กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ท้องผูก

เผยแพร่ครั้งแรก 23 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 14 นาที
ท้องผูก

ภาวะท้องผูก (Constipation) เป็นภาวะทั่วไปที่เกิดขึ้นกับคนได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งหมายถึงภาวะที่ทำให้ไม่สามารถถ่ายหนักได้ตามปกติ หรือคุณไม่สามารถถ่ายอุจจาระให้หมดลำไส้ได้

ภาวะนี้ยังทำให้ก้อนอุจจาระของคุณแข็งและมีผิวขรุขระขึ้น ซึ่งอาจจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กผิดปกติก็ได้

ความรุนแรงของภาวะท้องผูกจะแตกต่างกันออกไปตามกรณีบุคคล หลายคนประสบกับภาวะนี้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่สำหรับผู้อื่นอาจประสบกับภาวะนี้ระยะยาว (เรื้อรัง) จนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตหรือสร้างความเจ็บปวดขณะถ่ายก็ได้

อะไรเป็นสาเหตุของภาวะท้องผูก?

ภาวะท้องผูกเป็นภาวะที่มองหาสาเหตุได้ยาก แต่ก็มีหลายสิ่งที่เข้ามาส่งผลให้เกิดภาวะนี้ขึ้น เช่น: การไม่ทานใยอาหาร (fibre) เพียงพอ เช่นผลไม้ ผัก และธัญพืช การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรหรือวิธีการใช้ชีวิตของคุณ เช่นการเปลี่ยนกิจจะลักษณะการรับประทานอาหาร การเพิกเฉยต่อความอยากถ่ายหนัก ผลข้างเคียงจากยาบางประเภท การไม่ดื่มน้ำให้เพียงพอ ภาวะวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า

สำหรับเด็ก การรับประทานอาหารที่ไม่ดี ความกลัวเกี่ยวกับการใช้ห้องน้ำ และปัญหาเรื่องของการฝึกขับถ่ายก็สามารถส่งผลให้เกิดภาวะท้องผูกได้เช่นกัน

ใครได้รับผลกระทบจากภาวะท้องผูกได้บ้าง?

ภาวะท้องผูกสามารถเกิดขึ้นกับทารก เด็กเล็ก และผู้ใหญ่ได้ โดยคาดกันว่ามีผู้ใหญ่ 1 คนจากทุก ๆ 7 คน และมากกว่า 1 ใน 3 ของเด็กจะมีภาวะนี้ ณ ช่วงใดช่วงหนึ่ง

ภาวะนี้มีโอกาสเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายสองเท่า และจะพบได้บ่อยกับผู้ใหญ่ที่อายุมากกับผู้ที่ตั้งครรภ์

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

คุณสามารถรักษาภาวะท้องผูกได้ด้วยตนเองโดยการเปลี่ยนแปลงอาหารที่รับประทานกับวิธีการใช้ชีวิต หากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นใช้ไม่ได้ผล คุณควรไปพบแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม

อีกทั้งคุณควรปรึกษาแพทย์หากว่าคุณคาดว่าลูกของคุณอาจมีอาการท้องผูกขึ้นมา

การรักษาภาวะท้องผูก

การปรับเปลี่ยนอาหารและวิธีการใช้ชีวิตมักเป็นการรักษาแรกสำหรับภาวะท้องผูก ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณกากใยอาหารเข้าไปในมื้ออาหารแต่ละมื้อ ดื่มน้ำให้มากขึ้น และพยายามออกกำลังกาย

หากวิธีการข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์จะจ่ายยาระบายชนิดทานแก่คุณเพื่อช่วยกำจัดของเสียภายในลำไส้

การรักษาภาวะท้องผูกทั้งหมดล้วนมีประสิทธิภาพมาก แม้ว่าบางกรณีอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่ารูปแบบการเคลื่อนตัวของลำไส้จะกลับไปสู่ภาวะปรกติ

การป้องกันภาวะท้องผูก

การปรับเปลี่ยนอาหารและวิธีการใช้ชีวิตข้างต้นยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องผูกได้อีกเช่นกัน

การจัดสภาพแวดล้อม เวลา และความเป็นส่วนตัวระหว่างการถ่ายหนักของคุณก็สามารถช่วยให้การถ่ายเป็นไปได้ง่ายขึ้น อีกทั้งคุณไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการปวดท้องอยากถ่ายหนัก

กากใยอาหาร

การรวมกากใยอาหารในอาหารแต่ละมื้ออย่างพอเหมาะจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะท้องผูกได้อย่างมาก

คุณควรตั้งเป้าการทานกากใยอาหารให้ได้ประมาณ 30 กรัมต่อวัน ซึ่งสามารถหาได้จาก: ผักและผลไม้ ข้าวธัญพืชรวม ขนมปังธัญพืชรวม เมล็ดและข้าวโอ๊ต

การทานกากใยอาหารปริมาณมากจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนตัวเป็นประจำ เพราะกากอาหารช่วยให้อุจจาระเคลื่อนผ่านระบบย่อยอาหารง่ายขึ้น อีกทั้งอาหารจำพวกนี้ยังช่วยให้คุณรู้สึกอิ่มนานขึ้นอีกด้วย

สิ่งที่ควรทำคือการเพิ่มปริมาณกากใยอาหารอย่างช้า ๆ เพราะการเพิ่มกากอาหารอย่างกะทันหันอาจทำให้คุณท้องอืดและปวดท้องได้

น้ำ

พยายามดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (dehydration) และเพิ่มปริมาณน้ำขึ้นหากคุณกำลังออกกำลังกายหรืออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน พยายามลดปริมาณคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และน้ำอัดลมที่คุณบริโภคลง

นิสัยการขับถ่าย

ห้ามเพิกเฉยต่อความอยากเข้าห้องน้ำ เพราะจะเพิ่มโอกาสการเป็นท้องผูกมากขึ้นอย่างมาก

เมื่อคุณกำลังถ่ายหนัก พยายามใช้เวลาให้มากที่สุดและหาสถานที่ที่เป็นส่วนตัวที่สุดเพื่อให้คุณถ่ายได้อย่างสบายใจ

การออกกำลังกาย

การทำตัวให้กระฉับกระเฉงอยู่เสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการท้องผูกได้อย่างมาก คุณควรออกกำลังกายเป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

เช่นเดียวกับการออกกำลังกายเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะท้องผูก การออกกำลังยังช่วยให้คุณมีสุขภาพและอารมณ์ดีขึ้นอย่างมากเช่นกัน

อาการของภาวะท้องผูก

หากคุณมีอาการท้องผูก การถ่ายหนักจะเป็นไปได้ยากและมีความถี่ที่น้อยลงกว่าปกติ

กิจจะลักษณะการทำงานของลำไส้ของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ผู้ใหญ่บางคนต้องเข้าทำธุระบ่อยมากกว่าหนึ่งครั้ง ในขณะที่ผู้อื่นอาจจะต้องถ่ายเพียงหนึ่งครั้งต่อ 3 หรือ 4 วัน เช่นเดียวกันนั้นเอง เด็กทารกบางคนต้องถ่ายหนักหลายครั้งต่อวัน ในขณะที่บางคนอาจจะถ่ายเพียงไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์

หากคุณหรือลูกของคุณถ่ายหนักด้วยความถี่ที่น้อยกว่าปรกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะท้องผูกก็เป็นได้

ภาวะนี้จะทำให้คุณถ่ายหนักลำบากขึ้น และอาจทำให้คุณรู้สึกว่ายังถ่ายออกมาไม่หมด อุจจาระของคุณมีลักษณะแห้ง แข็ง ตะปุ่มตะป่ำ และอาจมีขนาดที่เล็กหรือใหญ่ผิดปรกติ

อาการอื่น ๆ ของภาวะนี้มีดังนี้: ปวดท้อง ท้องอืด รู้สึกคลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร

ภาวะท้องผูกในเด็ก

เช่นเดียวกับการเคลื่อนตัวของลำไส้ที่ถี่น้อยลงและผิดปรกติ เด็กที่ท้องผูกอาจจะมีอาการดังต่อไปนี้ตามมา: ไม่อยากอาหาร หมดแรง ฉุนเฉียว โมโห หรือไม่มีความสุข ผายลมกลิ่นฉุนมาก ปวดหรือไม่สบายท้อง ถ่ายรดกางเกง รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

คุณสามารถรักษาภาวะท้องผูกได้ด้วยตนเองด้วยการเปลี่ยนแปลงอาหารที่รับประทานกับวิธีการใช้ชีวิตง่าย ๆ หากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นใช้ไม่ได้ผล คุณควรไปพบแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือ

คุณควรไปพบแพทย์หากว่าคุณสังเกตเห็นเลือดออกจากทวารหนัก มีน้ำหนักลดอย่างอธิบายไม่ได้ หรือมีอาการเหน็ดเหนื่อยต่อเนื่อง

ควรพาเด็กไปพบแพทย์หากพวกเขาหรือคุณคาดว่าพวกเขาท้องผูกเพื่อรับยาระบาย (Laxatives) พร้อมกับรับคำแนะนำการรับประทานอาหารและการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตของลูกคุณ

สาเหตุของภาวะท้องผูก

ภาวะท้องผูกมักเกิดขึ้นเมื่ออุจจาระตกค้างภายในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานานจนลำไส้ใหญ่ดูดซับน้ำออกจากก้อนอุจจาระจนทำให้มีลักษณะแข็งและแห้งกว่าเดิม

ภาวะท้องผูกส่วนมากมักจะไม่ได้เกิดจากภาวะสุขภาพใด ๆ และอาจทำการหาต้นตอของภาวะได้ยาก กระนั้นก็มีปัจจัยมากมายที่เพิ่มโอกาสที่คุณจะประสบกับอาการท้องผูก ดังนี้: การไม่ทานกากใยอาหารเพียงพอ เช่นผลไม้ ผัก และธัญพืช การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรหรือวิธีการใช้ชีวิตของคุณ เช่นการเปลี่ยนกิจจะลักษณะการรับประทานอาหาร สภาพความเป็นส่วนตัวขณะถ่ายหนักจำกัด การเพิกเฉยต่อความอยากถ่ายหนัก การไม่ออกกำลังกาย เป็นไข้สูง การไม่ดื่มน้ำให้เพียงพอ มีน้ำหนักร่างกายต่ำหรือมากเกินไป ภาวะวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า ปัญหาทางจิตเวช เช่นเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกตบตี หรือได้รับบาดเจ็บทางจิตใจรุนแรง

การใช้ยา

ภาวะท้องผูกสามารถเกิดขึ้นเป็นผลข้างเคียงของยาบางประเภทได้ โดยกลุ่มยาที่มักก่อให้เกิดอาการท้องผูกมีดังนี้ aluminium antacids (ยาสำหรับภาวะอาหารไม่ย่อย) ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) ยากันชัก (antiepileptics) ยารักษาทางจิตเวช (antipsychotics) อาหารเสริมแคลเซียม ยาแก้ปวดโอปิแอต (opiate) เช่นโคเดอีน (codeine) กับมอร์ฟีน (morphine) ยาขับน้ำ/ปัสสาวะ (diuretics) อาหารเสริมธาตุเหล็ก

หากภาวะท้องผูกของคุณเกิดจากการใช้ยา ภาวะนี้จะทุเลาลงเมื่อคุณหยุดใช้ยานั้น ๆ กระนั้นคุณก็ไม่ควรหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

ให้ปรึกษาแพทย์หากภาวะท้องผูกของคุณเกิดมาจากยา โดยพวกเขาจะจ่ายยารักษาอื่น ๆ ให้แก่คุณแทน

การตั้งครรภ์

สตรีมีครรภ์ประมาณ 2 ใน 5 จะประสบกับภาวะท้องผูกระหว่างการตั้งครรภ์ ส่วนมากจะประสบในช่วงระยะครรภ์ต้น ๆ

ภาวะท้องผูกจากการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเพราะร่างกายผลิตฮอร์โมน progesterone ออกมาเพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว

ลำไส้ใหญ่มักจะขยับอุจจาระและของเสียไปยังทวารหนักด้วยกระบวนการที่เรียกว่าการหดตัวของกล้ามเนื้อทางเดินอาหาร (peristalsis) หรือการที่ผนังกล้ามเนื้อลำไส้บีบรัดและคลายตัวเป็นเกลียวเพื่อเคลื่อนสิ่งที่อยู่ภายในไปเรื่อย ๆ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน progesterone จะทำให้ลำไส้บีบรัดตัวยากขึ้นจนทำให้ไม่สามารถเคลื่อนของเสียไปได้

ภาวะอื่น ๆ

กรณีหายาก ภาวะท้องผูกก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะอื่น ๆ ได้ เช่น: กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome - IBS) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปรกติ (underactive thyroid gland (hypothyroidism)) โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (muscular dystrophy ): ภาวะทางพันธุกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อลีบ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis): ภาวะที่ส่งผลต่อระบบประสาท โรคพากินสัน (Parkinson's disease): ภาวะที่ซึ่งส่วนของสมองเกิดความเสียหายเรื่อย ๆ จนส่งผลต่อการประสานงานกันของอวัยวะร่างกายต่าง ๆ การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง แผลปริขอบทวารหนัก (anal fissure ): แผลแตกหรือแผลปริที่ผิวหนังขอบในของทวารหนัก โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease ): ภาวะที่ทำให้ลำไส้อักเสบ มะเร็งลำไส้

เด็กและทารก

ภาวะท้องผูกในเด็กและทารกเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยคาดกันว่าเด็กทุก ๆ 1 ใน 3 คนจะประสบกับท้องผูก ณ ช่วงเวลาใดก็ได้ โดยสาเหตุของการเกิดภาวะอาจเป็นได้ทั้งความกลัวห้องน้ำ การทานอาหารที่ไม่ดี และความสามารถในการใช้ห้องน้ำที่ไม่ดี

การรับประทานอาหารที่ไม่ได้

เด็กที่ได้รับอาหารมากเกินไปจะมีโอกาสต่อภาวะท้องผูกมากขึ้นเช่นเดียวกับเด็กที่ไม่ได้ดื่มน้ำเพียงพอ ทารกที่ดื่มนมมากเกินไปก็อาจท้องผูกได้ และเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เด็กเองก็ต้องการกากใยอาหารเช่นกัน

การฝึกใช้ห้องน้ำ

สิ่งที่คุณควรทำคืออย่าทำให้เด็กเครียดหรือกดดันขณะที่ต้องใช้ส้วม พยายามปล่อยให้เด็กลองทำอะไรด้วยตัวเองก่อน หากคุณคอยช่วยเหลือพวกเขาตลอดเวลา อาจทำให้พวกเขาเกิดความกังวลใจเมื่อต้องใช้ห้องน้ำคนเดียวได้

นิสัยการเข้าห้องน้ำ

เด็กบางคนอาจรู้สึกเครียดหรือกังวลใจเมื่อต้องเข้าห้องน้ำจนพัฒนาความรู้สึกเหล่านี้จนกลายเป็นความกลัว (phobia) ขึ้นมา

ความกลัวนี้จะส่งผลให้เด็กรู้สึกเจ็บปวดขณะถ่ายหนัก และทำให้กลายเป็นนิสัยการขับถ่ายที่ไม่ได้ที่ซึ่งเด็กไม่ยอมไปห้องน้ำเมื่อมีอาการปวดท้องอยากอุจจาระ พวกเขาจะทำการอั้นอุจจาระเพื่อไม่ต้องการจะประสบกับความเจ็บปวดหรือไม่สบายตัว ซึ่งหากพวกเขาทำเช่นนี้เรื่อย ๆ อาการของภาวะนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น

ภาวะอื่น ๆ

กรณีหายาก ภาวะท้องผูกในเด็กและทารกอาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น: โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprung's disease): ที่ซึ่งลำไส้ผิดปรกติจนทำการถ่ายหนักลำบาก ทวารหนักและไส้ตรงผิดรูป (anorectal malformation): ที่ซึ่งทวารหนักและลำไส้ตรงของเด็กไม่ได้โตขึ้นอย่างที่ควรเป็น ความผิดปรกติที่ไขสันหลัง: หมายถึงภาวะหายากต่าง ๆ เช่นกระดูกสันหลังบกพร่อง (spina bifida) และโรคสมองพิการ (cerebral palsy) โรคซิสติก ไฟรโบรซิส (cystic fibrosis): ภาวะทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายผลิตเมือกเหนียวข้นออกมา

การวินิจฉัยภาวะท้องผูก

ภาวะท้องผูกเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก แม้แพทย์มักไม่สามารถดำเนินการทดสอบใด ๆ กับภาวะนี้ได้ แต่ก็สามารถยืนยันข้อวินิจฉัยได้จากการสังเกตอาการและประวัติทางการแพทย์ของคุณ

แพทย์จะสอบถามคุณเกี่ยวกับนิสัยการขับถ่ายของคุณ โดยคุณต้องตอบคำถามทั้งหมดด้วยความสัตย์จริงและไม่เขินอาย เพื่อให้แพทย์สามารถวิเคราะห์อาการทั้งหมดของคุณและสรุปการวินิจฉัยให้ถูกต้องที่สุด

แพทย์ยังสอบถามเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ระดับการออกกำลังกาย และการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรในช่วงที่ผ่านมาของคุณ

แพทย์สามารถนิยามภาวะท้องผูกได้หลายวิธีดังนี้: คุณมีการเปิดของลำไส้น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือไม่ คุณต้องพยายามเบ่งเปิดลำไส้บ่อยครั้งหรือไม่ คุณถ่ายอุจจาระแข็งหรือตะปุ่มตะป่ำบ่อยครั้งหรือไม่

การตรวจร่างกาย

หากแพทย์คาดว่าคุณมีภาวะ faecal impaction (ที่ซึ่งมีอุจจาระแข็งแห้งติดอยู่ภายในลำไส้ตรง) พวกเขาจะจัดการตรวจร่างกายขึ้น

โดยการตรวจร่างกายมักจะเริ่มจากให้คุณนอนหงายบนเตียงก่อนที่แพทย์จะสัมผัสหน้าท้องของคุณ จากนั้นคุณต้องนอนหันข้างเพื่อให้แพทย์ตรวจไส้ตรงของคุณด้วยการสอดนิ้วที่สวมถุงมือเคลือบสารหล่อลื่นเข้าไปเพื่อให้แพทย์จะสัมผัสก้อนอุจจาระของคุณที่อยู่ภายใน

การตรวจภายในกับเด็กมักไม่ดำเนินการกัน แต่แพทย์จะทำการวินิจฉัยภาวะของเด็กด้วยการสัมผัสหน้าท้องแทน

การทดสอบเพิ่มเติม

หากคุณมีอาการรุนแรง แพทย์จะขอดำเนินการทดสอบเพิ่มเติบกับคุณ เช่นการตรวจเลือด หรือการทดสอบต่อมไทรอยด์ เพื่อวินิจฉัยหรือกำจัดความเป็นไปได้ที่จะเป็นภาวะสุขภาพอื่น ๆ

การทดสอบอื่น ๆ มีดังนี้:

การเอกซเรย์ช่องท้อง: เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์ร่างภาพภายในช่องท้อง

transit study examination: เป็นการให้คุณกลืนแคปซูลชนิดพิเศษลงไปในช่วงสั้น ๆ โดยแคปซูลจะแสดงออกมาบนฟิล์มเอกซเรย์เพื่อดูระยะเวลาที่แคปซูลใช้ในการเคลื่อนตัวผ่านระบบย่อยอาหารของคุณ

การตรวจการทำงานของลำไส้ใหญ่และหูรูด (anorectal manometry): เป็นการใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กที่มีบอลลูนติดอยู่ที่ปลายสอดเข้าทวารหนัก คุณต้องขมิบกล้ามเนื้อทวารหนักเพื่อให้บอลลูนอ่านค่าแรงบีบเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของทวารหนัก รวมไปถึงประสาทและกล้ามเนื้อของคุณ

เมื่อคุณแก่ตัวขึ้น คุณจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้มากขึ้น ดังนั้นแพทย์อาจต้องทำการทดสอบคัดกรองมะเร็งเพิ่มเติมอย่างการสแกนคอมพิวเตอร์ (computerised tomography - CT) หรือ colonoscopy

การรักษาภาวะท้องผูก

การรักษาภาวะท้องผูกจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะ ระยะเวลาที่คุณเป็น และความรุนแรงของอาการ

หลาย ๆ กรณีสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการปรับเปลี่ยนอาหารการกินและวิธีการใช้ชีวิต

รายละเอียดวิธีรักษาภาวะท้องผูกมีดังต่อไปนี้

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

แพทย์มักจะแนะนำให้คุณทำการเปลี่ยนแปลงอาหารการกินและวิธีการใช้ชีวิตเป็นการรักษาอาการท้องผูกแรกสุด หลาย ๆ กรณีผู้ป่วยที่ดำเนินการเช่นนี้จะมีภาวะดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้ยา

ตัวอย่างวิธีการดูแลตนเองมีดังต่อไปนี้:

  • เพิ่มปริมาณกากใยอาหารในแต่ละมื้อ คุณควรได้รับกากอาหาร 18-30 กรัมต่อวัน โดยอาหารที่มีกากใยอาหารสูงมีทั้งผลไม้และผักสด กับธัญญาหาร
  • เพิ่มสารเพิ่มปริมาณ (bulking agents) อย่างรำข้าวสาลีในอาหารแต่ละมื้อ เพื่อช่วยให้อุจจาระของคุณอ่อนตัวลงและเคลื่อนผ่านได้ง่ายขึ้น
  • เลี่ยงภาวะขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำให้มาก ๆ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ยกตัวอย่างเช่นการเดินหรือวิ่งทุกวัน

หากอาการท้องผูกสร้างความเจ็บปวดหรือไม่สบายเนื้อสบายตัว คุณสามารถทานยาแก้ปวดอย่างพาราเซตตามอลได้ โดยพยายามปฏิบัติตามคำแนะนำที่ฉลากยาก่อนใช้ยาทุกครั้ง เด็กที่มีอายุต่ำว่า 16 ปีไม่ควรได้รับยาแอสไพริน

เข้าทำธุระ ขับถ่ายเป็นกิจวัตร และต้องอย่างอั้นอุจจาระเมื่อเกิดความอยาก

พยายามนั่งการชันขาขึ้นมาบนเก้าอี้เตี้ยขณะนั่งบนชักโครกจนทำให้เข่าอยู่เหนือระดับสะโพก การนั่งเช่นนี้จะทำให้อุจจาระไหลผ่านได้ง่ายขึ้น

หากยาที่คุณกำลังใช้อยู่มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก แพทย์จะแนะนำให้คุณใช้ยาอีกประเภทแทน

การใช้ยาระบาย

ยาระบาย (Laxatives) คือกลุ่มยาที่ช่วยให้คุณถ่ายอุจจาระได้คล่องขึ้น โดยยากลุ่มนี้มีอยู่หลายชนิด และแต่ละชนิดก็ส่งผลต่อระบบย่อยอาหารแตกต่างกันออกไป

ยาระบายชนิดเพิ่มมวลอุจจาระ

แรกเริ่ม แพทย์มักจะแนะนำให้คุณใช้ยาระบายชนิดเพิ่มมวลอุจจาระ (bulk-forming laxative) ซึ่งจะทำให้อุจจาระในลำไส้ของคุณคงของเหลวอยู่ ทำให้ก้อนอุจจาระไม่แห้งจนเกินไปจนไม่ทำให้เกิดภาวะ faecal impaction ยาระบายประเภทนี้ยังทำให้อุจจาระอ่อนตัวลงจนสามารถไหลออกมาได้ง่ายขึ้น

ยาระบายชนิดเพิ่มมวลอุจจาระที่แพทย์มักจะจัดจ่ายให้คนไข้คือ  ispaghula husk methylcellulose และ sterculia และเมื่อคุณใช้ยาระบายประเภทนี้ คุณจะต้องทำการดื่มน้ำให้มาก ๆ และอย่าใช้ยาก่อนเข้านอน คุณอาจต้องรอประมาณ 2 ถึง 3 วันกว่าที่คุณจะรู้สึกถึงผลจากยา

ยาระบายชนิดดูดน้ำ

หากอุจจาระของคุณยังคงแข็งอยู่แม้จะได้รับยาระบายชนิดเพิ่มมวลแล้วก็ตาม แพทย์อาจจะจ่ายยาระบายชนิดดูดน้ำ (Osmotic laxatives) ให้กับคุณแทน ยาระบายชนิดนี้จะเพิ่มปริมาณของเหลวในลำไส้ของคุณ ซึ่งช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวมากขึ้น และกระตุ้นให้ร่างกายเริ่มกระบวนการขับอุจจาระออก

ยาระบายชนิดดูดน้ำที่แพทย์มักจัดจ่ายให้คือ lactulose กับ macrogols และเช่นเดียวกับยาระบายชนิดเพิ่มมวล คุณต้องดื่มน้ำให้มาก ๆ และต้องใช้เวลา 2 ถึง 3 วันกว่าจะเห็นผล

ยาระบายชนิดกระตุ้น

หากอุจจาระของคุณอ่อน แต่ยังคงไหลผ่านออกมายากอยู่ แพทย์มักจะจ่ายยาระบายกระตุ้น (Stimulant laxatives) แก่คุณ ซึ่งยาชนิดนี้จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อของผนังเยื่อบุระบบทางเดินอาหารทำงาน และช่วยทำให้อุจจาระไหลผ่านลำไส้ใหญ่ไปยังทวารหนักง่ายขึ้น

ยาระบายชนิดกระตุ้นที่แพทย์นิยมจัดจ่ายกันมากที่สุดคือ senna bisacodyl และ sodium picosulphate โดยยาระบายชนิดนี้มักจะถูกกำหนดให้ใช้ภายในช่วงเวลาสั้น ๆ และจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 6 ถึง 12 ชั่วโมง

หากคุณต้องการการรักษาด้วยยาระบายที่รวดเร็วหรือมีความต้องการใช้ยาระบายบางประเภท แพทย์อาจทำการตัดสินใจใช้ยาระบายผสมกันไปตามกรณีบุคคล

คุณจำเป็นต้องใช้ยาระบายนานแค่ไหน?

หากคุณเคยประสบกับภาวะท้องผูกเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แพทย์มักแนะนำให้คุณหยุดใช้ยาระบายเมื่ออุจจาระของคุณอ่อนตัวและไหลออกมาง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากภาวะท้องผูกของคุณเกิดจากภาวะสุขภาพอื่น ๆ หรือจากการใช้ยา คุณอาจต้องใช้ยาระบายเป็นเวลานานกว่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นหลายปีก็ได้

หากคุณใช้ยาระบายมาสักพักแล้ว คุณอาจต้องค่อย ๆ ปรับลดขนาดของยาที่ใช้ลงแทนการตัดการใช้ไปเลย หากแพทย์จัดจ่ายยาระบายแบบผสมมาให้แก่คุณ คุณต้องทำการลดขนาดของยาระบายทีละชนิดโดยทำการลดหนึ่งชนิดต่อหนึ่งช่วงเวลา ไปจนกว่าจะหยุดยาได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน

แพทย์จะแนะนำช่วงเวลาที่คุณควรหยุดใช้ยาระบายที่ดีที่สุดกับคุณเองอีกที

การรักษาภาวะอุจจาระอุดตัน

ภาวะอุจจาระอุดตัน (faecal impaction) เกิดขึ้นเมื่ออุจจาระมีความแข็งและแห้งมากจนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ตรง การอุดตันนี้จะทำให้อุจจาระไหลออกมาได้ยากขึ้น

บางครั้ง ภาวะนี้อาจทำให้เกิดภาวะท้องร่วงโดยไม่รู้ตัว (overflow diarrhoea) ที่ซึ่งเป็นการเล็ดไหลของอุจจาระผ่านส่วนที่อุดตันออกมาโดยที่คุณแทบไม่สามารถควบคุมได้เลย

หากคุณประสบกับภาวะ faecal impaction คุณจะเริ่มการรักษาด้วยยาระบายชนิดดูดน้ำ macrogol ด้วยขนาดยาสูงก่อน หลังจากนั้นไม่กี่วัน คุณอาจต้องเริ่มใช้ยาระบายกระตุ้นตามมา

หากคุณไม่ตอบสนองต่อยาระบายประเภทเหล่านี้ และ/หรือคุณมีอาการท้องร่วงโดยไม่รู้ตัว คุณอาจต้องใช้ยาดังต่อไปนี้ช่วยด้วย:

ยาเหน็บ (Suppository): ยาที่ใช้สอดเข้าทวารหนักที่จะค่อย ๆ ละลายด้วยอุณหภูมิร่างกายและถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด โดยยา Bisacodyl จะเป็นที่นิยมกันมากที่สุด

Mini enema: ยาในรูปของของเหลวที่ฉีดเข้าไปในทวารหนักและเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ (ยา Docusate กับ sodium citrate)

การตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมบุตร

หากคุณกำลังตั้งครรภ์ มีวิธีรักษาภาวะท้องผูกหลายวิธีที่ทั้งปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อทารก โดยแพทย์จะแนะนำให้คุณปรับเปลี่ยนอาหารการกินหรือการเพิ่มกากใยอาหารในอาหารแต่ละมื้อของคุณพร้อมกับการออกกำลังกายอย่างอ่อนเบาก่อน

หากวิธีการข้างต้นไม่ได้ผล คุณอาจได้รับยาระบายมาช่วยแทน

ยาระบายหลายประเภทปลอดภัยต่อผู้หญิงมีครรภ์เพราะส่วนมากจะไม่ถูกระบบย่อยอาหารดูดซึมเข้าไป หมายความว่าทารกในครรภ์จะไม่รู้สึกถึงผลจากยาประเภทนี้

โดยยาระบายที่ปลอดภัยต่อผู้หญิงมีครรภ์มีทั้งยาระบายชนิดดูดน้ำ lactulose กับ macrogols ซึ่งหากไม่ได้ผล แพทย์จะเปลี่ยนไปเป็น bisacodyl หรือ senna โดสต่ำแทน (ยาระบายกระตุ้น)

อย่างไรก็ตาม ยา Senna อาจไม่เหมาะกับผู้ที่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาศที่สามเพราะยาบางส่วนจะถูกดูดซึมเข้าไปในระบบย่อย

ทารกที่ยังไม่หย่านม

หากทารกประสบกับภาวะท้องผูกและยังไม่เริ่มทานอาหารแข็ง วิธีการรักษาแรกคือการให้น้ำพวกเขาดื่มมากขึ้นระหว่างการป้อนอาหาร หากคุณใช้นมผง พยายามชงตามสูตรที่ผู้ผลิตแนะนำ และห้ามเจือจางนมด้วยน้ำเพิ่ม

คุณอาจลองขยับขาของเด็กทารกช้า ๆ คล้ายกับให้พวกเขาปั่นจักรยาน หรือนวดที่หน้าท้องพวกเขาอย่างเบามือเพื่อช่วยกระตุ้นลำไส้ของทารก

ทารกที่สามารถทานอาหารแข็งได้

หากทารกทานอาหารแข็งได้แล้ว พยายามให้พวกเขาดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้เจือจางมาก ๆ และส่งเสริมให้พวกเขาทานผลไม้ให้มาก ๆ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งแบบบดหรือหั่น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเคี้ยวของเด็กแต่ละคน โดยผลไม้ที่ช่วยรักษาภาวะท้องผูกและดีต่อเด็กทารกมีดังนี้: แอปเปิ้ล แอปริคอต องุ่น พีช ลูกพลับ ลูกพรุน ราสเบอร์รี่ สตอร์เบอร์รี่

อย่าฝืนใจเด็กให้ทานอาหารเมื่อพวกเขาไม่ต้องการ เพราะจะเป็นการยุให้พวกเขาต่อต้านการกินอาหารที่ดีและยังเป็นการสร้างความเครียดแก่เด็กอีกด้วย

หากลูกของคุณยังคงมีอาการท้องผูกแม้จะทานอาหารที่ดีแล้ว พวกเขาอาจต้องได้รับยาระบายมาช่วย โดยยาระบายชนิดเพิ่มมวลอุจจาระจะไม่เหมาะสมกับเด็กทารก ดังนั้นควรใช้ยาระบายชนิดดูดน้ำแทน แต่หากไม่ได้ผลคุณก็สามารถใช้ยาระบายชนิดกระตุ้นแทนก็ได้

เด็ก

สำหรับเด็ก แพทย์มักแนะนำให้ใช้ยาระบายพร้อมกับการเปลี่ยนอาหารการกิน โดยยาชนิดแรกที่ใช้มักจะเป็นยาระบายดูดน้ำก่อน และค่อยเปลี่ยนเป็นยาระบายกระตุ้นตามความจำเป็น

เช่นเดียวกับการทานผลไม้ เด็กโตก็ควรต้องทานอาหารที่สมดุลและดีต่อสุขภาพ ซึ่งควรประกอบไปด้วยผักและธัญญาหารในอาหารของพวกเขา อย่างเช่นขนมปังธัญพืชรวม เป็นต้น

พยายามลดความเครียดหรือความขัดกันระหว่างมื้ออาหารกับการใช้ห้องน้ำ ส่งเสริมให้พวกเด็กไปทำธุระเป็นเวลา และควรปล่อยให้พวกเขาใช้เวลาในห้องน้ำอย่างน้อย 10 นาที เพื่อให้พวกเขาใช้เวลาถ่ายหนักให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในการส่งเสริมกิจวัตรการทำธุระที่ดีของเด็ก พยายามจัดทำบันทึกการขับถ่ายของพวกเขากับระบบให้รางวัลเพื่อช่วยให้พวกเขาให้ความสำคัญกับการขับถ่ายของพวกเขาเอง

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะท้องผูก

ผู้ที่ประสบกับอาการท้องผูกส่วนมากมักจะไม่ประสบกับภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่ก็มีบางคนที่ประสบกับอาการท้องผูกระยะยาว (เรื้อรัง) ที่อาจจะมีภาวะ: ริดสีดวง (haemorrhoids) faecal impaction (ที่ซึ่งอุจจาระแข็ง ๆ แห้ง ๆ ติดค้างอยู่ภายในลำไส้ตรง) ภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ (bowel incontinence) (การเล็ดไหลของอุจจาระเหลว)

เลือดออกในลำไส้ตรง

การพยายามเบ่งอุจจาระออกบ่อยครั้งจะทำให้เกิดความเจ็บปวด ไม่สบายตัว และเลือดออกในลำไส้ตรงได้

ในบางกรณี ภาวะเลือดออกนี้เป็นผลมาจากการฉีกขาดรอบทวารหนัก (แผลปริขอบทวาร) แต่ก็มักจะเป็นผลมาจากโรคริดสีดวงทวารมากกว่า (haemorrhoids (piles)) โดยโรคริดสีดวงคือการบวมขึ้นของเส้นเลือดที่ก่อตัวขึ้นมา ณ ลำไส้ตรงส่วนล่างและทวารหนัก

เช่นเดียวกับภาวะเลือดออก ริดสีดวงเองก็ทำให้เกิดความเจ็บปวด คันรอบทวาร และทวารบวมเช่นกัน

อาการของโรคริดสีดวงมักจะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์แม้จะไม่ได้รับการรักษา แต่ระหว่างนั้นคุณก็สามารถใช้ครีมหรือขี้ผึ้งในการบรรเทาอาการคันได้

ภาวะอุจจาระอุดตัน

ภาวะท้องผูกระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะอุจจาระอุดตันขึ้น (Faecal impaction) ที่ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการมีอุจจาระแข็ง ๆ แห้ง ๆ ติดอยู่ในลำไส้ตรงกับทวารหนัก

เมื่อคุณประสบกับภาวะนี้ คุณจะไม่สามารถถ่ายหนักได้หมดเหมือนที่ควรเป็น อีกทั้งยังทำให้ภาวะท้องผูกแย่ลงเช่นกัน

Faecal impaction จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากมาย ดังนี้: ลำไส้ตรงบวม ความรู้สึกภายในและรอบทวารลดลง ภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ (bowel incontinence) เลือดออกจากทวารหนัก ลำไส้ตรงหย่อน

ภาวะ Faecal impaction สามารถรักษาได้ด้วยยาระบาย แต่ก็อาจมีบางกรณีที่ใช้ยาเหน็บหรือ mini enemas แทน


14 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์, ภาวะท้องผูกเกิดจากอะไร และเมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ (http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=2321), 15 กรกฎาคม 2560
ผศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์, ท้องผูก (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=363), 12/10/2553

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป