการประกอบอาหารได้ โดยมีไอเดียเมนูอาหารจากน้ำมันรำข้าวดังนี้

1. อกไก่ไข่ดาวภูเขาไฟ

  • นำอกไก่มาหมักด้วยเกลือ และพริกไทยเล็กน้อย

  • ตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำมันรำข้าวลงไปเล็กน้อย และนำอกไก่ไปย่างบนกระทะด้วยไฟกลาง พร้อมกับนำฝากระทะมาครอบปิดไว้เพื่อให้ความร้อนเข้าไปทั่วทุกส่วนของอกไก่จนสุก จากนั้นยกไก่ขึ้นพัก

  • ตั้งกระทะใส่น้ำมันรำข้าว 1 ช้อนชา ตามด้วยหัวหอมหั่นตามยาว 1 หัว ผัดจนเปลี่ยนสี และนำผักรวมต่างๆ ที่เตรียมไว้ลงไปผัด ปรุงด้วยเกลือ และพริกไทยเพียงเล็กน้อย

  • แบ่งผักในกระทะให้เป็นช่องว่างตรงกลาง และตอกไข่ไก่ลงไป นำฝากระทะมาครอบไว้อีกรอบ สังเกตให้ไข่สุกกำลังดี หลังจากนั้นนำมาราดบนอกไก่ที่พักไว้

2. หมั่นโถวฟักทอง

วัตถุดิบ

  • แป้งสาลีอเนกประสงค์ 500 กรัม
  • ยีสต์ 6 กรัม
  • ผงฟู 12 กรัม
  • เกลือ 2 กรัม
  • น้ำตาลไม่ฟอกสี 80 กรัม
  • น้ำ 220 กรัม
  • ฟักทองนึ่งสุกบดละเอียด 100 กรัม
  • น้ำมันรำข้าว 30 กรัม

วิธีการทำ

  • ร่อนแป้งสาลี และผงฟู ผสมเข้าด้วยกัน ใส่ยีสต์ที่เตรียมไว้ลงไป

  • นำน้ำ น้ำตาล และเกลือมาผสมจนละลายเข้ากันดี เทรวมกับแป้งที่ผสมไว้ตอนแรก ออกแรงนวดแป้งให้เข้ากัน จากนั้นใส่ฟักทอง น้ำมันรำข้าว และนวดต่อ 15 – 20 นาที จนรู้สึกได้ว่าตัวแป้งนุ่มขึ้น

  • คลึงแป้งให้เป็นก้อนกลม และใช้พลาสติกแรปคลุมแป้ง พักไว้ประมาณ 10 นาที เมื่อครบแล้วนำแป้งมาแบ่งเป็นก้อนกลมพอดีคำ และใช้ผ้าขาวบางคลุมแป้งพักไว้อีก 10 นาที

  • นำแป้งที่พักไว้มารีดให้เป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าบางพอประมาณ ม้วนแป้งเข้าหาตัวจนกลายเป็นแท่งกลม วางเนื้อแป้งลงบนแผ่นกระดาษ และปิดด้วยผ้าขาวบาง นำไปนึ่งด้วยน้ำเดือดประมาณ 10 นาทีจนขึ้นฟูสวย เป็นอันเสร็จพร้อมรับประทาน

3. ยอดเซเลอรี่ผัดไข่

  • ตั้งกระทะ และใส่น้ำมันรำข้าว 1 ช้อนโต๊ะลงไป เจียวกระเทียมให้พอเหลือง ใส่ไข่ไก่ 1 ฟอง ผัดให้สุก และตามด้วยยอดเซเลอรี่ 1 กำ

  • ใส่น้ำต้มสุกเล็กน้อย ปรุงรสด้วยซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ ซีอิ๊วเห็ดหอม 1/2 ช้อนโต๊ะ และน้ำตาลทรายแดง 1 หยิบมือ ผัดให้เข้ากันเป็นอันเสร็จ

ข้อควรระวังการรับประทานน้ำมันรำข้าว

  • น้ำมันรำข้าว ควรรับประทาน และใช้ทาผิวหนังในประมาณที่เหมาะสม

  • สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานน้ำมันรำข้าวปริมาณมากเกินไป

  • สำหรับผู้ที่มีอาการของภาวะขาดไทรอยด์ ไม่ควรรับประทานน้ำมันรำข้าว เพราะสารแกมมาโอรีซานอลในน้ำมันรำข้าวอาจส่งผลต่อการทำงานของไทรอยด์ให้ลดต่ำลง

  • ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมันรำข้าว เนื่องจากกรดไฟติก (Phytic acid) ในเมล็ดข้าวอาจส่งผลให้การทำงานของไตผิดปกติ

ในปัจจุบันน้ำมันรำข้าวถูกสกัดในรูปแบบแคปซูล มีวางจำหน่ายในไทยหลากหลายยี่ห้อ ในขนาดที่แตกต่างกัน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมคอเลสเตอรอล เพราะน้ำมันรำข้าวช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้ 

แต่ก่อนที่จะรับประทานอาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพราะสารแกมมาโอรีซานอลในน้ำมันรำข้าวมีผลต่อโรคไทรอยด์ และเพื่อที่แพทย์จะได้แนะนำปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละคน

อาหารทุกชนิดไม่เว้นแม้แต่น้ำมันรำข้าว ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มาก หรือน้อยจนเกินไป และควรเลือกซื้อน้ำมันรำข้าวที่มีคุณภาพ ไม่เป็นไข สีใส และไม่ตกตะกอน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ทิพยเนตร อริยปิติพันธ์ และ กิตณา แมคึเน็น, วารสารโภชนาการ, แกมมาโอรีซานอลกับสุขภาพ, 2552 ศิริพร เหลียงกอบกิจ, จุลสารข้อมูลสมุนไพร 24(3), น้ำมันรำข้าว, 2550
ศูนย์วิทยบริการ สำนักงานอาหารและยา, อภัยภูเบศรช่วยชาวนาผลิตอาหารเสริมน้ำรำข้าว-จมูกข้าว (http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id=45716), 25 พฤษภาคม 2560
Dr. Jagdev Singh, AYURTIMES, Rice Bran Oil Benefits (https://www.ayurtimes.com/rice-bran-oil-benefits/), 31 March 2014

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
วิตามินอี(โทโคฟีรอล/โทโคไทรอีนอล)
วิตามินอี(โทโคฟีรอล/โทโคไทรอีนอล)

อ่านข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับวิตามินอี (โทโคฟีรอล/โทโคไทรอีนอล) วิตามินชนิดนี้ดีต่อร่างกายคุณอย่างไรและโรคที่เกิดขึ้นหากขาดวิตามินชนิดนี้ รวมถึงแหล่งจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ศัตรูของวิตามินอี ที่สำคัญคืออาการเป็นพิษและสัญญาณเตือนว่ารับประทานมากไป ตลอดจนรวมทั้งคำแนะนำที่น่าสนใจต่างๆมากมาย สามารถอ่านต่อได้ที่นี่

อ่านเพิ่ม