ความหมาย มีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้นในทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศและทุกวัย แต่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี นิ่วอาจมีขนาดต่างๆ กัน อาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อน อาจอยู่ที่ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ส่วนมากมักเป็นที่ไตเพียงข้างเดียว
สาเหตุ สาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วในไตยังไม่ทราบแน่นอน อาจเกิดจากภาวะที่มีแคลเซียมในปัสสาวะมากผิดปกติเนื่องจากรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ดื่มนมมาก ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินทำให้มีแคลเซียมในเลือดสูง พบในผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ คนที่ชอบรับประทานอาหารที่มีสารออกซาเลตสูงหรือรับประทานวิตามินดี ขนาดสูงๆ ซึ่งจะกลายเป็นสารออกซาเลต การถูกจำกัดการเคลื่อนไหว การขาดน้ำ ได้รับยาขับปัสสาวะทำให้ปริมาณน้ำลดลง เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดนิ่ว
ตรวจคัดกรองนิ่ว สลายนิ่ว รักษานิ่ว วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,930 บาท ลดสูงสุด 4,518 บาท
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
พยาธิสรีรภาพ นิ่วในไตส่วนใหญ่มีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบ เช่น แคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) และแคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate) กลไกการเกิดนิ่วอาจเริ่มจากการมีแคลเซียมในเลือดสูง ซึ่งอาจเกิดจากการมีแคลเซียมสลายจากกระดูกเพิ่มขึ้น พบในผู้ป่วยที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว หรือผู้ป่วยที่ต้องนอนนานๆ เมื่อมีแคลเซียมในเลือดสูง แคลเซียมจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น ประกอบกับหากผู้ป่วยขาดน้ำร่วมด้วย สารประกอบแคลเซียมจะตกผลึก และจะตกผลึกไปเรื่อยๆ จนเกิดจุดอิ่มตัว สารประกอบแคลเซียมจะกลายเป็นก้อนนิ่ว ภาวะขาดน้ำอาจจะทำให้เกิดนิ่วในไตเนื่องจากปัสสาวะจะมีความเข้มข้น อาจเกิดจากมีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต ท่อปัสสาวะตีบ ท่อไตตีบ ทำให้มีปัสสาวะขังและมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบ ปัสสาวะมีภาวะเป็นด่างทำให้เกิดนิ่วแมกนีเซียม-แอมโมเนียมฟอสเฟตที่มีขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว เมื่อมีนิ่วในไต นิ่วในไตบางส่วนจะหลุดลงไปในท่อไต จนถึงรอยต่อกับกรวยไต หรือรอยต่อกับกระเพาะปัสสาวะ นิ่วจะทำให้ท่อไตอุดตัน และปัสสาวะไหลไม่สะดวก จนเกิดท่อไตบวมน้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด หากท่อไตมีการบีบรัดอย่างรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อกได้ อาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากก้อนนิ่วครูดกับเนื้อเยื่อในท่อไต หากการอุดตันนี้ไม่ได้รับการแก้ไขอาจทำให้ไตเสียหน้าที่ได้
อาการ อาจมีอาการปวดเอว ปวดหลังข้างใดข้างหนึ่ง ลักษณะปวดแบบเสียดๆ หรือปวดบิดเป็นพักๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะอาจมีลักษณะขุ่นแดงหรือมีเม็ดทราย มีไข้ หากก้อนนิ่วมีขนาดเล็ก อาจตกลงมาที่ท่อไต ทำให้เกิดอาการปวดบิดในท้องรุนแรง บางรายอาจไม่มีอาการแสดงเลยก็ได้
การวินิจฉัยโรค คลำพบไตโดยวิธี Bimanual palpation อาจกดเจ็บ เคาะที่ Costovertebral angle อาจมีอาการเจ็บ ตรวจปัสสาวะพบมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก อาจมีเม็ดเลือดขาว ตรวจเลือด เอกซเรย์ อันตราซาวนด์ เอกซเรย์ไตด้วยการฉีดสี (Intravenous pyelogram; IVP)
การรักษา หากนิ่วก้อนเล็ก < 5 มิลลิเมตร ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ อาจหลุดออกมาได้เอง แต่ถ้าก้อนใหญ่อาจต้องผ่าตัดเอาออกหรือใช้เครื่องสลายนิ่ว (Extracorporeal shock wave lithotripsy; ESWL) หากมีอาการปวดให้ยาแก้ปวด หรือยาต้านการเกร็งของกล้ามเนื้อ หากมีการติดเชื้อให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) โคไตรม็อกซาโซล (Co-Trimoxazole) นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) หรือรักษาตามสาเหตุ
การพยาบาล สังเกตแผลผ่าตัด อาการปวดแผลหลังผ่าตัด อาการปวดจากนิ่วอุดตัน ก้อนนิ่วที่หลุดออกมา ภาวะสมดุลของน้ำที่ได้รับและปัสสาวะที่ออกมา หากปวดแบบเฉียบพลันมักเกิดจากนิ่วอุดตันที่ท่อไต สังเกตปัสสาวะที่ออกมา และให้ยาบรรเทาปวดตามแผนการรักษา สังเกตและบันทึกอาการ สัญญาณชีพ แนะนำวิธีป้องกันการอุดตันของท่อไต เช่น ดื่มน้ำวันละ 2,500-3,000 มิลลิลิตร ดูแลให้ได้รับยารักษานิ่ว ยาขับปัสสาวะ ระวังภาวะช็อกจากการเสียเลือด
ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ "คู่มือโรค" โดยปราณี ทู้ไพเราะ จากจากโรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย