กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

ภูมิแพ้ผิวหนัง (Skin allergy)

เผยแพร่ครั้งแรก 9 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 14 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 16 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจากร่างกายไวต่อสารกระตุ้นภูมิแพ้ต่างๆ โดยสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น แพ้ฝุ่น แพ้เหงื่อ โดยผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) ผื่นลมพิษ (Hives) และผื่นแพ้ (Contact dermatitis) เป็นผื่นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
  • ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือ “ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)” เป็นโรคที่พบได้ประมาณ 10-20% ในเด็ก และ 1-3% ในผู้ใหญ่อาการที่พบบ่อยคือ ผิวแห้ง แดง คัน หากติดเชื้อ ผิวหนังอาจมีตุ่มน้ำขนาดเล็ก มีน้ำใส หรือน้ำสีเหลืองซึมออกจากตุ่มน้ำนั้น
  • วิธีบรรเทาอาการคันผื่นแพ้ผิวหนัง เช่น หลีกเลี่ยงการเกา ปรับเปลี่ยนอาหารการกิน ใช้สารเพิ่มความชื้นให้ผิวหนัง
  • ผื่นบางชนิดสามารถเกิดจากแสงแดดได้ เช่น ผื่นแพ้สัมผัสเนื่องจากแพ้สารร่วมกับแสง (Photoallergic contact dermatitis) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสารก่อระคายเคืองหลังสัมผัสกับแสงแดด
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้

ตุ่มที่ผิวหนัง อาการคัน ผิวหนังแดง และความผิดปกติทางผิวหนังอื่นๆ เป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นก็คือ "โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง" นั่นเอง

รู้จักกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจากร่างกายไวต่อสารกระตุ้นภูมิแพ้ต่างๆ โดยสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น แพ้ฝุ่น แพ้เหงื่อ แพ้เกสรดอกไม้ แพ้ขนสัตว์ แพ้ยา หรือแพ้อาหาร

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โดยผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) ผื่นลมพิษ (Hives) และผื่นแพ้ (Contact dermatitis) เป็นผื่นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด และสัมพันธ์กับอาการแพ้

อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาการผื่นคัน แดง หรือลมพิษก็เกิดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับอาการแพ้ได้เช่นกัน เช่น โรคหัด หรือโรคอีสุกอีใส

ชนิดของผื่นที่พบบ่อยในผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

1. ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)

ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือบางครั้งอาจเรียกว่า “ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)” เป็นโรคที่พบได้ประมาณ 10-20% ในเด็ก และ 1-3% ในผู้ใหญ่

อาการที่พบได้บ่อย คือ ผิวแห้ง แดง ระคายเคือง ตกสะเก็ด และมีอาการคัน หากมีการติดเชื้อร่วมด้วย ผิวหนังอาจมีลักษณะของตุ่มน้ำขนาดเล็ก มีน้ำใส หรือน้ำสีเหลืองซึมออกจากตุ่มน้ำนั้น

ตุ่มเหล่านี้สามารถมีได้ทั้งในช่วงที่มีอาการน้อยมากและช่วงที่มีอาการปะทุขึ้นมาอย่างรุนแรง ผื่นผิวหนังอักเสบนี้สามารถหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ผื่นผิวหนังอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ ด้านในข้อพับ หรือด้านนอกของข้อเข่า ข้อศอก รอบคอ มือ แก้ม และหนังศีรษะ

โดยผู้ป่วยที่มีอาการของภูมิแพ้ผิวหนังแบบผื่นผิวหนังอักเสบมักจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย

2. ลมพิษ (Hives)

ลมพิษ หรือเรียกอีกอย่างว่า “Urticaria” มีลักษณะเป็นผื่น หรือปื้นนูนแดงเกิดขึ้นตามผิวหนัง เมื่อออกแรงกดผื่นจะเปลี่ยนเป็นสีซีด หรือสีขาวที่ตรงกลางของผื่น

ผื่นลมพิษแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • ระยะเฉียบพลัน หมายถึง ผู้ป่วยเพิ่งมีอาการมาในระยะเวลาไม่เกิน 6 สัปดาห์
  • ระยะเรื้อรัง หมายถึง ผู้ป่วยมีผื่นเรื้อรังนานเกิน 6 สัปดาห์

สาเหตุของผื่นลมพิษเฉียบพลันที่พบได้บ่อย คือ เกิดจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ผิวหนัง หรือเกิดจากการติดเชื้อ แต่ผื่นลมพิษเรื้อรังนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

3. ผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis)

ผื่นแพ้สัมผัสเป็นภูมิแพ้ผิวหนังที่เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารก่อระคายเคือง หรือสารก่อภูมิแพ้ ทำให้มีผื่นขึ้น ผิวหนังแดง คัน หรือมีตุ่มน้ำใส

ดังนั้นถ้าคุณมีผื่นแดงคันที่ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่มีการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสารก่อระคายเคือง คุณอาจเป็นผื่นแพ้สัมผัสได้

สารทำความสะอาด และผลิตภัณฑ์เคมีต่างๆ ล้วนเป็นตัวการให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสได้ทั้งสิ้น เช่น สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพู หรือแม้กระทั่งการสัมผัสกับน้ำมากเกินไปก็อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นชนิดนี้ได้

นอกจากนี้ผื่นแพ้สัมผัสยังมีสาเหตุจากการสัมผัสโลหะ เช่น นิกเกิล ที่เป็นส่วนประกอบของสแตนเลส และอัลลอยด์อื่นๆ ที่ใช้ในการทำเครื่องประดับ กาว ยาทาเล็บ ยาทาเฉพาะที่บนผิวหนัง พืช ต้นไม้ ถุงมือยาง

บางครั้งสารก่อภูมิแพ้จะไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ผิวหนังจนกว่าผิวหนังจะสัมผัสกับแสงแดด 

กรณีนี้เราเรียกว่า “ผื่นแพ้สัมผัสเนื่องจากแพ้สารร่วมกับแสง (Photoallergic contact dermatitis)” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น ครีมโกนหนวด ครีมกันแดด และน้ำหอมบางชนิด

การวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

แพทย์มักสามารถวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้จากการสังเกตบริเวณผิวหนังที่มีอาการ และการสอบถามอาการจากคุณ

ตัวอย่างคำถาม เช่น

  • บริเวณที่ผื่นขึ้นมีอาการคันหรือไม่
  • ตำแหน่งของผื่นตามร่างกาย
  • ช่วงเวลาที่เริ่มมีอาการ หรือมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ หรือไม่
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือไม่
  • ผู้ป่วยมีโรค หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ หรือไม่ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด เพราะโรคบางอย่างก็สัมพันธ์กับอาการแพ้ได้

ควรแจ้งแพทย์ทันที หากอาการผื่นแพ้เริ่มส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น นอนไม่หลับเพราะอาการคัน หรืออาการจากโรคภูมิแพ้ผิวหนังเริ่มรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

แพทย์จะตรวจหาสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังขึ้น โดยอาจใช้วิธีสอบถามอาการและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อหาว่า สิ่งใดกระตุ้นให้เกิดอาการขึ้นได้บ้าง เช่น อาจมีอาการภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบหลังจากสัมผัสสบู่ แชมพู หรือผงซักฟอก

นอกจากนี้แพทย์ยังอาจแนะนำให้จดบันทึกการรับประทานอาหารเพื่อให้รู้ว่า มีอาหารชนิดใดที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ผิวหนัง หรือมีอาการภูมิแพ้ผิวหนังรุนแรงยิ่งขึ้นหลังจากรับประทานเข้าไปไหม

ถ้ายังไม่สามารถหาสาเหตุของภูมิแพ้ได้ด้วยวิธีการดังกล่าว แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจภูมิแพ้ เช่น ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (Skin Prick Test: SPT) หรือการตรวจเลือดหาสารก่อภูมิต้านทาน (Food specific IgG) 

ล่าสุดบางโรงพยาบาล หรือบางสถานพยาบาล ก็มีบริการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงให้บริการแล้ว ผลการตรวจน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยของแพทย์ได้ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อผู้ตรวจโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการแพ้ 

วิธีบรรเทาอาการคันจากผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

การดูแล และบรรเทาอาการจากโรคภูมิแพ้ผิวหนัง มีหลักปฏิบัติดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการเกา

การเกาที่บริเวณผื่น หรือลมพิษจะทำให้ระคายเคืองมากขึ้น และทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือเกิดรอยแผลเป็นขึ้นได้

หากรู้สึกอยากเกามาก ให้ลองเปลี่ยนมาค่อยๆ ขัดผิวบริเวณที่คันด้วยนิ้วมือแทน รวมทั้งพยายามตัดเล็บมือให้สั้น และรักษาความสะอาด เพื่อลดความเสียหายของผิวหนังที่เกิดจากการเกาโดยไม่ตั้งใจ

ส่วนกรณีที่ทารก หรือเด็กเล็กป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คุณควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกาบริเวณที่มีอาการ

2. เลี่ยงสิ่งกระตุ้น

แพทย์จะพยายามตรวจหาว่า สิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นให้คุณเกิดอาการโรคภูมิแพ้ผิวหนังมากขึ้น

เมื่อทราบว่า สิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแล้วควรพยายามเลี่ยงสิ่งนั้นให้มากที่สุด เช่น

  • หากผ้าบางประเภททำให้ระคายเคืองผิวหนังก็ควรพยายามเลี่ยงเครื่องนุ่งห่มที่ทอจากผ้าประเภทนั้นๆ และเปลี่ยนมาสวมเสื้อผ้าทอละเอียดที่นุ่ม หรือทอจากวัสดุตามธรรมชาติแทน
  • หากความร้อนเป็นตัวกระตุ้นโรคผิวหนังอักเสบ ควรพยายามคงอุณหภูมิห้องที่บ้านให้เย็นพอ โดยเฉพาะในห้องนอน
  • เลี่ยงการใช้สบู่ หรือสารชำระล้างร่างกายที่อาจระคายเคืองต่อผิวหนัง หรือเปลี่ยนไปใช้ครีมอาบน้ำแทนสบู่

3. ปรับเปลี่ยนอาหารการกิน

อาหารบางประเภท เช่น ไข่ หรือนมวัว สามารถก่อให้เกิดอาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบได้ 

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปรับเปลี่ยนอาหารการกินใดๆ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจส่งผลทำให้ขาดสารอาหารบางชนิดได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ที่ต้องการสารอาหารและแร่ธาตุบางประเภทมากเป็นพิเศษ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรค แคลเซียม 

ทั้งเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

4. ใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง

หลังอาบน้ำเสร็จ ควรทาโลชั่นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง และหมั่นทาโลชั่นเมื่อรู้สึกว่า ผิวเริ่มแห้ง สารเหล่านี้มักช่วยบรรเทาอาการผิวแห้ง หรือผิวแตกจากโรคผื่นผิวหนังอักเสบได้ อาจลองทดสอบผลิตภัณฑ์หลายๆ ตัวเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

ยารักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอะไรบ้าง?

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้อาจสั่งจ่ายยาบางชนิดเพื่อบรรเทาอาการของคุณ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของภูมิแพ้ผิวหนังที่เกิดขึ้นด้วย ยาที่อาจได้รับมีดังนี้

1. ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่

หากมีอาการอักเสบที่ผิวหนัง แพทย์อาจให้ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่สำหรับทาลงบนผิวหนังโดยตรง ยานี้จะช่วยลดการอักเสบของผิวหนังได้ภายในเวลาไม่กี่วัน

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่มีหลายระดับความเข้มข้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยมีตั้งแต่ตัวยาอ่อนๆ อย่างยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ตัวยาที่มีความแรงปานกลางอย่างโมเมทาโซน (Mometasone) และเบตาเมทาโซน (Betamethasone)

2. ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีน

มีทั้งชนิดทา หรือชนิดรับประทาน ใช้สำหรับช่วยบรรเทาอาการคัน หรืออาการแพ้ที่ผิวหนังให้กับคุณ

หากมีอาการคันเฉยๆ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาต้านฮิสตามีนชนิดไม่มีฤทธิ์กล่อมประสาท ซึ่งจะไม่ทำให้ง่วงนอน

แต่หากอาการคันที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการนอนหลับ แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาต้านฮิสตามีนที่มีฤทธิ์กล่อมประสาทเพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

3. การใช้ผ้าพันแผล หรือผ้าชื้นๆ พัน

บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ผ้าชื้นๆ พันบริเวณผิวหนังที่ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรืออาจเป็นการพันผ้าทับสารเพิ่มความชุ่มชื้น หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อป้องกันการเกา และปล่อยให้ผิวหนังฟื้นฟู

4. ยาทาขี้ผึ้ง

เป็นยาใช้ทาเพิ่มความชุ่มชื้น ช่วยลดอาการระคายเคืองผิว และอาการผิวแห้ง

ปัจจุบันมียาทาขี้ผึ้งชนิดใหม่ให้เลือกใช้มากขึ้น เช่น ยาขี้ผึ้งที่จะช่วยบรรเทาอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่มีอาการน้อยถึงอาการปานกลาง หรือยาชีววัตถุสำหรับผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่มีอาการปานกลางถึงอาการรุนแรงมากแล้ว

โดยคุณสามารถขอคำปรึกษาเรื่องการใช้ยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ได้เลย

5. โลชั่นบำรุงผิว

จะช่วยให้ความชุ่มชื่นและบรรเทาอาการคันจากผิวหนังอักเสบ เช่น

  • Aveeno Dermexa ที่มีส่วนผสมพิเศษจากข้าวโอ๊ต
  • Ezerra Cram ที่ให้ความชุ่มชื่น
  • Eucerin omega soothing cream ที่ออกเเบบมาเพื่อรองรับผิวหนังอักเสบ

ผลกระทบจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคภูมิแพ้ที่ส่งผลกระทบต่อผิวหนัง สามารถสร้างปัญหาทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ โดยก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้

1. การติดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง

ผิวหนังที่แตก แห้ง จากโรคภูมิแพ้ผิวหนังจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าเกาบริเวณนั้นๆ หรือรับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง

สัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรียสังเกตได้จากการมีของเหลวไหลออกมา เกิดสะเก็ดสีเหลืองบนผิวหนัง เกิดจุดสีเหลืองขาวบนบริเวณที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผิวหนังเกิดอาการบวมและปวดขึ้น มีไข้สูง และรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว

ควรไปพบแพทย์ทันที หากคาดว่า ผิวหนังของตนเอง หรือลูกเกิดการติดเชื้อ

2. การติดเชื้อไวรัสบนผิวหนัง

อาการผื่นแพ้อาจทำให้ผิวหนังของคุณติดเชื้อไวรัสโรคเริม หรือไวรัสคล้ายเริมได้ โดยจะส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดและทรุดลงอย่างรวดเร็ว เกิดตุ่มหนองที่อาจแตกออก และทิ้งหลุมแผลเป็นไว้

ในบางกรณีอาจมีไข้สูงและรู้สึกไม่สบายด้วย

ควรติดต่อแพทย์ทันทีหากคาดว่า ตัวคุณ หรือลูกเริ่มมีภาวะผื่นผิวหนังคล้ายเริม

3. ปัญหาการนอนหลับ

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ผิวหนังมักมีปัญหาในการนอนหลับจากอาการคัน และระคายเคือง

การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอย่อมส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมได้ อีกทั้งยังทำให้ระดับสมาธิในการจดจ่อกับการงาน การเรียนลดลง

4. ผลกระทบทางจิตใจ

โรคภูมิแพ้ผิวหนังบางโรคอาจส่งผลต่อสุขภาพทางจิตได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียนที่ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น อยู่ไม่นิ่งเหมือนเด็กทั่วไป

ส่วนเด็กวัยเรียนนั้นอาจถูกเพื่อนๆ รังแก หรือล้อเลียนได้ ซึ่งจะสร้างบาดแผลทางจิตใจให้เด็ก และอาจทำให้เด็กกลายเป็นคนเงียบขรึม หรือเก็บตัว

คุณจึงควรทำความเข้าใจ หรือปรึกษาครูผู้ดูแลเด็กให้ช่วยดูแลความรู้สึกของลูกคุณ รวมทั้งส่งเสริมให้ลูกมีความมั่นใจในตนเอง และปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อรูปลักษณ์ของตนเองให้ดีขึ้น

บางรายหากจำเป็น อาจต้องเข้าพบจิตแพทย์เพื่อปรับสภาพจิตใจต่อไป

Q&A

1. ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจนกว่าผื่น หรือลมพิษจะหายไป หรือไม่?

ถ้าขณะนี้ผิวหนังมีการระคายเคือง หรือมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นผิดปกติ การสัมผัสกับรังสียูวี และผิวที่ไหม้จากแสงแดด (Sunburn) ก็อาจทำให้อาการของคุณแย่ลงได้

ดังนั้นการปกปิดผิวหนังบริเวณที่มีรอยโรค หรือลดระยะเวลาในการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงนับเป็นการป้องกันที่ดี

นอกจากนี้ผื่นบางชนิดสามารถเกิดจากแสงแดดได้ เช่น ผื่นแพ้สัมผัสเนื่องจากแพ้สารร่วมกับแสง (Photoallergic contact dermatitis) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสารก่อระคายเคืองหลังสัมผัสกับแสงแดด

โดยการแพ้ หรือไวต่อเครื่องสำอาง ครีมกันแดด โลชั่นโกนหนวด น้ำหอม และครีมต่างๆ สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าวได้

เมื่อมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้เพื่อหาสาเหตุของการเกิดปฏิกิริยาที่ผิวหนัง และวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

2. อาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังสามารถเกิดจากการแพ้อาหารได้ หรือไม่?

การแพ้อาหารสามารถแสดงอาการทางผิวหนังได้ เช่น ผื่นลมพิษ และมีหลากหลายสาเหตุทีเดียวที่ทำให้เกิดลมพิษ และผื่นคันขึ้นได้

ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจ และสามารถดูแลรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเพื่อหาสาเหตุของอาการ และวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WebMD, Skin Allergies: Contact Dermatitis Causes, Tests and Treatment (https://www.webmd.com/allergies/skin-allergies#1), 26 May 2020.
Very well Health, Guide to Allergic Skin Rashes (https://www.verywellhealth.com/skin-allergy-83210), 27 May 2020.
Thomas N Helm, MD, Allergic Contact Dermatitis (https://emedicine.medscape.com/article/1049216-overview), 22 August 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
เปนภูมิแพ้ทั้งแม่ละลูกควรทำยังไงดีค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ภูมิแพ้เกิดจากอะไรค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
โรคภูมิแพ้มีสิทธ์หายได้หรือไม่
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
น้ำมูกไหลตลอดต้องทำอย่างไรบ้างค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ทำอย่างไรให้ภูมิแพ้หายขาด
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)