ค้นหาโรค อาการ หรือวิธีการรักษา

กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ภาวะไตวาย (Renal failure)

เผยแพร่ครั้งแรก 26 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 3 ก.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที

ความหมาย เป็นภาวะที่เนื้อไตทั้งสองข้างถูกทำลายจนทำงานไม่ได้หรือทำงานได้น้อยกว่าปกติ ทำให้น้ำและของเสียไม่ถูกขับออกมาจึงเกิดการคั่งจนเป็นพิษต่อร่างกาย อาจเกิดความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์และกรดด่างในเลือด มีภาวะพร่องฮอร์โมนบางชนิดที่ไตสร้างทำให้เกิดอาการผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ไตวายเฉียบพลันจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉบับพลันและอาจเป็นวันหรือสัปดาห์ ไตวายชนิดเรื้อรังจะมีอาการเกิดขึ้นทีละน้อยเป็นแรมเดือนหรือแรมปี

สาเหตุ อาจเกิดจากโรคไตโดยตรงหรือมีความผิดปกติจากภายนอกไตซึ่งมีผลกระทบจากการทำงานของไต เช่น ภาวะช็อกจากปริมาตรของเลือดลดลง โรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง การติดเชื้อมาลาเรีย โรคไต หลอดเลือดแดงไตตีบ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต งูพิษกัด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

พยาธิสรีรภาพ ไตวายชนิดเฉียบพลัน มีพยาธิสภาพที่ยังไม่ทราบแน่ชัด ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสารพิษต่อไต และการขาดเลือดไปเลี้ยงไตเป็นเวลานานทำให้ปัสสาวะลดลง ซึ่งภาวะไตวายเฉียบพลัน แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

1) ระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่ไตได้รับบาดเจ็บ

2) ระยะปัสสาวะออกน้อย เป็นระยะที่ปัสสาวะออกน้อยกว่า 400 มิลลิลิตรใน 24 ชั่วโมง และมีระดับของเสีย เช่น BUN, Creatinine, Uric acid, Electrolyte ในเลือดสูงขึ้น ในระยะนี้จะมีอาการของยูรีเมียเกิดขึ้นและอาจเสียชีวิตได้เนื่องจากภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูง ตรวจปัสสาวะจะพบค่าความถ่วงจำเพาะ 1.008-1.012 โซเดียมในปัสสาวะมากกว่า 40 mEq/L

3) ระยะปัสสาวะออกมาก เป็นระยะที่ผู้ป่วยเริ่มมีปัสสาวะมากขึ้น ผลการตรวจเลือดจะพบว่าของเสียในเลือดน้อยลง ในระยะนี้แม้ว่าปัสสาวะจะออกมากแต่ไตก็ยังทำหน้าที่ผิดปกติอยู่ อาการยูรีเมียยังคงมีอยู่และอาจมีภาวะขาดน้ำได้ซึ่งจะทำให้อาการยูรีเมียเพิ่มมากขึ้น

4) ระยะฟื้นหาย เป็นระยะที่ไตเริ่มกลับมาทำงาน และจะเป็นปกติโดยต้องใช้เวลา 3-12 เดือน ผลการตรวจเลือดจึงจะเป็นปกติ ผลจากภาวะไตวายเฉียบพลัน ได้แก่ มีการเสียสมดุลของน้ำและอิเล็กโทรไลต์ มีภาวะเป็นกรดในร่างกาย มีโอกาสติด

เชื้อง่ายขึ้น มีภาวะซีด มีเลือดออกง่าย มีภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินอาหาร มีโอกาสเกิดภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และมีภาวะ Uremic encephalopathy

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ไตวายเรื้อรัง มีพยาธิสภาพโดยหน่วยไต (Nephron) ของผู้ป่วยจะค่อยๆ ถูกทำลาย ทำให้มีการพัฒนาไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

1. ระยะกำลังสำรองของไตลดลง (Renal impairment) เป็นระยะที่หน่วยไตทำหน้าที่เหลือเพียงร้อยละ 50 แต่ค่าของเสียในเลือด (BUN, Creatinine) ยังคงปกติ ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการของไตวายให้เห็น

2. ระยะไตทำหน้าที่พร่องลง (Renal insufficiency) เป็นระยะที่หน่วยไตถูกทำลายมากขึ้นทำหน้าที่เหลือเพียงร้อยละ 20 ค่าของเสียในเลือดเริ่มสูงขึ้นแต่ยังไม่มีอาการของไตวายหรืออาการของยูรีเมีย เรียกว่า ภาวะ Azotemia ผู้ป่วยจะมีอาการซีดเล็กน้อย ปัจจัยเสริมทำให้มีภาวะ Azotemia เพิ่มขึ้นเร็ว คือ การติดเชื้อ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะออกมากและจะปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยขึ้น

3. ระยะไตวาย (Renal failure) เป็นระยะที่หน่วยไตถูกทำลายมากขึ้น ทำหน้าที่เหลือเพียงร้อยละ 10 ค่าของเสียในเลือดสูงขึ้น มีภาวะเป็นกรดจากการเผาผลาญ (Metabolic acidosis) เนื่องจากไม่สามารถขับกรดออกทางปัสสาวะ ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะต่ำลง มีภาวะซีดรุนแรง มีความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ (โปแตส-เซียมในเลือดสูง) มีอาการของยูรีเมีย มีการติดเชื้อง่าย และมีความดันเลือดสูง

4. ระยะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (End-stage renal disease) เป็นระยะที่หน่วยไตถูกทำลายมากขึ้นทำหน้าที่เหลือเพียงร้อยละ 15 เนื่องจากไตสูญเสียการทำหน้าที่ในการขับของเสีย เสียสมดุลน้ำและอิเล็กโทรไลต์ ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะออกน้อย มีการสูญเสียหน้าที่ของระบบต่างๆ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด ระบบผิวหนัง ระยะนี้หากไม่ได้รับการรักษาเพื่อทดแทนการทำหน้าที่ของไตผู้ป่วยจะเสียชีวิต

อาการ มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่แต่นานกว่า มีปัสสาวะออกน้อยกว่า 400 มิลลิลิตรต่อวัน หรือไม่มีปัสสาวะออกเลย มีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย รู้สึกคันตามตัว รู้สึกปวด ถ่ายปัสสาวะน้อยครั้ง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอกหรือหายใจไม่เต็มปอด เป็นตะคริวและสะอึก หากไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการซึม สับสน ชัก และหมดสติ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การวินิจฉัยโรค ฟังปอดจะได้ยินเสียงกรอบแกรบ (Crepitation) หากเป็นอาการระยะสุดท้าย จะพบอาการซึม ชัก และหมดสติ ตรวจเลือดจะพบระดับ BUN, Creatinine สูงกว่าปกติ ระดับโปแตสเซียม ฟอสเฟต และแมกนีเซียมสูง ระดับแคลเซียมต่ำ เลือดมีภาวะเป็นกรด ระดับฮีโมโกลบินต่ำ หากตรวจปัสสาวะจะพบไข่ขาว น้ำตาล เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว อาจวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ และตรวจพิเศษอื่นๆ

การรักษา ให้การรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุและแก้ไขภาวะผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น จำกัดปริมาณน้ำ โซเดียม โปแตสเซียม แมกนีเซียม โปรตีน ให้ยาขับปัสสาวะ ให้โซเดียมไบคาร์บอเนต แก้ภาวะเลือดเป็นกรด ให้เลือดในรายที่ตกเลือด หากจำเป็นอาจต้องฟอกล้างของเสีย (Dialysis) ออกจากไต

การพยาบาล ชั่งน้ำหนักทุกวันเวลาเดียวกัน บันทึกปริมาณน้ำเข้า-ออกในร่างกาย อาจต้องจำกัดน้ำประมาณ 1,000 มิลลิลิตร/วัน ฟังปอดดูว่ามีเสียงผิดปกติหรือไม่ มีอาการของน้ำคั่งในปอดหรือไม่ ดูหน้าที่ของไต เช่น มีอาการบวม มีความดันเลือดสูงหรือไม่ ดูแลเรื่องอาหาร ผิวหนัง ช่องปาก ดูแลผู้ป่วยที่มีการฟอกล้างของเสีย หรือการฟอกไต (Dialysis) มี 2 วิธี คือ

1. ฮีโมไดอะไลสิส (Hemodialysis) โดยการนำเลือดออกจากร่างกายมาผ่านเครื่องไตเทียมที่เรียกว่า Dialyzer ฟอกเสร็จแล้วจะได้เลือดดีไหลย้อนกลับเข้าร่างกาย ซึ่งแพทย์จะต้องสร้างเส้นเลือดเทียมต่อจากเส้นเลือดแท้เพื่อต่อเข้ากับไตเทียม โดยปกติจะฟอกเลือดด้วยไตเทียมสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3-4 ชั่วโมง

2. เพอริโตเนียลไดอะไลสิส (Peritoneal dialysis) หรือการล้างไตผ่านช่องท้อง วิธีนี้สามารถทำได้เองที่บ้าน หลังจากฝึกอบรมวิธีใช้อุปกรณ์แล้ว โดยต่อสายเข้าไปไว้ในช่องท้อง แล้วอาศัยเยื่อบุช่องท้องเป็นตัวกำจัดของเสีย เช่น น้ำส่วนเกิน ขั้นตอนแรกปล่อยน้ำล้างไตเข้าไปในช่องท้อง ซึ่งจะช่วยดึงดูดของเสียจากร่างกายผ่านเยื่อบุช่องท้องเข้ามาในน้ำล้างไต จากนั้นจึงปล่อยน้ำในช่องท้องกลับออกมาสู่ภายนอก

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ "คู่มือโรค" โดยปราณี ทู้ไพเราะ จากจากโรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความก่อนหน้า
ไตอักเสบเฉียบพลัน
ไตอักเสบเฉียบพลัน
บทความต่อไป
ต่อมลูกหมากโต
ต่อมลูกหมากโต