ค้นหาโรค อาการ หรือวิธีการรักษา

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence)

เผยแพร่ครั้งแรก 28 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 11 ก.พ. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

ความหมาย การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือการถ่ายปัสสาวะที่ไม่ได้ตั้งใจ มักเกิดกับผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 50

สาเหตุ เกิดจากกล้ามเนื้อที่รองรับกระเพาะปัสสาวะและควบคุมการไหลของปัสสาวะอ่อนแรง กล้ามเนื้อเหล่านี้เสียความยืดหยุ่นเนื่องจากมีการตั้งครรภ์หลายครั้ง ความอ้วน ไขมัน หรือจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง พบบ่อยในสตรีสูงอายุ ในวัยหมดประจำเดือน ในเพศชายพบบ่อยหลังผ่าตัดต่อมลูกหมาก อาจเกิดจากทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ มีการคั่งค้างของอุจจาระ ได้รับยาบางอย่าง หรือมีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

พยาธิสรีรภาพ มีความผิดปกติในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ เนื่องจากกลไกการขับถ่ายปัสสาวะถูกขัดขวาง เช่น กลไกการกระตุ้นให้เกิดอาการปวดปัสสาวะถูกขัดขวาง ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะจึงมีปัสสาวะคั่งค้าง และการบีบตัวของหูรูดภายนอกที่มีหน้าที่ควบคุมไม่ให้ปัสสาวะไหลรั่วสู่ภายนอกสูญเสียหน้าที่ ทำให้มีปัสสาวะเล็ดกลั้นปัสสาวะไม่ได้ การทำงานที่ผิดปกติซึ่งเป็นผลจากระบบควบคุมจากระบบประสาท พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบประสาทและสมอง เช่น มีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่ทำให้มีอาการมึนงง สับสน หมดสติ ผู้ป่วยที่ได้รับยาสลบทำให้ไม่สามารถควบคุมการกลั้นปัสสาวะ ผู้ป่วยที่มีปัญหาการควบคุมระบบประสาทส่วนกลาง ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง หากกระเพาะปัสสาวะมีความจุน้อยลงและไวต่อการกระตุ้นทำให้กล้ามเนื้อบีบรัดตัวบ่อยครั้งขึ้นจะทำให้มีความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ แบ่งเป็น 5 ชนิด ได้แก่

1. การมีปัสสาวะเล็ดเมื่อมีแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น (Stress incontinence) เกิดขึ้นเมื่อมีการไอ จาม หัวเราะ วิ่ง ยืน เดิน ลุกนั่ง มักพบในผู้หญิงเนื่องจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานขาดความแข็งแรงจากการคลอดบุตร มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะเปลี่ยนตำแหน่งไปจากเดิมหรือเกิดจากระดับเอสโตรเจนที่ลดลง

2. การมีปัสสาวะเล็ดร่วมกับความรู้สึกปวดถ่ายปัสสาวะอย่างรุนแรงทั้งๆ ที่ปัสสาวะยังไม่เต็มกระเพาะปัสสาวะ (Urge incontinence) เกิดจากกระเพาะปัสสาวะมีความไวต่อการถูกกระตุ้นซึ่งโดยทั่วไปกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจะคลายตัว

ระหว่างที่มีการกักเก็บกระเพาะปัสสาวะ หากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะถูกกระตุ้นผ่านกระดูก ไขสันหลังระดับ S2, S3 และ S4 จะทำให้มีอาการปวดถ่ายปัสสาวะ อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อ การเกิดนิ่ว มีพยาธิสภาพที่ไขสันหลัง หรือมีปัจจัยทางจิตใจ

3. การมีปัสสาวะเล็ดออกมาเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะมีการยืดตัวมากผิดปกติโดยไม่มีการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ (Overflow incontinence) ทำให้มีอาการปวดถ่ายปัสสาวะบ่อย มีปัสสาวะเล็ดครั้งละไม่มากแต่มีตลอดเวลา ก่อให้เกิดความรำคาญ มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรงไม่บีบรัดตัว มีการอุดกั้นของท่อปัสสาวะ ทำให้มีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะขยายตัวมากเกินไปจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาจเกิดจากผลของยาบางชนิดที่กดการทำงานของกล้ามเนื้อ มีอุจจาระอุดแน่น มีพยาธิสภาพของระบบประสาท เช่น ได้รับอุบัติเหตุของไขสันหลัง ได้รับการผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน มีต่อมลูกหมากโต มีมดลูกหย่อน

4. การกลั้นปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากมีพยาธิสภาพของระบบประสาทในการควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ (Total incontinence) มีสาเหตุจากระบบประสาททำงานบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถควบคุมการกลั้นปัสสาวะได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

5. การกลั้นปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากสาเหตุทางด้านร่างกาย สิ่งแวดล้อมหรือจิตใจ (Functional incontinence) อาจเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น ในผู้สูงอายุ จากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่คุ้นเคยกับห้องส้วม ขาดความเป็นส่วนตัวในการขับถ่าย เสื้อผ้าที่ถอดลำบาก จากสภาพจิตใจ เช่น ขาดความเอาใจใส่ มีภาวะซึมเศร้า

อาการ การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่มี 2 ชนิด

1. แบบเฉียบพลัน (Urge incontinence) คือ การรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะอย่างกะทันหันและรุนแรง และไม่สามารถกลั้นไว้ได้

2. เมื่อมีแรงกดดัน (Stress incontinence) คือ การที่ปัสสาวะไหลเล็ดออกมาเล็กน้อยขณะไอ จาม หัวเราะ ยกของ

การวินิจฉัยโรค จากการบอกเล่าอาการของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจปัสสาวะเพื่อแยกโรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หากสงสัยว่าเกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบหรือมีปัญหาทางระบบประสาท อาจตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram) และถ่ายภาพสแกนสมอง อาจใส่หลอดสวนเพื่อวัดความดันและตรวจดูการทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์

การรักษา หากมีการติดเชื้อในระบบปัสสาวะให้ยาปฏิชีวนะ หากเกิดจากแรงกดดันจะใช้เครื่องมือที่มีรูปร่างคล้ายขนมโดนัท (Passary) สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อช่วยพยุงมดลูกและกระเพาะปัสสาวะ หากเป็นชนิดเฉียบพลันอาจรักษาด้วยยาที่ป้องกันการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ อาจใช้วิธีผ่าตัดแก้ไขให้ส่วนคอของกระเพาะปัสสาวะให้อยู่ในตำแหน่งปกติ อาจใช้ครีมเอสโตรเจนเพื่อช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อคงความยืดหยุ่นในหญิงวัยหมดประจำเดือน อาจใช้วิธีฝึกกลั้นปัสสาวะสักระยะหนึ่งก่อนปล่อยน้ำปัสสาวะ งดกาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การพยาบาล ให้กำลังใจและส่งเสริมให้มีการกลั้นปัสสาวะ เช่น ระมัดระวังในการดื่มน้ำทั้งปริมาณและเวลา หลีกเลี่ยงการได้รับยาขับปัสสาวะหลังจากเวลา 16.00 น. หลีกเลี่ยงสารกระตุ้นกระเพาะปัสสาวะ เช่น คาเฟอีน สุรา เป็นต้น หลีกเลี่ยงท้องผูก เช่น ดื่มน้ำเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีกากใย ปัสสาวะสม่ำเสมอทุก 5-8 ครั้ง/วัน ทุก 2-3 ชั่วโมง (เช้า ก่อนอาหาร ก่อนนอน ช่วงกลางคืนหากจำเป็น) ออกกำลังกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกเชิงกรานทุกวัน หยุดสูบบุหรี่เพาะจะทำให้ไอเวลาสูบบุหรี่ จะทำให้กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ให้ยา Antichlolinergic และ Antispasmodic เพื่อช่วยลดการถ่ายปัสสาวะ อธิบายให้ผู้ป่วยและญาติทราบ

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ "คู่มือโรค" โดยปราณี ทู้ไพเราะ จากจากโรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความก่อนหน้า
ท่อปัสสาวะอักเสบ
ท่อปัสสาวะอักเสบ
บทความต่อไป
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ